เยือนเชียงใหม่ เมืองพหุวัฒนธรรม

เยือนเชียงใหม่ เมืองพหุวัฒนธรรม

- in Exclusive, ท่องเที่ยว

“เชียงใหม่” เมืองแห่งมนต์เสน่ห์  ที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างประเทศ ใฝ่ฝันจะมาเยี่ยมเยือน เพื่อสัมผัสความงดงามของธรรมชาติ เพราะเนื้อที่ 20,107 ตารางกิโลเมตร หรือราว 12,566,911 ไร่ เป็นป่าต้นไม้ลำธารถึงร้อยละ 80 และไม่เพียงโดดเด่นเรื่องธรรมชาติ เชียงใหม่ยังเปี่ยมด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างน่าค้นหา  ศาสนสถานของศาสนาต่างๆ ปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไป ทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม ซิกซ์ แสดงให้เห็นถึงน้ำใจไมไตรีของผู้คน ที่เอื้อเฟื้อและอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างได้อย่างลงตัวโดยพื้นฐานความเป็นพุทธศาสนิกชน ทำให้มีสัญลักษณ์ของ“พุทธ” มากกว่าศาสนาอื่น และหลายวัดไม่ใช่แค่สถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา หากยังกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของจังหวัดและประเทศ เช่น วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร วัดเจดีย์หลวง วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ฯลฯ ซึ่งแต่ละวัดมีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 700 ปี และมีสถาปัตยกรรม จิตกรรม ที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองอาทิ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอก ที่ตั้งอยู่กลางใจเมืองเชียงใหม่ เป็นวัดที่ประดิษฐานพระสิงห์ (พระพุทธสิหิงค์) พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่และแผ่นดินล้านนา ทั้งยังมีสถาปัตยกรรมล้านนาอันงดงาม เมื่อถึงวันธรรมสวนะ จึงมีชาวเชียงใหม่ และพุทธศาสนิกชนที่ให้ความศรัทธา เดินทางมาร่วมทำบุญอยู่เสมอ ครั้นถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรืองานประเพณีปี๋ใหม่เมือง ก็มีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ขึ้นประดิษฐานบนรถบุษบกแห่ไปรอบเมือง เพื่อให้ศรัทธาประชาชนได้พากันมาสรงน้ำนอกเหนือจากมีพระพุทธรูปสำคัญแล้ว วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ยังดึงดูดนักท่องเที่ยวทุกเชื้อชาติ ศาสนา ให้เข้ามาเยี่ยมชม 3 สถาปัตยกรรมสำคัญที่ตั้งอยู่ภายในวัด คือโบสถ์ อาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขโถงทั้งด้านหน้าด้านหลัง ตกแต่งด้วยศิลปะแบบล้านนา มีลายปูนปั้นบริเวณซุ้มประตูทางเข้า ที่เสาและส่วนอื่นๆ มีปูนปั้นนูน และรักปั้นปิดทอง วิจิตรพิสดารนักขณะเดียวกัน ภายในวัดก็เป็นที่ตั้งของหอไตร อาคารครึ่งไม้ครึ่งตึก ผนังด้านนอกประดับด้วยทวยเทพปูนปั้น ภายในประดับด้วยรูปสัตว์หิมพานต์ เช่น นางเงือกมีปีก คชสีห์มีปีก กิเลน และมีลายประจำยามลักษณะคล้ายลายสมัยราชวงศ์เหม็งของจีน สุดท้ายคือวิหารลายคำ ที่จะสัมผัสถึงลวดลายปูนปั้นที่สวยงามประณีตมาก ภายในเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธสิหิงค์ บนผนังด้านหลังพระประธาน เสาหลวง (เสากลม) เสาระเบียง (เสาสี่เหลี่ยม) มีภาพลายทองพื้นแดงเป็นลวดลายต่างๆ เต็มไปหมด  ด้านหลังพระประธาน ยังมีรูปปราสาทแวดล้อมด้วยมังกรและหงส์ มีความงดงามน่าชม  ผนังวิหารด้านเหนือมีภาพจิตรกรรม เขียน เรื่องสังข์ทอง ด้านใต้เรื่องสุวรรณหงส์ นับเป็นภาพที่น่าสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องสังข์ทอง พบเพียงแห่งเดียวที่นี่สถานธรรมไท่หลิน หรือ ไท่หลินฝอเอวี้ยน สถานที่ถือศีลกินเจและบำเพ็ญเพียรภาวนา ที่นักท่องเที่ยวชาวจีน รวมทั้งคนไทยเชื้อสายจีนจำนวนไม่น้อย หลั่งไหลเข้าไปร่วมทำบุญทำทาน และชื่นชมกับความงดงามของสถาปัตยกรรม ที่ใช้เวลาก่อสร้างกว่า 10 ปี จากทุนทรัพย์ที่ได้รับบริจาคกว่า 100 ล้านบาท บนเนื้อที่ 6 ไร่ บริเวณถนนวงแหวนรอบกลาง หมู่ 4 บ้านสันป่าเลียง ต.หนองหอย อ.เมืองเชียงใหม่ เพื่อฟื้นฟู อบรม และเผยแผ่จริยธรรม คุณธรรม ตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา ภายในสถานธรรมไท่หลิน จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ชั้น  เริ่มที่ชั้นล่าง เป็นห้องพระ พระโพธิสัตว์กษิติครรภ์ (ห้องรับวิถีกรรม) โดยพิธีการรับวิถีกรรมนั้น ทำขึ้นเพื่อเปิดประตูปัญญาแห่งตน เพื่อจุดประทีปกลางใจให้สว่าง เพื่อชี้ให้เราได้ค้นพบพุทธะในตน และเพื่อชี้ให้เราได้รู้หนทางแห่งการกลับคืนสู่เบื้องบน ส่วนชั้นสอง เป็นห้องพระใหญ่ (ธรรมกาลยุคแดง)  มีองค์พระสมณโคดม พระพุทธเจ้า จอมเทพวินัยธรกวนอู และพระโพธิสัตว์กวนอิม ชั้นสาม เป็นห้องพระใหญ่ (ธรรมกาลยุคขาว) องค์พระศรีอริยเมตไตรย อมตะพุทธจี้กง และพระโพธิสัตว์จันทรปัญญาหากไม่เพียงแค่วัดวาอารามเท่านั้น โบสถ์คริสต์นิกายต่างๆ เกือบทั่วทุกมุมเมือง ก็เป็นอีกสถานที่หนึ่ง ที่ทำให้ชาวคริสต์ทั่วโลกที่เดินทางมา จ.เชียงใหม่ มีพื้นที่ประกอบพิธีกรรมของตัวเอง ขณะเดียวกันก็นับเป็นจุดท่องเที่ยวที่ดึงดูดความสนใจของผู้คนได้ไม่น้อย ดังเช่น โบสถ์คริสตจักรออร์โธด็อกซ์แห่งกษัตริย์วลาดิเมียร์ผู้ยิ่งใหญ่เทียบเท่าอัครสาวก จ.เชียงใหม่ บริเวณซอยศรีจันทร์ดร ถนนช้างคลาน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ มี บาทหลวง Mr.Vikentiky Romanyuk ชาวรัสเซีย เป็นผู้ดูแล โดยโบสถ์แห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2557 แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2558 มีพระสังฆราชฟีโอฟีลักส์ต แห่งคริสตจักรออร์โธด็อกซ์ ประเทศรัสเซีย จากสังฆมณฑล เพียตติโกรสกี้และเชอรเคียสกี้ ทำการวางศิลาฤกษ์ตามประวัติกล่าวไว้ ว่า 1 ในอัครสาวกของนิกายของออร์โธดอกซ์ ได้ไปเผยแผ่ที่รัสเซีย และเจ้าชายวลาดิเมียร์ ทรงเกิดเลื่อมใสศรัทธา และได้ให้ชาวรัสเซียหันมานับถือคริสต์นิกายออร์โธด็อกซ์ในเวลาต่อมา  เพราะออร์โธด็อกซ์ เป็นนิกายเดียวที่ยังยึดถือแนวทางการปฏิบัติแบบดั้งเดิม ที่พระเยซูสอนไว้แว่วเสียงระฆังที่ก้องกังวานด้วยจังหวะอันไพเราะ สื่อให้ชาวออร์โธด็อกซ์รู้ว่ากำลังจะมีพิธีสำคัญทางศาสนาในโบสถ์ อาทิ งานเฉลิมฉลองวันคล้ายวันประสูติกษัตริย์วลาดิเมีย, วันอีสเตอร์ และเทศกาลคริสต์มาส ขณะเดียวกันยังมีการประกอบพิธีกรรมทุกวันอาทิตย์ ส่วนวันธรรมดาโบสถ์เปิดให้เข้าชมได้ทุกวัน ระหว่างเวลา 09.00-18.00 น. โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นคนเชื้อชาติ ศาสนาใดภายในโบสถ์ งดงามด้วยศิลปะยุคเรอแนซ็องส์ ซึ่งเป็นการระลึกถึงศิลปะกรีกและโรมันในอดีต ซึ่งเคยรุ่งเรืองให้กลับมาอีก เน้นความสมมาตร ความได้สัดส่วน การใช้รูปทรงเรขาคณิต และลักษณะที่ปรากฏในสถาปัตยกรรมคลาสสิค การวางโครงสร้างเป็นไปอย่างมีแบบแผน ไม่ว่าจะเป็นเสา หรือคานรับเสา รูปภาพต่างๆ ที่ติดไว้ก็ล้วนเป็นรูปที่เตือนใจให้ระลึกถึง หาใช่รูปที่มีไว้กราบไหว้เฉกเช่นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทั่วไป นอกจากนี้ เชียงใหม่ยังมีวัดซิกข์ให้เห็นประปราย บริเวณหน้าสนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ และที่ถนนเจริญราษฎร์ อ.เมือง ลักษณะที่โดดเด่นคือเป็นตึกหลังใหญ่  มียอดโดมสีทอง และมีห้องโถงขนาดใหญ่เป็นสถานที่ทำพิธีทางศาสนา ภาพที่มักจะเห็นเป็นประจำในศาสนาสถานแห่งนี้ คือผู้ชายโพกศีรษะ ไว้หนวดเครา ส่วนสตรีคลุมศีรษะและแต่งกายแบบอินเดีย พากันมากราบไหว้และฟังคำสอนจากพระคัมภีร์ ซึ่งตามประวัติ กล่าวไว้ว่าชาวซิกข์คนแรกที่เดินทางเข้ามายัง จ.เชียงใหม่ คือ นายอีเชอร์ซิงห์ โดยเข้ามาทางประเทศพม่า เมื่อปี พ.ศ. 2448  หลังจากนั้นมีชาวซิกข์มารวมเพิ่มขึ้นอีก 4 ครอบครัว ในปี พ.ศ. 2450 ชาวซิกข์กลุ่มนี้จึงได้พร้อมใจกันจัดตั้งศาสนสถานคุรุดวาราขึ้น บนเนื้อที่กว่า 60 ตารางวา เช่นเดียวกับมัสยิดในศาสนาอิสลาม ที่ตั้งกระจายอยู่ทั่วเชียงใหม่ และหนาแน่นเป็นพิเศษในย่านถนนช้างคลาน อ.เมือง เนื่องจากมีชาวมุสลิมเข้ามาตั้งรกรากอาศัยอยู่ในพื้นที่ อาทิ มัสยิดอัลยาเมี๊ยะอ์ ช้างคลาน,  มัสยิดช้างคลานเชียงใหม่, มัสยิดเฮดายาตูลอิสลามบ้านฮ่อ เป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนาของมุสลิม ทั้งที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่น และชาวมุสลิมจากทั่วทุกมุมโลกที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเชียงใหม่ปรากฏการณ์เหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่าเชียงใหม่เป็นเมืองพหุวัฒนธรรม ที่เชื้อชาติ ศาสนา และความเชื่อ ไม่ใช่อุปสรรคขวางกั้นของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข.

You may also like

 รมช.คมนาคมเปิดการทดลองเดินรถโดยสารHOP&GO เชื่อมโยงโครงข่ายสาธารณะไปยัง 7 แหล่งท่องเที่ยวในเชียงใหม่

จำนวนผู้