เขื่อนแม่กวงฯปรับรอบเวรส่งน้ำหลังเจอวิกฤตโควิด-19และภัยแล้งถาโถม ลำไยยืนต้นตายเพราะขาดน้ำ

เขื่อนแม่กวงฯปรับรอบเวรส่งน้ำหลังเจอวิกฤตโควิด-19และภัยแล้งถาโถม ลำไยยืนต้นตายเพราะขาดน้ำ

เขื่อนแม่กวงฯปรับรอบเวรส่งน้ำหลังเจอวิกฤตโควิด-19และภัยแล้งถาโถม ต้นลำไยในพื้นที่อ.เมืองและบ้านธิ จ.ลำพูนยืนต้นตายเพราะขาดน้ำ โดยปรับรอบเวรส่งน้ำให้เร็วขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงช่วงสงกรานต์ ไม่ให้ประชาชนมารวมตัวกันเล่นน้ำ ขณะที่ปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อนแม่กวงฯปัจจุบันเหลือเพียงร้อยละ 23 เท่านั้น

 นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เปิดเผยว่า การบริหารจัดการน้ำชลประทานช่วงฤดูแล้ง (ม.ค.-มิ.ย.63) ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา ประจำปี พ.ศ. 2563 ภายในสภาวะน้ำแล้ง  ซึ่งในปีนี้คาดการณ์ว่าจะมีสถานการณ์ที่รุนแรงและยาวนานกว่าทุกปี ประกอบกับปริมาณน้ำเก็บกักในเขื่อนมีปริมาณน้ำเพียง 74 ล้าน ลบ.ม.(28%) ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่น้อยมาก

รัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายให้กรมชลประทาน ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการน้ำ ดำเนินการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ให้จัดลำดับการบริหารจัดการน้ำ ตามลำดับความสำคัญที่จำเป็น ดังนี้

  1. น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค ให้เพียงพอ ไม่ขาดแคลน
  2. น้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศน์ในธรรมชาติให้พอเพียงตามเกณฑ์
  3. น้ำเพื่อการเกษตร ขอให้เน้นย้ำไม้ผลและไม้ยืนต้นเป็นหลัก และขอให้งดการทำนาปรัง
  4. น้ำเพื่ออุตสาหกรรม และอื่น ๆ ที่จำเป็น

โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา ได้จัดให้มีการประชุม วางแผนร่วมกับคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชลประทานเขื่อนแม่กวง (JMC) ในช่วงเดือน ธ.ค. 62 เพื่อให้ทุกภาคส่วนทราบถึงนโยบายและข้อมูลปริมาณน้ำที่เก็บกักและปริมาณน้ำที่สามารถใช้ในการบริหารจัดการได้ในช่วงฤดูแล้ง มติที่ประชุม ให้ดำเนินการบริหารจัดการน้ำออกเป็นส่วนๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพ ดังนี้

  1. น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และรักษาระบบนิเวศน์ 9 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นน้ำประปา 6 ล้าน ลบ.ม. น้ำในระบบนิเวศน์ 3 ล้าน ลบ.ม. ช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย. 63 เดือนละ 1.5 ล้าน ลบ.ม.
  2. น้ำเพื่อการเกษตร(ไม้ผล และไม้ยืนต้น) 10 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น 4 รอบเวร(ม.ค.-เม.ย. 63) เดือนละครั้งๆ ละ 3 วัน
  3. น้ำสำรองไว้สำหรับสถานการณ์วิกฤต และการตกกล้าข้าวนาปี รวม 41 ล้าน ลบ.ม.(ณ เวลานั้น)

ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา กล่าวอีกว่า การบริหารจัดการน้ำในช่วง 2 เดือนแรก ม.ค.-ก.พ. 63 ผ่านไปได้ตามแผนที่วางไว้ แต่สถานการณ์ของภัยแล้งเริ่มส่อความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับในช่วง มี.ค. 63 ได้เกิดการระบาดของไวรัสโควิด 19 ขึ้นในประเทศไทยและทั่วโลก ทำให้เกิดผลกระทบกับการบริหารจัดการน้ำที่ได้วางแผนไว้แต่ต้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการแก้ไข ปรับแผนการบริหารจัดการใหม่ให้มีความรัดกุมรอบคอบ อีกทั้งมีการร้องขอให้ช่วยส่งน้ำให้กับพื้นที่ อ.เมือง และ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง ต้นลำไยกำลังจะยืนต้นตายเนื่องจากขาดน้ำ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่อยู่ปลายคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้าย ในพื้นที่ ต.มะเขือแจ้ ต.บ้านธิ จ.ลำพูน ต.ศรีบัวบาน จึงได้มีการประชุมร่วมกัน และมีมติให้ส่งน้ำรอบพิเศษให้แก่พื้นที่ดังกล่าวในช่วงต้นเดือน มี.ค. 63 สามารถแก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากปริมาณน้ำมีจำกัด และระยะทางของพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนอยู่ไกล

“ สถานการณ์เริ่มรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ในที่สุดรัฐบาลได้ประกาศให้มีการปิดพื้นที่ที่มีการระบาดของไวรัสโควิด และขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน ให้ทำงานอยู่ในที่ตั้งและที่บ้าน เพื่อลดการอยู่ใกล้ชิดกัน โดยเว้นระยะทางสังคมอย่างน้อย 2 เมตร สั่งยกเลิกการชุมนุม กิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก และเทศกาลสงกรานต์ การส่งน้ำในรอบเวรที่ 4 ของช่วงเดือน เม.ย. 63 จึงจำเป็นจะต้องมีการปรับเปลี่ยนและปรับให้เร็วขึ้น เพื่อป้องกันประชาชนมาเล่นน้ำในช่วงของเทศกาล อีกทั้งภัยแล้งส่งผลรุนแรงเพิ่มขึ้น จึงปรับรอบเวรการส่งน้ำในรอบที่ 4 ทั้ง จำนวนวัน และปริมาณน้ำที่จะส่งให้กับพื้นที่ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และการบริหารจัดการ ”นายเจนศักดิ์ กล่าวและชี้แจงอีกว่า

ปริมาณน้ำที่ใช้ในการบริหารจัดการที่ผ่านมา (ม.ค.-เม.ย.63) รวมทั้งสิ้น 16.70 ล้าน ลบ.ม. แยกเป็นน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค 3.90 ล้าน ลบ.ม. น้ำเพื่อการเกษตรและรักษาระบบนิเวศน์ 12.80 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ได้จัดส่งน้ำเข้าไปในสระชลประทานทั้ง  20 แห่ง ความจุรวมประมาณ 586,400 ลบ.ม.เพื่อให้เกษตรกรสามารถสูบน้ำไปใช้หล่อเลี้ยงลำไย พืชสวนต่างๆ  ทั้งพื้นที่ เชียงใหม่และลำพูน พื้นที่สวนรวมทั้งสิ้น 25,055 ไร่

จากการบริหารจัดการน้ำของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชลประทานเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ร่วมกับ จนท.ชลประทาน ทำให้การบริหารจัดการน้ำในรอบนี้ ซึ่งจะสิ้นสุดในวันนี้(13 เม.ย.63) ปัจจุบันเหลือน้ำ 61.05 ล้าน ลบ.ม.(23.21 %) ซึ่งเป็นปริมาณที่มากกว่าที่ได้กำหนดแผนไว้ แต่ยังคงเหลือน้ำอุปโภค บริโภค และระบบนิเวศน์ที่จะต้องบริหารจัดการอีก 2 เดือน ความร่วมมือร่วมแรงทั้งด้านความคิด การประสานงาน ร่วมกันระหว่างภาครัฐและประชาชน ทำให้การบริหารจัดการน้ำของเขื่อนแม่กวงอุดมธารา สามารถผ่านพ้นวิกฤตทั้ง 2 ประการได้ และยังมีน้ำเหลือพอที่จะสร้างโอกาส รายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่สำหรับฤดูกาลหน้า สามารถเป็นแหล่งสร้างอาหารผลผลิตทางการเกษตรให้คนในประเทศในยามที่นานาประเทศอาจจะไม่มีโอกาสเช่นประเทศไทย.

 

 

You may also like

builds มช. ขนทัพสตาร์ทอัพนักศึกษาคับคั่ง พิสูจน์ความสำเร็จ ตั้งบริษัทจริงระหว่างเรียน

จำนวนผู้