เปิดศูนย์พัฒนาคุณภาพกาแฟอะราบิกาล้านนาแบบครบวงจร เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตและคุณภาพของกาแฟอะราบิกา ให้ตรงความต้องการตลาด

เปิดศูนย์พัฒนาคุณภาพกาแฟอะราบิกาล้านนาแบบครบวงจร เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตและคุณภาพของกาแฟอะราบิกา ให้ตรงความต้องการตลาด

ผู้ว่าฯ เชียงใหม่เชิญชวนเกษตรกรและผู้สนใจ ใช้ศักยภาพของศูนย์พัฒนาคุณภาพกาแฟอะราบิกาล้านนาแบบครบวงจร เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตและคุณภาพของกาแฟอะราบิกา ให้ตรงความต้องการตลาด สามารถเพิ่มมูลค่าและแข่งขันในตลาดได้ทั้งในและต่างประเทศ

วันที่ 28 มี.ค.61 ที่ศูนย์พัฒนากาแฟล้านนาไทย ภายในศูนย์วิจัย สาธิตและฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิด ศูนย์พัฒนาคุณภาพกาแฟอะราบิกาล้านนาแบบครบวงจร  “ศูนย์พัฒนากาแฟล้านนาไทย (Lanna Thai Coffee Development Center)” ซึ่งคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ และได้บูรณาการร่วมกับหลายหน่วยงานรวมทั้งผู้ประกอบการ และเกษตรกร

รศ. ดร. ณัฐา โพธาภรณ์ คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า คณะเกษตรศาสตร์ได้ดำเนินงานโครงการเสริมสร้างศักยภาพการผลิตกาแฟล้านนาคุณภาพในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 1 Lanna Thai Coffee Hub ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก แผนบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ งบประมาณแผ่นดินประจำปี 2560 (เพิ่มเติม) และตอบสนองยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1  แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และยุทธศาสตร์ชาติ

โดยมีระยะเวลาในการดำเนินงานโครงการฯ ตั้งแต่ เดือนเมษายน 2560 จนถึง เดือนมีนาคม 2561  มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิต และพื้นที่เพาะปลูกกาแฟอะราบิกาในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 พัฒนาศักยภาพระบบการผลิต และกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพของผลผลิต และผลิตภัณฑ์กาแฟให้มีประสิทธิภาพตรงตามที่ตลาดต้องการ

การจัดตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพกาแฟอะราบิกาล้านนาแบบครบวงจร มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหน่วยประสานงาน และเรียนรู้ด้านการผลิตกาแฟอะราบิกาคุณภาพแบบครบวงจร ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องทางด้านกาแฟ รวมถึงดำเนินการพัฒนากระบวนการแปรรูปเมล็ดกาแฟคั่วให้มีคุณภาพสูงด้วยเทคโนโลยีระดับสูง เพื่อให้ได้คุณภาพตรงตามที่ตลาดต้องการ ที่ตั้งของ “ศูนย์พัฒนากาแฟล้านนาไทย (Lanna Thai Coffee Development Center)” อยู่ภายในศูนย์วิจัย สาธิตและฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ศูนย์ฯได้รวบรวม ความรู้ อุปกรณ์ และเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตกาแฟอะราบิกา เพื่อให้บริการวิชาการแก่ผู้สนใจทั้งกลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจกาแฟ   โดยศูนย์พัฒนากาแฟล้านนาไทยมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานดังนี้

  1. เป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาคุณภาพกาแฟแบบครบวงจรตลอดห่วงโซ่อุปทาน
  2. เป็นศูนย์ฝึกอบรม ถ่ายทอดและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับคุณภาพ และมาตรฐานกาแฟ การปลูก การจัดการแปลงกาแฟ การแปรรูป การเก็บรักษา
  3. เป็นศูนย์บริการรับเรื่องตรวจวิเคราะห์ และถ่ายทอดเทคโนโลยีเกี่ยวกับกาแฟในเขตภาคเหนือตอนบน
  4. ให้บริการคลินิกเกษตร และบริการข้อมูลเกี่ยวกับกาแฟ
  5. ให้บริการ การลดความชื้นกาแฟด้วยพาราโบลาโดม
  6. ให้บริการเครื่องมือ เพื่อการจัดเตรียมผลผลิตกาแฟและการแปรรูป

สำหรับศูนย์พัฒนากาแฟล้านนาไทย ได้มีการจัดการฝึกอบรมโดยมีวิทยากรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ทั้งจากคณะเกษตรศาสตร์ และภาคเอกชน เพื่อเป็นการถ่ายทอดความรู้ แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้สนใจเกี่ยวกับกาแฟ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ระยะเวลาดำเนินงานตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560 จนถึงปัจจุบัน การฝึกอบรมที่ได้จัดขึ้นรวม 7 หลักสูตร ซึ่งบางหลักสูตรมีผู้สนใจจำนวนมาก จึงได้จัดการอบรมมากกว่า 1 ครั้ง จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมรวมทั้งสิ้น 480 คน หลักสูตรดังกล่าวได้แก่

  1. การชงเครื่องดื่มกาแฟ 3 ครั้ง
  2. การคั่วกาแฟ(ขั้นพื้นฐาน) 2 ครั้ง
  3. การจัดการธาตุอาหารสำหรับการปลูกกาแฟ 2 ครั้ง
  4. การจัดการโรคและแมลงศัตรูกาแฟ 2 ครั้ง
  5. มาตรฐานกาแฟตามแนวทางกาแฟล้านนาไทย 2 ครั้ง
  6. การใช้เครื่องมือ และเครื่องจักรกลสำหรับการผลิตกาแฟอะราบิกาคุณภาพ 2 ครั้ง
  7. การชงเครื่องดื่มกาแฟ รอบพิเศษ 3 ครั้ง

ทางด้านนายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่เราจะได้มีศูนย์การเรียนรู้เพิ่มอีกหนึ่งศูนย์ ทั้งยังเป็นเรื่องการพัฒนากาแฟอะราบิกาคุณภาพแบบครบวงจร  กาแฟอะราบิกาถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าจับตามอง มีแนวโน้มการบริโภคกาแฟเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การพัฒนาคุณภาพและยกระดับมาตรฐานการผลิตกาแฟอะราบิกาทั้งระบบนั้น ต้องให้ความสำคัญตั้งแต่ก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว รวมถึงการแปรรูป และการเก็บรักษา โดยเฉพาะในธุรกิจกาแฟ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาคุณภาพของกาแฟ จำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ในการพัฒนาการผลิตตั้งแต่ต้นทางจนกระทั่งถึงปลายทาง ในตอนนี้ศูนย์พัฒนากาแฟล้านนาไทยได้มีความพร้อมให้ใช้บริการได้อย่างเต็มรูปแบบแล้ว มีทั้งคลังความรู้ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตกาแฟคุณภาพมากมาย จึงอยากให้เกษตรกร และผู้สนใจที่เกี่ยวข้องกับกาแฟ มาใช้บริการกันมากๆ  .

You may also like

SUN และ EXE มอบอาหารช่วยผู้ลี้ภัยชายแดนเมียนมา

จำนวนผู้