เปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง บทพิสูจน์“สูงวัย”ทำได้

เปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง บทพิสูจน์“สูงวัย”ทำได้

ท่วงท่าอันอ่อนช้อย และรอยยิ้มแห่งความสุขที่ฉายชัดบนใบหน้าของผู้สูงวัย ภายในวัดเชียงยืน ชุมชนสันโค้งหลวง อ.เมือง จ.เชียงราย ซึ่งเป็นสถานที่จัดกิจกรรมเปิดโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยรถราง หรือรถโค้ช สร้างความประทับใจให้กับผู้พบเห็น ทำให้รู้สึกได้ถึงความมีอัธยาศัย และกระตือรือร้นที่จะต้อนรับขับสู้ผู้มาเยี่ยมเยือนด้วยมิตรไมตรีวันชัย จงสุทธนามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย เล่าว่าในปี 2559 เทศบาลนครเชียงราย มีประชากรราว 7 หมื่นคน จาก 64 ชุมชน และในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุประมาณ 1.3 หมื่นคน ขณะเดียวกันรัฐบาลก็กำหนดให้มีการเตรียมความพร้อมสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทางเทศบาลจึงขับเคลื่อนงานร่วมกับตัวแทนผู้สูงอายุทั้ง 64 ชุมชน และภาคประชาชน จัดตั้งมหาวิทยาลัยวัยที่สาม นครเชียงราย  โดยปรับปรุงศูนย์โอทอปเก่า ให้กลายเป็นลานใหญ่ และห้องเรียนขนาดเล็กหลายสิบห้องหลังจากเปิดมหาวิทยาลัยได้ระยะหนึ่ง ก็พบว่าผู้สูงอายุมีค่าเดินทางไปกลับระหว่างบ้านกับมหาวิทยาลัย วันละ 120 บาท ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวย ซ้ำบ้านอยู่ไกล ทำให้ผู้สูงอายุส่วนหนึ่งไม่สามารถมาเข้ามหาวิทยาลัยได้ เทศบาลจึงร่วมกับกรรมการสภามหาวิทยาลัย สร้างศูนย์การเรียนรู้ เป็นสาขาย่อย โดยใช้งบประมาณสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในโครงการระบบการพัฒนาดูแลผู้สูงอายุ ศูนย์นครแห่งความสุข 5 โซน ทั่วเทศบาลนครเชียงราย ประกอบด้วย โซนที่ 1 วัดดอยตอง โซนที่ 2 วัดศรีบุญเรือง โซนที่ 3 วัดคีรีชัย (ดอยสะเก็น) โซนที่ 4 โรงเรียนเทศบาล 4 และโซนที่ 5 วัดเชียงยืนสำหรับการจัดโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยรถราง หรือรถโค้ช ก็คือการพานักท่องเที่ยวเข้าไปสัมผัสภูมิปัญญา ศิลปะพื้นบ้าน ตามจุดต่างๆ ให้ผู้สูงอายุจากศูนย์การเรียนรู้ทั้ง 5 โซนมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นมัคคุเทศก์ตามจุดแวะ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่แต่ละโซนเรียนรู้และผลิตออกมา ซึ่งเป็นทั้งเสน่ห์ เปี่ยมด้วยภูมิปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ ขณะเดียวกันยังสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของเมืองเชียงรายให้เป็นไปอย่างมีเอกลักษณ์ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ “เปลี่ยนภาระ ให้เป็นพลัง” นั่นเองอุบลวรรณ แสนมหายักษ์ ประธานคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยวัยที่สาม นครเชียงราย และหัวหน้าศูนย์เรียนรู้ผู้สูงอายุ โซนที่ 5 อธิบายเสริมว่า มหาวิทยาลัยวัยที่ 3 เปิดเรียนตั้งแต่วันจันทร์-เสาร์ โดยจัดการเรียนการสอน 8 หลักสูตร คือ ศาสนา สิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรม สังคมและความสุข สุขภาพ การท่องเที่ยว การศึกษาและเทคโนโลยี เศรษฐกิจ ซึ่งได้รับการสนับสนุนและออกแบบหลักสูตรร่วมกัน ระหว่างคณะกรรมการภาคประชาชน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ และปราชญ์ชาวบ้านที่มีความรู้ความสามารถถ้าผู้สูงอายุเรียนครบทั้ง 8 หลักสูตรจะได้รับ“ปัญญาบัตร” ที่ผ่านมาจบแล้ว 3 รุ่น รุ่นละ 350-500 คน และใช้เวลาเรียน 3 วิชา/เทอม เรียนเทอมละ 4 เดือนครึ่ง รวมเวลาจบทั้ง 8 หลักสูตร คือ 1 ปีครึ่ง และเพื่อให้ผู้สูงอายุในเขตเทศบาลทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ จึงเกิดศูนย์การเรียนรู้ 5 โซน โดยให้นักศึกษาสูงวัยที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยวัยที่สาม กลับเข้าไปสอนในโซนของตนเอง แต่จะแตกต่างจากการเรียนในมหาวิทยาลัยวัยที่สาม คือที่ศูนย์การเรียนรู้ทั้ง 5 โซน จะออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ของตนเอง บางโซนมีกลุ่มชาติพันธุ์เข้ามาร่วมเรียน ก็มีหลักสูตรเพื่อชนเผ่าด้วย หรือบางโซนผู้สูงอายุสนใจในหลักสูตรศาสนา เฉพาะการทำบายศรี ก็เน้นให้เรียนรู้เรื่องบายศรีเป็นหลัก การเรียนการสอนจึงเป็นการฝึกอาชีพให้กับผู้สูงอายุไปด้วย และเมื่อแต่ละโซนสนใจเรียนรู้แตกต่างกัน ก็จะมีผลิตภัณฑ์ออกมาไม่เหมือนกันด้านดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ย้ำว่า เทศบาลนครเชียงราย ถือเป็นเทศบาลใหญ่แห่งแรกที่เปิดโอกาสให้ สสส.เข้ามาเรียนรู้ ควบคู่ไปกับการดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ เพราะปกติเทศบาลขนาดใหญ่จะมีความเป็นตัวของตัวเองสูง และคาดหวังว่ากิจกรรมท่องเที่ยวชุมชนครั้งนี้ จะสร้างการมีส่วนร่วม และความภาคภูมิใจให้กับผู้สูงอายุในพื้นที่ ทำให้พวกเขามีสุขภาพที่ดีทั้งทางกายและจิต เป็นแบบอย่างที่ดีของลูกหลาน และผู้สูงอายุทั่วไปนับว่าสิ่งที่ได้จากมหาวิทยาลัยวัยที่สาม และศูนย์การเรียนรู้ทั้ง 5 โซนนั้น ไม่ใช่แค่เพียงการเรียนรู้ตามหลักสูตร แต่ยังทำให้ผู้สูงวัยมีสังคม มีรอยยิ้ม เกิดความกระตือรือร้น ที่จะทำงาน มีอาชีพ มีรายได้ ดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสม ไม่เป็นภาระของลูกหลานนั่นเอง.

You may also like

 รมช.คมนาคมเปิดการทดลองเดินรถโดยสารHOP&GO เชื่อมโยงโครงข่ายสาธารณะไปยัง 7 แหล่งท่องเที่ยวในเชียงใหม่

จำนวนผู้