สมาชิกวุฒิสภาร่วมถกกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาดฉบับภาคประชาชน คาดต้นธ.ค.เสนอต่อรัฐบาล

สมาชิกวุฒิสภาร่วมถกกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาดฉบับภาคประชาชน คาดต้นธ.ค.เสนอต่อรัฐบาล

รองประธานคณะกรรมการวุฒิสภาและคณะร่วมเวทีถกร่างกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาด ฉบับประชาชนร่วมกับ กกร. หอการค้าภาคเหนือและนักวิชาการ หวังบูรณาการแก้ไขปัญหาหมอกควันและฝุ่นขนาดเล็กได้อย่างยั่งยืน

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2562 ที่โรงแรมฮาร์โมไนซ์ ถ.ซุปเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่-ลำปาง อ.เมือง จ.เชียงใหม่ พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ รองประธานคณะกรรมการสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นประธานประชุมเพื่อรับฟังความเห็นร่างกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาด เพื่อนำเสนอรัฐบาลและผลักดันให้มีผลบังคับใช้ เพื่อลดปัญหาไฟป่าหมอกควันและมลพิษจากแหล่งกำเนิด มีนายยงยุทธ วาระสมบัติ พล.อ.สำเริง ศิวาดำรงค์รัตน์ คณะกรรมการ ส.ว. นางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์ ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 นายวิทยา ครองทรัพย์ คณะทำงานแก้ปัญหาหมอกควัน กกร.จ.เชียงใหม่ พร้อมคณะกรรมการ ผู้บริหาร นักวิชาการ และตัวแทนภาคประชาชนเข้าร่วมกว่า 30 คน โดยใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง
รองประธานคณะกรรมการวุฒิสภา กล่าวอีกว่า การที่จะแก้ไขปัญหาหมอกควันนั้น จำเป็นต้องมีกฏหมายดังกล่าว เพื่อตอบโจทย์แก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จ โดยให้ประชาชนเป็นผู้เสนอกฎหมายดังกล่าว ทาง ส.ว.จะไม่เสนอกฎหมายเอง แต่จะเป็นผู้กลั่นกรองกฎหมาย โดยกกร.และหอการค้าภาคเหนือเป็นผู้ผลักดันและขับเคลื่อน ซึ่งหอการค้า 17 จังหวัดภาคเหนือ ได้เสนอให้มีคณะ
กรรมการที่รับผิดชอบโดยตรง และมีกฎหมายบังคับใช้ และเรื่องปัญหาหมอกควัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสนใจ และมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือแจ้งให้ทุกจังหวัดทราบแล้ว ดังนั้นเชื่อว่ารัฐบาล และ ส.ว.สนับสนุนกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้มีผลเป็นรูปธรรมต่อไป
ด้านพล.ต.ต.ยงยุทธ วาระสมบัติ คณะกรรมการสมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาสภาพภูมิอากาศพื้นที่ภาคเหนือเปลี่ยนไป ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นควันและหมอกควันจากไฟป่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เข้ามา แม้ว่าที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐจะพยายามแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่องแต่พบว่ายังไม่สามารถจัดการได้และไม่บูรณาการอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตามจากการลงพื้นที่พบปะประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ได้มีการจัดตั้งชมรมอากาศสะอาด ซึ่งมีการร่างแผนแม่บทกม.ว่าด้วยอากาศสะอาดออกมา โดยมีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ม.ราชภัฎเชียงราย ม.ราชมงคลฯเชียงรายและม.พะเยา และในการประชุมวันนี้มีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เข้ามาร่วมด้วย โดยจะระดมความเห็นในการจัดทำแผนแม่บทการป้องกันหมอกควันไฟป่าแบบบูรณาการฉบับประชาชนขึ้นมาด้วย

นายวิทยา ครองทรัพย์ คณะทำงานแก้ไขฝุ่นควัน กกร.เชียงใหม่ กล่าวว่า กกร.จังหวัดและหอการค้า 17 จังหวัดภาคเหนือ ได้เสนอร่างกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาดกับหอการค้าไทยแล้ว ซึงได้เห็นชอบกับร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวแล้ว ดังนั้น กกร.และหอการค้าภาคเหนือ จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาล 2 แนวทางคือจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการอากาศสะอาดแห่งชาติ (บอร์ด) เหมือนกับคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ช่วงร่างกฎหมายดังกล่าว ปี 2562-2563 รวม 2 ปี เพื่อบูรณาการทุกภาคส่วนแก้ปัญหาไฟป่าหมอกควัน ฝุ่นละออง ไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งโครงสร้าง ภารกิจ บุคลากร และงบประมาณ ก่อนให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ในปี 2564 ตามลำดับ

รศ.ไพสิษฐ์ พานิชกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ได้ร่างกฎหมายออกมาก่อนจากนั้นจะร่วมกับเครือข่ายคณาจารย์จากสถาบันการศึกษาในภาคเหนือ เพื่อยกร่างกฎหมายสะอาดออกมาให้เรียบร้อยทั้งฉบับ ซึ่งหลายประเทศมีกฎหมายสะอาดออกมาใช้กันแล้ว ทั้งนี้เป้าหมายคืออยากได้พ.ร.บ.การบริหารจัดการเพื่อความสะอาดของอากาศ โดยจะส่งร่างกฎหมายนี้ให้กับสมาชิกวุฒิสภาในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นร่างกม.ฉบับประชาชน และจะมีความเห็นจากนักวิชาการเข้ามาเพิ่มเติมเพื่อให้ร่างกม.นี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

จากนั้น พล.อ.สกนธ์ กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า ตอนนี้สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการส่วนหนึ่งคือให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)ได้รับทราบถึงความจำเป็นในการออกกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาดให้มาก เพราะขณะนี้เรื่องของงบประมาณปี 63 จะออกมาได้หลังเดือนมกราคมแล้ว ซึ่งเกรงว่าจะล่าช้า เพราะฉะนั้นขอให้ทางนักวิชาการและภาคเอกชน ภาคประชาชนเร่งตกผลึกร่างกฎหมายดังกล่าวให้เสร็จในต้นเดือนธันวาคม แล้วนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการวุฒิสภาอีกครั้ง เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี และให้ร่วมกันเสนอแผนในระยะเร่งด่วนในช่วงที่การนำเสนอกฎหมายดังกล่าวซึ่งต้องใช้เวลาว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อบรรเทาปัญหาไปก่อน.

You may also like

อาดิดาสเปิดตัว ADIDAS OUTLET CENTRAL CHIANGMAI AIRPORT พร้อมส่งโปรฯ แรง ฉลองสาขาใหม่ใหญ่สุดในภาคเหนือ มอบส่วนลดกว่า 60% ให้เหล่าขาช้อป

จำนวนผู้