42ชาติพันธุ์ร่วมขับเคลื่อนสภาชนเผ่าฯ พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวทีสมัชชา

42ชาติพันธุ์ร่วมขับเคลื่อนสภาชนเผ่าฯ พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวทีสมัชชา

เชียงใหม่ (8 ส.ค.60) / งานสมัชชาชนเผ่าพื้นเมืองคึกคัก 42 ชาติพันธุ์ทั่วไทยเข้าร่วมล้นหลาม ตั้งเป้าขับเคลื่อนสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ควบคู่พัฒนากลไก ปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน พร้อมเปิดพื้นที่ให้ 12 ชนเผ่าที่ทำชุดโครงการเสริมสร้างสุขภาวะชุมชนบนพื้นที่สูงฯ ร่วมเสนอ-แลกเปลี่ยน เพื่อเรียนรู้การจัดการตนเองและชุมชนในอนาคตที่ห้องประชุม 40 ปี อาคาร 4 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) และสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (สชพ.) ร่วมกับภาคีองค์กรและเครือข่ายที่ทำงานกับชนเผ่าพื้นเมือง จัดงานสมัชชาระดับชาติว่าด้วยสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 3 และกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ประจำปี 2560 ภายใต้ธีมงาน “1 ทศวรรษปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง: บทเรียน ข้อท้าทาย และอนาคตชนเผ่าพื้นเมืองไทย” ระหว่างวันที่ 8-9 ส.ค.60กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย เวทีสมัชชาสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย การสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อรณรงค์และส่งเสริมสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง กิจกรรมรณรงค์สาธารณะ  นิทรรศการ  การแสดงศิลปวัฒนธรรม  การสาธิตวิถีชนเผ่าพื้นเมือง ตลอดจนถึงการจำหน่ายสินค้าและอาหารชนเผ่าพื้นเมือง เป็นต้น โดยมีผู้สนใจเข้ามาเยี่ยมชมอย่างคึกคักตลอดวันนายศักดิ์ดา แสนมี่ ผู้ประสานงานเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) เปิดเผยว่า การจัดงานครั้งนี้ เน้นทบทวนบทเรียนการขับเคลื่อนงานของขบวนชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ประสบการณ์การดำเนินงานสนับสนุนของหน่วยงานรัฐ และร่วมแสวงหาแนวทางการพัฒนากลไกและกระบวนการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนสำหรับชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ให้สามารถดำรงวิถีชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีในสังคมพหุวัฒนธรรมไทย รวมทั้งเพื่อเฉลิมฉลองและรณรงค์ให้มีมาตรการเชิงปฏิบัติเนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ที่มีปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง  (Tenth Anniversary of UNDRIP: Measures taken to implement the Declaration) ร่วมกับภาคีชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลก“เป็นที่น่ายินดีว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้ ชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ทั้งหมด 42 ชนเผ่า ได้เดินทางมาร่วมงาน และแต่ละชนเผ่า แต่ละพื้นที่ก็มีการเรียนรู้ ประสบการณ์ของตนเอง นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในเวทีย่อยของการประชุมสมัชชา ก่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง หรือนำไปสู่การแก้ไขหากเป็นปัญหาได้ เช่น ที่ผ่านมา 12 ชาติพันธุ์ ในเขตภาคเหนือตอนบน 6 จังหวัด คือเชียงราย พะเยา เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน และน่าน ได้ทำโครงการย่อยในชุดโครงการเสริมสร้างสุขภาวะชุมชนบนพื้นที่สูงบนฐานวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมือง ร่วมกับทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนัก 6 ซึ่งแต่ละโครงการมีความสัมพันธ์กับประเด็นใดประเด็นหนึ่งที่พูดคุยกันในห้องประชุมย่อย” ผู้ประสานงาน คชท. กล่าวห้องย่อยมี 7 ประเด็น ได้แก่ เกษตรอินทรีย์, การแก้กฎหมายป่าไม้และผลกระทบจากนโยบายรัฐต่อวิถีชนเผ่า, การศึกษา, การมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาโลกร้อน, การจัดการปัญหาสถานะบุคคล, ศักดิ์ศรีและโอกาสของสตรีชนเผ่าพื้นเมืองไทย, การเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุข โดยพบว่ากลุ่มชนเผ่าที่ทำโครงการต่างๆ หลายพื้นที่สามารถปฏิบัติตามแผนงานที่วางไว้ได้อย่างลงตัว มีบางแห่งอาจเลื่อนออกไปบ้าง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือแต่ละพื้นที่มองเห็นเครื่องมือในการสร้างการเรียนรู้ที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง และยังนำมาใช้เพื่อสร้างกลุ่ม เกิดกลุ่มในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมบางกลุ่มแม้จะทำเพียงโครงการเล็กๆ เช่น กลุ่มมาบริ จ.น่าน เลี้ยงไก่ไข่ ก็เกิดความท้าทายว่าจะทำอย่างไรให้กิจกรรมดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงกิจกรรมที่เขาต้องทำต่อในเรื่องสังคม เรื่องความรับผิดชอบในการสร้างกลุ่ม การรับผิดชอบในการมองปัญหาชุมชนด้านอื่นๆ ที่ไปเชื่อมโยงกับกิจกรรมเลี้ยงไก่ที่เขาทำอยู่  ชุมชนจะนำเครื่องมือที่ได้จากโครงการไปสร้างการเรียนรู้ และนำมาแลกเปลี่ยนในเวทีสมัชชาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย กับพี่น้องชนเผ่าอื่น ภาคอื่น ที่อาจมีกิจกรรมคล้ายกัน และหลายคนก็จะได้สอบถามประสบการณ์ของที่อื่นที่ทำกิจกรรมแบบเดียวกัน ว่าเกิดผลอย่างไร เวทีนี้จึงสร้างการเรียนรู้ทั้งที่เป็นทางการในห้องต่างๆ และที่ไม่เป็นทางการจากการพูดคุยกันเอง“ในอดีตหลายชนเผ่าอยากเข้าร่วมเวทีสมัชชาชนเผ่าฯ แต่มาไม่ได้ ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง หากเมื่อศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมชาวไทยภูเขาในประเทศไทย ( ศวท.) กับ สสส.เข้าไปหนุนเสริมให้พวกเขาทำโครงการ ก็ทำให้สามารถนำประสบการณ์ที่ทำโดยตรงมาแบ่งปันสู่คนอื่น นอกจากนี้ยังใช้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่เรียนรู้การแก้ปัญหา การจัดการตนเองในอนาคต ในชุมชนของเขาเอง” นายศักดิ์ดา กล่าวขณะเดียวกัน กลุ่มเยาวชนชนเผ่าที่ทำโครงการเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม ดนตรี ก็ได้เข้ามานำกระบวน แสดงออกในเวทีนี้ด้วย ถือได้ว่าเวทีนี้เปิดพื้นที่ เปิดโลกทัศน์ให้พวกเขา ไม่เพียงแค่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ หากยังจะได้เห็นการเชื่อมโยงของประเด็นเล็กๆ ที่เขาทำในพื้นที่ เชื่อมกับประเด็นอื่นอย่างไร และเชื่อมโยงกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่อยู่ในประเทศไทย หรือทั่วโลกอย่างไร วิถีของเขา ปัญหาของเขา สะท้อนให้เห็นถึงประเด็นปัญหาของโลกด้วยหรือไม่ ทั้งนี้คนที่ทำกิจกรรมใน 30 โครงการ จะมีโอกาสได้เข้าร่วมเวทีชนเผ่าพื้นเมืองโลกอย่างจริงจังในวันที่ 9 ส.ค.นี้ ซึ่งเป็นวันชนเผ่าพื้นเมืองสากลโลกด้วย.

You may also like

ผบ.นบ.ยส.35 ลงพื้นที่อำเภอไชยปราการ เพื่อตรวจเยี่ยมกำลังพลเพิ่มความเข้มก่อนหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์

จำนวนผู้