จัดงานนวัตกรรมสมุนไพรสำหรับเครื่องสำอางภาคเหนือ:การถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์

จัดงานนวัตกรรมสมุนไพรสำหรับเครื่องสำอางภาคเหนือ:การถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์

คณะเภสัชศาสตร์ มช.จับมือกับหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ จัดงานถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ เพื่อส่งเสริมการใช้นวัตกรรมสมุนไพรสำหรับเครื่องสำอางภาคเหนือ เพื่อถ่ายทอดผลการดำเนินงานและประสบการณ์ สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการรายใหม่

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2562 นายวิรุฬ  พรรณเทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่  พร้อมด้วย นางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์ ประธานอาวุโสหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่  และรศ.ดร.ภก.วิรัตน์ นิวัฒนนันท์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกันเปิดงาน ” นวัตกรรมสมุนไพรสำหรับเครื่องสำอางภาคเหนือ : การถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ ” ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกับหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินโครงการพัฒนานวัตกรรมสมุนไพรสำหรับเครื่องสำอางภาคเหนือ ประจำปีงบประมาณ 2561 ขึ้น

รศ.ดร.ภก.วิรัตน์ นิวัฒนนันท์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงที่มาของการจัดงาน “นวัตกรรมสมุนไพรสำหรับเครื่องสำอางภาคเหนือ : การถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์” ภายใต้โครงการพัฒนานวัตกรรมสมุนไพรสำหรับเครื่องสำอางภาคเหนือว่า เป็นความร่วมมือระหว่างคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือการพัฒนาและส่งเสริมทักษะความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้เกิดนวัตกรรมและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับสินค้า ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เวชสำอาง

ภายใต้โครงการนี้ ประกอบไปด้วย 4 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมที่ 1 การพัฒนาวัตถุดิบสมุนไพรและสารสกัดมาตรฐานสำหรับผลิตภัณฑ์เวชสำอางในภาคเหนือ    กิจกรรมที่ 2 พัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบและนวัตกรรมเครื่องสำอาง/เวชสำอาง/ผลิตภัณฑ์สปาจากสมุนไพรแก่ผู้ประกอบการในเขตภาคเหนือ  กิจกรรมที่ 3 การประเมินประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์เวชสำอางจากสมุนไพรไทย      และกิจกรรมที่ 4 คือ การพัฒนาศักยภาพและนวัตกรรมสมุนไพรสำหรับผู้ประกอบการเครื่องสำอางสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สปาภาคเหนือ

สำหรับการจัดงานครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดผลการดำเนินงานโครงการพัฒนานวัตกรรมสมุนไพรสำหรับเครื่องสำอางภาคเหนือ รวมถึงถ่ายทอดประสบการณ์จากผู้ประกอบการสมุนไพรเครื่องสำอางที่ได้เข้าร่วมโครงการ เพื่อสรรสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทย ผู้ร่วมงานในครั้งนี้ ประกอบด้วย คณาจารย์ นักวิจัย ผู้ประกอบการด้านสมุนไพร และประชาชนผู้สนใจ จำนวนมากกว่า 200 คน ภายในงาน เราได้จัดแสดงผลิตภัณฑ์ต้นแบบ นวัตกรรมเครื่องสำอาง เวชสำอาง ผลิตภัณฑ์สปาจากสมุนไพร จากผู้ประกอบการกลุ่มตัวอย่างที่ได้เข้าร่วมโครงการ นวัตกรรมและความพร้อมในงานด้านสมุนไพรของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่จะส่งเสริมการพัฒนางานด้านสมุนไพรของประเทศ

การพัฒนางานด้านสมุนไพรของคณะเภสัชศาสตร์ นอกจากมุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมจากสมุนไพร คณะฯ ยังมุ่งเน้นที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านสมุนไพรอย่างครบวงจรที่ให้ความรู้กับเภสัชกร ผู้ประกอบการสมุนไพร และประชาชนผู้สนใจ สามารถเข้ามาศึกษาหาความรู้จากแหล่งต่างๆ ที่คณะฯ ดำเนินการไว้ เช่น ฐานข้อมูลสมุนไพรที่สามารถเข้าถึงผ่านทางอินเตอร์เน็ตได้จากทุกที่ ศูนย์เรียนรู้ด้านสมุนไพรภายในคณะเภสัชศาสตร์ และสวนสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ ซึ่งเรามีคณาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญที่พร้อมจะมอบองค์ความรู้ให้กับผู้ที่สนใจ ทั้งในการใช้เพื่อดูแลสุขภาพส่วนบุคคลและการต่อยอดเชิงพาณิชย์ต่อไป

ด้านนางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงศ์ ประธานที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในส่วนของหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ได้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานในด้านการต่อยอดทางธุรกิจของผู้ประกอบการเครื่องสำอางสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สปาภาคเหนือ โดยสนับสนุนการจัดอบรมความรู้แก่ผู้ประกอบการเครื่องสำอางสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สปา จำนวน 5 หลักสูตร โดยมีเนื้อหาความรู้ดังนี้ด้านมาตรฐาน กฎหมาย  การขึ้นทะเบียนธุรกิจการผลิตเครื่องสำอาง การสร้างทีม การตั้งโรงงาน การสร้างแบรนด์และนวัตกรรม การวางแผนธุรกิจ การตลาด การลงทุน และช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ มีวิทยากร 41 ท่าน และมีผู้ประกอบการเข้าร่วมอบรมกว่า 300 ท่าน นอกจากนี้ได้นำผู้ประกอบเข้าศึกษาดูงานด้านธุรกิจเครื่องสำอาง โรงงานเครื่องสำอาง โรงงานแปรรูปสมุนไพร เป็นต้น

หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ได้สนับสนุนการดำเนินงานด้านการพัฒนาสมุนไพรอย่างต่อเนื่อง โดยได้นำเสนอโครงการซึ่งผ่านมติคณะรัฐมนตรีสัญจร คือ โครงการพื้นที่นวัตกรรมเครื่องสำอางภาคเหนือ (Northern Thailand Cosmetic Valley) โครงการดังกล่าว อยู่ในกรอบของเมืองด้านสุขภาพแบบครบวงจร (medicopolis) ที่จะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรแปรรูปในพื้นที่ภาคเหนือ ไปสู่ธุรกิจเครื่องสำอางให้มีมาตรฐาน สามารถแข่งขันได้ เป็นผู้นำด้านเครื่องสำอางน้ำหอมของอาเซียนและนานาชาติ โดยเชื่อมโยงต่อยอดนโยบายเมืองสมุนไพรของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บท LANNA COSMETIC VALLEY โดยกิจกรรมที่สำคัญ คือ การจัดตั้งโรงงานต้นแบบนวัตกรรมสมุนไพรสกัด (Innovative Herb Extraction Pilot Plant) พร้อมโรงเรือนต้นแบบสำหรับปลูกสมุนไพร และการจัดงานแสดงสินค้าเครื่องสำอางสมุนไพรแปรรูป International-Lanna Cosmetic Valley Expo 2020

ทางด้านนายวิรุฬ   พรรณเทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันกระแสการดูแลสุขภาพของประชาชนมีเพิ่มสูงขึ้นในทุกด้าน รวมจนถึงผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ประชาชนมองหาสิ่งที่เป็นธรรมชาติและมีความปลอดภัย ฉะนั้น การพัฒนาสมุนไพรไทยทั้งในระยะต้นทาง กลางทาง และปลายทาง จะส่งเสริมผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาสมุนไพรสำหรับเครื่องสำอางซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสมุนไพรได้อย่างมาก และตรงตามต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน

ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่พร้อมให้การสนับสนุนแผนงานบูรณาการการต่อยอดผลิตภัณฑ์จากโครงการ เพื่อเพิ่มมูลค่าในลักษณะของห่วงโซ่คุณค่า เพื่อให้เกิดความสำเร็จตามเป้าหมายของแนวทางการเสริมสร้างความเข้มแข็ง ความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ  โดยการส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกพืชสมุนไพร  ผู้ประกอบการธุรกิจด้านสมุนไพร เพิ่มอุปสงค์การใช้ยาแพทย์แผนไทย การบริการด้านแพทย์แผนไทยให้มีความแพร่หลายเป็นมาตรฐาน รวมไปจนถึงสร้างการเข้าถึงศาสตร์ทางการแพทย์แผนไทยของจังหวัดเชียงใหม่ต่อไป.

You may also like

SUN ประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ในรูปแบบ Hybrid Meeting

จำนวนผู้