สกน.ตาก จี้ผู้ว่าฯ ตรวจสอบ อ.ท่าสองยางปลูกป่าทับไร่หมุนเวียนชาวบ้าน

สกน.ตาก จี้ผู้ว่าฯ ตรวจสอบ อ.ท่าสองยางปลูกป่าทับไร่หมุนเวียนชาวบ้าน

ตาก / ชาวตำบลแม่วะหลวงระส่ำ อำเภอสั่งปลูกป่าทับไร่หมุนเวียน ที่อยู่ในเขตพื้นที่โฉนดชุมชน อ้างสวมรองเท้าให้ดอย สวมหมวกให้ภูเขา สร้างความขัดแย้งให้ชุมชนอย่างหนัก-หวั่นถูกยึดที่ดินทำกิน ด้าน สกน.ตาก ออกโรงจี้ ผวจ.ให้ตรวจสอบ พร้อมขอความชัดเจนใน 4 ประเด็นปัญหาผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ก.ค.61 ผู้ใหญ่บ้านแม่วะหลวง ต.แม่วะหลวง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก นำชาวบ้านจำนวนหนึ่ง เข้าไปปลูกป่าในพื้นที่ไร่หมุนเวียน ที่มีต้นข้าวขึ้นสูงกว่าคืบหนึ่งแล้ว โดยบริเวณพื้นที่ดังกล่าวมีชาวบ้านทำกินอย่างน้อย 7 ครอบครัว และเป็นพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว นอกจากนี้ยังทราบว่า ก่อนหน้านี้มีพื้นที่ไร่หมุนเวียนหลายหมู่บ้านในตำบลเดียวกัน ได้ถูกปลูกป่าทับที่ไปแล้วเช่นเดียวกัน

จากการสอบถามชาวบ้านแม่วะหลวง บอกว่า ผู้นำชุมชนแจ้งชาวบ้านเป็นโครงการปลูกป่าของอำเภอท่าสองยาง  ซึ่งนายอำเภอได้มีคำสั่งให้ผู้ใหญ่บ้านดำเนินการ แต่ไม่ทราบว่าปลูกเพื่ออะไร และพื้นที่ดังกล่าวจะถูกยึดไปด้วยหรือไม่ นอกจากนี้ก่อนดำเนินการปลูกยังไม่มีการสอบถามหรือขอความยินยอมแต่อย่างใด

ชาวบ้านที่เป็นเจ้าของพื้นที่ที่ถูกปลูกป่าทับ กล่าวว่า รู้สึกสับสนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ทำกินดั้งเดิม และล้วนอยู่ภายในเขตพื้นที่โฉนดชุมชน ที่ได้รับการคุ้มครองตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน (ฉบับแก้ไข) พ.ศ. 2555 แต่เมื่อทราบว่าเป็นโครงการที่สั่งการโดยนายอำเภอ ก็เกิดความกลัวและไม่กล้าออกมาโต้แย้งหรือคัดค้านขณะที่ผู้นำชุมชนหลายคน เล่าว่า ก่อนหน้านี้ประมาณสองสัปดาห์ นายอำเภอท่าสองยาง ได้นำเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองไปปลูกป่าที่หมู่บ้านปอเคลอะเด หมู่ 5 ซึ่งอยู่ในเขต ต.แม่วะหลวง เช่นเดียวกัน โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นไร่หมุนเวียนเก่า ไม่ใช่พื้นที่บุกรุกใหม่ ที่ชาวบ้านปลูกข้าวจนขึ้นสูงกว่าหนึ่งคืบแล้ว เมื่อมีการปลูกป่าทับพื้นที่ทำกิน ก็ทำให้ชาวบ้านเกิดความรู้สึกขัดแย้ง ไม่เพียงแค่นี้ ในหมู่บ้านอื่นๆ ของ ต.แม่วะหลวง ทางนายอำเภอก็ได้สั่งให้ผู้ใหญ่บ้านไปดำเนินการปลูกกันเอง และกำหนดว่าต้องเป็นพื้นที่ทำกินปัจจุบันเท่านั้น แล้วจะลงพื้นที่ไปตรวจสอบในเร็วๆ นี้ ทำให้ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้านต้องเร่งดำเนินการ

แหล่งข่าวจากวงในคนหนึ่งกล่าวว่า เรื่องนี้ ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะ ต.แม่วะหลวงเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่ครอบคลุมทั้งอำเภอ เป็นโครงการที่นายอำเภอต้องการทวงพื้นที่ แต่ไม่ปลูกในพื้นที่โล่ง หรือป่าเขา  กลับปลูกในพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน โดยให้แต่ละหมู่บ้านไปหาพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ใกล้ถนน มองเห็นได้ชัด และเรียกว่า สวมรองเท้าให้ดอย สวมหมวกให้ภูเขา โดยใช้งบโครงการไทยนิยมยั่งยืน 200,000 บาทที่รัฐบาลให้มาผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่ง  เปิดเผยว่า นายอำเภอได้ชี้แจงในที่ประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้านว่า จะให้ทุกหมู่บ้านในพื้นที่ อ.ท่าสองยาง ปลูกต้นไม้ไผ่เพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพ โดยอำเภอได้จัดต้นกล้าให้หมู่บ้านละ 3,000 ต้น กำหนดพื้นที่ปลูกอย่างน้อยหมู่บ้านละ 50 ไร่ ขึ้นไป และให้เหตุผลว่า ในระยะยาวชาวบ้านจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

“ในวันดังกล่าว ยังได้นำวิทยากรจากที่อื่นมาพูดถึงประโยชน์ของไม้ไผ่อีกด้วย แต่มีเงื่อนไขว่าพื้นที่ที่ปลูกไปแล้วนั้นให้เป็นของชุมชน ให้เจ้าของที่ดูแลรักษาไว้ และสามารถตัดไปใช้ประโยชน์ได้ แต่ห้ามแผ้วถางทำประโยชน์อย่างอื่น พอถึงตอนจะลงมือปฏิบัติ ปลูกป่าไม้ไผ่จริงๆ ชาวบ้านก็กล่าวหาผู้ใหญ่บ้านว่ายึดที่ทำกินของเขาไปให้อำเภอปลูกป่า ถึงตอนนี้จะปลูกเสร็จไปหลายหมู่บ้านแล้ว หากก็มาพร้อมกับความขัดแย้งในหมู่บ้านอย่างรุนแรง” ผู้ใหญ่บ้านคนเดิม กล่าวทั้งนี้ โครงการมีผลกระทบต่อชาวบ้านทั้งอำเภอ ซึ่งมีทั้งหมด 6 ตำบล 67 หมู่บ้าน ชาวบ้านในท้องที่ตำบลแม่วะหลวง จึงได้เริ่มปรึกษาหารือกัน เพื่อแก้ไขปัญหาและขอความชัดเจนจากทางอำเภอ หากการปลูกป่าทับที่ครั้งนี้เป็นการยึดที่ดินทำกิน ก็จำเป็นต้องดำเนินการร้องเรียนไปยังรัฐบาลต่อไป เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลได้ประกาศนโยบายแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้แก่ราษฎรไปแล้ว โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน ต่อมาเมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา ทางสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ จ.ตาก ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการ จ.ตาก ขอให้ดำเนินตรวจสอบกรณีดังกล่าวนี้ และดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบหนัก โดยเฉพาะหมู่บ้านที่เป็นสมาชิก สกน. ในท้องที่ ต.แม่วะหลวง อ.ท่าสองยาง รวมทั้งให้ทางอำเภอท่าสองยาง ทำหนังสือและลงพื้นที่ชี้แจงรายละเอียดโครงการให้ชาวบ้านได้รับทราบ อย่างชัดเจนใน 4 ประเด็น คือ 1. พื้นที่เป้าหมายปลูกป่านั้น ได้ทำการตรวจยึดตามกฎหมายหรือไม่ 2. เจ้าของที่ดินสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ดังเดิมได้หรือไม่  3. กรณีเจ้าของที่ดินไม่ได้ยินยอมให้ปลูก แต่ได้ดำเนินการไปแล้ว จะแก้ไขปัญหาอย่างไร 4. จะดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาที่ดินของรัฐบาล (คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ – คทช.) โดยภาพรวมอย่างไร

You may also like

“ส.ว.ก๊อง”ลั่นลงสมัครป้องกันแชมป์สมัยหน้าในนามพรรคเพื่อไทย แย้มครั้งนี้ “ทักษิณ” ขอเป็นผู้ช่วยหาเสียง พร้อมลงพื้นที่ 25 อำเภอ

จำนวนผู้