รำลึก 2 ทศวรรษ“จรัล มโนเพ็ชร” “ราชาโฟล์คซองคำเมือง”

รำลึก 2 ทศวรรษ“จรัล มโนเพ็ชร” “ราชาโฟล์คซองคำเมือง”

สกู๊ปพิเศษ

ระดมทุนสร้างอนุสาวรีย์ “จรัล มโนเพ็ชร”

“ราชาโฟล์คซองคำเมือง”รำลึก 2 ทศวรรษของการจากไป

เป็นเวลาเกือบ 20 ปีแล้วที่ “ราชาโฟล์คซองคำเมือง” จรัล มโนเพ็ชร นักร้อง นักดนตรี นักแต่งเพลง และนักแสดงชาวล้านนาที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคสมัย ได้ลาโลกอย่างกะทันหันด้วยอาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันเมื่อวันที่ 3 ก.ย.2544 ข่าวการสูญเสียในครั้งนั้นทำให้คนไทยหลายคนช็อค เสียใจและเสียดาย

เมื่อไม่นานมานี้ภาคประชาสังคมในภาคเหนือได้มีการรวมตัวกัน พร้อมกับตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดงาน “จรัลรำลึก”ในโอกาสครบรอบ 20 ปีหรือ 2 ทศวรรษของการจากไปของจรัล มโนเพ็ชร

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ธเนศวร์ เจริญเมือง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่า ได้มีการรวมกลุ่มกันทั้งรศ.วสันต์ จอมภักดี ประธานคณะกรรมการประสานงานอนุรักษ์แม่ปิงและสิ่งแวดล้อมและอาจารย์แสวง มาละแซมนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นตั้งคณะกรรมการจรัลรำลึกเพื่อที่จะระดมทุนสร้างอนุสาวรีย์จรัล มโนเพ็ชรขึ้นมา เพื่อรำลึกถึงปูชนียบุคคลที่สร้างผลงานทางวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น และเป็นการเชิดชูผลงานทั้งบทกวี บทเพลง เพลงประกอบละครและผลงานการแสดงเพื่อให้คนไทยได้ประจักษ์ และยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับอนุชนรุ่นหลังด้วย

หลังจากตั้งคณะกรรมการฯและเริ่มกิจกรรมเพื่อที่จะระดมทุนในการสร้างอนุสาวรีย์จรัล มโนเพ็ชรมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีการรายงานยอดเงินบริจาคอย่างต่อเนื่อง แต่การสร้างอนุสาวรีย์ฯนั้นต้องใช้เงินทุนจำนวนไม่น้อย แต่ความพยายามของคณะกรรมการฯก็ไม่เคยท้อถอย ด้วยความมุ่งมั่น มุ่งหวังว่า น้ำใจจากคนไทย จากมวลมหามิตรที่เคยชื่นชอบและรับรู้ว่าจรัล มโนเพ็ชร เป็นศิลปินล้านนาที่สร้างผลงานทางวัฒนธรรมท้องถิ่นคนหนึ่ง ซึ่งควรให้อนุชนรุ่นหลังได้รู้จักและไม่อายที่จะรักษารากเหง้าทางวัฒนธรรมท้องถิ่น ทั้งภาษาพูด การแต่งกายที่จรัล มโนเพ็ชรได้ทำให้คนไทยทั้งประเทศได้ประจักษ์ แล้วมาร่วมกันทำให้บรรลุเป้าหมาย

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ธเนศวร์ เจริญเมือง ชี้แจงถึงเหตุผลว่าทำไมต้องสร้างอนุสาวรีย์ให้จรัล มโนเพ็ชร ว่า เพราะจรัลเป็นศิลปินที่เก่งที่สุดในล้านนา ในรอบกึ่งศตวรรษที่ผ่านมา และมีผลงานสำคัญมากมายให้แก่ล้านนาและสังคมไทย เขาเขียนและร้องเพลง 200 กว่าชิ้น ในจำนวน 20 กว่าอัลบั้ม ในช่วงปี 2520-2544 หรือ 24 ปีแห่งการสร้างสรรค์

ผลงานเพลงของจรัลได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางและยังคงร้องกันมากแม้ 20 ปีเศษผ่านไป เช่น อุ๊ยคำ ล่องแม่ปิง พี่สาวครับ สาวเชียงใหม่ สาวโรงบ่ม แม่ก๊าป๋าจ่อม ลุงต๋าคำ สาวมอเตอร์ไซค์ น้อยไจยา ของกิ๋นคนเมือง 1-2 มิดะ ตากับหลาน เสเลเมา ผักกาดจอ ลืมอ้ายแล้วกา คนสึ่งตึง แด่หนุ่มสาวผู้ร้าวราน แม่วัง ดอกไม้เมือง ฟ้าใสใส บ้านบนดอย ศิลปินป่า คิดถึงบ้าน เพื่อน รางวัลแด่คนช่างฝัน ให้ฉันฝันต่อ ลมเหนือ ฯลฯ

“เคยฟังเพลง “ซึงสุดท้าย” ไหมครับ ผมคิดว่ามันสะท้อนตัวตนอ้ายจรัลได้อย่างเฉียบขาด ทั้งไพเราะ เศร้า และลึกซึ้งกินใจ บ่งบอกความรัก-อาลัยอันลึกซึ้งต่อแผ่นดินอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของเขา”ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ธเนศวร์ กล่าวและว่า

งานเพลงของเขาหลากหลาย สะท้อนชีวิตผู้คน อาชีพ ชาติพันธุ์ และสังคมไทยหลายๆ ด้าน เขาพูดถึงสตรีเหนือที่ทระนง ภูมิใจในศักดิ์ศรี เพื่อตอบโต้การดูถูกเหยียดหยามสาวเหนือในอดีต; “อุ๊ยคำ” ที่อยู่เดียวดาย หลานที่ถูกรถชนหน้าโรงเรียนต่อหน้าคุณตา; “มิดะ” (อันลือลั่น); “ผักกาดจอ-ปี้สาวคับ” ที่แสนสนุก; “หมะเมียะ” ที่สุดแสนรันทด; “ศิลปินป่า-ฟ้าใสใส-บ้านบนดอย-รักสับสน- อาขยานล้านนา” ที่ให้ปรัชญาชีวิต; เขาปกป้องแม่น้ำวังและแม่น้ำปิง; เขาเชิดชู”ของกิ๋นคนเมือง” ที่ข้อมูลอาหารอัดแน่น เขาเศร้าใจที่ผู้คนวันนี้ละเลยอาหารเมืองและหันไปหา “กับข้าวเมืองนอก”

จรัลจึงไม่ใช่ศิลปินธรรมดา เขาเขียน แต่ง ร้อง เดินทาง ซักถาม ค้นคว้า บันทึก โฆษณา และขับขานไม่หยุดยั้ง เพลงที่เขาแต่งและร้องจึงเป็นเพลงของนักสู้เพื่อชีวิต คือจิตวิญญาณของคนเมือง-คนล้านนา, คือการหวนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ คือการออกมาปกป้องป่าเขา-แมกไม้-สายน้ำ- จิตวิญญาณท้องถิ่น, เขาคือล้านนาคดี, คือปรัชญาอันคมคายสำหรับชีวิต, และคือการให้ความหวังของการมีชีวิตของทุกๆคนให้อยู่ต่อไป อยู่อย่างมีจุดหมาย อยู่อย่างมีความหวัง หวังที่งดงาม ฯลฯ

เพลงจำนวนมากของจรัลเป็นบทกวี ภาษาไพเราะ และคมคายมาก ทั้งซ่อนกลวิธีการนำเสนอ อ่านแล้วต้องคิด ต้องตีความ อ. บฤงคพ วรอุไร ครูดนตรีมือฉกาจแห่งม. พายัพ พูดในเวทีเสวนาว่าอ้ายจรัลลึกซึ้งจนบางคนคิดได้ 2 ปีให้หลังว่า เฮ้ย นี่จรัลมันด่าฮานี่นา  เพลงของจรัล ฟังเข้าใจง่าย ทำนองง่าย ติดหู ไพเราะ สะเทือนใจ ให้พลังใจ สร้างความหวัง เร้าอารมณ์ ทั้งให้ไปคิดต่อเพราะหลายเพลงลึกซึ้งมาก จรัลสร้างสรรค์หลายเพลงด้วยเครื่องดนตรีหลายๆ อย่าง เขาผสมผสานเครื่องดนตรีพื้นเมืองของล้านนา- สยาม-ตะวันตก เขาเป็นนักอนุรักษ์และพร้อมนำเอาสิ่งใหม่ที่เข้ามาเพื่อปรับใช้ให้เป็นประโยชน์สูงสุด และ เขาเป็นศิลปินรอบด้านมากๆ เล่นละคร และหนังหลายเรื่อง เล่นได้ดีมากจนคว้ารางวัลมากมาย

จรัล มโนเพ็ชร เขาพูดภาษาเหนือทุกครั้งที่ออกงานแสดง เขาทำให้คนเมืองภาคภูมิใจในความเป็นคนท้องถิ่น ภูมิใจในศิลปินวัฒนธรรมทุกแขนงของท้องถิ่น และไม่ว่าภาคใด เขาชี้ให้เห็นว่าท้องถิ่นที่แข็งแกร่ง-งดงามคือรากฐานสำคัญยิ่งของประเทศ คือคำตอบสำคัญของแนวทางการพัฒนาประเทศ จรัลระดมศิลปินยอดฝีมือจากทุกๆจั งหวัดในล้านนา ช่างซอ ช่างปี่ช่างสะล้อ -ซึง -ฆ้อง กลอง มาแสดงร่วมกัน ส่งเสริมพวกเขาให้ได้แสดงฝีมือ เขาส่งเสริมเยาวชนมาเล่นดนตรี แสดงละครพื้นบ้าน เขาให้ทุนการศึกษาแก่เยาวชน ที่เก่งดนตรีและศิลปะแต่ขาดโอกาสในการศึกษาต่อ และจรัลยังเป็นคนที่ทำงานเพื่อสังคม หลายๆ ครั้งเขาจัดงานหาเงินช่วยเหลือโรงเรียนเก่า และหลายหน่วยงานที่ขาดแคลน

“ อ้ายจรัลเป็นคนดี หน้าตาดี นิสัยดี เสียงดี เล่นดนตรีเก่งมากหลายชนิด แต่งเพลงเก่ง อ่านมาก รู้มาก เดินทางมาก ศึกษามาก ที่สำคัญเขาเกิดมาเพื่อแผ่นดิน เพื่อสังคม เพราะเขาดีมากๆ และทุ่มเทมากๆ งานจึงหลั่งไหลท่วมท้น ใครๆ ก้อมาหา มาขอ เขาก็ให้ๆๆๆ จึงเป็นบทเรียนที่ล้ำค่าให้คนรุ่นหลัง ทุ่มเททำงาน คิดถึงส่วนรวม หมั่นยกระดับตัวเอง รักท้องถิ่น เห็นการเปลี่ยนแปลง เห็นอนิจจลักษณะของสรรพสิ่ง และที่สำคัญ มากๆ คือ จะต้องหมั่นดูแลตัวเองให้ดี”ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ธเนศวร์ กล่าวและอธิบายอีกว่า

จรัลมีความหวัง เขาอยากเห็นชีวิตของผู้คนที่มีคุณภาพ ไม่ต้องมาลำบาก ถูกทอดทิ้ง เขาอยากเห็นสังคมที่เปนธรรม สังคมที่แม้จะแตกต่างกันเพราะปัจจัยต่างๆ แต่ก็รักและเคารพกันในความหลากหลายและแตกต่างเหล่านั้น เขาต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี แต่ละท้องถิ่นได้รับความเคารพ- ดูแล พัฒนาและส่งเสริม ศิลปะทุกแขนงได้รับการเคารพนับถือและส่งเสริม. เขาฝันและลงมือหาเงินมาสร้างหอศิลปวัฒนธรรม ที่ลำพูน ตั้งชื่อว่า “หอศิลป์สล่าเลือง”และเพราะเขาทำงานหนักแบบครอบคลุมทุกๆ มิติ ดีต่อทุกๆ คน ใครขออะไร ก้อไปทำให้ -ไปร่วม เขาทำงานหนักมาก เดินทางตลอดเวลา พักผ่อนน้อย เขาจึงล้มและจากไปด้วยวัยเพียง 50 ปี (3 กันยายน 2544) และใครจะเชื่อ.. จนบัดนี้ 19 ปีผ่านไป ก็ยังไม่มีศิลปินท่านใดแทนเขาได้ และก็ยังไม่มีข่าวว่าใครหรือหน่วยงานใดคิดจะสร้างอะไรที่เป็นที่ระลึกให้แก่เขา หรือเผยแพร่ผลงานอันยิ่งใหญ่ของเขาให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเป็นแบบอย่าง ตราบจนกระทั่งบัดนี้

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ธเนศวร์ กล่าวย้ำว่า วัตถุประสงค์ของทีมจรัลรำลึกคือ 1. รณรงค์ให้เกิดความรักและศรัทธาต่อท้องถิ่นล้านนาและท้องถิ่นทุกแห่งทั่วประเทศ 2. ระดมทุนสร้างสาวรีย์อ้ายจรัล และ 3. ผลักดันให้การศึกษาของรัฐทุกระดับหันมาใส่ใจท้องถิ่นศึกษาอย่างจริงจัง ไม่ใช่เอาแต่พูด ไม่ใช่เก่งแต่รวมศูนย์อำนาจไว้นี่เป็นเหตุผลที่คนกลุ่มหนึ่งจึงลุกขึ้นมาระดมทุนคน ละ 5-10-20 บาท ขอเพียงเรามาจับมือกัน ร่วมใจกัน เลขบัญชี ธ. ไทยพาณิชย์ สาขา มช. 667-434-9337 รับผิดชอบโดย อ. 3 คน วสันต์ แสวง-ธเนศวร์ เราขอประกาศว่าจะไม่ถอนเงินนี้แม้แต่บาทเดียว จนกว่าเราจะได้ 5 แสนบาท ทุกอย่างต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ เราจะโชว์ตัวเลขทุกๆ 2 วัน เราตั้งเป้าเพื่อที่จะบรรลุในปีนี้เพื่อจะสร้างสาวรีย์อ้ายจรัลให้เสร็จก่อน 3 กันยายน 2564 คือปีหน้า.

ประวัติโดยย่อ

จรัล มโนเพ็ชร เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2498 เป็นลูกคนที่สองในจำนวนพี่น้องชายหญิงรวม 7 คน เป็นคนย่านประตูเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เป็นลูกของนายสิงห์แก้ว มโนเพ็ชรข้าราชการอยู่ที่แขวงการทางจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนแม่ชื่อ เจ้าต่อมคำ (ณ เชียงใหม่) มโนเพ็ชร สืบเชื้อสายมาจากราชตระกูล ณ เชียงใหม่ ครอบครัวเป็นชนชั้นกลาง มีชีวิตเรียบง่ายสมถะตามแบบวิถีชีวิตชาวเหนือทั่วไป ครอบครัวมโนเพ็ชรเป็นครอบครัวใหญ่ พ่อของจรัลจึงต้องหารายได้พิเศษ จากพรสวรรค์ในด้านงานศิลปะหัตถกรรมท้องถิ่นที่สืบทอดตกมาจากบรรพบุรุษ ทั้งการเขียนรูป และการแกะสลักไม้ ซึ่งอ้ายจรัลเองก็เรียนรู้งานและสามารถช่วยพ่อทำงานได้ตั้งแต่ละอ่อน(วัยเด็ก)

จรัล มโนเพ็ชร  เรียนจบชั้นประถมปีที่ 4 จากโรงเรียนพุทธิโสภณ และจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนเมตตาศึกษา จังหวัดเชียงใหม่ เป็นนักเรียนที่มีประวัติการเรียนดีมากสอบได้ที่ 1 มาตลอด สอบได้ที่ 2 เพียงครั้งเดียว เข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยเทคนิคพายัพ จังหวัดเชียงใหม่

จรัลเริ่มหัดเล่นเปียโนเมื่อเรียนชั้นประถมปีที่ 2 เล่นซึงเมื่อเรียนชั้นประถมปีที่ 3-4 เล่นกีตาร์เมื่อเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-7 ตีขิมได้เมื่อเรียนชั้นมัธยมปีที่ 1 จรัลได้รับความสนับสนุนทั้งจากทางบ้านผลงานเพลงของจรัลที่โด่งดังและได้รับความนิยมมาก คือ “อมตะ 1” เพลงเอกได้แก่ อุ๊ยคำ, ของกิ๋นคนเมือง “อมตะ 2″ เพลงเอกได้แก่ ก้ายง่าว, แอ่วสาว”เสียงซึง ที่สันทราย” เพลงเอกได้แก่ เมืองเหนือ, กลิ่นเอื้องเสียงซึง”จากยอดดอย” เพลงเอกได้แก่ จากยอดดอย, มิดะ”ลูกข้าวนึ่ง” เพลงเอกได้แก่ ตากับหลาน, มะเมียะ”แตกหนุ่ม” เพลงเอกได้แก่ ดอกฝ้าย, บ้าน”อื่อ…จ่า..จ่า” เพลงเอกได้แก่ อื่อ…จ่า..จ่า.”บ้านบนดอย” เพลงเอกได้แก่ ลุงต๋าคำ, ม่อฮ่อม”เอื้องผึ้ง จันผา” เพลงเอกได้แก่ เอื้องผึ้ง จันผา, แม่ค้าปลาจ่อม

ผู้ที่มีใจรักท้องถิ่นและอยากร่วมส่งเสริมการศึกษาท้องถิ่นสามารถร่วมบริจาคเงินทุนเพื่อสร้างอนุสาวรีย์รำลึก จรัล มโนเพ็ชร ที่บัญชี 667-434-9337 ธนาคารไทยพาณิชย์ บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ สาขา ม.ช. ติดตามรายละเอียดของโครงการ และยอดเงินในบัญชีได้ที่เพจ @จรัลรำลึก.

You may also like

“ส.ว.ก๊อง”ลั่นลงสมัครป้องกันแชมป์สมัยหน้าในนามพรรคเพื่อไทย แย้มครั้งนี้ “ทักษิณ” ขอเป็นผู้ช่วยหาเสียง พร้อมลงพื้นที่ 25 อำเภอ

จำนวนผู้