เตรียมขยายผลแผนที่ปฏิบัติการน้ำ One Map ในเขตลุ่มน้ำแม่ตาช้าง แม่วางและแม่ขานซึ่งเป็นพื้นที่ตอนใต้ของจังหวัดเชียงใหม่

เตรียมขยายผลแผนที่ปฏิบัติการน้ำ One Map ในเขตลุ่มน้ำแม่ตาช้าง แม่วางและแม่ขานซึ่งเป็นพื้นที่ตอนใต้ของจังหวัดเชียงใหม่

เตรียมขยายผลแผนที่ปฏิบัติการน้ำ One Map ในพื้นที่ตอนใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ บูรณาการความร่วมมือและรับผิดชอบในการบริหารจัดการน้ำ หวังแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งได้สมบูรณ์ “รองฯพุฒิพงศ์”เผยภายในปีนี้ขยายให้ครอบคลุมทุก 25 อำเภอ

วันที่ 30 ส.ค.61 ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ สำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่(SWOC1) นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผวจ.เชียงใหม่ เป็นประธานประชุมร่วมกับนายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผอ.สำนักชลประทานที่ 1,นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผอ.โครงการชลประทานเชียงใหม่,นายไพรินทร์ ลิ่มเจริญ หน.สนง.ปภ.เชียงใหม่และนายอำเภอหางดง สันป่าตอง แม่วาง สะเมิงและดอยหล่อ โดยมีหน่วยงานทหารและที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัย และขยายผลการจัดทำ One Map หรือแผนที่ปฏิบัติการในพื้นที่ลุ่มน้ำขาน

นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า จากปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา จังหวัดได้เชิญหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาประชุมหารือเพื่อถอดบทเรียนและวางมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง  นับตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งได้จัดทำแผนที่ปฏิบัติการหรือ One Map และใช้ระบบสั่งการแบบซิงก์เกิ้ลคอมมาน ขณะเดียวกันหน่วยงานที่ปฏิบัติในจุดต่างๆ ที่เป็นจุดเสี่ยงจะระบุว่าหน่วยงานไหนเป็นผู้รับผิดชอบ ระบุบุคคลผู้รับผิดชอบ เครื่องมืออุปกรณ์  ซึ่งก็ทำให้ปีนี้สามารถป้องกันปัญหาได้

รองผวจ.เชียงใหม่ กล่าวอีกว่า เนื่องจากจังหวัดเชียงใหม่ไม่ได้มีแค่อำเภอเมืองเชียงบใหม่เท่านั้น แต่ทุกพื้นที่จังหวัดให้ความสำคัญในเรื่องของชีวิตของพี่น้องประชาชนเป็นลำดับแรก ดังนั้นจึงมีแนวทางที่จะใช้แผนที่ปฏิบัติการแบบที่ใช้ในเขตอ.เมืองขยายผลออกไปใช้กับอีก 5 อำเภอคือ หางดง สันป่าตอง แม่วาง สะเมิงและดอยหล่อ ทั้งในเขตลุ่มน้ำแม่ตาช้าง แม่วางและแม่ขาน แล้วจากนั้นก็จะขยายผลไปยังพื้นที่ต้นน้ำปิงตั้งแต่อำเภอเชียงดาวและเวียงแหงด้วย

“ในพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆ จะมีทั้งประตูระบายน้ำและฝาย ที่อยู่ในเขตลุ่มน้ำปิงซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมาเรียนรู้ร่วมกัน แม้ว่าเราจะต่อสู้กับธรรมชาติไม่ได้ แต่ก็ต้องพยายามเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติ และอยากให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ดังนั้นผู้ที่อยู่ในเขตลุ่มน้ำขาน แม่วางและแม่ตาช้างก็ต้องบริหารจัดการร่วมกันเพื่อให้ภัยที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้น้อยที่สุด One Mapภายในปีนี้จะต้องให้ครอบคลุมทั้ง 25 อำเภอและจังหวัดที่เป็นบ้านพี่เมืองน้องอย่างลำพูนและอยู่ในสายน้ำปิงเดียวกัน ซึ่งสำนักงานชลประทานที่ 1 กำลังดำเนินการอยู่”นายพุฒิพงศ์ กล่าว

ขณะที่นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผอ.โครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า One Map ไม่ได้ทำได้เพียงวันเดียว ดังนั้นจำเป็นต้องขอข้อมูลจากเจ้าของพื้นที่ ที่เกิดปัญหาน้ำท่วม เพื่อทางชลประทานจะได้วางแผนได้ทุกต้อง เวลาเกิดน้ำท่วมน้ำมาจากไหน มาทางไหน อย่างกรณีล่าสุดที่ต้องเตือนภัยน้ำแม่ตาช้างก็เพราะปีที่แล้วขณะที่ยังสร้างฝายวังจั่น เจ้าหน้าที่เห็นว่าปริมาณน้ำมีมากกว่าที่เคยเกิดปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของอ.หางดงเมื่อครั้งก่อนมาก และจากฝายวังจั่นถึงจุดที่เคยท่วมโดยเฉพาะตรงข้ามกาดฝรั่งนั้นน้ำจะใช้เวลาเดินทาง 5 ชั่วโมงจึงต้องมีการเตือนภัยล่วงหน้า ด้วยเหตุนี้ก่อนที่จะทำแผนที่ปฏิบัติการเราจะต้องรู้ปริมาณน้ำและระยะเวลาในการเดินทางของน้ำด้วย เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำได้มีประสิทธิภาพไม่ส่งผลกระทบทำให้เกิดน้ำท่วมได้

ผอ.โครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า เนื่องจากลุ่มน้ำแม่ขานเองก็ไม่มีอ่างเก็บน้ำ เวลามีปัญหาน้ำหลากจึงมักจะมีปัญหาน้ำท่วม แต่หากเรามีข้อมูลต่างๆ และทำแผนที่ปฏิบัติการนี้แล้วการบริหารจัดการก็จะทำได้ง่าย เพราะจะมีคนเฝ้าระวังประจำจุดเสี่ยงต่างๆ มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อระบายน้ำไปยังพื้นที่อื่น แต่ทั้งนี้ก็ต้องรู้ระยะเวลาที่น้ำจะไหลเข้าไปในพื้นที่ด้วย ดังนั้นในแต่ละพื้นที่มีทางเดินน้ำอย่างไร เจ้าของพื้นที่ต้องให้ข้อมูลกับทางชลประทานด้วย

“และถึงแม้จะมี One Map แล้วแต่ไม่ใช่ว่าจะสามารถนำไปใช้ได้ทุกสถานการณ์ ในเขตอ.เมืองเชียงใหม่ก็เช่นเดียวกันมีการปรับและแก้ไขไปเรื่อยๆ เพราะสถานการณ์ปรับเปลี่ยน บางครั้งเป็นน้ำหลากที่มาตามแม่น้ำปิงบ้าง น้ำจากดอยสุเทพบ้าง น้ำท่วมขังเพราะฝนตกหนักบ้าง แต่ในแผนที่นี้จะระบุจุดเสี่ยงทั้ง 42 จุดซึ่งมีหน่วยงาน บุคลากร อุปกรณ์พร้อมหมด ด้วยเหตุนี้จึงอยากให้ทั้ง 5 อำเภอในเขตลุ่มน้ำขาน แม่วางและแม่ตาช้างใช้แบบเดียวกัน”นายเจนศักดิ์ กล่าว

นายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผอ.สำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ กล่าวว่า น้ำที่จะท่วมจังหวัดเชียงใหม่ได้มีอยู่ 4 ก้อนหรือ 4 แหล่งคือ น้ำแม่ปิง น้ำแม่งัด น้ำแม่แตง และแม่ริม โดยครั้งนี้ทางชลประทานจะใช้พื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาช้างเป็นโมเดลให้กับอีก  4 อำเภอคือดอยหล่อ สะเมิง แม่วางและสันป่าตอง ซึ่งชลประทานจะนัดในพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลมาทำOne Map ส่วนอ.หางดงทางอำเภอจะนัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประชุมในสัปดาห์หน้าทางชลประทานจะไปร่วมประชุมด้วยเพื่อที่จะได้บูรณาการร่วมกันในการจัดทำแผนที่ปฏิบัติการนี้ต่อไป

ภายหลังการประชุม นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ในอนาคตจังหวัดเชียงใหม่จะมีแผนที่น้ำที่ใช้บริหารจัดการทั้งอุทกภัย ภัยแล้ง มองเห็นภาพรวมทั้งหมด สำหรับการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในจุดที่เป็นพื้นที่เคยเกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากก็จะดูความเหมาะสมก่อน ทั้งนี้เพราะในช่วงกลางเดือนกันยายนนี้จะมีร่องความกดอากาศพาดผ่านภาคเหนือ รวมทั้งมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ด้วย จึงจำเป็นต้องวางแผนรับมือไว้ให้ดี เพราะอย่างไรเราไม่สามารถอยู่เหนือธรรมชาติได้แต่ต้องพร้อมรับภัยถ้าหากมีการเตรียมการที่ดีพอก็จะลดความสูญเสียได้ ซึ่งได้เน้นย้ำไปหลายครั้งแล้วว่าชีวิตของประชาชนสำคัญจะต้องมีการแจ้งเตือนประชาชนทุกครั้งและหากพื้นที่ไหนมีปัญหาก็จะดำเนินการทางวินัย ได้เน้นย้ำไปแล้วว่าขอให้ทุกอำเภอตั้งอยู่ในความไม่ประมาท.

 

You may also like

 รมช.คมนาคมเปิดการทดลองเดินรถโดยสารHOP&GO เชื่อมโยงโครงข่ายสาธารณะไปยัง 7 แหล่งท่องเที่ยวในเชียงใหม่

จำนวนผู้