“วโรดม”นำทีมแถลงแผนงานชูวิสัยทัศน์”หอฯเข้มแข็งด้วยนวัตกรรมดิจิตอลเชื่อมโยงสมาชิกมุ่งตลาดการค้าตปท.

“วโรดม”นำทีมแถลงแผนงานชูวิสัยทัศน์”หอฯเข้มแข็งด้วยนวัตกรรมดิจิตอลเชื่อมโยงสมาชิกมุ่งตลาดการค้าตปท.

หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่จัดพิธีสถาปนา “วโรดม”พร้อมกรรมการชุดใหม่แถลงแผนและนโยบาย ชูวิสัยทัศน์ “หอการค้าฯ เข้มแข็งด้วยนวัตกรรมดิจิตอล เชื่อมโยงสมาชิกและองค์กรพันธมิตร มุ่งตลาดการค้าต่างประเทศ”ขณะที่รองปธ.หอการค้าไทยเผยให้หอฯเชียงใหม่เป็นหัวเรือขับเคลื่อนแก้ปัญหาหมอกควันดันกม.สะอาด เร่งรัดสนามบินแห่งที่ 2 ขยายถนนเชื่อมกลุ่มจังหวัด เพิ่มศักยภาพด่านการค้าชายแดนและคอสเมติกส์วัลเล่ย์

เมื่อค่ำวันที่ 27 มิ.ย.62 ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติคุ้มคำ หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ได้จัดงานสถาปนาคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ สมัยที่ 22 ประจำปี 2562-2563  เพื่อแนะนำคณะกรรมการ พร้อมแถลงแผนงาน-นโยบาย ในช่วงการบริหารงาน โดยมีนายวโรดม  ปิฏกานนท์ นั่งตำแหน่งประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งงานดังกล่าวมีนายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผวจ.เชียงใหม่พร้อมด้วยนายวิรุฬ พรรณเทวี รองผวจ.เชียงใหม่,นายมนัส ขันใส รองผวจ.เชียงใหม่และนายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผวจ.เชียงใหม่,นายวิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชติ รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ที่ปรึกษา ตัวแทนกงสุลต่างประเทศ หัวหน้าหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมจำนวนมาก

นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่และคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ ซึ่งตนถือว่าเป็นผู้บริหารภาคเอกชนที่มีความสามารถและประสบความสำเร็จในธุรกิจการงานของตนเองจึงพร้อมอาสาที่จะทำงานเป็นตัวแทนของมวลสมาชิกในการสนับสนุนและพัฒนาเศรษฐกิจโดยส่วนรวมของจังหวัด ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่ทำงานใกล้ชิดร่วมกับจังหวัดในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจการค้ามาโดยตลอด

ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวอีกว่า จากการติดตามผลดำเนินงานตลอดระยะเวลาที่ผ่แก้ปัานมาและที่ทำงานร่วมกัน จะเห็นว่าหอการค้าฯได้สร้างสรรค์กิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงมีส่วนในการผลักดันนโยบายสาธารณะเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจทั้งในระดับจังหวัด ประเทศและระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่องจังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองขนาดใหญ่ มี สภาพปัญหาหลายด้าน หลายมิติที่เชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออกประกอบกับเชียงใหม่เป็นเมืองประวัติศาสตร์ การพัฒนาใดๆ จึงต้องมีการผสมผสานให้มีความสอดรับกับสภาพเมืองได้อย่างกลมกลืนด้วย ซึ่งตนขอชื่นชมยินดีกับผู้บริหารหอการค้าทุกยุค ทุกสมัยที่ผ่านมาที่มีส่วนสร้างสรรค์และพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดและประเทศตลอดระยะเวลา 42 ปีที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง

ด้านนายวิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชติ รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ในฐานะที่เป็น องค์กรหนึ่งของภาคเอกชนที่แสดงบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานอันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมมาสู่ท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องในระยะเวลา 42 ปีที่ผ่านมา   นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาความเข็มแข็งขององค์กรให้เป็นที่ยอมรับของทั้งมวลสมาชิก ภาครัฐ ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ส่งผลให้หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ได้รับรางวัลหอการค้ายอดเยี่ยม และรางวัลรณรงค์เพิ่มสมาชิกอันดับต้นๆ ของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง นับเป็นความสำเร็จที่พิสูจน์ถึงผลงาน ความตั้งใจของหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ที่น่าภูมิใจเป็นอย่างยิ่งและเป็นเกียรติประวัติของคณะกรรมการ เจ้าหน้าที่และผู้มีส่วนร่วมทุกฝ่าย

อย่างไรก็ตามความท้าทายในสมัยการบริหารนี้ จากการประชุมใหญ่หอการค้า 5 ภาคประจำปี 2562 ล่าสุดมีประเด็นที่หอการค้าฯจะได้นำเสนอรัฐบาลดำเนินการในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งทางหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่คือหัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อนสำคัญ ได้แก่1.มาตรการลดปัญหาหมอกควันจากไฟป่า และออกกฎหมายอากาศสะอาด (Clean Air Act) ถือเป็นปัญหาสำคัญอันดับแรกที่ต้องแก้ไข

2.พัฒนาสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 ให้เร็วขึ้น

3.ขยายถนนหมายเลข 106 เชื่อมกลุ่มหอการค้าจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ซึ่งจะลดความคับคั่งของรถบรรทุกที่จะต้องผ่านจังหวัดลำปางและเชียงใหม่

4.ยกระดับเละเพิ่มศักยภาพด่านการค้าชายแดนจังหวัดเชียงใหม่ บ้านหลักแต่งเพื่อเชื่อมระหว่างจังหวัดเชียงใหม่หรือจังหวัดภาคเหนือกับทางรัฐฉาน ประเทศประเทศเมียนมา   รวมถึงส่งเสริมให้มีการใช้เงินสกลุท้องถิ่น (local currency) ในการทำธุรกรรมที่เขตการค้าชายแดน

5.ส่งเสริม cross border e-Commerce ข้ามแดน

  1. การผลักดันให้เกิด northern cosmetic valley โดยเร็วเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรในพื้นที่

จากนั้นนายวโรดม  ปิฏกานนท์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ได้แถลงแผนงาน-นโยบาย ในช่วงการบริหารงานซึ่งกำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “หอการค้าฯ เข้มแข็งด้วยนวัตกรรมดิจิตอล เชื่อมโยงสมาชิกและองค์กรพันธมิตร มุ่งตลาดการค้าต่างประเทศ” โดยมีพันธกิจ 4 ด้าน ได้แก่  1.)  ส่งเสริมองค์กรหอการค้าฯ ให้เข้มแข็ง  โดยใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมดิจิทัล มาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหารจัดการสู่เป้าหมาย    2.) สานประโยชน์สู่มวลหมู่สมาชิกให้มีความชัดเจน ใกล้ชิด ตอบสนองความต้องการของสมาชิกเป็นหลัก  3.)  ส่งเสริมและฟื้นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจเชียงใหม่  เชื่อมโยงตลาดการค้า การลงทุน และการบริการระหว่างประเทศ (International Trade)   ผลักดันโครงการที่เป็นยุทธศาสตร์เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนจังหวัดเชียงใหม่ในอนาคตที่สำคัญ  ได้แก่   การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในจังหวัดเชียงใหม่เชื่อมโยงทุกภูมิภาคของประเทศ และระหว่างประเทศ และ 4. สนับสนุนร่วมมือองค์กรพันธมิตร   ได้แก่ ภาครัฐ ภาคสถาบัน การศึกษา  ภาคเอกชน-ประชาสังคม และสื่อมวลชน อย่างต่อเนื่อง

“ในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน มีปัจจัยการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและมีผลกระทบสูงต่อทุกภาคส่วนดังนั้นภาคการค้าจะต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว ทันสถานการณ์และรอบคอบ โดยการบริหารงานของหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่สมัยนี้จะเน้นด้านการนำนวัตกรรมดิจิตอลมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของเชียงใหม่ให้เติบโตขึ้น ผ่านยุทธศาสตร์ แผนงานโครงการต่าง ๆ ที่จะทำให้มูลค่ามวลรวมด้านเศรษฐกิจเติบโตถึง 3 แสนล้านบาทภายในปี 2565”

ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวต่อไปอีกว่า คณะกรรมการฯ ได้เห็นพ้องร่วมกันในการกำหนดนโยบายที่สำคัญดังนี้ คือ

นโยบายที่ 1  มุ่งมั่นส่งเสริมองค์กรหอการค้าฯ ให้เข้มแข็ง โดยการพัฒนาศักยภาพขององค์กรในภาพรวมในระดับคณะกรรมการ และสำนักงานเลขาธิการหอการค้า โดยใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมดิจิตอล มาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหารจัดการสู่เป้าหมาย

นโยบายที่ 2  สานประโยชน์สู่มวลหมู่สมาชิกให้มีความชัดเจน ใกล้ชิด ตอบสนองความต้องการของสมาชิกเป็นหลัก  ได้แก่ การสนับสนุนให้สมาชิกรวมตัวเป็นเครือข่ายความร่วมมือ (Cluster) ในแต่ละวิสาหกิจของภาคธุรกิจในจังหวัด   เพิ่มจำนวนสมาชิกหอการค้าฯ ให้มีความหลากกลายประเภทธุรกิจ และครอบคลุมทุกพื้นที่   ของจังหวัดเชียงใหม่  สร้างศูนย์ข้อมูลเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ เพื่อเป็นการสร้างสมองค์ความรู้ และแบ่งปันสู่ทุกภาคส่วนของธุรกิจ อย่างเป็นระบบ (Knowledge Sharing)   ตลอดจนการส่งเสริมให้ความรู้ให้เกิดช่องทางการตลาด และการเงินใหม่ (Fintech) ให้กับสมาชิก ภายใต้แนวโน้มใหม่ทางเทคโนโลยีด้านการเงิน  ผ่านระบบออนไลน์ –ดิจิตอล (E-Commerce) หรือ Block Chain เป็นต้น

นโยบายที่ 3   ส่งเสริมและฟื้นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจเชียงใหม่  เชื่อมโยงตลาดการค้า การลงทุน และการบริการระหว่างประเทศ (International Trade)   ที่สำคัญคือการฟื้นความสัมพันธ์กับเมืองคู่มิตรที่สำคัญของหอการค้าฯ และจังหวัดเชียงใหม่เพื่อเป็นการฟื้นฟู และเชื่อมโยงสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจสำคัญที่เป็นรูปธรรมให้ก้าวสู่การค้าสากล

“หอการค้าฯจะร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ ในการฟื้นการเชื่อมโยงกับต่างประเทศ ที่เรามีสัมพันธภาพที่ดีกับสถานกงสุลใหญ่ และกงสุลกิตติมศักดิ์ในพื้นที่เป็นอย่างดี ซึ่งสามารถต่อยอดในการเปิดตลาด ทั้งด้านการค้า การท่องเที่ยวได้  เช่น ประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ เมืองยูโอชุ เมืองฮอกไกโด เมืองไซตามะ เป็นต้น , จีน ได้แก่ ชิงเต่า เฉินตู เซี่ยงไฮ้ คุนหมิง เป็นต้น, สหรัฐอเมริกา  เมืองซานราฟาเอล มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ,ประเทศเกาหลี  ,มลรัฐโตรอนโต แคนาดา  ,.จังหวัดย็อกยาการ์ต้า อินโดนีเซีย ,เชียงตุงของพม่า, และ  เมืองบูร์ซา สาธารณรัฐตุรกี เป็นต้น ไม่รวมกับประเทศที่หอการค้าฯ ได้ไปลงนามได้แก่   เมืองลียง (ฝรั่งเศส), จิตตะกอง (บังคลาเทศ), เขตปกครองสิบสองปันนา, CCPIT ของมณฑลยูนนาน, มณฑลเสฉวน, เมืองหนานหนิง เขตปกครองตนเองกวางสี, ชิงเต่า มณฑลซานตง (สาธารณรัฐประชาชนจีน), มณฑลซีอาน, มณฑลหนิงเซียะ สป.จีน , สหภาพเมียนมา ได้แก่ เชียงตุง ตองยี มัณฑะเลย์ และท่าขี้เหล็ก , ประเทศญี่ปุ่นได้แก่ โอซาก้า  หอการค้าโอบิฮิโร่ ล่าสุดคือเมืองผานโจว์ มณฑลกุ้ยโจว เป็นต้น”

นอกจากนั้นหอการค้าฯจะผลักดันโครงการที่เป็นยุทธศาสตร์เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนจังหวัดเชียงใหม่ในอนาคตที่สำคัญ  ได้แก่  ยุทธศาสตร์การเป็นนครแห่งการดูแลสุขภาพ (Wellness City) และ Long Stay-Retirement Tourism ได้แก่ โครงการเวชนคร (Medicopolis) เป็นต้น  โครงการ Smart City,  โครงการเชียงใหม่แฟร์เทรด, โครงการ MICE City , การผลักดันพื้นที่เชียงใหม่เป็นมรดกโลกในโซนที่เหมาะสม (World Heritage City), การเป็นเมืองการศึกษา (University Town-Education Hub) การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในจังหวัดเชียงใหม่เชื่อมโยงทุกภูมิภาคของประเทศ และระหว่างประเทศ  รวมถึงการทำบทบาทเป็นองค์กรชี้นำการพัฒนาเศรษฐกิจเชียงใหม่ในระยะยาวผ่านการใช้เครื่องมือทางด้านเศรษฐกิจอนาคต  โดยริเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจเชียงใหม่ระยะ 20 ปี  Chiang Mai Economic Future Plan 2040

นโยบายที่ 4 สนับสนุนร่วมมือองค์กรพันธมิตร   ได้แก่ ภาครัฐ ภาคสถาบัน การศึกษา  ภาคเอกชน-ประชาสังคม และสื่อมวลชน อย่างต่อเนื่องโดย การเป็นที่ปรึกษาทางด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้คำปรึกษาและสนับสนุนการทำงานร่วมกันในการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะบทบาทต่อประเด็นปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและสังคม ได้แก่ การติดตามแก้ไขปัญหาหมอกควันในเชียงใหม่ที่เป็นวิกฤติของเมืองผ่านกลไกความร่วมมือทุกภาคส่วน  และการมีส่วนร่วมสนับสนุนผลักดัน กฎบัตรเชียงใหม่ (Chiang Mai Charter) ที่จะยกระดับจังหวัดเชียงใหม่เป็นการท่องเที่ยวนิเวศโลก

นายวโรดม กล่าวด้วยว่า แผนงานนโยบายที่หอการค้าฯ ได้วางไว้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการสนับสนุน และความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง   ทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน ตลอดจนสื่อมวลชนทุกแขนง จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหอการค้าฯจะได้เป็นกลไกขับเคลื่อนองค์กรเอกชน เพื่อที่เราจะได้ร่วมมือกันสร้างประโยชน์ และความเจริญให้กับจังหวัด และประเทศชาติโดยรวมต่อไป.

You may also like

ชลประทานยันน้ำพอสำหรับแล้วนี้ แม้นาปรังแม่ออนเสียหายยับเพราะเป็นพื้นที่นอกเขตฯ

จำนวนผู้