เสนอคสช.ทุบทิ้งบ้านพักศาลฯ 47 หลังอาคารชุด 9 อาคารคืนเนื้อที่ 83 ไร่จี้คืนที่ราชพัสดุให้อุทยานฯเพื่อปลูกป่าประชารัฐทดแทน

เสนอคสช.ทุบทิ้งบ้านพักศาลฯ 47 หลังอาคารชุด 9 อาคารคืนเนื้อที่ 83 ไร่จี้คืนที่ราชพัสดุให้อุทยานฯเพื่อปลูกป่าประชารัฐทดแทน

- in headline, จับกระแสสังคม

แม่ทัพภาคที่ 3 พร้อมนำข้อสรุป เสนอผบ.ทบ.ในฐานะเลขาฯคสช.พรุ่งนี้(10 เม.ย.) หลังมติภาคประชาชนในเวทีสาธารณะยืนยันทุบทิ้งบ้านพัก 47 หลังอาคารชุด 9 อาคารของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่กำลังก่อสร้าง จี้คืนพื้นที่ราชพัสดุให้อุทานดอยสุเทพ-ปุยดูแลพร้อมตั้งกรรมการร่วมลงพื้นที่ทำแนวเขตร่วมกัน 19 เม.ย.นี้ ก่อนฟื้นฟูปลูกป่าตามแนวทางประชารัฐ

ที่มทบ.33 ค่ายกาวิละ พล.ท.วิจักข์ฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 เป็นตัวกลางในการระดมความเห็นในเวทีสาธารณะ กรณีการก่อสร้างบ้านพักศาลอุทธรณ์ภาค 5 โดยมีตัวแทนเครือข่ายทวงคืนผืนป่าดอยสุเทพ ตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐและสื่อมวลชนเข้าร่วมจำนวนมาก

แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวว่า หลังจากที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมได้สั่งการผ่านผบ.ทบ.ว่าเมื่อการแก้ไขปัญหากรณีบ้านพักศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่สามารถไกล่เกลี่ยในระดับมณฑลได้ จึงได้มอบหมายให้ตนในฐานะเป็นตัวแทนคสช.ให้เปิดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่าย เพื่อจะนำข้อมูลและข้อสรุปจากเวทีครั้งนี้เสนอทาง คสช. สำหรับตัวแทนทางศาลอุทธรณ์ภาค 5 แต่เดิมได้แจ้งตอบรับว่าจะมาร่วมในเวทีสาธารณะนี้ด้วย แต่เพิ่งจะมาแจ้งในช่วงเช้าวันนี้(9เม.ย.)ว่าไม่สามารถมาร่วมได้ รวมถึงไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมด้วย ขณะที่ทางคณะกรรมการตุลาการเองก็มีการประชุมในกรณีเรื่องบ้านพักฯในวันนี้เช่นเดียวกัน

ทางด้านนายชาติชาย นาคทิพวรรณ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการส่วนจัดการต้นบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (สบ.16) กล่าวว่า จากสภาพการขอใช้พื้นที่พบว่าเป็นป่าดั้งเดิมจำนวน 40 ไร่และป่าใช้ประโยชน์ 107 ไร่ ซึ่งจะเห็นร่องน้ำและสะพานในจุดที่มีการก่อสร้าง โดยสามารถแบ่งออกเป็น 4 โซนๆ แรกยังคงสภาพเดิมของป่าเนื้อที่ประมาณ 40 ไร่ ส่วนโซนที่ก่อสร้างบ้านเดี่ยวจำนวน 45 หลังจำนวน 47 ไร่และจากลำห้วยถึงวงเวียนจะเป็นพื้นที่โซน 3 ซึ่งมีการก่อสร้างอาคารชุด จำนวน 9 อาคารเนื้อที่ประมาณ 43 ไร่และโซนสุดท้ายเป็นที่สร้างสำนักงานเนื้อที่ประมาณ 17 ไร่รวมพื้นที่ทั้งหมดที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ใช้ดำเนินการก่อสร้างจำนวน 147 ไร่

นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการส่วนจัดการต้นบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (สบ.16) กล่าวอีกว่า สำหรับสภาพพื้นที่โซน 2 ที่มีการก่อสร้างบ้านเดี่ยว มีความลาดชัน 26% ส่วนจุดที่ก่อสร้างอาคารชุดกับสำนักงานมีความลาดชัน 12% สภาพพื้นที่ป่าบริเวณนี้จำแนกเป็นป่าเต็งรัง ในฤดูแล้งจะผลัดใบและมีโอกาสเป็นเชื้อเพลิงได้ง่ายในฤดูแล้ง ส่วนบริเวณที่เป็นบ้านพัก จุดที่ก่อสร้างเป็นที่สโลปหรือลาดชันสูงถึง 26% โดยดูจากภาพถ่ายซึ่งต้นไม้บางส่วนถูกตัดและที่ดินเปิดโล่ง สภาพดินเป็นดินลูกรัง ซึ่งง่ายต่อการถูกชะล้างในช่วงฤดูฝนหรือน้ำหลาก และยิ่งสโลปก็มีโอกาสพังทลายได้ง่าย ต้องมีการวางแผนจัดการระบายน้ำให้ดีไม่เช่นนั้นหน้าดินจะพังทลายลงมาได้

“ส่วนของลำห้วยในบริเวณดังกล่าวคือลำห้วยชะเยือง ซึ่งผ่านบริเวณบ้านพัก น้ำจะไหลลงห้วยแม่จอกและที่ราบซึ่งเป็นที่นาของชาวบ้าน ส่วนโซนบ้านพักที่เป็นอาคารชุด สภาพพื้นที่สภาพป่าถูกเปิดออกมาและโครงสร้างดินเสื่อมสภาพ และง่ายถูกชะล้างพังทลายเช่นเดียวกัน และอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านล่างเมื่อมีฝนตกดินถูกชะล้างลงมา แต่บริเวณนี้ก็ยังสามารถฟื้นฟูได้แม้พื้นที่ถูกเปิดไปแล้วก็ตาม”นายชาติชาย กล่าวชี้แจง

นายวรวิทย์ รัชชะพล ตัวแทนเครือข่ายขอคืนผืนป่าดอยสุเทพฯ กล่าวว่า ตนเดินทางมาจากบุรีรัมย์ และได้เอกสารจากออนไลน์ ทราบว่ามีการขอใช้พื้นที่จากกรมธนารักษ์เป็นที่เลี้ยงม้า จึงอยากได้ความชัดเจนว่าในการขอใช้พื้นที่รัฐ จะต้องออกเป็นกฎกระทรวงหรือไม่ กรณีในการเปลี่ยนลักษณะการใช้ประโยชน์ เพราะข้อกังวลของประชาชนคือสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐ ทางทีมงานอยากให้มีการเปิดเผยข้อมูลเพราะไม่มีการยืนยันการอนุญาตให้ใช้พื้นที่จากกรมธนารักษ์เป็นลายลักษณ์อักษร และในแนวการฟื้นฟูป่า ทางเจตนารมณ์ของกลุ่มคือให้ทุบทิ้ง บ้านพักศาลฯที่กำลังก่อสร้าง ไม่ใช่เพียงแค่ฟื้นฟูสภาพป่าที่ถูกตัดไปเท่านั้น

ว่าที่ร.ต.ยงยุทธ เรืองภัทรกุล ธนารักษ์พื้นที่เชียงใหม่ กล่าวว่า สำหรับที่ดินราชพัสดุ การอนุญาตเป็นหน้าที่ของอธิบดีกรมธนารักษ์ ยกเว้นพื้นที่ที่ไม่เกิน 1 ไร่ เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดได้ ซึ่งพื้นที่กอสร้างดังกล่าวทางกรมธนารักษ์ได้อนุญาต เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2559 และจังหวัดอนุญาตให้ใช้เมื่อ 12 ปีที่ผ่านมา

ขณะที่นายกฤตย์  เมฆเมธากร ตัวแทนนักธุรกิจไทย-จีน และเป็นตัวแทนเดินเท้าเพื่อไปยื่นหนังสือขอม.44 จากหัวหน้าคสช.กล่าวว่า ยังยืนยันที่จะให้หน.คสช.ใช้คำสั่ง ม.44 สั่งทุบทิ้งบ้านพักศาลอุทธรณ์ภาค 5 ประชาชนจะได้รู้ว่าคสช.จะยอมแลกเพียงเพื่อให้ข้าราชการตุลาการไม่กี่คนได้บ้านพัก หรือจะเลือกคนไทยทั้งประเทศ เมื่อเงินที่ก่อสร้างเป็นเงินของประชาชนเราสั่งให้ทุบก็ต้องทุบ หากถามว่าค่าเสียหายที่เกิดขึ้นในความเห็นส่วนตัวจะชวนประชาชนลงขัน และยืนยันว่าม.44 เท่านั้นจะช่วยแก้ปัญหาได้ โดยในวันพรุ่งนี้ (10 เม.ย.) ตนจะเริ่มเดินเท้าจากจุดเดิมที่หยุดที่ลำปาง บริเวณอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ อ.เกาะคา เพื่อเดินเท้าเข้ากรุงเทพฯ ไปยื่นหนังสือต่อหน.คสช. เพื่อให้เห็นถึงความตั้งใจของชาวเชียงใหม่และให้คนไทยทั้งประเทศได้ร่วมปกป้องหวงแหนทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ

ทางด้านดร.จอนนภดล วสินสุนทร ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของเครือข่ายฯ กล่าวว่า การแก้ปัญหาเรื่องบ้านพักศาลฯวันนี้จะใช้กฎหมายโดยไม่คำนึงถึงหลักรัฐศาสตร์และการอยู่ร่วมกันของสังคมไม่ได้ จะทำอย่างไรเมื่อบ้านเมืองบิดเบี้ยวและสังคมเดือดร้อน จึงต้องก้าวข้ามเรื่องกฎหมาย สิ่งที่ระดมสมองกันคือเพื่อจะไม่ต้องเปลืองงบประมาณในอนาคตอีก เพราะหากยังมีบ้านพักบริเวณเดิม ก็ต้องมีการตั้งงบประมาณเพื่อมาแก้ไขปัญหาเรื่องไฟป่าในฤดูแล้ง กับการชะล้างหน้าดินในฤดูน้ำหลาก ซึ่งจะต้องมีการเงินอีกมาก  หากเทียบกับทุบทิ้งแล้วปลูกป่าคืนกลับมาจะดีกว่า

นายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนผืนป่าดอยสุเทพ กล่าวว่า สาเหตุที่เครือข่ายคัดค้าน ประการแรกคือผลกระทบด้านจิตใจเพราะดอยสุเทพเป็นศูนย์รวมเรื่องของจิตวิญญาณชาวเชียใหม่ อีกประการหนึ่งคือเห็นว่าทางศาลฯเลือกใช้พื้นที่ไม่เหมาะสม เป็นการตัดไม้ทำลายป่า ทำลายห้วยน้ำ มีการเจาะภูเขา ซึ่งเมื่อ 30 ปีก่อนคนเชียงใหม่ตกลงกับทางราชการว่าจะไม่บุกรกดอยสุเทพยกเว้นวางเสาช่อง 7 แต่กลับมีการตัดไม้ทำลายป่าเป็นพันๆ ต้น และจากการเข้าไปปลูกป่าเมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมาจะเห็นแนวต้นไม้ที่ถูกตัด และยังพบเห็นการสร้างรั้วตามแผนงานเฟสสุดท้ายก็ยังมีการตัดต้นไม้อีก ทั้งๆ ที่พื้นที่บริเวณนี้ยังพบรอยเท้าแมวดาวและสัตว์ป่าอื่นๆ อีกมากมาย จึงถือว่าการก่อสร้างบ้านพักฯนี้เป็นการทำลายระบบนิเวศน์ที่ไม่น่าให้อภัย หากมองพื้นที่โดยรวมประมาณ 80 ไร่ที่ก่อสร้าง พบว่าต้นไม้ถูกตัดไปประมาณ 16,000 ต้น

นางคำศรีดา แป้นไทย ตัวแทนเครือข่ายกล่าวว่า ขอให้มีบรรทัดฐานด้านจริยธรรมในการทำงาน ขออย่ายึดแต่กฎหมาย หรือใช้อำนาจในข้อโต้แย้งกับประชาชนที่ไม่มีอำนาจ เรื่องบ้านพักนี้ถือเป็นตัวอย่างการใช้บรรทัดฐานว่าสถาบันด้านยุติธรรมกลับทำแบบนี้สามารถกำหนดสิทธิ อำนาจและกฎหมายเอง หากไม่แก้ไขจะทำให้เกิดบรรทัดฐานความแตกแยก ความเหลื่อมล้ำและการปกครองของประเทศ เพราะต่อไปจะเอาน้ำที่ไหนมาเล่นสงกรานต์ที่ต้องผันน้ำจากแม่สามา แต่กลับมีการเข้าไปก่อสร้างครอบครองโดยถูกกฎหมาย และการแก้ไขปัญหาคลองแม่ข่าก็จะไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นจึงขอให้คืนพื้นที่ให้หน่วยงานที่ดูแลป่าไม้โดยตรง เพื่ออนาคตของประเทศไทย

ขณะที่นางพิมพ์สุชา สมมิตรวสุ ตัวแทนเครือข่ายทสม. กล่าวว่า ในฐานะเครือข่ายทสม.ซึ่งมีหน้าที่ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และในฐานะคนเมืองไม่สบายใจที่ดอยสุเทพซึ่งเป็นที่ตั้งขององค์พระธาตุดอยสุเทพถูกรุกราน รู้สึกเสียดายและสูญเสียสิ่งที่สวยงาม และที่เสียใจสุดคือวัดพระธาตุดอยสุเทพเป็นที่สถิตพระบรมธาตุและมีอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยซึ่งสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ ตรงนี้สะท้อนและบ่งบอกว่าคนเชียงใหม่เสียดาย หวงแหนป่าที่ถูกตัดทำลายไป ที่ผ่านมาทางเครือข่ายพยายามที่จะช่วยรัฐในการดูแลผืนป่า ทางคสช.เองก็มีนโยบายทวงคืนผืนป่า แต่กรณีนี้ทำให้สมาชิกเครือข่ายสูญเสียกำลังใจทั้งๆ ที่ทุ่มเทแรงกาย และใจไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย

เช่นเดียวกับตัวแทนภาคประชาชนรายหนึ่ง กล่าวว่า บ้านพักที่ก่อสร้างอยู่ ทำเหมือนรีสอร์ท ทั้งการอนุมัติของผู้ขอใช้ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา เพราะคณะกรรมการตุลาการเป็นผู้ขอ ในฐานะประชาชนเห็นว่าการสร้างบ้านพักจนทำให้ป่าแหว่ง ทำให้ประชาชนทั้งประเทศเสื่อมศรัทธา จึงขอเสนอให้ทุบทิ้งและเอาพื้นที่กลับมาเป็นป่าดังเดิมไม่เช่นนั้นจะเป็นตราบาปของสถาบันยุติธรรมตลอดไป อย่ากลัวเสียศักดิ์ศรีเลยเพราะทุกคนสามารถผิดพลาดได้ แต่การยอมจะทำให้ช่วยกอบกู้ชื่อเสียงและศรัทธาของสถาบันยุติธรรมกลับคืนมาได้

ด้านนายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า สิ่งที่อยากให้ผู้ร่วมเวทีครั้งนี้ได้หาทางออกร่วมกันได้มองเห็นในอีกประเด็นหนึ่งคือ ส่วนของผู้รับเหมาหรือเอกชนที่รับงาน ซึ่งไม่ได้ผิดสัญญาหากให้หยุด รัฐจะต้องจ่ายค่าเสียหายให้ จะทำอย่างไร อีกกรณีในเรื่องของแนวดอยสุเทพ-ปุยที่แท้จริงอยู่ตรงไหน เพราะหอดูดาวก็สร้างใกล้ๆ จะทำอย่างไรทางเครือข่ายฯก็ต้องช่วยกันคิด ขอให้ภาคีช่วยกันคิดว่าต่อไปในอนาคตตรงไหนควรมี ไม่มี และสุดท้ายทางออกโดยสันติวิธีเป็นสิ่งที่ถูกต้อง จะทำให้การทำงานต่อไปที่สามารถเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนและราชการได้

นายปัณรส บัวคลี่ ตัวแทนภาคีฮักเชียงใหม่ กล่าวว่า ทางเครือข่ายภาคประชาชนทราบว่าสัญญาการก่อสร้างสิ้นสุดในเดือนมิ.ย.นี้ ซึ่งเครือข่ายฯมีมติแล้วว่าจะให้ผู้รับจ้างดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จตามสัญญา เพื่อรัฐจะได้ไม่ต้องจ่ายเสียหายที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตามพล.ท.วิจักขฐ์ บรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวสรุปว่า  ผลการประชุมวันนี้ตนจะนำเสนอต่อผู้บัญชาการทหารบกภายในวันพรุ่งนี้ เพื่อให้หัวหน้าคสช.พิจารณา และในบ่ายวันนี้(9 เม.ย.)ทางคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมก็จะมีมติออกมาเช่นเดียวกัน โดยตนจะนำเรียนผบ.ทบ.ในฐานะเลขานุการคสช.ว่าความต้องการของมวลชนคือให้รื้อบ้านพักศาลอุทธรณ์จำนวน 47 หลัง และอาคารชุดทั้ง 9 อาคาร และให้ฟื้นฟูสภาพป่า ตามนโยบายการปลูกป่าประชารัฐร่วมกันดูแลต่อไป

ทั้งนี้ในวันที่ 19 เม.ย.จะมีการลงพื้นที่จุดที่ก่อสร้างบ้านพักฯ โดยให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมามีตัวแทนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยให้ทางผวจ.เชียงใหม่แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อไปดูสถานที่จริงและกำหนดจุดที่เหมาะสมและความต้องการของภาคประชาชนด้วย โดยจะทำหนังสือขออนุญาตทางศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ด้วย ถือว่าเป็นการดำเนินการเพื่อให้เกิดสันติวิธี ส่วนเรื่องของผู้รับเหมาจะให้ทำงานต่อให้เสร็จตามสัญญาหรือให้หยุดเพียงเท่านี้ แต่รัฐก็ต้องจ่ายเงินตามสัญญาจ้าง เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้รับเหมาซึ่งรับงานราชการมาอย่างถูกต้องก็ให้ทางคสช.เป็นผู้พิจารณา และหากต้องรื้อบ้านพักที่ก่อสร้างไปรัฐก็ต้องหาพื้นที่ที่เหมาะสมทดแทนด้วย เพื่อเป็นการเยียวยาให้กับทางศาลอุทธรณ์ภาค 5 รวมทั้งจัดหางบประมาณมาก่อสร้างบ้านพักแห่งใหม่ในพื้นที่เหมาะสม

ในกรณีที่คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาได้ลงพื้นที่และขีดเส้นให้ทุบทิ้งแล้ว ก็จะให้ทางสำนักงานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ทำเรื่องส่งคืนพื้นที่ให้กับทางอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุยเป็นผู้ดูแล และใช้ปลูกป่าประชารัฐ และถ้าหากภาคประชาชนมีเรื่องที่อยากจะนำเสนอให้หัวหน้าคสช.ขอให้ยื่นหนังสือผ่านผบ.มทบ.33 โดยขอให้คนที่จะเดินเท้าไปยื่นหนังสือยุติเพื่อรอผลการลงพื้นที่ในวันที่ 19 เม.ย.นี้ก่อน ส่วนประเด็นอื่นที่มีการนำเสนอในเวทีสาธารณะครั้งนี้ก็จะนำเสนอต่อผบ.ทบ.,รมว.กลาโหมและรองนายกรัฐมนตรีรวมทั้งนายกรัฐมนตรีด้วย.

You may also like

ผบ.นบ.ยส.35 ลงพื้นที่อำเภอไชยปราการ เพื่อตรวจเยี่ยมกำลังพลเพิ่มความเข้มก่อนหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์

จำนวนผู้