แม่ทัพน้อยที่ 3ปิดศูนย์ฯไฟป่า ชี้หลังหมดช่วงห้ามเผาให้ผู้ว่าฯจังหวัดไปบริหารจัดการสั่งห้ามเผาพร้อมกัน

แม่ทัพน้อยที่ 3ปิดศูนย์ฯไฟป่า ชี้หลังหมดช่วงห้ามเผาให้ผู้ว่าฯจังหวัดไปบริหารจัดการสั่งห้ามเผาพร้อมกัน

แม่ทัพน้อยที่ 3 ยอมรับปัญหาปีนี้รุนแรง แจงปิดศูนย์ฯป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ระดับภาคส่วนหน้าปี 62 พร้อมสรุปบทเรียนเหตุสถานการณ์ดีขึ้น ชี้หลังพ้นช่วงห้ามเผาเด็ดขาดให้ผู้ว่าฯแต่ละจังหวัดไปบริหารจัดการแต่ห้ามเผาพร้อมกัน ขณะที่Gisda เตรียมทำแอพพลิเคชั่นไฟป่าเพื่อทำให้การจัดการปัญหาได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

วันที่ 25 เม.ย.62 เวลา 09.00 น.ที่ห้องประชุมกองกำลังผาเมือง พล.ท.สุภโชค   ธวัชพีระชัย แม่ทัพน้อยที่ 3 ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ระดับภาคส่วนหน้า เป็นประธานสรุปบทเรียนการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ประจำปี 2562 โดยมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการจาก 9 จังหวัดภาคเหนือ เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

แม่ทัพน้อยที่ 3 กล่าวว่า จากสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ 9 จังหวัดที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเต็มรูปแบบ แต่เนื่องจากในปีนี้สภาพภูมิอากาศแห้งแล้งมากประกอบกับการสะสมของเชื้อเพลิงมีจำนวนมาก จึงส่งผลให้สถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันปีนี้ เพิ่มมากขึ้น  ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า และหมอกควัน ระดับภาคส่วนหน้า    จึงจัดการประชุมสรุปบทเรียนการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ประจำปี 2562 ขึ้น เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ในช่วงก่อนเข้าสู่ฤดูฝนเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  และนำข้อมูลที่ได้ในวันนี้ไปปรับใช้ในการจัดทำแผนรองรับในปีต่อไป

สำหรับในปี 2562 ห้วงตั้งแต่ 1 ม.ค. – 23 เม.ย. 62 พบจุดความร้อนสะสมจำนวน  8,551 จุดมากกว่า ปี 2561  จำนวน 4,240 จุด คิดเป็น 98.35 %    โดยจังหวัดที่มี จุดความร้อนสูงสุด  คือแม่ฮ่องสอน,เชียงใหม่,เชียงราย,น่าน,ลำปาง,ตาก,พะเยา,แพร่และลำพูน โดยที่ผ่านมาศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ระดับภาคส่วนหน้า ได้วางแผนอำนวยการ ควบคุม และกำกับดูแลการปฏิบัติของชุดรณรงค์ฯ โดยบูรณาการร่วมกับจังหวัด ฝ่ายปกครอง หน่วยงานป่าไม้ ตำรวจ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน จิตอาสา และประชาชน จำนวน 7,442 นาย รวมทั้งขอรับการสนับสนุนอากาศยานจากกองทัพบก และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปฏิบัติการทิ้งน้ำดับไฟในพื้นที่ป่าที่เป็นภูเขาสูงชัน และจัดตั้งห้องติดตามสถานการณ์ (War Room) เพื่อขับเคลื่อนการปฏิบัติงานและติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชม.

นอกจากนี้ยังมีการใช้อากาศยานในการสนับสนุนการดับไฟป่า  ซึ่งกองทัพบกได้ให้การสนับสนุนอากาศยาน ฮ.แบบ ( MI-17 ) จำนวน  4   เครื่อง  ปฏิบัติการทิ้งน้ำ  จำนวน 217  เที่ยว ปริมาณน้ำ  จำนวน   575,522   ลิตร อากาศยาน ฮ.ท.212 จาก กกล.ผาเมือง  จำนวน  1  เครื่อง ปฏิบัติการทิ้งน้ำ จำนวน  36   เที่ยว ปริมาณน้ำ  จำนวน  37,300   ลิตร และอากาศยาน ฮ.ท.72 จาก ศูนย์ปฏิบัติการบินกองทัพภาคที่ 3 จำนวน  1  เครื่อง สนับสนุน  การบินสำรวจ และลาดตระเวนทางอากาศในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน  30 เที่ยว ในส่วนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สนับสนุนอากาศยาน จำนวน 3 เครื่อง   ปฏิบัติการทิ้งน้ำ จำนวน  533  เที่ยว           ปริมาณน้ำ  จำนวน  270,900  ลิตร  ในส่วนของกองทัพอากาศ สนับสนุน อากาศยาน (บล. 2 ก/BT-67) ใช้ในการโปรยละอองน้ำ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นในอากาศ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 51 เที่ยว ปริมาณน้ำ 168,000 ลิตร  นอกจากนี้กองทัพบก  สนับสนุนเครื่องเป่าลม จำนวน 30 เครื่อง ให้ กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ทั้ง 9 จังหวัด

สำหรับมาตรการบังคับใช้กฎหมาย ตามมาตรการประกาศห้ามเผาโดยเด็ดขาดในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดในห้วงตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์-เมษายน มีผลการจับกุมผู้กระทำความผิดทางกฎหมาย รวมทั้งสิ้น  474 ราย  ประกอบด้วยการกระทำผิด พ.ร.บ.สาธารณสุข จำนวน 81 ราย,  พ.ร.บ.ป่าไม้  จำนวน 37 ราย และ พ.ร.บ.จราจร  จำนวน 356 ราย ด้านการเกิดอุบัติเหตุของกำลังพลและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติจากการดับไฟ จำนวน 10 ราย โดยได้รับบาดเจ็บ  จำนวน    8  ราย และเสียชีวิต จำนวน 2 ราย

แม่ทัพน้อยที่ 3 กล่าวว่า การดำเนินงานที่ผ่านมา พบปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติงานที่สำคัญ  คือ การสะสมเชื้อเพลิงในแต่ละปีมีจำนวนมาก ทำให้เกิดความล่อแหลมในการลักลอบเผาป่าในสาเหตุต่างๆ  และการจัดระเบียบในการควบคุมการเผา นอกจากนี้ยังมีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มที่ไม่เกรงกลัวต่อมาตรการบังคับใช้กฎหมาย จึงมีการลักลอบเผาป่าอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญระบบ single Command ในบางพื้นที่ยังใช้ไม่ได้ผล  เนื่องจากผู้บริหารยังวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหา และระบบการแก้ไขปัญหาไม่ชัดเจน ตลอดจนเทคนิคการสื่อสารในการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ในบางพื้นที่ยังไม่เข้าใจ และไม่ถึงประชาชน โดยเฉพาะหมู่บ้านในพื้นท่าสงวนกับป่าอนุรักษ์  ทั้งนี้ในการดำเนินการปีต่อไป Single Command ศูนย์ควบคุมไฟป่าและหมอกควัน ระดับอำเภอจะต้องจัดทำแผนควบคุมไฟป่าและหมอกควัน อย่างบูรณาการทุกภาคส่วน สร้างความเข้าใจ ซักซ้อม ทุกขั้นตอน อย่างเป็นระบบ และมีการจัดตั้ง War Room วางแผน อำนวยการ ควบคุม ประสานงาน ตลอดจนการจัดชุดปฏิบัติการบูรณาการระดับตำบล เพื่อสร้างการรับรู้ ทำความเข้าใจถึงระดับหมู่บ้าน ต่อไป

“ตอนนี้แนวโน้มสถานการณ์หมอกควันและไฟป่าดีขึ้นแล้วจึงจะปิดศูนย์ฯแต่การดำเนินการแก้ไขไฟป่าแต่ละจังหวัดก็จะดำเนินการต่อไป โดยเฉพาะเมื่อหมดช่วง 60 วันห้ามเผาเด็ดขาด ซึ่งตอนนี้ต้องยอมรับว่ามีปริมาณเชื้อเพลิงที่สะสมมาก ดังนั้นแต่ละจังหวัดจะต้องไปบริหารจัดการการกำจัดเชื้อเพลิงก่อนเตรียมพื้นที่เกษตร ไม่ใช่เผาพร้อมกันเพราะจะทำให้เกิดปัญหาหมอกควันที่กระทบต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชนได้อีก จริงๆ ที่ผ่านมาทหารก็เข้ามาเสริมการปฏิบัติงานตามแผนของแต่ละจังหวัดซึ่งได้เริ่มเปิดศูนย์อำนวยการฯมาตั้งแต่เดือนธ.ค.61-ปัจจุบันเป็นเวลากว่า 5 เดือน ซึ่งมีทั้งช่วงที่สถานการณ์หนักสลับเบาต่างกันไป”พลโทสุภโชคกล่าวและชี้แจงว่า

ในปีนี้ต้องยอมรับว่าประชาชนตื่นตัวและให้ความสนใจกับปัญหาหมอกควันและไฟป่าสูงมาก โดยเฉพาะค่าpm2.5 ที่มีค่าสูงเกินมาตรฐานและมีผลกระทบต่อสุขภาพจึงทำให้แผนงานปีนี้มีการปรับการทำงานส่งกำลังลงพื้นที่ที่เกิดปัญหาจุดความร้อนหรือ Hot Spot สูง อย่างไรก็ตามต้องขอความร่วมมือประชาชนในหลายจังหวัดให้งดการเผาในช่วงนี้ไปก่อน และต่อไปผู้ว่าฯทั้ง 9 จังหวัดจะเป็นผู้ที่ถอดบทเรียนและประสานกันว่าจะบริหารจัดการเชื้อเพลิงอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาขยายเป็นวงกว้าง ซึ่งอาจจะมีทั้งการกำหนดโซน จำกัดเวลาในการเผา

พลโทสุภโชค กล่าวด้วยว่า สำหรับงบประมาณในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาปีนี้ ทางกองทัพน้อยที่ 3 เองได้รับจัดสรรในเรื่องชุดรณรงค์ในพื้นที่ แต่เมื่อสถานการณ์รุนแรงขึ้นทางกองทัพบกได้ส่งยุทโธปกรณ์และกำลังพลมาเสริม ทางกระทรวงทรัพย์ฯก็เช่นเดียวกันซึ่งต้องยอมรับว่าใช้งบประมาณไปพอควร แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากไฟป่าและหมอกควันปีนี้มีความเสียหายมากมาย ทั้งนี้ทางกองทัพภาคที่ 3 จะมีการสรุปบทเรียนอีกครั้งโดยจะเชิญทุกภาคส่วนมาร่วมเพื่อวางแนวทางสำหรับปีหน้าต่อไป

ในขณะที่นายอนุสรณ์ รังสิพานิช นักภูมิสารสนเทศเชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน):GISTDA กล่าวว่า ในปีนี้ได้มีการพัฒนาระบบการรายงานเกี่ยวกับจุดความร้อน Hot Spot ที่ตรวจพบจากดาวเทียม VIIR ซึ่งเดิมจะรอการรายงานและประมวลผลจากนาซ่าซึ่งจะใช้เวลานานและได้รับข้อมูลในภาคบ่าย จึงทำให้เกิดปัญหาความล่าช้าในการเข้าไปดับไฟ เมื่อครั้งที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีขึ้นมาติดตามปัญหาและสั่งการให้จิสด้ารับสัญญาณตรงและรายงานผลส่งให้หน่วยปฏิบัติงาน ซึ่งสามารถรับสัญญาณและใช้เวลาประมวลผลเพียง 1-2 ชั่วโมงก็ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปดับไฟได้เร็วขึ้น

“ปีนี้นายกรัฐมนตรีให้ลงรายละเอียดไปถึงระดับตำบล ซึ่งก็มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นแต่อย่างไรก็ตามในการแปลพื้นที่การเผาจากที่ดาวเทียมตรวจพบไม่สามารถทำได้ทันที จุดความร้อนต่างๆ ที่พบและจะสามารถแปลผลได้ต้องหลังเดือนพ.ค.ไปแล้ว แต่ที่เป็นห่วงคือปรากฏการณ์เอลนิโญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก หากเปรียบเทียบกับพื้นที่ภาคเหนือตอนบนปีนี้ยังถือว่าความรุนแรงอยู่ในระดับกลางไม่ถึงกับมาก แต่แนวโน้มทั่วโลกคาดการณ์ว่าภัยแล้งจะยังไม่ลดและจะทรงตัวไปแบบนี้ ที่น่ากังวลคือช่วงฤดูฝนถ้าหากยังมีฝนน้อยต่อเนื่องก็จะทำให้เป็นปัญหาได้ในอนาคต”นักภูมิสารสนเทศเชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กล่าวและว่า

ทางจิสด้าได้ถอดบทเรียนในการทำงานแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าปีนี้คือจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพความเร็วในการประมวลผล ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งในการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปดับไฟได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และจัดทำแผนที่ให้ตรงกับความต้องการเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องมาดัดแปลงอีกและจะพัฒนาแอพพลิเคชั่นขึ้นมาเป็นแอพพลิเคชั่นติดตามการเกิดไฟป่าโดยเฉพาะ ซึ่งจะสามารถแจ้งจุด Hot Spot ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการแบ่งความรับผิดชอบ การรายงานผล การติดตามที่เป็นเครื่องมือช่วยในการทำงานให้สะดวกมากยิ่งขึ้นด้วย.

 

You may also like

SUN และ EXE มอบอาหารช่วยผู้ลี้ภัยชายแดนเมียนมา

จำนวนผู้