สสว.จับมือมช.ตั้งศูนย์แห่งความเป็นเลิศภาคเหนือมุ่งสร้างเครือข่ายให่ผู้ประกอบการเกิดความยั่งยืน

สสว.จับมือมช.ตั้งศูนย์แห่งความเป็นเลิศภาคเหนือมุ่งสร้างเครือข่ายให่ผู้ประกอบการเกิดความยั่งยืน

สสว. จับมือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดตั้งศูนย์แห่งความเป็นเลิศ (Excellence Center) ในพื้นที่ภาคเหนือ มุ่งเสริมสร้างเครือข่ายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน รองรับการแข่งขันในยุค 4.0 ตั้งเป้า 400 ราย ขณะที่ผอ.อุทยานวิทย์ฯเผย 9 เดือนมีคนมาใช้บริการกว่า 4 หมื่นคนสร้างมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 328 ล้านบาท

วันที่ 1เม.ย.62 ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่พร้อมด้วย รศ.ดร.อภิชาติ โสภาแดง หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และนายวชิระ แก้วกอ ผอ.ฝ่ายประสานเครือข่ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้ร่วมกันแถลงข่าวความร่วมมือระหว่างสสว. และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการจัดตั้งศูนย์แห่งความเป็นเลิศ หรือ Excellence Center ทางด้านการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ในพื้นที่ภาคเหนือ
รศ.ดร.อภิชาติ โสภาแดง หน.ศูนย์ความเป็นเลิศฯ กล่าวว่า โครงการนี้ มุ่งหวังให้เป็นกลไกสำคัญตามแผนปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ ตั้งเป้ายกระดับองค์ความรู้ธุรกิจ 400 ราย อบรม Online และ Offline พร้อมพัฒนาและให้คำปรึกษาถึงสถานประกอบการแบบเจาะลึก ขยายช่องทางการตลาดให้กับวิสาหกิจ เพิ่มศักยภาพเพื่อต่อยอดสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนหรือสร้างบริการใหม่ๆ ผลักดันให้เกิดเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ซึ่งวิสาหกิจชุมชนเป็นหัวใจในการสร้างงาน สร้างรายได้ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนซึ่งมีความสำคัญและส่งผลโดยตรงกับระบบเศรษฐกิจใหญ่ของประเทศเช่นเดียวกับกลุ่มผู้ประกอบการ SME และจากแผนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2561
ที่ผ่านมา สสว. ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยท้องถิ่นทั่วประเทศ ส่งเสริมการทำวิจัยและพัฒนาที่ใช้ได้จริงตรงกับความต้องการของเกษตรกรในชุมชน รวมถึงพัฒนาธุรกิจชุมชนโดยการสนับสนุนทั้งด้านการรวมกลุ่มสร้างเครือข่าย และการสร้างกลไกพัฒนาร่วมกับภาคเอกชน เพื่อเพิ่มโอกาสในการเติบโตของธุรกิจชุมชนสร้างการเติบโตทางรายได้ เพิ่มการเข้าถึงตลาดและทรัพยากร
“ในปีนี้เราจะเริ่มที่ 400 รายและในนี้จะมี 50 รายหรือกลุ่มที่จะได้เข้าอบรมเชิงลึกและรับคำปรึกษา ทั้งการพัฒนาธุรกิจ การทำบัญชีและพัฒนาผลิตภัณฑ์ พัฒนาบรรจุภัณฑ์ การตลาดรวมถึงอีมาร์เก็ตติ้ง ซึ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีคณะที่ให้ความรู้มาสนับสนุนในทุกๆ ด้านให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนหรือเอสเอ็มอี จึงอยากให้เข้ามาใช้บริการที่ศูนย์ฯแห่งนี้
ด้านนายวชิระ แก้วกอ ผู้อำนวยการฝ่ายประสานเครือข่ายผู้ให้บริการเอสเอ็มอีสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า ในปีนี้ สสว. จึงได้บูรณาการความร่วมมือกับ 8 มหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผลักดันให้เกิดศูนย์แห่งความเป็นเลิศ หรือ Excellence Center ขึ้น โดยดำเนินการภายใต้โครงการส่งเสริมเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2562 ซึ่งเป็นโครงการที่ส่งเสริมธุรกิจชุมชนด้วยการพัฒนาองค์ความรู้และการบริหารจัดการสมัยใหม่ พร้อมกับยกระดับด้วยการให้ชุมชนสามารถนำและใช้เครื่องจักร เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เหมาะสมกับธุรกิจ ไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพในกระบวนการผลิต ปรับปรุงบรรจุภัณฑ์เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการตลาด และนำวิสาหกิจที่มีศักยภาพไปทดสอบตลาดนอกพื้นที่ รวมถึงยังได้พัฒนาและยกระดับวิสาหกิจที่มีศักยภาพให้ได้มาตรฐานเพื่อสร้างโอกาสทางการค้าให้เพิ่มมากขึ้นได้แก่ สินค้า OTOP มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) และ อย. เป็นต้น รวมถึงเรื่องการสร้างเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนทั้งในระดับพื้นที่และระดับจังหวัดขึ้น
สำหรับศูนย์แห่งความเป็นเลิศ หรือ Excellence Center ในพื้นที่ภาคเหนือนั้น สสว. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับวิสาหกิจชุมชนทั้ง 17 จังหวัดทั่วภาคเหนือ โดยดำเนินกิจกรรมการพัฒนาส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนตามกรอบการส่งเสริมพัฒนาด้านสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มคุณภาพของสินค้าและบริการในการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน โดยมีแนวทางในการนำเทคโนโลยีการผลิตที่ก้าวหน้าและเหมาะสม และเทคโนโลยีด้านพลังงานทางเลือกและการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน ที่พัฒนาโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาประยุกต์ใช้ในวิสาหกิจชุมชน นำนวัตกรรม องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสุขภาพมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนและบริการรูปแบบใหม่ๆ โดยมีการทำงานร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (STeP) และศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ (FIN) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อีกทั้งยังมีแนวทางในการดำเนินการด้านการพัฒนาแบรนด์และยกระดับสินค้า เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงวิสาหกิจชุมชนไปยังตลาดเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม
ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือติดตามรายละเอียดการเข้าร่วมโครงการได้ที่ www.sme.go.th และสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้โดยดาวน์โหลด Application SME Connext
สำหรับกิจกรรมที่สำคัญๆ ที่ Excellence Center จะดำเนินการภายใต้โครงการ
ในส่วนกิจกรรมการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนภายใต้โครงการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พื้นที่ภาคเหนือ ประกอบด้วยการอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฎิบัติในเชิงลึกที่เป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนที่กำลังต้องการพัฒนาความรู้ด้านธุรกิจ ไปจนถึงพัฒนาศักยภาพการผลิต ต่อยอดผลิตภัณฑ์/สินค้า รวมไปถึงสร้างช่องทางการขายใหม่ๆ ที่ไม่ควรพลาด ดังนี้
รอบที่ 1 จัดอบรมให้ความรู้ด้านอาชีพและธุรกิจกับผู้ที่ได้รับคัดเลือกโครงการจำนวน 400 ราย โดยความรู้พื้นฐานด้านอาชีพและธุรกิจต่างๆ ความรู้ด้านบัญชีการเงิน การตั้งราคา รวมถึงความรู้ในการทำธุรกิจ ช่องทางการค้าและส่งเสริมการค้าออนไลน์ ไปจนถึงการสร้างแรงบันดาลใจหรือสร้างไอเดีย และการสร้างอาชีพใหม่ๆ
รอบที่ 2 คัดเลือกวิสาหกิจที่มีศักยภาพ จำนวน 50 ราย เข้าฝึกอบรมและพัฒนาเชิงลึกใน 5 ด้านได้แก่ 1.ด้านการบริหารจัดการองค์กรหรือธุรกิจ เช่นการทำหรือพัฒนาแผนธุรกิจ ฯลฯ 2. ตราสินค้า LOGO และบรรจุภัณฑ์ หรือภาพลักษณ์บริการ 3. ด้านการผลิต สำหรับภาคเกษตรและภาคการผลิต หรือด้านการบริการสำหรับภาคบริการ 4. ด้านการสร้างหรือพัฒนาสินค้า /ผลิตภัณฑ์ สำหรับภาคเกษตรและภาคการผลิต หรือการสร้างมูลค่าเพิ่มสำหรับภาคบริการ เป็นต้น 5. การสร้างช่องทางการประชาสัมพันธ์ และช่องทางตลาดออนไลน์ ด้วย Website 1 Website และ Social Media
รอบที่ 3 คัดเลือกวิสาหกิจที่มีศักยภาพ 20 ราย เพื่ออบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการสร้างเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน และอบรมให้ความรู้เพื่อยกระดับเข้าสู่การเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อการค้า ทั้งทฤษฎีและปฎิบัติ โดยรอบนี้จะเป็นการผลักดันให้เกิดเป็นเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน 1 เครือข่าย พร้อมนำงานวิจัย นวัตกรรม และองค์ความรู้ต่างๆ มาใช้พัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์และสินค้าครบมิติ ทั้งการผลิต บรรจุภัณฑ์ รวมถึงการบริการและการบริหาร โดยมีเป้าหมายพัฒนาต่อยอดสินค้าและผลิตภัณฑ์จำนวน 5 ผลิตภัณฑ์/บริการ
รอบสุดท้าย เป็นการนำวิสาหกิจชุมชนที่มีศักยภาพ 50 ราย เข้าร่วมกิจกรรม เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ และจำหน่ายสินค้าภายในงานแสดงสินค้าที่จัดขึ้นเป็นการทดลองการทำตลาดจริง ก่อนที่วิสาหกิจชุมชนจะก้าวออกไปสู่การแข่งขันในตลาดต่อไป
ขณะที่ ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทะ ผอ.อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า สำหรับอุทยานวิทยาศาสตร์ฯเปิดให้บริการมาตั้งแต่กลางเดือนพ.ค.ปี60 จนถึงเดือนมี.ค.ปีนี้มีการเข้ามาใช้พื้นที่ของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เอสเอ็มอีและหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาใช้ประโยชน์กว่า 90% มีการจัดประชุม สัมมนาไปกว่า 700 อีเว้นท์ภายในระยะเวลา 9 เดือนที่ผ่านมาและมีคนมาใช้บริการเกือบ 40,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่สูงที่สุด และที่สำคัญได้สร้างประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ และทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ในอนาคตด้วย โดยตัวเลขมูลค่าทางเศรษฐกิจในช่วง 9 เดือนที่เปิดดำเนินการมีมูลค่ากว่า 328 ล้านบาท โดยเฉพาะจาก 40 บริษัทที่เข้ามาลงทุนที่นี่.

You may also like

builds มช. ขนทัพสตาร์ทอัพนักศึกษาคับคั่ง พิสูจน์ความสำเร็จ ตั้งบริษัทจริงระหว่างเรียน

จำนวนผู้