นักวิชาการชี้กรณี“ชัยภูมิ ป่าแส”ไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคล พ่วงทั้งการเมือง-ยุติธรรม-เสรีภาพ-สังคม

นักวิชาการชี้กรณี“ชัยภูมิ ป่าแส”ไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคล พ่วงทั้งการเมือง-ยุติธรรม-เสรีภาพ-สังคม

เชียงใหม่ (31 มี.ค.60) / เสวนา“วิสามัญ ฆาตกรรม License to Kill?” หลายฝ่ายเห็นพ้อง “เหยื่อ” ไม่ใช่ผู้มีอิทธิพล แนะรัฐเปิดใจดึงกลุ่มผู้เสียหายร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ด้านนักวิชาการ มช. ย้ำปรากฏการณ์ของ“ชัยภูมิ ป่าแส” ไม่ใช่เรื่องเฉพาะตัวบุคคล แต่สัมพันธ์กับระบบการเมือง กระบวนการยุติธรรม เสรีภาพของสื่อ และความเข้าใจของสังคมด้วยเมื่อเวลา 13.30 น. น. ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์สัมพันธ์และการพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CESD) ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย (LRDC) นิติศาสตร์ มช. มูลนิธิประสานวัฒนธรรม และกลุ่มนักกิจกรรมดีจัง young team จัดกิจกรรมเสวนาเรื่อง “วิสามัญ ฆาตกรรม License to Kill?” ที่ห้องประชุมอาคารปฏิบัติการชั้น 4 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)            วิทยากรประกอบด้วย นายวสันต์ พานิช อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) , รศ.สมชาย ปรีชาศิลปะกุล นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ มช., นายสุมิตร วอพะพอ สุมิตร วอพะพอ ผู้จัดการโครงการสถานะบุคคลและสิทธิพลเมือง องค์การแพลนประเทศไทย และนายสงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ จากคณะนิติศาสตร์ มช. โดยมี ดร.มาลี สิทธิเกรียงไกร จากศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา เป็นผู้ดำเนินรายการซึ่งช่วงต้นของกิจกรรม มีการเปิดเพลง “จงภูมิใจ” ที่แต่งและขับร้องโดยนายชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวลาหู่ ที่ถูกวิสามัญฆาตกรรม ต่อด้วยละคร “วิสามัญ ฆาตกรรม License to Kill?” จากนั้นจึงเริ่มการเสวนา ในเวลาประมาณ 14.00 น.นายสุมิตร ได้เล่าถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาว่า ครอบครัวของพี่สาว เป็น 1 ในกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายปราบปรามยาเสพติด เมื่อปี พ.ศ.2546 โดยในครั้งนั้น พี่เขย ชื่อนายสิแด ค่อร่า ได้ถูกฆาตกรรม เพราะมีชื่ออยู่ในบัญชีดำผู้ค้ายาเสพติด ทั้งที่ผ่านมา นายสิแด ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านด้วย ได้ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานราชการ ในการทำกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งกิจกรรมต่อต้านยาเสพติดมาตลอด“เหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้ครอบครัวของพี่สาวได้รับผลกระทบ พี่สาวต้องกินยาระงับประสาททุกวัน ลูกคนโต กับคนรองต้องออกจากการศึกษาในขณะนั้น ขณะที่ลูกคนเล็ก เครือญาติได้ช่วยกันส่งเสียจนได้รับราชการครู แต่เหตุการณ์ดังกล่าว ผ่านมาแล้วถึง 14 ปี ก็ยังไม่สามารถหาคำตอบต่อกรณีฆาตกรรม ได้แต่ตั้งข้อสงสัยว่า ก่อนการฆาตกรรม ผู้ตายได้เป็นผู้ไกล่เกลี่ย ความขัดแย้งระหว่างชุมชนจับเจ้าหน้าที่รัฐเรื่องการทำไม้ และช่วงนั้นผู้ตายได้ลาออกจากผู้ใหญ่บ้าน ไปเป็นสมาชิก อบต. รวมถึงยังเป็นผู้นำในการคัดค้านการประกาศเขตอุทยาน” นายสุมิตร กล่าว ส่วนกรณีถูกขึ้นบัญชีดำผู้ค้ายาเสพติดนั้น เป็นที่สังเกตว่านายสิแด ถึงมีหนี้สินมากมาย แม้แต่นาฬิกาข้อมือ ยังผ่อนเดือนละ 600 บาท  อย่างไรก็ตาม แม้จะพยายามหาคำตอบ โดยเฉพาะลูก ที่อยากรู้ว่าใครคือคนฆ่าพ่อ แต่กลับทำให้ครอบครัวอยู่ในความไม่ปลอดภัย มีโทรศัพท์เข้ามาข่มขู่ให้ยุติการสืบสวนเรื่องดังกล่าว หากไม่อยากมีจุดจบเหมือนนายสิแดนายสุมิตร กล่าวในตอนท้ายว่า แม้มนุษย์ไม่สามารถเลือกเกิดได้ แต่เมื่อเกิดมาแล้ว ทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากัน ดังนั้นสิ่งสำคัญคือกระบวนการตรวจสอบ แล้วนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่การใช้ศาลเตี้ย และการฆ่าตัดตอน เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และผิดหลักนิติธรรมด้านนายวสันต์ กล่าวว่า ในอดีตช่วงที่รัฐทำสงครามกับยาเสพติด ระหว่างวันที่ 1 ก.พ.-30 เม.ย.46 ระยะเวลาแค่ 3 เดือน มีการฆ่าตัดตอนกว่า 2,500 กรณี และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 2,800 คน โดยจะเห็นได้ว่าในช่วงนั้น มีการแต่งเรื่องให้ผู้ต้องหา หรือผู้เสียชีวิต อาทิ ผู้ตายมือหนึ่งถือปืน อีกมือหนึ่งมียาเสพติด ในจำนวนนี้มีการร้องเรียนผ่านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน 100 กว่าราย และเมื่อตรวจสอบก็พบว่าผู้เสียชีวิตคือคนเล็กคนน้อย ไม่ใช่ผู้มีอิทธิพล อย่างไรก็ตามสถานการณ์ในช่วงนั้น ก็ทำให้สมัชชาชนเผ่าแห่งประเทศไทย ที่ภาคเหนือมีความเข้มแข็งมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการรวมตัวชุมนุมที่หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่อดีต กสม. ยังกล่าวถึงกรณีการวิสามัญฆาตกรรม ที่ ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐอ้างว่าผู้เสียชีวิตเป็นกลุ่มก่อความไม่สงบ แต่ญาติของผู้เสียชีวิตและคนในหมู่บ้านที่เกิดเหตุ ได้รวมตัวกัน เพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรม โดยอ้างว่าผู้เสียชีวิตไม่ได้มีพฤติกรรมเป็นแนวร่วมกลุ่มก่อความไม่สงบ จนกระทั่งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และพบว่าผู้เสียชีวิตไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อความไม่สงบในกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งในการตั้งคณะกรรมการครั้งนั้น มีผู้แทนจากภาคประชาชน หรือฝ่ายผู้เสียชีวิตด้วย ทำให้ญาติเกิดความมั่นใจในกระบวนการทำงานมากขึ้นดังนั้น กรณีการวิสามัญคดียาเสพติด หากเจ้าหน้าที่รัฐบริสุทธิ์ใจ ควรมีการเปิดเผยข้อมูล และดำเนินการให้ถูกต้อง โดยเฉพาะกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่มักเป็นผู้ถูกกระทำ เนื่องจากถูกสังคมมองว่าเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และเสนอแนวทางใช้รูปแบบการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยให้มีตัวแทนจากภาคประชาชน หรือญาติผู้เสียหายด้วย เหมือนเช่นกรณีทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี           นายสงกรานต์  กล่าวว่า วิสามัญฆาตกรรม เปรียบเสมือนการฆาตกรรมในนามของรัฐ เพราะวิสามัญ คือความตายที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือผู้ถูกกระทำตายระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่อ้างว่าปฏิบัติตามกฎหมาย การวิสามัญฆาตกรรม จึงเสมือนการกระทำในนามตัวแทนของประชาชน  เพราะมีการใช้ภาษีประชาชน ดังนั้นในกรณีการวิสามัญ ประชาชนจึงมีสิทธิรับรู้ข้อเท็จจริงทั้งนี้ รัฐมีศักยภาพในการฆ่ามากกว่าองค์กรอาชญากรรม อีกทั้งการที่ประเทศส่วนใหญ่ยกเลิกโทษประหารชีวิต ก็หมายความว่า รัฐไม่มีสิทธิฆ่าพลเมืองของตนเอง แต่ไทยเป็น 1 ใน 58 ประเทศที่ยังมีโทษประหารชีวิต อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่รัฐ มีสิทธิในการป้องกันตัวเองเท่าเทียมกันกับประชาชนทั่วไป โดยหลักเกณฑ์ข้ออ้างในการป้องกันตัวนั้นประกอบไปด้วย 1) มีอันตรายหรือมีการละเมิดต่อกฎหมาย 2) อันตรายต้องใกล้ถึงตัว และ 3) ต้องกระทำไปพอสมควรแก่เหตุ การที่อ้างว่าประชาชนมียาเสพติด ไม่ได้ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐมีสิทธิวิสามัญฆาตกรรม  และหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ก็ระบุไว้ชัดเจนว่า การวิสามัญฆาตกรรมหรือการลงโทษประหารชีวิตที่ไร้เหตุผล และรวบรัด เป็นการกระทำที่ปราศจากความชอบธรรมอย่างร้ายแรง สำหรับปัญหาของคดีวิสามัญฆาตกรรม ประกอบด้วย 1) คดีความที่เจ้าหน้าที่รัฐ กล่าวอ้างว่าผู้ตายกระทำความผิด 2) คดีความที่เจ้าหน้าที่รัฐ อ้างว่าผู้ตายขัดขืนการจับกุม และพยายามทำร้ายเจ้าหน้าที่ และ 3) คดีความที่เจ้าหน้าที่รัฐ เป็นผู้ต้องหาทำให้ผู้อื่นตายในขณะปฏิบัติหน้าที่ ในคดีของนายชัยภูมิ ป่าแส สังเกตว่ารัฐให้ความสำคัญเพียงข้อ 1) กับข้อ 2) เท่านั้น แต่ทั้งนี้ อยากเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และมีตัวแทนจากภาคประชาชน โดยเฉพาะผู้เสียหายเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบด้วย เพื่อความโปร่งใสและความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายขณะที่ รศ.สมชาย กล่าวนิยามสังคมไทยว่าเป็นสังคมวิสามัญ ซึ่งเกิดจากปัญหา 3 ส่วนคือ 1) การวิสามัญฆาตกรรม 2) ชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อย ในระบบกฎหมาย และ 3) ระบอบอำนาจนิยม โดยไทยเกิดคดีวิสามัญฆาตกรรมบ่อยครั้ง แต่ทุกครั้งรัฐไม่มีการออกมารับผิดชอบ แม้กรณีการวิสามัญฆาตกรรมโจ ด่านซ้าย เมื่อปี พ.ศ.2539 ที่นำไปสู่การปฏิรูปกฎหมาย แต่ก็ไม่เคยมีการลงโทษเจ้าหน้าที่อย่างจริงจังส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ ชนกลุ่มน้อยในระบบกฎหมายนั้น ถ้าการวิสามัญฆาตกรรม เกิดขึ้นกับกลุ่มชาติพันธุ์ จะเพิ่มความยากลำบากในการต่อสู้คดีมากขึ้นกว่าบุคคลอื่นทั่วไป เพราะกลุ่มชาติพันธุ์ มักถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามความมั่นคง เกี่ยวข้องกับยาเสพติด หรือเป็นกลุ่มที่ตัดไม้ทำลายป่า ทำให้เกิดระบบกฎหมายที่ไม่เป็นกลางต่อชาติพันธุ์ ประกอบกับฐานความคิด ภาษา และอคติหรือความลำเอียงด้านระบอบอำนาจนิยม คือระบอบที่ไม่มีที่มาที่ไป ไม่ให้ตรวจสอบ ไม่ให้แสดงความคิดเห็น ใช้อำนาจปิดปาก ตรงกันข้าม ระบอบที่ไม่ใช่อำนาจนิยม แม้เกิดปรากฏการณ์วิสามัญฆาตกรรมเหมือนกัน แต่สังคมจะสามารถตั้งคำถาม ตรวจสอบได้ มากกว่าที่เป็นอยู่  ปรากฏการณ์ของนายชัยภูมิ จึงไม่ใช่เพียงเรื่องเฉพาะตัวบุคคล หากสัมพันธ์กับระบบการเมือง กระบวนการยุติธรรม เสรีภาพของสื่อ ความเข้าใจของสังคมด้วยดังนั้นสิ่งที่ทุกคนพอจะทำได้คือ ระวังอย่าให้ตนเองถูกยัดยาบ้า ปืน ระเบิด ถึงแม้ตัวตายก็อย่ายอม ใช้ข้อมูลเหตุผลในการผลักดันเรียกร้องกับสาธารณะ อย่างเช่นกรณีทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี และ สร้างเครือข่ายในการพิสูจน์ความจริง ระหว่างกลุ่ม และผู้คนที่พอจะเห็นพ้องกันกับการสร้างสังคมเสรีประชาธิปไตย.

 

You may also like

โออาร์ จัดกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์สื่อมวลชนภูมิภาค ประจำปี 2567 ตอกย้ำวิสัยทัศน์ “เติมเต็มโอกาส

จำนวนผู้