สภาลมหายใจเชียงใหม่แถลงเปิดเทศกาล “Lanna Breeze ล้านนาฟ้าใส ลมหายใจเดียวกัน”ลดปัญหาฝุ่นฯ หยุดการเผาที่ไม่จำเป็น

สภาลมหายใจเชียงใหม่แถลงเปิดเทศกาล “Lanna Breeze ล้านนาฟ้าใส ลมหายใจเดียวกัน”ลดปัญหาฝุ่นฯ หยุดการเผาที่ไม่จำเป็น

สภาลมหายใจเชียงใหม่แถลงเปิดเทศกาล “Lanna Breeze ล้านนาฟ้าใส ลมหายใจเดียวกัน”ผนึกกำลังทุกภาคส่วนจัดกิจกรรมตลอด 5 เดือนตั้งเป้าลดปัญหาฝุ่นฯ Zero Burning หยุดการเผาที่ไม่จำเป็น

เมื่อวันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2563 ที่ลานต้นลีลาวดี พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา (ฝั่งตรงข้ามอนุสาวรีย์สามกษัตริย์) นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายชัชวาล ทองดีเลิศ ประธานคณะกรรมการอำนวยการสภาลมหายใจเชียงใหม่,นายทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ และนายสมชาติ วัฒนากล้า ผู้อำนวยการสำนักงานช่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)เชียงใหม่ ได้ร่วมกันแถลงข่าว เทศกาล “Lanna Breeze ล้านนาฟ้าใส ลมหายใจเดียวกัน” ซึ่งกำหนดจัดขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ไปจนถึงกลางเดือนเมษายน 2564 รวมระยะเวลานานกว่า 5 เดือน มหกรรมดังกล่าวเป็นการรวมพลังสังคม ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาชน โดยการประสานงานของสภาลมหายใจเชียงใหม่ เพื่อป้องกันบรรเทาและร่วมกันต่อสู้กับวิกฤตมลพิษฝุ่นควันไฟ PM 2.5 ซึ่งเกิดเป็นประจำทุกปี

เทศกาล “Lanna Breeze ล้านนาฟ้าใส ลมหายใจเดียวกัน”  จะมีกิจกรรมที่หลากหลายทั้งการรณรงค์ การให้ความรู้ การแลกเปลี่ยนและนำเสนอเชิงวิชาการ อาทิ การส่งเสริมเกษตรกรลดการเผาพื้นที่เกษตร การปั่นจักรยานลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง การส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวเพื่อการบริโภคในครัวเรือน การจัดแสดงงานศิลปะจัดวางและศิลปะการแสดง การจัดนิทรรศการและงานแสดงสินค้าเพื่อนำเสนอนวัตกรรมป้องกันฝุ่น ฯลฯ  ทยอยนำเสนออย่างต่อเนื่องในพื้นที่ต่างๆ ทั่วจังหวัด

นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ กล่าวว่า การทำงานในปีนี้ เน้นไปที่ความร่วมมือ ระหว่างภาครัฐกับประชาชนทุกภาคส่วน ที่ผ่านมามีจำนวนวันที่ค่ามลพิษสูงเกินมาตรฐาน เกินกว่า 70 วันในหนึ่งปี สำหรับปี 2564 ตั้งเป้าว่าจะลดจุดความร้อน (Hotspots) และพื้นที่ไหม้ลงให้ได้อย่างน้อย ร้อยละ 25 จากปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมโครงสร้างการเผชิญเหตุ บูรณาการทั้งภาคชนบทและภาคเมือง ที่มีประสิทธิภาพขึ้นจากปีก่อน

ขณะที่นายสมชาติ วัฒนากล้า  ผู้อำนวยการสำนักงานช่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ทาง อบจ. จะสนับสนุน คน งบประมาณ ทรัพยากร และบุคลากร ที่ผ่านมามีการ ติดตั้งเครื่องวัด 250 เครื่อง รวมเป็น 500 กว่าเครื่อง ที่เคยมีการติดตั้ง ซื้อเครื่องเป่าลม เพิ่ม 200 กว่าเครื่อง เตรียมเพื่อบริการหน่วยงานที่มีความต้องการ ที่สำคัญที่สุด ปีนี้จะเป็นปีแรก ที่ อบจ.เชียงใหม่จะ อุดหนุนงบประมาณตรงไปให้กับชุมชนหมู่บ้าน 1,000 กว่าแห่งโดยตรง  ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการไฟในระดับชุมชน ดีขึ้นอย่างแน่นอน

ด้านนายทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่  กล่าวว่า บอกปัญหาหลักในภาคเมืองมาจากรถ ปัจจุบันมีรถจักรยานยนต์มากกว่า ล้านกว่าคัน มีรถยนต์ เกินกว่า 4 แสนคัน นี่เป็นโจทย์แก้สำหรับภาคเมือง เทศบาล กำลังออกแบบมาตรการสำหรับปีนี้ เช่นการรถบางชนิดในบางเวลา ซึ่งอยู่ระหว่างการออกแบบเตรียมมาตรการในช่วงสุดท้าย

ขณะที่นายชัชวาล ทองดีเลิศ ประธานคณะกรรมการอำนวยการสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า 14 ปีมานี้ พบว่าปัญหามลพิษฝุ่นควันมีความซับซ้อน เพราะเป็นวิถีชีวิต พฤติกรรมของมนุษย์ ลำพังประชาชน หรือรัฐ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้เพียงฝ่ายเดียว จะต้องร่วมมือกัน การจัดเทศกาล “Lanna Breeze ล้านนาฟ้าใส ลมหายใจเดียวกัน” คือ การพยายามรวมทุกภาคส่วน เตรียมการตั้งแต่เนิ่นๆ ในการแก้ปัญหา ไม่ใช่การตามเข้าไปดับ

“กระบวนการหลักในการทำงานปีนี้ จะเน้นไปที่การป้องกัน และลดวันที่ค่ามลพิษฝุ่นควันมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนให้น้อยที่สุด แม้ปีนี้จะตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 25 แต่จริงๆ อยากได้สัก 50% เพราะปีนี้จะเป็นการผนึกกำลังของชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสภาลมหายใจที่จะเป็นหลักในการดูแลทุกตารางนิ้วของเชียงใหม่ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนจะได้รับการสนับสนุนให้มีความพร้อมทั้งจากหน่วยงานรัฐ ภาควิชาการ ตลอดจนสื่อมวลชนที่จะลงไปในพื้นที่สนับสนุนการทำงานร่วมกัน”ประธานคณะกรรมการอำนวยการสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวและชี้แจงอีกว่า

ปัจจุบันเรามีชุมชนสู้ฝุ่น วัดสู้ฝุ่นและโรงเรียนสู้ฝุ่นเป็นโมลเดลสำคัญที่ภาคประชาสังคมลุกขึ้นมาแล้ว ปีนี้ไฟที่ไม่จำเป็นทั้งหมดจะต้องเป็นศูนย์  (Zero Burning) ได้แก่ การเผาเศษขยะ ใบไม้ กิ่งไม้ ซึ่งส่วนนี้สามารถนำไปเป็นปุ๋ยได้ การเผาพื้นที่เกษตร อย่างกรณีพื้นที่นา ที่ดอยสะเก็ดมีที่นาเกือบ 2 พันไร่ที่ทำนาปรังก็ไปขอว่าอย่าเผาตอซังข้าวแต่เขาก็ต้องการเครื่องอัดฟางซึ่งสามารถอัดฟางก้อนขายได้ นอกจากนี้เรายังต้องการให้รัฐบาลส่วนกลางสนับสนุนผู้ว่าฯ นายกเทศมนตรีและอบจ.ให้ทำงานได้เต็มที่และผลักดันพ.ร.บ.อากาศสะอาดให้บังคับใช้ได้โดยเร็วซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป เหลือเฉพาะไฟที่จำเป็น เช่น การเผาเพื่อทำไร่หมุนเวียน การเผาศพ แต่ก็ขอให้มีแผนจัดการที่ชัดเจน และการประกาศห้ามเผากับการใช้มาตรการจับกุมที่ผ่านมาไม่มีประสิทธิภาพพอ ปีนี้จะเปลี่ยนมาใช้มาตรการควบคุมเชื้อเพลิงตามหลักวิชาการ จุดไหนที่เผา จะต้องสามารถบริหารจัดการไม่ให้เกิดการลุกลามเข้าไปในพื้นที่ป่า

นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวเสริมว่า เราต้องมาร่วมมือกันว่าจะบริหารจัดการอย่างไร เพื่อให้เกิดผลกระทบต่ออากาศให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะพื้นที่ไม่ควรเผา เร่งฟื้นฟูป่า ปฏิบัติการในเชิงรุกมากขึ้น เพราะเราทุกคนต่างเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เราจะต้องไม่โทษกันเอง เลิกการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ลดจุดความร้อนให้ได้ แต่เราต้องเป็นเจ้าภาพร่วมกันเพื่อความมีสุขภาพดีของทุกคน ในเรื่องของการกำหนดวันห้ามเผา การออกประกาศจังหวัดจะมีหรือไม่มีไม่ได้มีส่วนสำคัญ เพราะจริงๆ ก็จะมีกฎหมายที่ควบคุมอยู่แล้ว

นายปัณรส บัวคลี่ กรรมการสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า ในการทำงานของสภาลมหายใจเชียงใหม่ 1 ปีที่ผ่านมาต้องแยกเป็น 3 ส่วนๆ ของการรณรงค์เพื่อให้เกิดความตระหนักและความร่วมมือ ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จในระดับที่ดีเพราะมีความร่วมมือมากขึ้นทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน แต่การรณรงค์อย่างเดียวไม่ได้ จะต้องมีมิติในการแก้ไขปัญหาหรือเผชิญเหตุด้วย โดยอ้างอิงข้อมูลของ Gisda ซึ่งรวบรวมจุดความร้อนและพื้นที่เผาไหม้ในปีที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าจังหวัดเชียงใหม่มีจุดความร้อนและการเผามากที่สุด โดยเฉพาะในช่วงที่มีประกาศห้ามเผาเด็ดขาด ซึ่งถือเป็นความล้มเหลวของมาตรการห้ามเผา อย่างไรก็ตามในปีที่สองของการขับเคลื่อนของสภาลมหายใจเชียงใหม่ซึ่งจะเริ่มขับเคลื่อนตั้งแต่เดือนพ.ย.นี้ไปจนถึงเมษายนปีหน้า ซึ่งคาดหวังว่าสถานการณ์ไฟป่าและฝุ่นควัน pm2.5 จะดีขึ้น

จากนั้นได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือระหว่าง สำนักงานศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ กับ สภาลมหายใจเชียงใหม่  เพื่อนำชุดความรู้ Animation “จากฝุ่นควันสู่สภาวะโลกร้อน” และข้อมูลทางวิชาการที่เกี่ยวกับการป้องกันและการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ไปใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน และหลักสูตรความรู้ ในโรงเรียนทั่วทั้งจังหวัดเชียงใหม่

นอกจากนี้ยังมีการเสวนา หัวข้อปัญหาของฝุ่นควัน PM 2.5 และแนวทางการดำเนินงานเพื่อป้องกันในปี 2564 โดยเนื้อหาหลัก เป็นการพูดคุยถึง แผนการบริหารจัดการ นโยบายในการป้องกัน ความร่วมมือและการสนับสนุน จากชุมชน-ท้องถิ่น และทุกภาคส่วน รวมถึงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในชุมชนเมือง ลดปริมาณฝุ่นควันจากยานพาหนะ และโรงงานอุตสาหกรรมในเมือง.

You may also like

SUN และ EXE มอบอาหารช่วยผู้ลี้ภัยชายแดนเมียนมา

จำนวนผู้