“โลกร้อน”ประเทศไทยและชุมชนท้องถิ่น กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

“โลกร้อน”ประเทศไทยและชุมชนท้องถิ่น กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

“โลกร้อน” ประเทศไทยและชุมชนท้องถิ่น กับการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก COP23

ารเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน น่าจะเป็นคำที่ชุมชนได้ยินบ่อยขึ้นในระยะหลัง ซึ่งแม้อาจจะไม่สามารถเชื่อมโยงปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์ได้มากนัก แต่หากถามถึงสิ่งที่เกิดขึ้นที่ส่งผลกระทบต่อชุมขนโดยเฉพาะชุมชนภาคการเกษตร แล้วนั้น ชุมชนยืนยันถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น  ผ่านหลากหลายคำที่แสดงให้เป็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่ชุมชนสัมผัสได้

“เดี๋ยวนี้มันคาดการณ์อะไรไม่ได้หรอกวันๆ หนึ่งมีสามฤดูก็มี เช้าหนาวๆ บ่ายแดดออก เย็นมาฝนตก”  สุทธิเวท เอี่ยมเนตร ชาวนาบ้านจอมทอง จังหวัดพิษณุโลก กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมถึงยังเป็นส่วนหนึ่งที่ชุมชนสะท้อนถึงภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในระยะหลังที่มีความถี่มากขึ้นและรุนแรงมากยิ่งขึ้น เช่น เมื่อก่อนฝนจะตกในช่วงหน้าฝนปกติ แต่เดี๋ยวนี้นึกอยากตกตอนไหนก็ตก แล้วตกแรง ตกนานกว่าเมื่อก่อน ปีนี้บ้านผมน้ำท่วมนับเฉพาะที่หนักๆ ก็ 3 – 4 รอบแล้ว

อีกหนึ่งเสียงที่สะท้อนของสุภาพ สังข์เครืออยู่ เกษตรกรจากตำบลบ้านดง อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก เล่าถึงสิ่งที่ได้พบเจอ  ที่ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่อุณหภูมิที่สูงขึ้นของโลก สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ก็เพราะว่าก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นจากการทำกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการเผาผลาญถ่านหินและเชื้อเพลิง รวมไปถึงสารเคมีที่มีส่วนผสมของก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์ใช้ และอื่นๆ อีกมากมาย จึงทำให้ก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้ลอยขึ้นไปรวมตัวกันอยู่บนชั้นบรรยากาศของโลก ทำให้รังสีของดวงอาทิตย์ที่ควรจะสะท้อนกลับออกไปในปริมาณที่เหมาะสม กลับถูกก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้กักเก็บไว้ ทำให้อุณหภูมิของโลกค่อยๆ สูงขึ้นจากเดิม เท่ากับว่าถ้าอุณหภูมิสูงขึ้นความเสี่ยงในการเกิดผลกระทบด้านต่างๆ ก็สูงขึ้นการคาดการณ์ระดับความเสี่ยงเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นโดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC)

จากภาพการคาดการณ์ระดับความเสี่ยงเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นโดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) เห็นได้ว่าหากอุณหภูมิโลกสูงขึ้นมากเท่าใดความเสี่ยงของชุมชนที่จะได้รับผลกระทบก็มีมากขึ้นตามไปด้วย โดยแสดงระดับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิแต่ละองศา ที่หากเพิ่มขึ้นจะยิ่งทำให้มีความเสี่ยงสูงมากขึ้น  โดยจากรูปทางซ้าย เส้นสีดำเป็นอุณหภูมิที่เกิดขึ้นจริงที่สังเกตได้แล้ว  เส้นสีฟ้าเป็นสถานการณ์ที่มีการปล่อยต่ำมาก คือมีมาตรการในการลดการปล่อยก๊าซที่มีผลต่อการเพิ่มอุณหภูมิโลกได้มาก ได้เส้นสีฟ้าและแถบสีฟ้าจะตรงกับอุณหภูมิช่วง 1-2 องศาเซลเซียส คือความเสี่ยงอยู่ประมาณแถบสีเหลืองอ่อน ทำให้ความเสี่ยงอยู่ในระดับน้อยหรือสีส้มแปลว่าความเสี่ยงอยู่ระดับปานกลางถึงเกือบสูง  แต่หากเป็นเส้นสีแดงหมายถึงดำเนินการปล่อยก๊าซในระดับสูงต่อไปไม่มีมาตรการลดใดๆ ที่ยิ่งทำให้เส้นสีแดงรูปซ้ายสูงขึ้นแล้ว แถบสีของกราฟแท่งรูปขวามือก็จะยิ่งเข้มขึ้น แปลว่า ความเสี่ยงสูงขึ้น  รวมถึงสีม่วงที่หมายถึงระดับความเสี่ยงสูงมาก โดยสรุปคือเมื่อใดที่อุณหภูมิสูงมากขึ้นระดับความเสี่ยงของชุมชนก็เพิ่มตามขึ้นไป ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากการสำรวจเก็บข้อมูลของ Munich RE  ซึ่งพบว่าในช่วง 30  ปีที่ผ่านมา มีภัยพิบัติเกิดขึ้นมากมายทั่วโลก จากอุณหภูมิที่สูงขึ้นถึง 1องศาเซลเซียส  ก็ส่งผลให้ทั่วโลกประสบความเสี่ยงมากมายซึ่งหากอุณหภูมิสูงไปกว่านี้ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะมีภัยพิบัติที่รุนแรงและสร้างความเสียหายมากยิ่งขึ้นไปเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทั่วโลก ระหว่างปี พ.ศ. 2533 – 2555 รวบรวมโดย Munich RE 

จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลถึงการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกและส่งผลกระทบต่อชุมชน มีความพยายามแสวงหาทางออกในการดูแลโลกร่วมกันทั้งในระดับประเทศและข้อตกลงระหว่างประเทศในการสร้างกลไกเพื่อลดการปล่อยรวมถึงระดับชุมชนท้องถิ่นที่สร้างรูปแบบการปรับตัวให้อยู่ได้ดีที่สุดในการเปลี่ยนแปลง โดยในระดับนานาชาติเวทีที่มีผลต่อนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ COP (Conference of Parties) ซึ่งถือเป็นการประชุมเจรจาที่สำคัญต่อการรับมือผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอนาคตของโลก โดยมีการจัดต่อเนื่องจนมาถึงครั้งที่ COP23 ในปี 2560 นี้

การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ การประชุม COP23ระหว่างวันที่วันที่ 6 – 17 พฤศจิกายน 2560  ที่เมืองบอนน์ ประเทศเยอรมัน เนื่องด้วยเจ้าภาพจัดการประชุมคือ ประเทศฟิจิ ประเทศหมู่เกาะ ที่ได้รับผลกระทบที่ค่อนข้างชัดเจนจากผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่เนื่องด้วยความพร้อมด้านการรองรับและบริหารจัดการต่างๆ จึงไม่สามารถจัดที่ฟิจิได้ ทางเยอรมันจึงเสนอใช้สถานที่จัดที่บอนน์แทน แต่ประธานการประชุมยังเป็นฟิจิตามเดิม โดยการประชุม COP23 ประจำปี ของประเทศภาคีสมาชิกอนุสัญญาฯ โดยมีตัวแทนภาครัฐ เอกชนและองค์กรพัฒนาเอกชนประเทศไทยเข้าร่วม  มีวัตถุประสงค์เพื่อเจรจาจัดทำกฎ ระเบียบ กติกาและกรอบการดำเนินงานใหม่ๆ รวมทั้งประชุมหารือถึงความก้าวหน้า ปัญหา อุปสรรคและแนวทางการดำเนินงานร่วมกันในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกบรรยากาศเวทีการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ COP23 ณ เมืองบอนน์ประเทศเยอรมัน ภาพโดย ดร.วนัน เพิ่มพิบูลย์  Climate Watch Thailand

โดยสาระสำคัญหนึ่งในทิศทางของเวที คือ ติดตามความก้าวหน้าและรูปธรรมที่เกิดขึ้นจากประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ สมัยที่ 21 (COP21) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2558 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ก่อเกิดเป็นความตกลงปารีส (Paris Agreement) ขึ้น โดยมีสาระสำคัญด้านต่างๆ เช่น ประเทศต่างๆ ตั้งเป้าหมายร่วมกันขั้นพื้นฐานที่จะรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และในขณะเดียวกัน กำหนดเป้าหมายที่สูงขึ้นไว้ควบคู่กันว่าจะพยายามรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้น้อยลงไปอีกจนถึงต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส หากสามารถกระทำได้ โดยการดำเนินการดังกล่าวจะยึดหลักความเป็นธรรม (equity) และหลักความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างของประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาด้วย โดยคำนึงถึงศักยภาพของแต่ละประเทศตามสภาวการณ์ของประเทศที่แตกต่างกัน (common but differentiated responsibilities and respective capabilities, in the light of different national circumstances) และความตกลงฯ ครอบคลุมการดำเนินการในประเด็นต่าง ๆ อาทิ การลดก๊าซเรือนกระจก, การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ,การเพิ่มความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ,ความโปร่งใสของการดำเนินการและการให้การสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงทางการเงิน โดยรัฐภาคีต้องมีข้อเสนอการดำเนินการที่เรียกว่า nationally determined contribution (NDC) ของประเทศทุก ๆ 5 ปี

ซึ่งภายหลังจากการประชุมกันที่กรุงปารีสข้างต้น ประเทศต่าง ๆ ได้มารวมตัวกันอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2559 ในพิธีลงนามความตกลงอย่างเป็นทางการ ซึ่งไทยได้ร่วมลงนามกับประเทศต่าง ๆ จำนวนมากกว่า 180 ประเทศด้วย และต่อมา เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 71 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ได้มอบสัตยาบันสารเข้าเป็นภาคีความตกลงปารีสของไทยให้กับ นายบัน คีมูน เลขาธิการสหประชาชาติแล้วระหว่างการเข้าร่วมกิจกรรม High-level Event on the Ratification of the Paris Agreement ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ และการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ COP23 ครั้งนี้มีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชนเข้าร่วมในเวทีจุดแสดงนิทรรศการประเทศไทยในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  COP23 ณ เมืองบอนน์ ประเทศเยอรมัน ภาพโดย ดร.วนัน เพิ่มพิบูลย์  Climate Watch Thailand

สาระส่วนหนึ่งในการพูดคุยครั้งนี้ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หัวข้อการเจรจายังคงเป็นเรื่องเทคนิคและระเบียบแนวทางในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของข้อตกลงปารีส ผลกระทบจากโลกร้อนมีความชัดเจนแล้วและชุมชนต่างๆ กำลังประสบกับผลกระทบเกิดความสูญเสียและความเสียหายอย่างมาก และจะยังคงประสบผลกระทบและความเสี่ยง และความสูญเสียและเสียหายต่อไปอีกเพราะการลดการปล่อยยังขาดความเข้มข้นที่จะทำให้เรารักษาอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียสได้ เราต้องการความเร่งด่วนและการลงมือทำโดยทันที และโดยเฉพาะอย่างยิ่งรวมถึงเม็ดเงินที่จะใช้ในการลงมือทำได้ทันที กล่าวคือต้องพูดถึงสาเหตุของโลกร้อนและแก้ที่ต้นเหตุ รวมถึงมีกลไกสนับสนุนด้านการเงินและเทคโนโลยีในการปรับตัวปรับเปลี่ยนโดยทันที เช่น การหยุดการใช้พลังงานฟอสซิล ถ่านหินโดยทันทีและสนับสนุนให้เกิดพลังงานหมุนเวียน  เป็นต้น รวมถึงมีข้อเรียกร้องถึงแหล่งทุนต่างๆ ให้หยุดสนับสนุนการดำเนินการในพลังงานสกปรก ถ่านหินและเชื้อเพลิงต่างๆ ที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีผลต่อการสูงขึ้นของอุณหภูมิโลก เพื่อเรียกร้องให้โลกตระหนักถึงการลดการปล่อยและเดินหน้าสู่อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส รวมถึงการเรียกร้องถึงกลไกการสูญเสียและความเสียหาย (loss and damage) ที่เป็นรูปธรรมการรณรงค์หยุดถ่านหินและพลังงานสกปรกของภาคประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชน ณ เมืองบอนน์ ประเทศเยอรมัน  ภาพโดย ดร.วนัน เพิ่มพิบูลย์  Climate Watch Thailand

นอกจากความพยายามในการลดการปล่อยและเจรจาทิศทางในการดำเนินการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับโลกแล้ว ในส่วนประเทศไทยมีการติดตามการเจรจาและการประมวลสถานการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อสร้างความเข้าใจในการปรากฏการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและแสวงหาแนวทางในการตั้งรับปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นกัน โดยจัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2560 ที่สำนักงานมูลนิธิคนเพียงไพร ภายใต้ความร่วมมือโครงการสนับสนุนครอบครัวชุมชนปรับตัวท่ามกลางภัยพิบัติทางธรรมชาติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเครือข่ายติดตามโลกร้อนประเทศไทย ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นตัวแทนจากครอบครัวชุมชนสร้างโลกเย็น นักพัฒนาองค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ ร่วมระดมความเห็นและส่งเสียงถึงเวทีการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ COP23 โดยมีการติดตามความก้าวหน้าในเนื้อหาและความก้าวหน้าในการเจรจา ร่วมถึงสะท้อนบทเรียนและชุดประสบการณ์ในการปรับตัวของชุมชนร่วมกันผลกระทบจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นสิ่งที่ชุมชนสะท้อนและเห็นร่วมกันคือความถี่และความรุนแรงที่มากขึ้นของการเกิดภัยพิบัติ กรณีตัวอย่างตำบลชาติตระการ อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งในปี 2560 มีภัยพิบัติน้ำท่วมในพื้นที่ไปแล้วอย่างน้อย 4 ครั้ง โดยเป็นน้ำท่วมในลักษณะน้ำหลาก ซึ่งแต่ละครั้งน้ำท่วมประมาณ 3 – 5 วัน สร้างความเสียหายให้กับโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน เช่น ถนน ฝาย และระบบประปาภูเขา เป็นต้น

ต้องใช้จัดหาประมาณในการซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ที่ชำรุ ดรวมถึงน้ำท่วมในพื้นที่ทางการเกษตร ที่ส่งผลต่อผลิตทางการเกษตร ทำให้ชุมชนประสบภาวะเสี่ยงในการขาดทุน เนื่องจากพืชผลเสียหายหรือได้รับผลผลิตน้อยลงไม่ตรงกับความต้องการและสอดคล้องกับต้นทุนที่ลงทุนไปซึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อชุมชนที่ชัดเจน ซึ่งชุมชนยืนยันถึงความเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ซึ่งจากการพูดคุยกับนายจำเนียร ด่านทิม กำนันตำบลชาติตระการ กล่าวว่า ปี 60 ที่บ้านน้ำท่วมแล้ว 4 ครั้ง แต่ละครั้งก็หนัก คือหนักกว่าที่ผ่านๆ มาผมเกิดมาห้าสิบกว่าปี ปีนี้น้ำท่วมที่บ้านผม ถือว่าหนักที่สุดที่เคยเจอเลย โดยในระยะหลัง สัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติมากขึ้นในพื้นที่ ทั้งเรื่องโลกร้อนรวมถึงปัจจัยด้านต่าง ๆ ที่ส่งผลให้ภัยพิบัติในพื้นที่รุนแรงมากขึ้น เช่น การปรับรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน การขยายพื้นที่การปลูกพืชเชิงเดี่ยวและการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ที่มีส่วนช่วยในการชะลอน้ำชุมชนบ้านดง อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก ชุมชนที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับกับพื้นราบ เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่ประสบกับภัยพิบัติน้ำท่วมซึ่งใน ปี 2560 ชุมชนน้ำท่วมในพื้นที่แล้วอย่างน้อย 3 ครั้ง โดยเป็นการท่วมในลักษณะน้ำหลาก 2 – 4 วัน สร้างความเสียหายให้กับนาข้าวและพื้นไร่ที่เพาะปลูกในที่ลุ่มน้ำไหลผ่าน โดยปีนี้น้ำเข้าท่วมในพื้นที่ในช่วงการเริ่มเพาะปลูกข้าว สร้างความเสียหายให้กับกล้าพันธุ์ข้าว ทั้งข้าวนาหว่านและข้าวนาดำ เนื่องจากน้ำเข้าท่วมในพื้นที่หลายรอบข้าวไม่มีโอกาสในการออกรากและฟื้นตัว

“พอเราเริ่มดำนาเริ่มหว่านข้าวพอกล้าขึ้นได้นิดนึงน้ำก็มาข้าวยังไม่แทงราก ยังตั้งตัวไม่ได้โดนน้ำพัดมาก็ไปตามน้ำหมด พอเริ่มปลูกใหม่กำลังจะได้ที่น้ำอีกรอบก็มาอีก บางคนทำสามรอบก็ไม่รอดจากน้ำ จนเลิกทำเลยก็มีเพราะไม่มีทุนมาทำแล้ว” สุภาพ สังข์เครืออยู่ ชาวนาจากตำบลบ้านดง สะท้อนถึงสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ที่ส่งผลกระทบต่อชาวนาเป็นอย่างมาก และเล่าถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับกล้วยหอม พืชเศรษฐกิจใหม่ที่ชุมชนนำมาทดลองปลูกในพื้นที่ แต่ก็ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเช่นกัน “ชาวบ้านบางส่วนหันมาปลูกกล้วยหอม ซึ่งส่วนหนึ่งปลูกที่ริมห้วย ปีนี้น้ำมาเยอะ  ท่วมกล้วยผลผลิตที่คิดว่าจะได้ก็คงไม่ได้ตามที่หวัง” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผลกระทบที่เกิดจากภัยพิบัติในพื้นที่ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่เกิดกับเกษตรกรบ้านวังกุ่ม  ตำบลบางระกำ อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก พื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วมมาโดยตลอดเนื่องจากอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณที่ราบลุ่มน้ำยม  โดยชุมชนผ่านการตั้งรับปรับตัวเป็นชุมชนที่อยู่กับพื้นที่น้ำท่วมให้ดีที่สุด ทั้งในส่วนการติดตามสถานการณ์น้ำในแต่ละปี การปรับรอบการผลิตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัยพิบัติในพื้นที่ การพึ่งตนเองด้านอาหาร เช่น การต่อยอดจากผลจากการศึกษา ประเมินความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของชุมชน ในพื้นที่ราบน้ำน่าน – ยม และแนวทางลดความเปราะบางของชุมชน โดยมูลนิธิไฮริค เบิร์นและมูลนิธิคนเพียงไพร เมื่อปี 2555 – 2556

ซึ่งผลการศึกษาการเสริมสร้างขีดความสามารถ (Capacity building) ด้านอาหาร ชุมชนวังกุ่มมีความเสี่ยงสูงเนื่องจากปลูกข้าวเพื่อขายกว่าร้อยละ 90 ส่งผลถึงความเสี่ยงด้านอาหารในกรณีเกิดภัยพิบติ ชุมชนจึงเสนอแนวทางการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิต เพิ่มสัดส่วนการผลิตเพื่อบริโภคมากยิ่งขึ้น แต่ติดปัญหาเกี่ยวกับโรงสีข้าว  มูลนิธิไฮริค เบิร์นและมูลนิธิคนเพียงไพร จึงสนับสนุนเครื่องสีข้าวขนาดเล็กให้ชุมชนจากนั้นชุมชนได้ต่อยอดและดำเนินการอย่างต่อเนื่องและพัฒนาเป็นโรงสีชุมชนในขนาดใหญ่ขึ้น จากการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐโดยบริหารจัดการโดยชุมชน เป็นอีกหนึ่งในรูปแบบการแสวงหาแนวทางในการปรับตัวของชุมชน

โดยนอกเหนือจากการแสวงหาแนวทางพึ่งตนเองของชุมชนแล้ว ทองเปลว ชูวงศ์ ชาวบ้านจากหมู่ 15 บ้านวังกุ่ม  ตำบลบางระกำ กล่าวเพิ่มถึงการเตรียมพร้อมของชุมชนในการรับมือว่าการติดตามเพื่อรับรู้ข้อมูลคือสิ่งสำคัญเพื่อนำมาวางแผนการจัดการทั้งในส่วนของการผลิตและที่อยู่อาศัยรวมถึงสื่อสารกันในชุมชน โดยกล่าวว่า “ถ้ามีแผนงานอะไรมาเราก็พยายามติดตามข่าวสาร  ที่นี่บ้านเรา เราต้องได้รับรู้ได้แสดงความคิดเห็นสิ ใครทำอะไรยังไงจะเกิดอะไรขึ้นที่บ้านเรา” โดยใน ปี 2560 นี้ ทองเปลว กล่าวว่า น้ำท่วมในชุมชนของเธอต่ำกว่าใน ปี 2554 ไม่มากนักและคาดว่ากว่าน้ำจะลดระดับลงสู่ภาวะปกติก็น่าจะสิ้นเดือนพฤศจิกายนวภีพร ธรรมมา ชาวสวนมะม่วงจาก ต. ชมพู อ. เนินมะปราง จ. พิษณุโลก ซึ่งประสบภัยพิบัติน้ำท่วมสวนมะม่วงในปี 2560 นี้เล่าว่า “น้ำท่วมต้นมะม่วงทำให้รากจมน้ำไม่สามารถหาอาหารได้ ทั้งดอกและผลก็ไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็นมะม่วงออกมาบางส่วนก็เป็นมะม่วงกระเทย คือ มะม่วงที่ไม่สมบูรณ์ขายได้กิโลละ 10 – 15 บาท ซึ่งถ้าน้ำไม่ท่วมเราบำรุงต้นได้ปกติ และเราห่อผิวมะม่วงให้สวยๆ แบบปีที่แล้วก็ขายได้กิโลละ 70 บาท” นอกจากนี้ วภีพร ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าสวนมะม่วงของเธอที่ได้รับความเสียหายไม่มากนักเนื่องจากมะม่วงเป็นมะม่วงที่ปลูกมานานเกิน 5 ปี และเป็นการท่วมแบบน้ำหลาก ซึ่งหากเป็นมะม่วงที่เพิ่งปลูกหากถูกน้ำท่วมเช่นนี้ มะม่วงอาจยืนต้นตายได้ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วในพื้นที่บริเวณข้างๆ สวนของเธอ หรือหากมีน้ำท่วมในพื้นที่เป็นระยะเวลานาน ต้นมะม่วงที่แม้จะปลูกนานแล้วก็มีโอกาสตายได้เช่นกัน ถือเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงจากภัยพิบัติในกรณีของชาวสวน ซึ่งหากเกิดความเสียหายจากน้ำท่วมหรือภัยพิบัติต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี ในปลูกและฟื้นฟูเพื่อกลับมาเก็บผลผลิตได้อีกครั้ง

โดยจากสถานการณ์ที่หลายชุมชนได้สะท้อนนั้น ชุมชนมีข้อเสนอถึงฝ่ายนโยบายถึงการให้ข้อมูลทั้งในด้านการพยากรณ์ นโยบายการบริหารจัดการที่แม่นยำและเข้าใจง่าย ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของชุมชนอย่างครอบคลุมทั่วถึง  มีกลไกการชดเชยหรือเยียวยาอย่างเป็นระบบและเป็นธรรม  รวมถึงการบูรณาการแผนงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มศักยภาพของชุมชนในการปรับตัว โดยนำบทวิเคราะห์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดแผนงาน มีการบริหารจัดการครอบคลุมทุกมิติอย่างเป็นระบบ ทั้งกลไกในการจัดการภัยพิบัติ กลไกในการชดเชยหรือสนับสนุนการผลิตที่ครอบคลุม ปฏิทินรอบการผลิตทั้งปี  หนึ่ง เช่น การวางแผนปฏิทินรอบปีการเพาะปลูกหลังจากช่วงการน้ำท่วมขังในพื้นที่  โดยช่วงการเพาะปลูกข้าวหลังน้ำลดในรอบปกติรอบที่ 1 และ 2 ควรมีมาตรการในการดูแลสนับสนุนปัจจัยการผลิต การเข้าถึงนโยบายสนับสนุนจากหน่วยงาน  การบริหารจัดการจัดสรรน้ำให้เพียงพอต่อการทำการทำนาทั้งสองรอบ และมีกลไกการตลาดรองรับผลิตที่ได้จากการทำนาทั้ง 2 รอบ ของคนในพื้นที่  เป็นต้น  รวมถึงเสนอถึงการชดเชยค่าสูญเสียโอกาสจากการประกอบอาชีพในพื้นที่หากมีโครงการหรือการประกาศเป็นพื้นที่รับน้ำในฤดูน้ำหลากรวมถึงกลไกการชดเชยความสูญเสียและเสียหาย (Lost and damaged) ที่ครอบคลุมทุกมิติด้าน ดร.ฐานิดา บุญวรรโณ จากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวถึง กรณีการเกิดภัยพิบัติกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่า “เราอาจจะต้องแยกเป็นภัยพิบัติตามธรรมชาติกับการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งถ้าเป็นการแล้ง การท่วมธรรมชาติ คิดว่าชาวบ้านจะมีวัฒนธรรมในการปรับตัวเองอยู่พอสมควรแต่เค้าอาจจะต้องเพิ่มการเฝ้าระวังตัวเอง เช่น การฟังข่าวสารพยากรณ์อากาศการตั้งกลุ่มแจ้งเตือนภัยทีมหรือเครือข่ายในการส่งข่าวแจ้งเตือนกัน ซึ่งควรมีการจัดการในการสื่อสารอย่างเป็นระบบ ” รวมถึงกล่าวประเด็นในการเสนอให้นำชุดองค์ความรู้และการคาดการณ์ล่วนหน้าเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาเป็นส่วนในบทวิเคราะห์ในการวางแผนงานและรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต “เรายังต้องพัฒนาเรื่องการนำเอาองค์ความรู้ของปรากฏการณ์อย่างเอลนิโญ่ลานิญ่ามาวางแผนเพื่อรับมือและป้องกันล่วงหน้า ” ดร.ฐานิดา บุญวรรโณ กล่าวทิ้งท้าย

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มิใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป การตื่นรู้และปรับตัวรวมถึงการติดตามการเจรจาและเรียกร้องถึงพันธกิจร่วมในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากต้นเหตุและกลไกหนุนเสริมศักยภาพในการปรับตัว  พัฒนารูปธรรมในการลดการปล่อย (Mitigation) และใช้พลังงานสะอาดที่แท้จริงเพื่อลดอัตราเร่ง เพื่อให้อุณหภูมิโลกให้สูงไม่เกิน1.5oC เป็นไปได้ โดยต้องมีความเร่งด่วนและการลงมือทำโดยทันที รวมถึงการเพิ่มองค์ความรู้และความเข้าใจ รวมถึงการนำข้อมูลแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์และปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมาเป็นบทวิเคราะห์เพื่อนำไปสู่การแสวงหาแนวทางการตั้งรับปรับตัว (Adaptation) ทั้งในระดับครอบครัว ชุมชนท้องถิ่น และระดับภูมิภาค เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรับมือกับโลกที่เปลี่ยนแปลงบนฐานการจัดการที่เป็นธรรม ให้ดีที่สุด.

โดย…ณัฐวุฒิ อุปปะ  โครงการสนับสนุนครอบครัวชุมชนปรับตัวท่ามกลางภัยพิบัติทางธรรมชาติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  Climate Watch Thailand / มูลนิธิคนเพียงไพร

You may also like

“ส.ว.ก๊อง”ลั่นลงสมัครป้องกันแชมป์สมัยหน้าในนามพรรคเพื่อไทย แย้มครั้งนี้ “ทักษิณ” ขอเป็นผู้ช่วยหาเสียง พร้อมลงพื้นที่ 25 อำเภอ

จำนวนผู้