อุตุฯเผยส.ค.-ก.ย.พายุจ่อเข้าไทย 2 ลูกขณะที่ฝนหลวงบินเผยเปิดหน่วยปฏิบัติการหวังช่วยฝ่าวิกฤติแล้ง

อุตุฯเผยส.ค.-ก.ย.พายุจ่อเข้าไทย 2 ลูกขณะที่ฝนหลวงบินเผยเปิดหน่วยปฏิบัติการหวังช่วยฝ่าวิกฤติแล้ง

อุตุฯคาดส.ค.-ก.ย.พายุเข้าฝนเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ฝนหลวงแจงบินปฏิบัติการช่วยพื้นที่วิกฤตนอกเขตชลประทานทุกวัน ระบุพะเยา-เชียงรายฝนน้อย ยันอุปสรรคสำคัญอากาศร้อน เมฆหนาไม่พอ ขณะที่ปภ.ตั้งศูนย์ฯสำรวจข้อมูลเตรียมความพร้อม

นายธนาวุฒิ ปัญจพรอุดมลาภ ผอ.ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ เปิดเผยว่า ปริมาณฝนรวมตลอดช่วงฤดูฝนจะต่ำกว่าค่าปกติ 5-10% อย่างไรก็ตามคาดว่าจะมีพายุเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยจำนวน 1-2 ลูก โดยมีโอกาสสูงที่จะเคลื่อนผ่านบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ซึ่งจะทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในบางวัน และในเดือนตุลาคมทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีฝนลดลงและจะเริ่มมีอากาศหนาวเย็นในตอนเช้า โดยเฉพาะตอนบนของภาค ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออก ภาคใต้จะมีฝนตกชุกหนาแน่นต่อไปกับมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ และหนักมากในบางแห่ง

ทางด้านน.ส.หนึ่งฤทัย ตันติพลับทอง ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ กล่าวว่า  กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้เตรียมความพร้อมในการป้องกันบรรเทาแก้ไขปัญหาภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงในปีนี้ โดยให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคทั้ง 5 ศูนย์คือภาคเหนือ กลาง ตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออกและใต้เตรียมความพร้อมโดยติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงในการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความต้องการน้ำในแต่ละพื้นที่

ทั้งนี้ได้มีการเปิดหน่วยปฏิบัติฝนหลวงจำนวน 3 หน่วยคือที่เชียงใหม่ ตากและพิษณุโลกตั้งแต่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมาโดยผลปฏิบัติการที่ผ่านมาพบว่ามีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางบริเวณอ.แม่แจ่ม พร้าว อมก๋อย ดอยเต่า ฮอด สะเมิง ดอยสะเก็ด ดอยหล่อ กัลป์ยาณิวัฒนาและพื้นที่รับน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธาราและเขื่อนภูมิพล ซึ่งจากการติดตามข้อมูลปริมาณน้ำเก็บกักของเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำไม่มากนักสำหรับเขื่อนแม่กวงฯ เขื่อนแม่งัดฯ เขื่อนกิ่วคอหมาและเขื่อนแควน้อยฯมีปริมาณน้ำเก็บกักต่ำกว่าร้อยละ 30 รวมทั้งการสำรวจความต้องการน้ำฝนในพื้นที่รับผิดชอบมีความต้องการขอรับการสนับสนุนฝนหลวงและจากการติดตามสภาพอากาศยังคงมีโอกาสในการปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มมากขึ้น

“ปีนี้อากาศร้อน การทำฝนหลวงจึงต้องดูความชื้นในดินด้วยเพราะความชื้นในดินจะส่งผลกระทบกับไม้ยืนต้น โดยเฉพาะขณะนี้มีสวนลำไยเริ่มแจ้งว่าขาดแคลนน้ำและเป็นปีแรกที่แจ้งว่าได้รับผลกระทบ โดยในช่วงที่ผ่านมากรมฝนหลวงได้มีการปรับแผนโดยให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงตากมาช่วยพื้นที่เชียงใหม่ตอนล่างด้วย และการทำฝนหลวงจะเน้นในพื้นที่นอกเขตชลประทานเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะที่จังหวัดพะเยา เชียงรายซึ่งประสบปัญหาภัยแล้งและฝนน้อยกว่าเชียงใหม่ ซึ่งก็จะพยายามให้ช่วยฝ่าวิกฤตภัยแล้งไปให้ได้”ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ กล่าวและว่า

สำหรับพื้นที่เชียงรายและพะเยาที่ฝนหลวงขึ้นทำปฏิบัติการต่อเนื่อง เพราะเป็นพื้นที่วิกฤต โดยกรมฯได้มีการประเมินจากสถานการณ์น้ำแล้ว รองลงมาคือพื้นที่จังหวัดแพร่และน่าน ซึ่งนาข้าวได้รับความเสียหาย บางพื้นที่มีการหว่านกล้าไปถึง 2 รอบและก็ไม่รอด ส่วนจังหวัดเชียงใหม่เองก็มีพื้นที่ตอนบน ทั้งนี้หน่วยปฏิบัติการฯได้ขึ้นทำปฏิบัติการทุกวันตั้งแต่ 1 มี.ค.จนถึง 17 ก.ค.และล่าสุดก็จะเพิ่มจุดเติมสารที่จังหวัดแพร่ขึ้นมาอีกแห่งหนึ่ง

ขณะที่นายธนวัฒน์ แปงใจ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สนง.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการประเมินสถานการณ์น้ำและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง จังหวัดเชียงใหม่ปี 2562 และให้สำรวจแหล่งน้ำต่างๆ ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ไม่เคยประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งมา 2 ปีแล้ว โดยเมื่อปี 2558-2559 ซึ่งเป็นช่วงที่ประสบปัญหาภัยแล้งนั้นจังหวัดเชียงใหม่ได้ประกาศพื้นที่ภัยแล้งไป 99 อำเภอ 99 หมู่บ้าน

ทั้งนี้ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ทางสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดได้ดำเนินการขุดบ่อบาดาลจำนวน 30 บ่อโดยขุดเรียบร้อยแล้ว 28 บ่อ ขณะที่บ่อบาดาลในพื้นที่เชียงใหม่มีจำนวน 2,270 บ่อ สำหรับข้อมูลทางการเกษตรจังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่เกษตร 2,032,556 ไร่ โดยเป็นพื้นที่ปลูกลำไย 315,177 ไร่ คาดว่าผลผลิตจะได้รับ 67,893 ตัน พื้นที่ปลูกข้าว 448,037 ไร่ ผลผลิตที่คาดว่าจะได้รับ 88,246 ตัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 172,164 ไร่ โดยพื้นที่ปลูกลดลงจากปี 2561 ร้อยละ 1.5 หรือประมาณ 920 ไร่ โดยผลผลิตที่คาดว่าจะได้รับ 121,022 ตัน โดยอำเภอที่มีการปลูกมากที่สุดคือแม่แจ่ม เชียงดาวและแม่อาย

นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สนง.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า สำหรับปศุสัตว์ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมีจำนวน 1,124,863 ตัว แยกเป็นโคเนื้อ โคนม 75,233 ตัว ไก่ไข่ ไก่เนื้อ 886,730 ตัว สุกร 88,843 ตัว กระบือ 13,517 ตัว เป็ด 21,861 ตัว.

You may also like

SUN และ EXE มอบอาหารช่วยผู้ลี้ภัยชายแดนเมียนมา

จำนวนผู้