DITP จับมือ STeP ปั้นผู้ประกอบการ start up ลุยเวทีการค้าต่างประเทศด้วยนวัตกรรม

DITP จับมือ STeP ปั้นผู้ประกอบการ start up ลุยเวทีการค้าต่างประเทศด้วยนวัตกรรม

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จับมืออุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือเปิดตัวโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ start up ในภูมิภาคเพื่อเตรียมพร้อมสู่การเติบโตและแข่งขันในเวทีการค้ายุคใหม่ในตลาดสากลด้วยนวัตกรรม

เมื่อวันที่ 13 ส.ค.63 ที่บริเวณพื้นที่สร้างสรรค์ไอเดียทางธุรกิจ The Brick X @nsp อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ STARTUP ภาคเหนือ“RISING NORTHEN STARTUP : Startup ถิ่นเหนือไทย ก้าวไกลสู่สากล” ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ โดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) จับมือกับอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) จัดขึ้น โดยมีนางอารดา เฟื่องทอง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจบริการ รศ.ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมพิธีเปิดงาน

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวถึงที่มาโครงการฯ ว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาผู้ประกอบการ startup เพื่อขยายตลาดภูมิภาคสู่ตลาดสากล โดยมุ่งเน้นการนำนวัตกรรมมาใช้ในการขับเคลื่อนภาคธุรกิจพร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมส่งออก จึงร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทในการผลักดันและส่งเสริมผู้ประกอบการและ startup พัฒนาธุรกิจด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อเร่งศักยภาพของผู้ประกอบการระดับภูมิภาคให้สามารถแข่งขันในเวทีการค้ายุคใหม่ สอดรับกับแนวคิด Thailand 4.0 โดยผลักดันให้เกิดโครงการดังกล่าวขึ้นผ่านการกำกับดูแลของสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

อธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการนี้เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความร่วมมือและบูรณาการระหว่างภาครัฐ เอกชนและสถาบันการศึกษาในการพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้ก้าวไกลสู่ตลาดการค้าต่างประเทศ ซึ่งทาง ฆธฎญ ได้มีการบ่มเพาะผู้ประกอบการในภาคเหนือมานานและครั้งนี้เป็นการเพิ่มทักษะความพร้อมเพื่อพัฒนาและขยายสู่ตลาดต่างประเทศมากยิ่งขึ้น ซึ่งจากสถานการณ์การค้าที่เปลี่ยนไปและความรุนแรงทางด้านเศรษฐกิจ ตลอดจนผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องปรับตัวเช่นเดียวกับผู้ประกอบการ เพื่อให้ทันและเข้ากับสถานการณ์ด้วย ซึ่งโครงการนี้จะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการ startup ที่จะก้าวสู่ตลาดสากลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการ     อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  กล่าวว่า อุทยานวิทยาศาสตร์มีกลไกการให้บริการที่หลากหลายในการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายในการผลักดันงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ ในส่วนที่เกี่ยวกับ Startup อุทยานฯ มีกระบวนการสร้างความเป็นผู้ประกอบการทั้งจากเด็กนักศึกษา มีการจัดประกวดแข่งขันแผนธุรกิจ เช่น โครงการ R2M (Resource to Market), โครงการ Startup Thailand League ฯลฯ

โดยในส่วนของผู้ประกอบการ มีโครงการต่างๆ ที่ดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายความร่วมมือ เช่น โครงการบ่มเพาะธุรกิจวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งดำเนินงานภายใต้กรอบของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งความร่วมมือในโครงการนี้นับเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการ Startup ที่มีศักยภาพและความพร้อมของภูมิภาคได้ขยายตลาดสู่ระดับสากล โดยหวังว่าผลผลิตนวัตกรรมจากโครงการนี้จะเชื่อมโยงสู่ตลาดต่างประเทศพร้อมช่วยยะระดับเศรษฐกิจของประเทศได้มากขึ้นอีกทางหนึ่ง

ผอ.อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการเป็นการเปิดกว้างซึ่งมีทั้งนักศึกษา ผู้ประกอบการที่อยากปรับเปลี่ยนและกลุ่มนักวิจัยประมาณ 40 ราย ซึ่งจะเน้นไปที่ 3 กลุ่มหลักที่มีศักยภาพคือไบโอเทค ฟู้ดส์ ไอทีและครีเอทีฟ สตาร์ทอัพ ซึ่งในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิดฯนั้นกลุ่มต่างๆ เหล่านี้แทบไม่ได้รับผลกระทบและยังสามารถจ้างงานในพื้นที่เพิ่มได้ด้วย โดยในส่วนของอุทยานวิทยาศาสตร์ฯเองมีสตาร์ทอัพที่อยู่ในระบบกว่า 200 ราย และมีสตาร์ทอัพที่อุทยานวิทยาศาสตร์ฯปั้นเข้าสู่ระบบธุรกิจประมาณ 100 รายโดยในจำนวนนี้มี 60 บริษัทที่ผ่านการบ่มเพาะมาประมาณ 3 ปีแล้ว อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าในส่วนของการเติบโตของสตาร์ทอัพไทยเพื่อขยายไปสู่สากลนั้นสิ่งสำคัญคือต้องมีทุนและต้องเชี่ยวชาญด้านภาษา เพื่อที่จะให้สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงค์โปร์และมาเลเซียได้

ส่วนทางด้านนางอารดา เฟื่องทอง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจบริการ (NEA) ให้ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับกิจกรรมในครั้งนี้ว่า โครงการฯ มีกำหนดจัดต่อเนื่องเป็นเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 13-15 สิงหาคม 2563 ณ The Brick X @nsp อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีพิธีเปิดโครงการ (13 สิงหาคม) ในเวลา 09.00 น. จากนั้นผู้ประกอบการ startup ที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกร่วมโครงการทั้ง 40 ราย จะได้รับโอกาสรับฟังบรรยาย ร่วมกิจกรรม workshop รวมถึงเสวนาแลกเปลี่ยนแนวคิดกับ Startup แนวหน้าของประเทศไทยและจากต่างประเทศอย่างเข้มข้นรวมเวลากว่า 18 ชั่วโมง พร้อมร่วมแสดงศักยภาพพัฒนาทักษะการนำเสนอแผนธุรกิจผ่านกิจกรรม Pitching เพื่อคัดเลือกผู้ประกอบการ startup 3 รายที่ฉายแววโดดเด่นในด้านทักษะการนำเสนอ ความน่าสนใจของแผนธุรกิจเพื่อการลงทุน และศักยภาพความพร้อมในการขยายธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศ รับรางวัลใน 3 ด้าน ได้แก่ Best Pitching, Investor Choice และ Scale up Award ตามลำดับ โดยผู้ประกอบการที่รับรางวัลจะได้รับโอกาสสำคัญในการร่วมงานกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ พร้อมเป็นตัวแทนประเทศไทยร่วมจัดแสดงผลงานเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจในระดับสากล

ในขณะที่รศ.ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มช. กล่าวว่า มช.มีบุคลากรที่มีองค์ความรู้ และความพร้อมที่สามารถพัฒนางานวิจัย ที่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม มุ่งเน้นการพัฒนา innovation ที่ตอบโจทย์ต่อการพัฒนาประเทศ ในส่วนของการสร้างและขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ มช.พยายามผลักดันและสร้างความเป็นผู้ประกอบการให้กับนักศึกษา ตลอดจนอาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัยโดยเน้นที่การถ่ายทอดงานวิจัยออกสู่เชิงพาณิชย์และพัฒนางานวิจัยที่ทำไปต่อยอดและตอบโจทย์ของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ผ่านกระบวนการและกลไกของมหาวิทยาลัย

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง การที่จะทำให้เราหลุดพ้นกับดักสู่ประเทศที่มีรายได้สูงก็เป็นหน้าที่หนึ่งของมช.ด้วย โดยเฉพาะการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถและเพิ่มทักษะให้กับผู้ประกอบการใหม่ เพราะตลาดงานทั่วไปอาจจะไม่พอรองรับบัณฑิตที่จบ และบัณฑิตเองก็ต้องรู้จักสร้างงานให้ตนเองด้วยโดยเป็น Start up เพื่อให้สามารถพัฒนาธุรกิจให้เติบโตขึ้น ซึ่งทาง STEP ได้รับมอบหมายให้ดูแลด้านนี้ เรามี อ่างแก้วโฮลดิ้ง คอมพานีและอ่างแก้ว พร็อพเพอร์ตี้ที่มาดูแลและสนับสนุนอีกทางหนึ่ง”รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยฯ มช.กล่าว.

 

 

You may also like

อาดิดาสเปิดตัว ADIDAS OUTLET CENTRAL CHIANGMAI AIRPORT พร้อมส่งโปรฯ แรง ฉลองสาขาใหม่ใหญ่สุดในภาคเหนือ มอบส่วนลดกว่า 60% ให้เหล่าขาช้อป

จำนวนผู้