เชียงใหม่สั่งห้ามจัดการเชื้อเพลิงช่วงนี้ชี้อากาศแย่คนเลี้ยงวัวสุมควันไล่ยุง ด้านทหารเชื่อรับมือสถานการณ์ได้

เชียงใหม่สั่งห้ามจัดการเชื้อเพลิงช่วงนี้ชี้อากาศแย่คนเลี้ยงวัวสุมควันไล่ยุง ด้านทหารเชื่อรับมือสถานการณ์ได้

เชียงใหม่สั่งห้ามบริหารจัดการเชื้อเพลิง พร้อมหาตัวคนสั่งการหลังพบอำเภอโซนใต้ดำเนินการโดยไม่แจ้งส่งผลให้ค่าคุณภาพอากาศแย่ เผยสั่งดำเนินคดี 2 รายฝ่าฝืนประกาศจังหวัดห้ามเผา ชี้ต้นตออากาศสันกำแพงวิกฤตมาจากคนเลี้ยงวัวนมเผาเพื่อไล่ยุง เร่งปรับพฤติกรรม ด้านรองแม่ทัพภาคที่ 3 แจงผลงาน 3 เดือนทำงานเต็มที่พบ 9 จังหวัดภาคเหนือ Hot Spot 3,506 จุด ส่วนใหญ่เกิดในป่าอนุรักษ์และป่าสงวน ขณะที่ลำพูนขึ้นชั้นจังหวัดอากาศยอดแย่

เมื่อวันที่ 21 ม.ค.63 ที่ห้องประชุม 4 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผวจ.เชียงใหม่พร้อมด้วยนายสมคิด ปัญญาดี ผู้อำนวยการส่วนยุทธศาสตร์ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมกันแถลงข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่นควันและการแก้ไขปัญหาของจังหวัดเชียงใหม่

นายสมคิด กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่นควันของจังหวัดเชียงใหม่พื้นที่ที่ยังมีฝุ่นละอองขนาดเล็ก pm2.5 สูงเกินค่ามาตรฐานสูงสุดที่จุดตรวจวัดโรงพยาบาลสันกำแพง เนื่องจากกิจวัตรประจำวันของประชาชนในพื้นที่ที่ก่อให้เกิดฝุ่นควัน โดยเฉพาะการสุมควันให้กับวัวนม เพราะพื้นที่สันกำแพงซึ่งมีเขตติดต่อกับอ.บ้านธิ จังหวัดลำพูนมีการเลี้ยงวัวนมจำนวนมาก และอยู่ในระหว่างการปรับพฤติกรรมของประชาชนในพื้นที่อยู่

อย่างไรก็ตามในส่วนของจุดความร้อนหรือ Hot spot ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่อยู่อันดับ 3 โดยปีนี้พบจุดความร้อน 703 จุด สูงสุดคือจ.ตาก 1,166 จุด รองลงมาคือจ.ลำปาง 838 จุด ทั้งนี้จังหวัดเชียงใหม่ยังไม่ได้มีการบริหารจัดการเชื้อเพลิง ส่วนการดำเนินคดีกับผู้ที่ฝ่าฝืนประกาศจังหวัดเชียงใหม่ลงวันที่ 12 ม.ค.63 มี 2 คดี อยู่ในเขตตำบลสันผีเสื้อ อ.เมืองเชียงใหม่และอ.สารภี

“ในส่วนของการดำเนินคดีที่ยังอยู่ระหว่างที่พนักงานสอบสวนดำเนินการ ซึ่งเมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมาผวจ.เชียงใหม่ได้หารือร่วมกับอัยการจังหวัด เนื่องจากบางพื้นที่ติดปัญหาเรื่องการใช้พรบ.สาธารณสุขที่ยังไม่ได้ประกาศในเขตพื้นที่ที่ประสบปัญหา ซึ่งอัยการจังหวัดแนะนำให้เพิ่มเติมเข้าไปในประกาศจังหวัด แต่อย่างไรก็ตามผู้ที่ฝ่าฝืนการเผาในที่โล่งจะมีความผิดตามพรบ.ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย โทษจำคุก 1 เดือน ปรับ 2,000 บาท แต่ก็ยอมรับว่าที่มีคดีน้อยเพราะยีงไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้เต็มที่”ผอ.ส่วนยุทธศาสตร์ สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.เชียงใหม่ กล่าวชี้แจง

ขณะที่นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า มาตรการที่จังหวัดสั่งการไปมีทั้งที่ทำได้ และไม่ได้ โดยยอมรับว่ายังมีช่องว่าง แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่มีคือศูนย์สั่งการหรือ Single command หรือการบริหารแบบเสร็จ ทั้งในระดับจังหวัด อำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ต้องทราบสถานการณ์ทุกอย่างเพื่อการสั่งการแก้ไขปัญหาให้ทันท่วงที แต่ที่ผ่านมาอาจขาดการประสานงานและขั้นตอนเพื่อบูรณาการ และสาเหตุหลักของการเกิดปัญหาคือ ช่วงเช้าจะมีความกดอากาศที่ทำให้ลมนิ่งก่อนที่ช่วงบ่ายจะเริ่มมีลมไหลเวียน ทำให้มีการเร่งเข้าไปจัดการเชื้อเพลิงและทำให้พบจุดความร้อนสูงในเขตอุทยานแห่งชาติ ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอนุรักษ์ โดยเฉพาะอำเภอทางโซนใต้ที่จะเห็นว่าค่าคุณภาพอากาศเป็นสีส้ม ซึ่งจำเป็นต้องทำความเข้าใจในจุดนี้ให้ได้ เพราะสภาพอากาศไม่เอื้อให้เผาแต่กลับมีการเข้าไปจัดการเชื้อเพลิง ตอนนี้ต้องรู้ให้ได้ว่าใครสั่งและใครควรรับผิดชอบ

“ผมยกตัวอย่างจังหวัดหนึ่งบอกว่าจำเป็นต้องบริหารจัดการเชื้อเพลิง 5,000 ไร่และสามารถพูดกับประชาชนในพื้นที่ได้ แต่พอทำได้แค่ 2 วันค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กสูงเกินค่ามาตรฐานเป็นระดับสีแดง ทั้งนี้เพราะสภาพอากาศไม่เอื้อให้ทำ ดังนั้นการบริหารจัดการเชื้อเพลิงต้องรอก่อน ปลายเดือนประมาณวันที่ 27-29 ม.ค.นี้จะมีสภาพอากาศแปรปรวน การถ่ายเทของอากาศจะดีขึ้นทางจังหวัดก็จะกลับมาพิจารณาเรื่องการบริหารจัดการเชื้อเพลิงได้ แต่ขณะนี้จังหวัดไม่ได้อนุญาตให้พื้นที่ไหนดำเนินการ”รองผวจ.เชียงใหม่ กล่าวและชี้แจงอีกว่า

รัฐบาลให้การแก้ไขปัญหาฝุ่นควันเป็นวาระแห่งชาติ จึงมีการติดตามเรื่องจุดความร้อนหรือ Hot Spot ว่าเกิดขึ้นกี่จุด อยู่ในเขตไหน หากมีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในเขตป่าไม้ อุทยานโดยที่จังหวัดไม่ได้สั่งการเมื่อมีปัญหาฝุ่นควันขึ้นมาจังหวัดก็ต้องรับผิดชอบ เพราะฉะนั้นทุกหน่วยจะต้องฟังผู้บัญชาการเหตุการณ์ Single Command หรือผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นผู้บริหารแบบเสร็จ

ต่อมาในเวลา 13.30น. ที่บริเวณลานกลางแจ้งริมอ่างเก็บน้ำแม่หยวก พลตรี จิรเดช  กมลเพ็ชร รองแม่ทัพภาคที่ 3 ในฐานะรองผู้บัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าและ  หมอกควันภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า เป็นประธานการแถลงผลการปฏิบัติงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในภาคเหนือ 9 จังหวัดภาคเหนือ โดยมีนายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผวจ.เชียงใหม่,พลตรี วีรยุทธ กวยะปาณิก เลขานุการศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทาน ภาค 3, รองผู้บังคับการตำรวจภูธร จังหวัดเชียงใหม่และนายนรินทร์ ประทวนชัย ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม จังหวัดเชียงใหม่

รองแม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมาค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพมากที่สุด 3 จังหวัด ได้แก่  จังหวัดลำพูน 25 วัน, จังหวัดแพร่ 20 วัน และ จังหวัดตาก 18 วัน และจังหวัด    จังหวัดเชียงใหม่ 8 วัน, จังหวัดน่าน 5 วัน และ จังหวัดเชียงราย 3 วัน     ส่วนค่าคุณภาพอากาศ AQI เริ่มมีผลกระทบมากที่สุด 3 จังหวัด ได้แก่  จังหวัดลำพูน 24 วัน,                  จังหวัดแพร่ 20 วัน และ จังหวัดลำปาง 19 วัน และจังหวัดที่ไม่มีค่าอากาศส่งผลกระทบต่อสุภาพประชาชน คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน สำหรับจุดความร้อนสะสมในพื้นที่   9 จังหวัด ตั้งแต่ 1 – 20 มกราคม 2563 มีจำนวน 3,506 จุด ซึ่งจุดความร้อนส่วนใหญ่เกิดขึ้นในป่าอนุรักษ์และป่าสงวน

รองแม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวอีกว่า การแถลงข่าวในครั้งนี้วัตถุประสงค์ก็เพื่อยืนยันต่อประชาชนถึงการทำงานของศูนย์ควบคุมสถานการณ์ฯ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว นับตั้งแต่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีได้มาคิกออฟเมื่อต้นเดือนต.ค.62 ซึ่งภาพรวมในการทำงานทุกหน่วยงานก็ทำตามหน้าที่ของตนเองมีการบูรณาการอย่างต่อเนื่องและผู้รับผิดชอบก็มีการขับเคลื่อนงานตามแผนที่กำหนด ทั้งนี้ได้มีการเตรียมความพร้อมหากมีสถานการณ์เกิดขึ้นซึ่งจากการลงพื้นที่ติดตามทั้ง 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบนสิ่งที่ได้เน้นย้ำกับผู้ปฏิบัติงานคือการสร้างการรับรู้กับประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

“หากดูถึงการปฏิบัติมาถึงวันนี้ จากความร่วมมือของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องค่อนข้างมั่นใจว่าจะสามารถรับมือกับสถานการณ์ฝุ่นควันได้ดีกว่าที่ผ่านมา แต่ก็อาจจะมีปัจจัยอื่นที่เกิดขึ้นบ้างซึ่งก็ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ แต่ 3 เดือนที่ผ่านมาที่ทำงานร่วมกันก็ไม่รู้สึกกังวล มีการเตรียมชุดดับไฟไว้ทั้ง 9 จังหวัด 15 ชุดปฏิบัติการ ชุดละ 12 นาย อยู่ใน 255 ตำบลเสี่ยง ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่เองก็มีตำบลเสี่ยงถึง 91 ตำบล  โดยขณะนี้ทหารเองได้จัดเตรียมชุดดับไฟไว้แล้ว 190 ชุด และจังหวัดทั้ง 9 จังหวัดก็เตรียมชุดดับไฟไว้ 540 ชุด ซึ่งจะเป็นว่าปีนี้ค่อนข้างพร้อมเพราะมีการเตรียมการไว้ก่อน และในปีนี้ยังเพิ่มเรื่องจิตอาสาในการเฝ้าระวังและดับไฟป่าด้วย”พลตรี จิรเดช  กล่าวและชี้แจงอีกว่า

ขณะนี้ได้มีการสำรวจตัวเลขประชาชนที่ขอเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าทั้ง 9 จังหวัดไว้แล้ว โดยจังหวัดเชียงใหม่มีทั้งหมด 2,378 คน แยกเป็นหาของป่า 1,277 คน ล่าสัตว์ 218 คน ทำการเกษตร 710 คน ส่วนจังหวัดเชียงรายมีทั้งหมด 2,050 คน แยกเป็นหาของป่า 1,749 คน ล่าสัตว์ 197 คน ทำเกษตร 96 คนเลี้ยงสัตว์ 6 อื่นๆ 2 คน จังหวัดแม่ฮ่องสอน 1,021 คน ลำพูน 983 คน ลำปาง 4,476 คน พะเยา 2,144 คน แพร่ 1,351 คน น่าน 528 คนและตาก 465 คน รวมทั้ง 9 จังหวัดได้จัดทำบัญชีไว้หมดแล้วว่าหาของป่า 10,576 คน ล่าสัตว์ 1,349 คน ทำการเกษตร 2,198 คน เลี้ยงสัตว์ 49 คน อื่นๆ 1,154 คน รวมทั้งหมด 5,396 คน ซึ่งหากพื้นที่ไหนเกิดไฟก็จะต้องหาตัวผู้รับผิดชอบที่มีชื่อไว้ทั้งหมดนี้ก่อน

ทางด้านพลตรี วีรยุทธ กวยะปาณิก เลขานุการศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทาน ภาค 3 กล่าวว่า ในพื้นที่ภาคเหนือในเรื่องของงานจิตอาสาได้เน้นใน 2 เรื่องคือไฟป่ากับภัยแล้ง ซึ่งทั้ง 9 จังหวัดภาคเหนือมีประชาชนจิตอาสากว่า 2 ล้านคน เฉพ่ะจังหวัดเชียงใหม่มีกว่า 1 แสนคน โดยแยกเป็นวิทยากรจิตอาสา 904 ซึ่งจะเป็นผู้ถ่ายทอดงานจิตอาสาให้กับประชาชนจิตอาสา มีจิตอาสาภัยพิบัติองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 50 คนต่อ 1 อปท.ซึ่งจะมีภารกิจในการเฝ้าระวัง เป็นหูเป็นตาแทนเจ้าหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมงและยังทำหน้าที่เป็นหัวหน้าชุดดับไฟป่าหมู่บ้านอีกด้วย

นอกจากนี้จังหวัดเชียงใหม่ ยังถือว่าเป็นจังหวัดที่มีจุดแข็งที่มีประชาชนจิตอาสาที่มีศักยภาพ ซึ่งในระหว่างวันที่ 24-26 ม.ค.นี้ ทางวิทยากรจิตอาสาจะจัดอบรมประชาชนจิตอาสากลุ่ม ร่มบิน โดรน โฟร์วิลไดร์ฟ จักรยานวิบากและกลุ่มนักวิชาการที่พัฒนาแอพพลิเคชั่นที่สนาม 700 ปีเพื่อที่จะฝึกร่วมกัน ซึ่งก็ทำให้มั่นใจว่าในปีนี้นอกจากหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบต่างๆ แล้วก็ยังมีจิตอาสาที่จะเข้าไปช่วยเหลือและสนับสนุนอีกแนวทางหนึ่ง.

You may also like

builds มช. ขนทัพสตาร์ทอัพนักศึกษาคับคั่ง พิสูจน์ความสำเร็จ ตั้งบริษัทจริงระหว่างเรียน

จำนวนผู้