ศูนย์FIN มช.ติดปีกสินค้าอาหารภาคเหนือทะยานสู่ AEC จัดงาน“OTOP Food Inno Biz”มุ่งเป้าตลาดผู้สูงอายุ

ศูนย์FIN มช.ติดปีกสินค้าอาหารภาคเหนือทะยานสู่ AEC จัดงาน“OTOP Food Inno Biz”มุ่งเป้าตลาดผู้สูงอายุ

ศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ ติดปีกสินค้าอาหารภาคเหนือทะยานสู่สากล จัดงาน“OTOP Food Inno Biz” เพื่อจัดแสดงและจำหน่ายสินค้านวัตกรรมด้านอาหารจากผู้ประกอบการ พร้อมจับคู่ธุรกิจกลุ่มสินค้าโอทอปเพื่อตลาดผู้สูงอายุ AEC

เมื่อวันที่ 6 ก.ค.62 ที่ศูนย์การค้าวันนิมมานเชียงใหม่ นายวิรุฬ พรรณเทวี รองผวจ.เชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “OTOP Food Inno Biz”ซึ่งศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(FIN)จัดขึ้นโดยมีศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่,ผศ.ดร.ยุทธนา พิมลศิริผล ผอ.ศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ภาครัฐและเอกชนและผู้สนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

ผศ.ดร.ยุทธนา พิมลศิริผล ผอ.ศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ มช.กล่าวว่า การจัดงานแสดงสินค้า“OTOP Food Inno Biz”เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการพัฒนาและจับคู่ธุรกิจสำหรับกลุ่มโอทอปภาคเหนือเพื่อตลาดอาหารผู้สูงอายุ AEC ซึ่งสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ มช.เป็นผู้ดำเนินการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการผลิตสินค้าโอทอปในภาคเหนือครอบคลุม 17 จังหวัด และพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตซึ่งเลือกใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่เหมาะสมตามศักยภาพของผู้ผลิตให้ได้ผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้สูงอายุที่ตรงกับความต้องการของตลาด รวมถึงช่วยพัฒนาทักษะการบริหารจัดการภายในองค์กรและส่งเสริมให้เกิดการจับคู่ทางธุรกิจกับคู่ค้าในประเทศกลุ่ม AEC

เนื่องจากในปัจจุบันประเทศไทยก้าวจากสังคมผู้สูงอายุเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2565  จะมีประชากรผู้สูงอายุถึง 13 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ดังนั้นผู้บริโภคกลุ่มผู้สูงอายุจึงเป็นกลุ่มเป้าหมายกลุ่มใหญ่ที่มีจำนวนและอำนาจการซื้อไม่ต่างจากผู้บริโภคกลุ่มอื่นๆ ประกอบกับในพื้นที่ภาคเหนือของไทยเป็นแหล่งผลิตภัณฑ์อาหารหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์หรือโอทอปที่สำคัญของประเทศ เป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ สอดรับกับในปัจจุบันที่ประเทศไทยได้ร่วมเป็นสมาชิกของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC การทำการตลาดในประเทศกลุ่มนี้จึงเป็นตลาดที่เหมาะสมในการส่งเสริมการจำหน่ายสินค้า

ผอ.ศูนย์นวัตกรรมอาหารฯ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ มช.ได้ดำเนินโครงการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ซึ่งมีผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนาภายใต้โครงการรวม 54 สถานประกอบการจึงได้จัดกิจกรรมงานแสดงสินค้า“OTOP Food Inno Biz”ขึ้นระหว่างวันที่ 5-7 กรกฎาคม 2562 เพื่อเป็นการส่งเสริมการขาย เพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าและสร้างกิจกรรมจับคู่ธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ

ทางด้านศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดี มช.กล่าวว่า มช.ได้วางยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยในระยะ 4 ปี(พ.ศ.2562-2565)ที่เน้นเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยยุทธศาสตร์นวัตกรรมด้านอาหารและสุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุเป็น 1 ใน 3 ของยุทธศาสตร์เชิงรุกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เน้นการนำองค์ความรู้และนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยไปประยุกต์ใช้เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์หรือโอทอป เป็นสินค้าที่เน้นการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้เป็นสินค้าที่มีความหลากหลาย แต่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น ส่วนใหญ่ผลิตโดยแรงงานในชุมชนส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่นและมีผลระยะยาวต่อการพัฒนาประเทศ

“ในปีงบประมาณ 2562 มช.ได้รับงบประมาณจากสำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการขับเคลื่อนโครงการ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์โดยการดำเนินงานเน้นให้หน่วยงานในมช.ดำเนินการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและกลุ่มอุตสาหกรรมเครือข่ายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์โอทอปให้มีมาตรฐาน โดยนำนวัตกรรมมาสร้างความแตกต่างและเพิ่มมูลค่าให้สินค้า ประยุกต์ใช้องค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยมาต่อยอดและถ่ายทอดสู่ชุมชนผ่านหน่วยงานต่างๆ อย่างกรณีของศูนย์นวัตกรรมอาหารฯก็เช่นเดียวกันที่จะเป็นส่วนช่วยในการพัฒนาชุมชนร่วมผลักดันสินค้าโอทอปให้เป็นที่รู้จัก สร้างโอกาสทางการตลาด ก่อให้เกิดการลงทุนและพัฒนาเศรษฐกิจในส่วนภูมิภาคเกิดการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้น เกิดประโยชน์เพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน”อธิการบดีมช.กล่าว

ขณะที่นายวิรุฬ พรรณเทวี รองผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า โครงการโอทอปเกิดขึ้นในปี 2544 เป้าหมายคือยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนให้ดีขึ้นโดยการผลิตหรือจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้กลายเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มีจุดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของตนเองให้จำหน่วยได้ทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ สำหรับประเทศไทยมีจุดแข็งคือเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งในเอเชีย มีความโดดเด่นทางวัฒนธรรม ทำให้อัตราการเติบโตของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมาไทยสูงขึ้น สินค้าเชิงสัญลักษณ์หรืออัตลักษณ์ของไทยจึงเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง

พื้นที่ภาคเหนือของไทยมีภูมิประเทศที่เหมาะกับการเป็นแหล่งส่งออกสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน สินค้าโอทอปกลุ่มอาหารที่นิยมผลิตส่วนใหญ่เป็นอาหารและเครื่องดื่มทั่วไป ยังไม่มีการพัฒนาสินค้าโอทอปเพื่อกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคต ดังนั้นการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตสินค้าโอทอปในภาคเหนือที่ศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ มช.เป็นผู้ขับเคลื่อนระบบธุรกิจด้วยฐานความรู้และเทคโนโลยี โดยเน้นพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ เสริมสร้างความเข้มแข็งด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์โดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี พร้อมทั้งสร้างโอกาสการขายด้วยการเชื่อมโยงตลาด รวมไปถึงการเจรจาจับคู่ทางธุรกิจกับผู้นำเข้าส่งออกสินค้าในประเทศกลุ่ม AEC ภายใต้โครงการนี้ จึงเป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการดำเนินธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายสินค้าโอทอป นวัตกรรมในภูมิภาค สร้างพันธมิตรทางธุรกิจและสามารถดำเนินงานขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมความเข้มแข็งของธุรกิจขนาดเล็ก และกลางในภาคเหนือให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนด้วย.

You may also like

ชลประทานยันน้ำพอสำหรับแล้วนี้ แม้นาปรังแม่ออนเสียหายยับเพราะเป็นพื้นที่นอกเขตฯ

จำนวนผู้