อปท.ดันตำบล“เกษตรอินทรีย์” สร้างระบบอาหารเพื่อสุขภาวะ

อปท.ดันตำบล“เกษตรอินทรีย์” สร้างระบบอาหารเพื่อสุขภาวะ

ข้อมูลการเข้ารับบริการภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีผู้ป่วยจากการได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ทั้งจากยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต คาร์บาเมต ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าเชื้อรา รวมถึงสารเคมีทางการเกษตรประเภทอื่นๆ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ ในปี 2559 จำนวน 4,924 ราย เสียชีวิตขณะรักษาตัวในโรงพยาบาล 613 ราย มีการเบิกจ่ายค่ารักษา 22.8 ล้านบาท และปี 2560 มีผู้ป่วย 4,983 ราย เสียชีวิต 582 ราย เบิกจ่ายค่ารักษา 22.6 ล้านบาท ขณะที่ปี 2561 (ต.ค.60-ก.ค.61) มีผู้ป่วย 4,001 ราย เสียชีวิต 520 ราย เบิกจ่ายค่ารักษาแล้ว 17.3 ล้านบาทจากข้อมูลดังกล่าว ทำให้หลายพื้นที่เกิดการตื่นตัว โดยเฉพาะแหล่งที่เป็นชุมชนเกษตรกร เช่นที่ ต.วอแก้ว อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ซึ่งมีประชากร 7 หมู่บ้าน ประมาณ 1,600 ครัวเรือน หรือราว 4,200 คน ในจำนวนนี้เป็นเกษตรกรถึง 900 ครัวเรือน หรือ 2,500 คน ยึดอาชีพทำนาเป็นหลัก และหลังเก็บเกี่ยวก็จะปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ทำให้มีการใช้สารเคมีในปริมาณมาก

สายัณห์  ฉัตรแก้ว หัวหน้าสำนักปลัด อบต.วอแก้ว และนักวิชาการโครงการสานพลังเครือข่ายระบบอาหารเพื่อสุขภาวะ อบต.วอแก้ว เล่าว่า ทาง อบต. ได้ร่วมกับ รพ.สต.สุ่มตรวจหาสารเคมีตกค้างในเลือดของเกษตรกร พบว่า อยู่ในระดับเสี่ยงและไม่ปลอดภัยถึงร้อยละ 70  ขณะเดียวกันเมื่อก็สังเกตได้ชัดว่าชาวบ้านที่สัมผัสสารเคมีในภาคเกษตร ป่วยด้วยโรคมะเร็งมากขึ้น จากเดิมปีละ 2-3 คน เป็นปีละ 10 กว่าคน จึงมีการนำข้อมูลเหล่านี้มานั่งพูดคุยกัน เพื่อหาทางออกข้อเท็จจริงหนึ่งที่บ่งชี้ถึงพฤติกรรมเสี่ยง คือชาวบ้านเน้นทำเกษตรเชิงเดี่ยวในปริมาณมากเพื่อจำหน่าย ส่วนพืชผักที่ใช้เป็นอาหารในชีวิตประจำวันซื้อจากตลาด ไม่ได้ปลูกเอง จึงมีการนำข้อมูลมานั่งคุยกัน พร้อมหาทางออกทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ ด้วยการกำหนดนโยบายตำบลเกษตรอินทรีย์ เดินเข้าหาชาวบ้าน ค้นหาผู้ป่วย และนำมาบำบัดด้วยสมุนไพรรางจืด ควบคู่ไปกับการรณรงค์ให้ปรับเปลี่ยนจากเกษตรเคมีเชิงเดี่ยว เป็นเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน เริ่มจากการปลูกข้าวอินทรีย์ และปลูกผักปลอดสาร ที่เป็นพืชตามฤดูกาล จะได้ใช้บริโภคในครัวเรือนเริ่มตั้งแต่ปี 2557 โดยดึงเกษตรกรที่สมัครใจปลูกข้าว รวมถึงพืชผักแบบอินทรีย์ เข้ามาหมู่บ้านละ 20-30 คน แล้วพัฒนาองค์ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ เช่น การทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ การเลี้ยงไส้เดือนดิน การปรับปรุงบำรุงดิน มาตรฐานนาอินทรีย์ ฯลฯ ซึ่งช่วงแรกดำเนินงานได้ค่อนข้างยาก เพราะอาศัยแรงงานคนเป็นหลัก ตั้งแต่การถอนหญ้า ดูแลแปลง คอยกำจัดแมลงที่มารบกวน หากเมื่อขับเคลื่อนได้ระยะหนึ่ง ก็พบว่าผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์เป็นที่ต้องการของตลาด ราคาดีกว่าเกษตรเคมี อาทิ ข้าวจากแปลงนาเคมี ตันละ 8,000-9,000 บาท แต่ข้าวจากนาอินทรีย์ ขายได้ตันละ 17,000-18,000 บาท และยังลดต้นทุนการผลิตอีกด้วย“ตอนนี้ถ้าเข้ามาในพื้นที่ จะเห็นว่าพื้นที่ทำเกษตรเชิงเดี่ยวลดน้อยลง ชาวบ้านหันมาใส่ใจสุขภาพนำพื้นที่มาผลิตอาหารปลอดภัยมากขึ้น ที่สำคัญคือผลการตรวจเลือดหาสารเคมีซ้ำ กลุ่มที่มีผลเลือดไม่ปลอดภัยลดระดับลงมาอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ส่วนกลุ่มที่มีผลเลือดเสี่ยงจำนวนมาก กลับมาอยู่ในขั้นปลอดภัย ขณะที่ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ประเภทความดัน เบาหวาน ไขมัน ก็ลดอัตราผู้ป่วยใหม่ลงอย่างเห็นได้ชัด” สายัณห์ อธิบาย

มาถึงปัจจุบัน ต.วอแก้ว เกิดแหล่งเรียนรู้ด้านเกษตรอินทรีย์เพื่ออาหารสุขภาวะถึง 10 แห่ง กระจายอยู่ทุกหมู่บ้าน และยังเกิดหลักสูตรการเรียนรู้“โครงการสานพลังเครือข่ายร่วมสร้างระบบอาหารชุมชนเพื่อสุขภาวะ” ที่ผ่านการรับรองจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งจะสามารถสอนและผลิตเกษตรกรอินทรีย์รุ่นใหม่ๆ ได้อย่างมีมาตรฐาน และเป็นระบบมากขึ้นเช่นเดียวกับที่บ้านสามขา หมู่ 6 ต.หัวเสือ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ที่ปลูกผักสวนครัวไว้บริโภคเองมานานนับ 10 ปี และต่อมายังได้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ โดยภายในหมู่บ้านมีการทำประชาคมห้ามใช้สารเคมีเด็ดขาด จนถูกหยิบยกไปขยายผลสู่หลายพื้นที่ และ อบต.หัวเสือ ก็ใช้เป็นต้นแบบในการขยายผลด้านอาหารปลอดภัยสู่หมู่บ้านอื่นๆ ในตำบล

มานี จันทร์หอม รองปลัด อบต.หัวเสือ และผู้จัดการโครงการร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ต.หัวเสือ เล่าว่า ทาง อบต.ได้เข้าร่วมสานพลังเครือข่ายระบบอาหารเพื่อสุขภาวะกับทาง อบต.แม่สูน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และโชคดีที่ในพื้นที่มีบ้านสามขา นำร่องอยู่ก่อน ทำให้หมู่บ้านอื่นมองเห็นตัวอย่าง การขยายผลจึงเริ่มจากหมู่บ้านที่พร้อม คือบ้านสบไร่ หมู่ 9 และบ้านทุ่งพัฒนา หมู่ 12 ซึ่งไม่เพียงปลูกผักปลอดสาร แต่เป็นการดำเนินกิจกรรมแบบเชื่อมโยงและครบวงจร นำขยะเปียกมาทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ ให้แก่ผักที่ปลูก มีทั้งผักตามฤดูกาล เช่น ผักกาด กะหล่ำปลี มะเขือ ถั่วฝักยาว ฯ ผักที่นำมาจากป่า จำพวกผักหวานป่า และผักที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ประเภท กระถิน ก็เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ขยายปลูกในปีถัดไป

ความเปลี่ยนแปลงในรอบ 2-3 ปี ที่เห็นได้ชัด คือชาวบ้าน แม้กระทั่งเด็กๆ บริโภคผักมากขึ้น เนื่องจากได้ปลูกเอง เฝ้าดูการเจริญเติบโตและรดน้ำพรวนดินมาตลอด จึงมีความสุขและพร้อมที่จะกิน นั่นเท่ากับการลดรายจ่ายในการซื้อผักบริโภค ส่วนด้านสุขภาพก็ดีทั้งทางกายและใจ อัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่มีอาหารเป็นสาเหตุสำคัญลดลง ในช่วง 2-3 ปีนับจากนี้ ทาง อบต.จึงมีเป้าหมายที่จะขยายพื้นที่เกษตรปลอดสารให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านในตำบลนับว่ามีหลากหลายปัจจัย ที่ทำให้คนเรามีสุขภาพดี และส่วนใหญ่ยังอยู่ภายใต้การควบคุมของตัวเอง มีส่วนน้อยที่อยู่เหนือการควบคุม เช่น กรรมพันธุ์ ฉะนั้นหากเราสามารถควบคุมปัจจัยต่างๆ ได้ เช่น การเลี้ยงดูตั้งแต่แรกเกิด การดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง การเอาใจใส่เรื่องโภชนาการ สุขภาพของเราย่อมดีอย่างแน่นอน.

You may also like

SUN ประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ในรูปแบบ Hybrid Meeting

จำนวนผู้