หวั่นชนชั้นกลางเกิดมายาคติ ตีความ“ป่าแหว่ง”กระทบกลุ่มอาศัยป่าชุมชน

หวั่นชนชั้นกลางเกิดมายาคติ ตีความ“ป่าแหว่ง”กระทบกลุ่มอาศัยป่าชุมชน

เชียงใหม่ / ผนึกพลังถก“การจัดการป่าอย่างยั่งยืน ปฏิบัติการของพลเมือง” หลายฝ่ายชี้ชนชั้นกลางลุกขึ้นสู้กรณี“บ้านพักตุลาการ” แต่ไม่ต้านนโยบายทวงคืนผืนป่า หวั่นเกิดมายาคติคนอยู่กับป่าไม่ได้ ย้ำเป็นเรื่องกฎหมายที่ขาดความเป็นธรรมต่อประชาชน อยากให้ทุกฝ่ายวางกติการ่วมหาทางออกปัญหา เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการจัดเวทีอภิปราย “การจัดการป่าอย่างยั่งยืน ปฏิบัติการของพลเมือง” โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 60 คน จากทุกภูมิภาค ซึ่งมาจากหลากหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มนักวิชาการ, นักอนุรักษ์, นักกิจกรรม, นักกฎหมาย, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ภาคประชาชน เป็นต้น

นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ จากมูลนิธิสืบสานล้านนา ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำเครือข่ายขอคืนพื้นที่ปาดอยสุเทพ กล่าวว่า ป่าแหว่ง เป็นชัยภูมิการตั้งเมืองเชียงใหม่ ทำให้เห็นว่าที่ผ่านมาคนที่ออกมาต่อสู้เรียกร้องให้รื้อบ้านพักตุลาการ เพื่อคืนผืนป่าดอยสุเทพ คือคนชั้นกลางในเขตเมืองเป็นส่วนใหญ่ แต่พี่น้องที่อาศัยอยู่ในป่าชุมชนยังลังเลที่จะออกมาช่วย เพราะกลัวว่าไล่เขาออกไปแล้ว ตนก็อาจถูกไล่ออกจากบ้านและที่ทำกินด้วยทั้งนี้ต้องมองให้ชัดว่าตรงป่าแหว่ง ถูกระบุว่าไม่ใช่พื้นที่ป่า หากกลับมีการตัดต้นไม้ในป่าเต็งรังแห่งนี้ถึง 100 กว่าไร่ และต้นไม้ก็มีอายุมากกว่า 100 ปี ดังนั้นกฎหมาย นโยบาย ที่จะรัฐเป็นผู้จัดการป่า แล้วกันประชาชนออกไป จึงทำให้การจัดการป่าไม้ไม่ยั่งยืน ป่าจะหายไปเรื่อยๆ จำเป็นต้องคิดใหม่ พลเมืองต้องเข้ามาดูแลทั้งในเขตเมืองและชนบท เพื่อยกระดับความคิด การทำงาน เครือข่าย ให้เกิดการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน

นายกฤษฎา บุญชัย จากสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (สทพ.) ย้ำว่าแม้พื้นที่ป่าแหว่งจะไม่ใช่ซูเปอร์มาเก็ต หรือแหล่งอาหารธรรมชาติของคน แต่ถือเป็นพื้นที่สีเขียวที่มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ มีผลต่อความเชื่อ ศรัทธาของผู้คน จึงเกิดการลุกขึ้นมาต่อสู้ร่วมกัน แต่เชื่อว่าป่าแหว่งไม่ใช่การต่อสู้ที่สุดท้าย ยังจะมีที่อื่นตามมาอีก จึงต้องจัดการให้ดีขณะที่ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่ง บอกว่า ปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากร ไม่ว่าป่าไม้ ที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย มาจากกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่อประชาชน เช่น รัฐอ้างกฎหมายว่าชาวบ้านบุกรุกป่า ทั้งที่ชาวบ้านอยู่ในที่ดินทำกินมานานกว่า 200 ปี เมื่อกฎหมายมาครอบและประกาศพื้นที่ก็เกิดปัญหาประกาศเขตป่าทับที่ทำกิน และแม้ชาวบ้านจะต่อสู้ให้ได้รับความเป็นธรรม และเกิดการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ผ่าน พ.ร.บ.ป่าชุมชน ก็ไม่เป็นผลอย่างที่คาดหวัง ฉะนั้นจะทำอย่างไรให้พื้นที่ชัดเจน จุดนี้เป็นพื้นที่ป่า จุดนี้เป็นพื้นที่ทำกิน ทุกฝ่ายต้องมาวางกติการ่วมกันในระดับพื้นที่ ถ้ารอกฎหมายอย่างเดียว ชั่วชีวิตก็คงไม่สามารถแก้ไขได้

ส่วนกรณีป่าแหว่ง แสดงให้เห็นถึงอำนาจที่อ่อนเปลี้ยของรัฐ ทำให้ประชาชนต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ และทำให้เห็นว่าอำนาจที่แท้จริงอยู่ในพื้นที่ จึงมองว่าป่าแหว่งคือโอกาสที่ประชาชนจะให้ความรู้กับรัฐได้นายสุแก้ว ฟุงฟู จากสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ กล่าวว่า คนเขียนกฎหมายมักใช้ภาษากำกวม ตีความได้หลายอย่าง พอเกิดปัญหาเจ้าหน้าที่รัฐก็อ้างทำตามข้อบังคับกฎหมายเป็นหลัก ชาวบ้านแทบไม่มีสิทธิมีเสียง จึงอยากให้คนเขียนกฎหมาย เข้าใจชาวบ้านให้มากขึ้น

ศ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์  จากคณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เรื่องการคัดค้านหมู่บ้านป่าแหว่ง เป็นชัยชนะของชาวเชียงใหม่ แต่ยังวิตกกังวลเรื่องจินตนาการของชนชั้นกลางที่ได้ออกมาร่วมเคลื่อนไหวเรื่องนี้ต่อมุมมองคำว่า “ป่าแหว่ง” ที่อาจเข้าใจไปว่าคือการเข้าไปทำมาหากิน ทั้งนี้สังเกตได้จากนโยบายทวงคืนผืนป่าที่ชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ได้รับความเดือดร้อน แต่กลับไม่มีชนชั้นกลางออกมาต่อต้านนโยบายดังกล่าวและในเรื่องการขับเคลื่อนประเด็นสิทธิชุมชนหรือป่าชุมชนนั้น ที่ผ่านมามองว่าสาเหตุที่ไม่สำเร็จมาจากเรื่องการตีความการเป็นเจ้าของสิทธิ เพราะมีความเข้าใจว่าป่า หรือทรัพยากรนั้น กรรมสิทธิ์ต้องเป็นของรัฐ หรือปัจเจกเท่านั้น ดังนั้นจึงควรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสิทธิป่าชุมชน โดยอาจมีการสร้างการมีส่วนร่วมเช่นตั้งคณะกรรมการทำงาน นอกจากนี้ ควรเปลี่ยนคำว่า “ป่าชุมชน” เป็น “ป่าสังคม” เพื่อเปลี่ยนจินตนาการของชนชั้นกลางด้วย

ด้าน ดร.นัทมน คงเจริญ จากคณะนิติศาสตร์ มช. มองว่า กรณีการขับเคลื่อนเรื่องหมู่บ้านป่าแหว่ง กับเรื่องป่าชุมชน ทั้งสองกรณี สามารถขับเคลื่อนร่วมกันได้ เพราะมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับป่า ความเชื่อ ประเพณี และวัฒนธรรมนายสงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ จากคณะนิติศาสตร์ มช. กล่าวเสริมว่า อำนาจ และข้อจำกัดด้านกฎหมาย ส่งผลต่อการต่อสู้ของภาคประชาชน แต่ปัจจุบันกลับพบว่ามีประชากรประมาณ 2,000,000 คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า ไม่ถูกดำเนินคดี ซึ่งสาเหตุก็มาจากข้อจำกัดทางกฎหมายเช่นเดียวกัน ซึ่งกฎหมายบางครั้งก็ไม่สามารถบังคับใช้กับพื้นที่ที่มีการจัดการตนเองอย่างเข้มแข็งได้ นำมาสู่อำนาจต่อรอง เพื่อเสนอแก้ไขกฎหมายให้ชุมชนมีอำนาจยิ่งขึ้น.

You may also like

builds มช. ขนทัพสตาร์ทอัพนักศึกษาคับคั่ง พิสูจน์ความสำเร็จ ตั้งบริษัทจริงระหว่างเรียน

จำนวนผู้