เดินเครื่องแก้ไฟป่าฝุ่นควันฟื้นป่าต้นน้ำ หารือแนวทางดำเนินโครงการอินทนนท์โมเดล

เดินเครื่องแก้ไฟป่าฝุ่นควันฟื้นป่าต้นน้ำ หารือแนวทางดำเนินโครงการอินทนนท์โมเดล

จังหวัดเชียงใหม่ หารือแนวทางดำเนินการโครงการพื้นที่ต้นแบบดอยอินทนนท์ (อินทนนท์โมเดล) เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าฝุ่นควัน ฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำ และแก้ไขปัญหาพืชเชิงเดี่ยวในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ในลุ่มน้ำสาขาแม่กลาง และลุ่มน้ำสาขาแม่แจ่มตอนล่าง

วันนี้ (11 พ.ย. 63) ที่ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านบริหารรัฐวิสาหกิจจังหวัดเชียงใหม่ ที่ปรึกษาสมาคมอุทยานแห่งชาติสาขาภาคเหนือ ในฐานะประธานคณะกรรมการโครงการพื้นที่ต้นแบบดอยอินทนนท์ (อินทนนท์โมเดล) พร้อมด้วยนายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ประชุมร่วมกับคณะกรรมการโครงการพื้นที่ต้นแบบดอยอินทนนท์ (อินทนนท์โมเดล) หารือแนวทางการดำเนินโครงการฯ เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่า ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ภัยแล้ง ปัญหาน้ำป่าไหลหลากและอุทกภัยพื้นที่บนดอยอินทนนท์และพื้นที่โดยรอบแบบบูรณาการและยั่งยืน ฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำของดอยอินทนนท์ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ เพื่อให้มีน้ำที่ใสสะอาดและเพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภคของประชาชน ทั้งยังเป็นการแก้ไขปัญหาพืชเชิงเดี่ยวในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ในลุ่มน้ำสาขาแม่กลาง และลุ่มน้ำสาขาแม่แจ่มตอนล่าง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าจอมทอง และป่าสงวนแห่งชาติแม่แจ่มอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่ได้ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการพื้นที่ต้นแบบดอยอินทนนท์ (อินทนนท์โมเดล) ขึ้นเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2563 เพื่อให้การดำเนินงานโครงการพื้นที่ต้นแบบดอยอินทนนท์ (อินทนนท์โมเดล) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ โดยแบ่งคณะทำงานออกเป็น 8 คณะ ได้แก่ 1. คณะที่ปรึกษา มีหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะในการดำเนินโครงการ 2. คณะกรรมการอำนวยการ มีหน้าที่อำนวยการให้เกิดยุทธศาสตร์แผนงานและโครงการต่าง ๆ พร้อมทั้งขับเคลื่อนและติดตามผลการดำเนินงาน 3. คณะทำงานด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีหน้าที่จัดทำแผนงานโครงการด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โครงการ อาทิ การทำฝายชะลอความชุ่มชื้นและฝายบกในพื้นที่ป่า 4. คณะทำงานด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มีหน้าที่จัดทำแผนงานโครงการในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่โครงการ อาทิ การตรวจวัดปริมาณน้ำและคุณภาพของลำน้ำแม่กลาง ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ 5. คณะทำงานด้านส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน มีหน้าที่จัดทำแผนงานโครงการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการฯ อาทิ การสร้างความเข้าใจถึงแนวทางพัฒนาพื้นที่ต้นแบบต่อชุมชนบนดอยและชุมชนพื้นราบ 6. คณะทำงานด้านส่งเสริมอาชีพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีหน้าที่จัดทำแผนงานโครงการในการส่งเสริมอาชีพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โครงการ อาทิ การปรับเปลี่ยนพืชเชิงเดี่ยวเป็นวนเกษตร 7. คณะทำงานด้านป้องกันแก้ไขไฟป่าฝุ่นควันและฟื้นฟูป่าลุ่มน้ำสาขาแม่แจ่มตอนล่าง มีหน้าที่จัดทำแผนงานโครงการในการป้องกันแก้ไขไฟป่าฝุ่นควันและฟื้นฟูป่าลุ่มน้ำสาขาแม่แจ่มตอนล่างในพื้นที่โครงการ อาทิ การสร้างอ่างเก็บน้ำและแก้มลิงเพื่อเกษตรกรรมในพื้นที่ราบตอนล่าง และ 8. คณะทำงานด้านติดตามและประเมินผล มีหน้าที่จัดทำแผนงานในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของโครงการพื้นที่ต้นแบบดอยอินทนนท์เป็นระยะตามความเหมาะสม

You may also like

 รมช.คมนาคมเปิดการทดลองเดินรถโดยสารHOP&GO เชื่อมโยงโครงข่ายสาธารณะไปยัง 7 แหล่งท่องเที่ยวในเชียงใหม่

จำนวนผู้