สภาลมหายใจส่งมอบอุปกรณ์ให้ 295 หมู่บ้านร่วมสู้ปัญหาไฟป่า ฝุ่นpm2.5 ย้้ำควรยกเลิกไล่ตามดับแบบเดิม

สภาลมหายใจส่งมอบอุปกรณ์ให้ 295 หมู่บ้านร่วมสู้ปัญหาไฟป่า ฝุ่นpm2.5 ย้้ำควรยกเลิกไล่ตามดับแบบเดิม

ผนึกกำลังทุกฝ่ายร่วมแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นpm2.5 สภาลมหายใจเชียงใหม่ส่งมอบอุปกรณ์หนุนเสริม 295 หมู่บ้าน ที่มีแผนงานป้องกันและจัดการไฟป่า ร่วมกันสร้างมิติใหม่ของการสู้ปัญหามลพิษ  ให้ชุมชนมีความพร้อมก่อนเข้าฤดูแล้ง เน้นการป้องกันโดยชุมชนเป็นแกนหลัก ย้ำเลิกใช้วิธีไล่ตามดับไฟแบบเดิม

เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564 ที่บริเวณหน้าหอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่จังหวัดเชียงใหม่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ มูลนิธิเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ และสภาลมหายใจเชียงใหม่ ร่วมส่งมอบอุปกรณ์สนับสนุนการเตรียมการป้องกันไฟป่า ปี 2564 และประกาศแนวทางชุมชนเป็นแกน ป้องกันไม่ใช่ไล่ตามดับ ซึ่งมีผู้แทนชุมชน จาก 35 ตำบล และ 1 พื้นที่ ร่วมรับมอบอุปกรณ์ป้องกันและดับไฟป่า

นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า อุปกรณ์ทั้งหมด มาจากเงินบริจาคจากของประชาชนในปี 2563 ที่บริจาคผ่านสภาลมหายใจเชียงใหม่ ในช่วงที่เกิดวิกฤติฝุ่นควัน ซึ่งปี 2563 ที่ผ่านมา ทางสภาลมหายใจเชียงใหม่ ได้ส่งมอบอุปกรณ์จำนวนหนึ่ง ให้กับ140 ชุมชนชุมไปแล้ว หนึ่งครั้ง เนื่องจากเป็นปีแรกและยอมรับว่ายังตั้งหลักไม่ทัน เงินไม่มี แต่เมื่อไฟมาก็มีผู้ใจบุญบริจาคเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์แต่ไม่ทันการณ์ กว่าจะจัดซื้อส่งมอบได้ มันก็ไม่ทันเป็นส่วนใหญ่

“ปัญหาฝุ่นควันเริ่มทวีความรุนแรงมาตั้งแต่10 กว่าปีที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตามความร่วมมือของทุกฝ่ายจะนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงให้เกิดหลักคิดและกระบวนการ มาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันและpm2.5 จากเดิม ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นควันpm2.5 อย่างยั่งยืนแบบบูรณาการและมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ซึ่งมีการประชุมตั้งแต่หมดไฟป่าและฝุ่นควันเมื่อปีที่ผ่านมา โดยมีคณะทำงานแต่ละกลุ่มที่ประชุม กลั่นกรองและขับเคลื่อนแนวทางแก้ไขปัญหากัน นอกจากนี้ยังมีกระบวนทำงานเปลี่ยนจากเดิม โดยเปลี่ยนเป็นการทำงานตั้งแต่ระดับล่างขึ้นสู่บน โดยให้บทบาทพื้นที่ตั้งและชุมชนเป็นแกนหลัก มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมามีบทบาทเชื่อมโยง ทำให้ทุกพื้นที่ได้รับการดูแลและประสานเชื่อมโยงกับป่าไม้ อุทยานและส่วนงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง”ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวและว่า

ผมเชื่อมั่นว่าเมื่อชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสภาองค์กรชุมชนได้ร่วมเรียนรู้ ร่วมวิเคราะห์ปัญหา แก้ปัญหา ร่วมปฏิบัติการและร่วมรับผิดชอบซึ่งสำคัญมาก จึงทำให้กลไกการทำงานที่จะเป็นกุญแจสำหรับความยั่งยืนในอนาคต ให้เกิดการเชื่อมโยงกับคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีผวจ.เชียงใหม่เป็นประธาน ซึ่งเป็นความร่วมมือครั้งใหญ่ที่สุด  ประการต่อมาคือเรื่องประกาศห้ามเผา ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นว่าประกาศใครเผาโดนจับก็ทำให้เกิดปัญหาไฟมาก เพราะไม่รู้ใครเผาเนื่องจากคนเผาจุดไฟแล้วหนี ดังนั้นปีนี้ไฟที่ไม่จำเป็นทั้งหมดห้ามเผา หากใครเผาก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งไฟที่ไม่จำเป็นเช่น การเผาเศษขยะ ใบไม้ แต่ไฟที่จำเป็นเช่น เผาพื้นที่เกษตร เผาเพื่อเตรียมไร่หมุนเวียน ซึ่งพื้นที่เหล่านี้จะมีการบริหารเชื้อเพลิง ซึ่งจะมีการจัดทำแผนและเชื่อมกับแอพพลิเคชั่นที่ทางฝ่ายนักวิชาการพัฒนาขึ้นมาเป็นการพยากรณ์อุณหภูมิ การยกตัวของอากาศ ทิศทางลม เอามาใช้ในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่และนำไปสู่การสั่งการ

นายชัชวาล กล่าวด้วยว่า ประการต่อมาคือเรื่องของการสนับสนุน ปีนี้จะเป็นปีแรกที่มีการปลดล็อคให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนงบประมาณให้แก่ชุมชนได้ และปีนี้สภาลมหายใจร่วมกับทางจังหวัดจะเปิดบัญชีรับบริจาคเพื่อนำไปสนับสนุนชุมชนเพื่อให้เกิดความพร้อม ขณะที่ภาคธุรกิจก็มีการระดมทุนให้เป็นรางวัลให้กับหมู่บ้านที่จัดการไฟได้ดี  ซึ่งคาดหวังว่าปีนี้การระดม ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะทำให้สถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันดีกว่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะมลพิษจากฝุ่นควันจะลดลงอย่างน้อยร้อยละ 25

ด้านนายสมคิด ปัญญาดี ผู้อำนวยการส่วนยุทธศาสตร์ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า นโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานของจังหวัดเชียงใหม่เริ่มต้นจากการถอดบทเรียนปีที่ผ่านมาและนำมาปรับแก้เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาปี 64  โดยเริ่มจากการบริหารจัดการเชื้อเพลิงทุกพื้นที่ตามประกาศของจังหวัด ซึ่งเริ่มตั้งแต่ต้นเดือนม.ค.ที่ผ่านมาทั้ง 2 โซน และช่วงเวลาตามการแห้งของใบไม้ โดยพื้นที่ที่ไม่ใช่การบริหารจัดการเชื้อเพลิง เช่นเผาขยะ ใบไม้ กิ่งไม้ในชุมชนก็จะมีประกาศห้ามเผา และถูกบังคับใช้ตามประกาศจังหวัดเชียงใหม่ คือใครฝ่าฝืนก็จะถูกจับดำเนินคดี

“ปีที่แล้วความเข้มข้นของpm2.5 สูงถึง 360 ไมโครกรัมต่อลบ.ม.แต่ปีนี้จะจับมือร่วมกันให้ความเข้มข้นของpm2.5 ลดลงให้ได้ และขอบคุณทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกัน”ผู้อำนวยการส่วนยุทธศาสตร์ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าว

ขณะที่นายสมชาติ  วัฒนากล้า ผู้อำนวยการสำนักการช่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปีนี้นับว่าเป็นปีที่มีความพร้อมที่สุดที่ทุกองค์กรทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชนมาร่วมขับเคลื่อนกับภาคราชการ ทางอบจ.เชียงใหม่ได้สนับสนุนเครื่องเป่าลมจำนวน 50 เครื่องและสนับสนุนงบประมาณให้หมู่บ้าน ชุมชนดับไฟป่าจาก 1,093 หมู่บ้าน อบจ.เชียงใหม่จะสนับสนุน 644 หมู่บ้านโดยขั้นต้นหมู่บ้านที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายจำนวน 3 หมื่นบาท โดยให้แต่ละหมู่บ้านเสนอแผนงาน โครงการขึ้นมาทางปกครองอำเภอ โดยทางอำเภอจะส่งให้อบจ.อีกทอดและทางอบจ.เชียงใหม่จะโอนเงินตรงให้กับหมู่บ้าน ตามแผนงานจะให้จบภายใน 28 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งอาจจะเป็นแห่งแรก ให้เป็นเชียงใหม่โมเดล ภาคเหนือโมเดลที่ท้องถิ่นสนับสนุนไปยังชุมชนโดยตรง

ทางด้านนายไพรัช โตวิวัฒน์ ประธานมูลนิธิเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า ครั้งนี้ถือว่าชุมชนเป็นแกนหลัก และไม่เอาแล้วการระดมบริจาคหน้าไฟ ด้วยเหตุนี้จึงมีการผลักดันแนวคิดมาตรการนโยบายแบบที่ประชาชนอยากเห็นซึ่งยอมรับว่าไม่ง่ายเลย บางอย่างได้ บางอย่างไม่ได้ ปีนี้จังหวัดเชียงใหม่มีอะไรเปลี่ยนไปจากเดิมเยอะ เอาล่ะได้มาสัก 30 % จากเป้าหมายที่ต้องการอยากเห็นก็ยังดี

“สภาลมหายใจเชียงใหม่ ต้องการเห็นบทบาทชุมชนและท้องถิ่นเป็นแกน และมีส่วนร่วมมากขึ้น  ไม่เพียงเท่านั้น เรายังอยากเห็นมิติใหม่ ของมาตรการเชิงป้องกัน แทนการไล่ดับไฟ แบบที่ผ่านๆ มา สำหรับอุปกรณ์ที่ส่งมอบในครั้งนี้แยกเป็น เครื่องเป่าลม 250 เครื่อง เครื่องพ่นน้ำ 30 เครื่อง ถังฉีดน้ำ 100 ถัง เครื่องตัดหญ้า 100 เครื่อง เลื่อยยนต์ตัดไม้ 20 เครื่อง ถัง200ลิตร 100 ถัง ไม้ตบไฟ 800 อัน คราดมือเสือ 1,000 อัน ไฟฉายคาดหัว 800 อัน กล้องส่องทางไกล 100 ตัว และวิทยุสื่อสาร 120 เครื่อง รวมมูลค่า 2,300,000 บาท ปี 2564 มอบให้ทั้งหมด 35 ตำบล 1 ผืนป่านำร่องดอยสุเทพ รวม 295  หมู่บ้าน 40 ตำบล จาก 21 อำเภอในจังหวัดเชียงใหม่

ประธานมูลนิธิเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวด้วยว่า แนวความคิดสำคัญของสภาลมหายใจเชียงใหม่ต่อการแก้วิกฤตปัญหามลพิษอากาศฝุ่นควันภาคเหนือก็คือต้องเปิดให้ชุมชนและท้องถิ่นมีบทบาทและมีส่วนร่วมสำคัญในกระบวนการพิทักษ์รักษาทรัพยากรตลอดทั้งปี และมีส่วนในการวางแผน นำเสนอข้อปัญหาและความต้องการในปฏิบัติการป้องกันและจัดการฝุ่นไฟ โดยเชื่อว่าหากพลังสังคม ท้องถิ่น และชุมชนเข้มแข็งมองเห็นปัญหาในทิศทางเดียวกัน ร่วมมือร่วมใจกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จะนำพาเชียงใหม่ออกจากวิกฤตการณ์มลพิษอากาศฝุ่นควันได้ในเร็ววัน.

 

You may also like

ชลประทานยันน้ำพอสำหรับแล้วนี้ แม้นาปรังแม่ออนเสียหายยับเพราะเป็นพื้นที่นอกเขตฯ

จำนวนผู้