สหรัฐฯแจงใช้มาตรการกดดันจีนเปลี่ยนนโยบายหวังสร้างความสมดุลทางศก.พร้อมหนุนเอกชนลงทุนไทยเพิ่มขึ้น

สหรัฐฯแจงใช้มาตรการกดดันจีนเปลี่ยนนโยบายหวังสร้างความสมดุลทางศก.พร้อมหนุนเอกชนลงทุนไทยเพิ่มขึ้น

สหรัฐฯยันพร้อมสนับสนุนการลงทุน การค้ากับไทยและอาเซียน อุปทูตฯแจงมีกว่า 500 บริษัทที่เข้ามาลงทุนแล้ว ชี้สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนไม่ใช่เรื่องใหม่ เผยเป็นมาตรการกดดันที่แรงและหวังให้จีนเปลี่ยนนโยบายบางอย่าง เพื่อสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจไม่ให้เกิดความได้เปรียบ เสียเปรียบ

อุปทูต ปีเตอร์ เอ็ม. เฮย์มอนด์ รักษาการเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนก่อนจะกล่าวเปิดงานฉลองครบรอบ 243 ปี แห่งการประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา ซึ่งสถานกงสุลใหญ่สหรัฐฯเชียงใหม่จัดขึ้นเมื่อค่ำวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า สหรัฐฯและไทยมีความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของไทยในหลายด้าน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ กฎหมาย ความมั่นคง การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การศึกษา

นอกจากนั้นภายใต้ยุทธศาสตร์เสรี และการเปิดกว้างของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีแผนที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการดึงการลงทุนจากภายนอก รวมถึงจากบริษัทฯ จากอเมริกาเข้ามาลงทุนในภูมิภาคอาเซียนในอนาคต  เพราะถือว่าไทยเป็นหัวใจและเป็นศูนย์กลางของอาเซียน โดยทางสหรัฐฯมีเครื่องมือทางเศรษฐกิจใหม่ ที่ประกาศในปีที่แล้ว และเริ่มใช้ในปีนี้ที่จะช่วยให้บริษัทฯ เอกชนที่กังวลว่าจะมีความเสี่ยงจากสถานการณ์ทางการเมือง ความเสี่ยงจากการค้า ทางสหรัฐฯ ก็จะช่วยให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น เพราะเห็นว่าเศรษฐกิจในไทย ในอาเซียน ภูมิภาคนี้กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว

รักษาการเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวอีกว่า ตามยุทธศาสตร์ของอเมริกา ไม่ใช่รัฐบาลจะมาลงทุนเอง แต่รัฐบาลจะร่วมมือกับประเทศพันธมิตร ที่จะสร้างสถานการณ์สิ่งแวดล้อมให้สะดวกและเอื้ออำนวยต่อการลงทุนจากภาคเอกชน เพราะทุนที่จะลงอยู่กับภาคเอกชนมากที่สุด ไม่มีประเทศใดที่จะมีทุนมากพอที่จะลงทุนตามความต้องการของภูมิภาค ทั้งในด้านการค้า การลงทุน ซึ่งสหรัฐฯคิดจะเพิ่มความร่วมมือ และการมีส่วนร่วม และการเติบโตของเศรษฐกิจไทย และเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน รวมทั้งของภูมิภาคนี้ด้วย

อุปทูต ปีเตอร์ เอ็ม. เฮย์มอนด์ ยังตอบข้อซักถามสื่อมวลชนของกลุ่มประเทศอาเซียนที่ยังกังวลเรื่องสงครามการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศจีนว่า เรื่องดังกล่าวเป็นความไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจของสองประเทศ และไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการคัดค้าน การไม่เห็นด้วยด้านเศรษฐกิจของกันมาหลายปีแล้ว ซึ่งตนเคยอยู่ที่จีน เคยรับผิดชอบเรื่องจีนกับสหรัฐฯ ก่อนที่จะกลับไปวอชิงตันฯ ซึ่งขณะนั้นสหรัฐฯ เห็นว่า จะต้องใช้วิธีใหม่ที่จะชักชวนให้ประเทศจีนเปลี่ยนนโยบายบางอย่างที่อาจจะไม่ได้ป้องกัน เช่น IPR หรือการคุ้มครองสิทธิของทรัพย์สินทางปัญญา Intellectual Property Rights ที่บังคับให้บริษัทต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีของตัวเองที่มาลงทุน

นอกจากนี้สหรัฐฯก็ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายอื่นๆ  ซึ่งการไม่เห็นด้วยไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่นโยบายของสหรัฐฯที่นำมาใช้ตอนนี้อาจจะรุนแรงมากกว่าเมื่อก่อน เพราะนโยบายเมื่อก่อนมีผลบังคับใช้ไม่พอ จุดประสงค์ของสหรัฐฯ ไม่ใช่การโจมตีด้านเศรษฐกิจจีน แต่แท้จริงแล้วเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และเศรษฐกิจจีน ก็มีการร่วมมือกันมาหลายปีแล้ว และทางสหรัฐฯ ยังต้องการเพิ่มการแลกเปลี่ยนทางการค้า การลงทุนระหว่างสองประเทศ แต่ก่อนที่จะทำอย่างนั้น และให้เกิดประสิทธิผลมากที่สุด ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบาย ซึ่งทั้งสองประเทศเข้าใจภาษาการค้า การลงทุนก็น่าจะคุยกันรู้เรื่อง

อุปทูตสหรัฐฯ กล่าวอีกว่า ในขณะนี้ทั้งสหรัฐฯและจีนก็ยังมีการเจรจากันอยู่ ซึ่งตนก็ยังไม่สามารถประเมินได้ แต่ที่แน่นอน นโยบายที่เคยใช้กดดันจีนยังไม่เพียงพอ การจะเชื่อมสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนและประเทศอื่นๆ ให้เกิดความยั่งยืนต้องใช้พื้นฐาน การให้ทั้งสองฝ่ายมีโอกาสเท่าเทียมกัน ใช้นโยบายที่คล้ายกัน เพื่อที่จะไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกัน

นอกจากนี้ยังกล่าวแสดงความมั่นใจต่อการลงทุนของภาคเอกชนจากสหรัฐฯในประเทศไทยด้วยว่า ไทยเป็นจุดศูนย์กลางของอาเซียนมาหลายปีแล้ว เรามองเห็นศักยภาพในการลงทุนทั้งไทย และในอาเซียน ซึ่งมีเอกชนมาลงทุนมากที่สุด ถึง  500 บริษัทฯ โดยเป็นการลงทุนที่ใหญ่ที่สุด  3 ใน 4 ส่วนที่ลงทุนในอาเซียน และจำนวนไม่น้อยที่จะลงทุนที่ไทย เช่น ธุรกิจน้ำมัน ก๊าซ การ ผลิตรถยนต์ คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน รวมถึงด้านเกษตร และอุตสาหกรรมต่างๆ และคาดว่าในอนาคตก็จะมีเพิ่มขึ้น ทางสหรัฐฯ ก็หวังว่าจะร่วมมือกับรัฐสภาและรัฐบาลใหม่ ในด้านความร่วมมือเศรษฐกิจและด้านอื่นๆ ด้วย.

You may also like

SUN และ EXE มอบอาหารช่วยผู้ลี้ภัยชายแดนเมียนมา

จำนวนผู้