เชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคมขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ในพื้นที่นำร่อง 4 หมู่บ้าน 2 ตำบลของอ.แม่แจ่ม เลิกปลูกข้าวโพดปลูกพืชอื่นทดแทน

เชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคมขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ในพื้นที่นำร่อง 4 หมู่บ้าน 2 ตำบลของอ.แม่แจ่ม เลิกปลูกข้าวโพดปลูกพืชอื่นทดแทน

เชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคมลงนามMOUกับธ.ก.ส. ,มทร.ล้านนาและมูลนิธินวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ไทยเพื่อขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ในพื้นที่นำร่อง 4 หมู่บ้าน 2 ตำบลของอ.แม่แจ่ม ขณะที่ธ.ก.ส.พักชำระหนี้ 7 ปีเพื่อให้ชาวบ้านกว่า 5,800 รายได้หลุดพ้นจากความยากจน

เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 61 ที่ห้องประชุมฝ่ายกิจการ ธ.ก.ส.ภาคเหนือตอนบน อ.เมืองเชียงใหม่ นายภานิต ภัทรสาริน ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)พร้อมด้วยนายศรายุทธ ยิ้มยวน ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขับเคลื่อนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืนเชิงพื้นที่ เพื่อสร้างพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารและปกป้องพื้นที่ป่าต้นน้ำ ระหว่างบริษัท เชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด มูลนิธินวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ไทย องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF-Thailand) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

นายภานิต ภัทรสาริน ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบน ธ.ก.ส. กล่าวว่า พื้นที่อำเภอแม่แจ่มมีการปลูกข้าวโพดมาตั้งแต่อดีต ซึ่งถือเป็นแหล่งปลูกที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ และปัญหาที่ผ่านมาพบว่ามีการใช้สารเคมีในการปลูก ทำให้ดินเกิดความเสียหาย มีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำไร่ข้าวโพด หลังจากเก็บเกี่ยวก็จะต้องทำการเผาตอซังข้าวโพด จนทำให้เกิดผลกระทบด้านปัญหาหมอกควันในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่

“ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานพยายามเข้าไป เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ แต่ก็ยังไม่ได้ผลมากเท่าที่ควร จนกระทั่งทางบริษัท เชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด (CSE) ร่วมกับมูลนิธินวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ไทย องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF-Thailand) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และ ธ.ก.ส.ภาคเหนือ ได้ร่วมมือกับนักธุรกิจในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เข้าไปดำเนินการศึกษาปัญหาเหล่านี้ ในการเข้าไปช่วยเหลือ และสนับสนุนให้ชาวบ้านในพื้นที่ ยกเลิกการปลูกข้าวโพด ซึ่งเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวและหันมาปลูกพืชผัก ผลไม้ตามความเหมาะสมของพื้นที่ และเป็นที่ต้องการของตลาด รวมถึงนำพื้นที่ป่าที่ทำกินซึ่งถูกบุกรุกกลับคืนมา และให้ประชาชนในพื้นที่ร่วมกันปลูกป่าคืนกลับไป”ผอ.ฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบน ธ.ก.ส.กล่าวและชี้แจงอีกว่า

สำหรับการเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรและชาวบ้านในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส.กว่า 5,800 ราย จากตัวเลขสินเชื่อของธ.ก.ส.พบว่ามีการกู้ยืมกว่า 1,300 ล้านบาท ทาง ธ.ก.ส. ได้สำรวจประชากรในพื้นที่ก็พบว่ามีประมาณเกือบ 30,000 คน สำหรับการช่วยเหลือก็จะมีหลายส่วน เช่นการให้สินเชื่อเพื่อให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชที่เหมาะสม ด้วยการนำศาสตร์พระราชา และเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ รวมถึงเข้าไปจัดโครงการพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกร ตามโครงการของรัฐสำหรับผู้มีรายได้น้อย

“ผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะต้องมีบัตรสวัสดิการแห่งภาครัฐ หรือบัตรผู้มีรายได้น้อยด้วย รวมถึงจะได้รับการพักชำระหนี้ทั้งหมด 7 ปี และถือเป็นการจัดโครงการพักชำระหนี้ที่ยาวนานที่สุดเท่าที่ ธ.ก.ส. เคยทำมาเพราะไม่เคยทำยาวนานแบบนี้มาก่อน โดยให้ประชาชนหันมาปลูกพืช ผัก ผลไม้ เลี้ยงสัตว์ ลดพื้นที่การปลูกข้าวโพดที่เขาไม่รู้ว่าจะได้กำไรหรือว่าจะขาดทุน หันมาทำอาชีพใหม่และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร โดยบริษัท เชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ได้เข้าไปพบกับชาวบ้าน และจะรับซื้อผลผลิตทั้งหมดจากผู้เข้าร่วมโครงการ ธ.ก.ส.จะเป็นผู้สนับสนุนเงินกองทุนในการกู้ยืมให้กับเกษตรกร ซึ่งวางกรอบวงเงินไว้ประมาณ 50 ล้านบาท ทั้งลูกค้าเดิมและกลุ่มลูกค้าใหม่”นายภานิต กล่าว

ขณะที่นายไพรัช โตวิวัฒน์ ผอ.บริษัท เชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด (CSE) กล่าวว่าหลังจากที่มีการลงนามในครั้งนี้แล้วก็จะเริ่มขับเคลื่อนตามแผนงานที่วางไว้ เพราะขณะนี้ได้รับหนังสือยินยอมจากกรมป่าไม้ให้ดำเนินการแล้ว เนื่องจากพื้นที่ดำเนินการใน 4 หมู่บ้านใน 2 ตำบล จากทั้งหมด 7 ตำบลของอ.แม่แจ่มคือบ้านแม่ขี้มูก บ้านสองธาร บ้านกองกายและบ้านปางหินฝนอยู่ในเขตป่าไม้ชั้น 1 และชั้น 2

“เป้าหมายของเราคือจะทำพื้นที่นำร่องเพื่อให้เป็นตัวอย่างกับอีก 5 ตำบลที่เหลือของแม่แจ่ม และพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่และการหาพืชทดแทนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งจริงๆ ตามแผนที่เราวางไว้ก็คือพื้นที่นั้นจะแบ่งออกเป็น 4 ส่วนคือ 1.ทำมาหากิน คือให้ชาวบ้านมีที่ดินที่ทำให้มีอาหารกินได้ไม่ว่าจะเป็นปลูกข้าว เลี้ยงไก่ไข่หรือพืชสมุนไพร 2.ทำมาค้าขาย ซึ่งก็จะดูความเหมาะสมของพื้นที่ในเชิงเศรษฐกิจว่าจะปลูกพืชอะไรได้ 3.ปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง จุดนี้คาดว่าชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการจะสามารถคืนพื้นที่ป่าได้ประมาณ 60-65 % และ 4 สำหรับพื้นที่ป่าที่ชาวบ้านเข้าไปทำกินหลังปี 2554 ส่วนนี้จะให้ปลูกป่ากลับคืนและไม่ให้บุกรุกเข้าไปทำกิน โดยคาดว่าในพื้นที่ 3 หมื่นกว่าไร่ใน  ตำบล 4 หมู่บ้านนี้จะทำให้สามารถฟื้นคืนผืนป่า สภาพป่าไม้ให้ฟื้นกลับคืนมาได้

ทางด้านดร.ภาสวรรธน์ วัชรดำรงศักดิ์ รองอธิการบดีด้านวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กล่าวว่า ทางมทร.ล้านนาได้นำเอางานวิจัย เข้าไปสนับสนุนด้านองค์ความรู้กับเกษตรกร ในการเข้าไปพัฒนาแหล่งน้ำและความเป็นอยู่ของชาวบ้าน เนื่องจากแม่แจ่มไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่ และสภาพดินเสื่อมโทรมไม่สามารเก็บกักน้ำได้ ก็เริ่มจากการทำระบบซับน้ำ ซึ่งก็มีการทำคลองไส้ไก่ เพื่อให้ไหลลงมาจนถึงอ่างพลวงที่ขุดไว้ โดยเก็บน้ำได้กว่า 54 เปอร์เซ็นต์จากเดิมที่ไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ ถือเป็นความสำเร็จอีกอย่างหนึ่ง พร้อมเน้นย้ำให้เกษตรกรปลูกพืชแบบเกษตรอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อฟื้นฟูสภาพดิน และแหล่งต้นน้ำ เพราะแม่แจ่มเป็นแหล่งต้นน้ำอีกแห่งหนึ่งที่จะมีน้ำไหลลงมาสู่ลำน้ำแม่ปิง หากมีการใช้สารเคมีจำนวนมาก ก็จะเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และน้ำที่จะนำมาผลิตเป็นน้ำอุปโภค บริโภคด้วย

นายชัดชาญ เอกชัยพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการบริษัทเชียงใหม่วนัสนันท์ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นที่ภาคเอกชนมาร่วมมือกันในการจัดตั้งบริษัทเชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม ก็เพราะที่ผ่านมามีแต่การวิจารณ์และกล่าวโทษเกี่ยวกับปัญหาหมอกควันและไฟป่าของภาคเหนือ ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจโดยรวม และพวกเรามองเห็นว่าการกล่าวโทษกันไปมาไม่เกิดประโยชน์เท่าลงมือทำ จึงได้ร่วมกันลงขันจัดตั้งบริษัทฯนี้มีการระดมทุนได้เงินมาล้านกว่าบาท และ CSE นี้จะทำแต่เรื่องดีๆ คืนให้กับสังคม แม้จะมีผลกำไรแต่เราจะไม่ปันผลกำไรกัน แต่จะเอามาทำงานเพื่อสังคมจริงๆ

“การทำธุรกิจ ร่วมกับ CSE นั้นไม่มีอะไรที่ได้กำไรแน่อน มีแต่ขาดทุนอย่างเดียว แต่การขาดทุนนี้ก็เป็นสิ่งที่นักธุรกิจหลายคนยินยอม ที่จะมาร่วมมือกัน เพื่อที่จะช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม ให้มีชีวิตที่ดีขึ้น แม้ว่าจะได้กำไรก็ไม่ได้เข้ากระเป๋าตัวเอง แต่เป็นกระเป๋าของเกษตรกร ทุกคนนั้นทำเหมือนกับมูลนิธิที่คอยช่วยเหลือ เป็นการคืนกำไรให้กับสังคม ทำอะไรให้กับสังคม โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่มีรายได้น้อย ให้สามารถกลับมามีรายได้และอยู่ได้ และต้องขอบคุณหลายหน่วยงานที่ได้เข้ามาร่วมมือกันในการพัฒนา และนำโครงการแม่แจ่มโมเดลนี้ไปสู่จุดมุ่งหมาย”นายชัดชาญ กล่าวและว่า

ขอบคุณที่ ธ.ก.ส. ก็ได้สนับสนุนในเรื่องนี้ เพราะจะทำให้เกษตรกรได้พักชำระหนี้ถึง 7 ปี และยังส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกผักแบบเกษตรอินทรีย์ที่ดีต่อสุขภาพทั้งคนปลูกและผู้บริโภค ที่สำคัญดินในพื้นที่ประเทศไทยได้รับสารเคมีมาเพียงพอแล้ว ขณะนี้ต้องฟื้นฟูสภาพดินและแหล่งน้ำให้กลับคืนมา และยังเป็นการลดการบุกรุกป่าด้วย หากเกษตรกรมีรายได้จากการทำบนที่ดินที่ได้รับการจัดสรรจากกรมป่าไม้อย่างถูกต้อง ก็จะไม่มีการบุกรุกอีก ส่วนผลผลิตที่ได้ผมคุยกับลูกที่เปิดโอ้กะจู๋ซึ่งเป็นสาขาใหม่ที่กรุงเทพฯแล้วว่าเราจะรับซื้อผลผลิตของเกษตรกรแม่แจ่มที่เข้าร่วมโครงการนี้ไปจำหน่าย เช่นเดียวกับทางริมปิง.

You may also like

“ส.ว.ก๊อง”ลั่นลงสมัครป้องกันแชมป์สมัยหน้าในนามพรรคเพื่อไทย แย้มครั้งนี้ “ทักษิณ” ขอเป็นผู้ช่วยหาเสียง พร้อมลงพื้นที่ 25 อำเภอ

จำนวนผู้