รัฐมนตรีก.ป้องกันความสงบสปป.ลาวและคณะ รุดเยี่ยมศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัยพร้อมให้กำลังใจและชื่นชมเจ้าหน้าที่ไทยทำงานได้ดีมีผลงานมาก

รัฐมนตรีก.ป้องกันความสงบสปป.ลาวและคณะ รุดเยี่ยมศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัยพร้อมให้กำลังใจและชื่นชมเจ้าหน้าที่ไทยทำงานได้ดีมีผลงานมาก

รองรัฐมนตรีก.ป้องกันความสงบสปป.ลาวและคณะ รุดเยี่ยมศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัยพร้อมให้กำลังใจและชื่นชมเจ้าหน้าที่ไทยทำงานได้ดีมีผลงานมาก แจงไม่กังวลต่อสถานการณ์ยาเสพติดทะลักเข้าปท. อ้อนขอเพิ่มการประสานงานแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสารและใช้เทคโนโลยีติดต่อกันได้ตลอด 24 ชม.ขณะที่เลขาป.ป.ส.เผยรัฐบาลอนุมัติแผนปฏิบัติการไทย-พม่าโดยจะเริ่มในเดือนตุลาฯนี้

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2561 ที่ศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัย จังหวัดเชียงใหม่ พล.ต.ดร.สมหวัง ทำมะสิด รองรัฐมนตรีกระทรวงป้องกันความสงบ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พร้อมคณะ เดินทางมาเยี่ยมศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรับฟังสถานการณ์ยาเสพติด ผลการดำเนินงานของ 6 ประเทศ และการบริหารจัดการการเป็นเจ้าภาพของประเทศไทย รวมทั้งเป็นการเตรียมพร้อมที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จะรับเป็นเจ้าภาพการดำเนินงานในห้วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2561 นี้ ซึ่งถือเป็นช่วงสุดท้ายของแผนปฏิบัติการแม่น้ำโขงปลอดภัย 6 ประเทศ ระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ.2559-2561) โดยมีนายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการ ป.ป.ส. พร้อมด้วยผู้บริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ

หลังจากรับฟังการบรรยายสรุปแล้ว พล.ต.ดร.สมหวัง ทำมะสิด รองรัฐมนตรีกระทรวงป้องกันความสงบ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ในปีนี้ทางสปป.ลาวจะเป็นเจ้าภาพและต้อนรับคณะสมาชิก 6 ประเทศ ซึ่งการเดินทางมาครั้งนี้มาให้กำลังใจตามคำเชิญของพลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพราะทราบดีว่าเจ้าหน้าที่ไทยทำงานอย่างเข้มแข็งและทำได้ดีมาตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมา มีผลงานมากมาย อีกทั้งจะได้มีการถอดบทเรียนในการทำงานร่วมกันด้วย

รองรัฐมนตรีกระทรวงป้องกันความสงบ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กล่าวว่า ไม่รู้สึกกังวลใจต่อกรณีที่ยาเสพติดทะลักเข้าไปในสปป.ลาวมากขึ้น ทั้งนี้เพราะปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่พบเหมือนกันทั่วโลก และที่ผ่านมาการประสานงานของสมาชิก 6 ประเทศก็เป็นไปด้วยดี และอยากให้มีการประสานงานให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะเรื่องของข้อมูล ข่าวสาร การนำเทคโนโลยีต่างๆ มาสนับสนุน สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อให้ทันกับกลุ่มผู้ผลิตและนักค้ายาเสพติด จึงต้องมีการเสริมเรื่องเครื่องมือ อุปกรณ์ในการทำงานเพื่อที่จะเอาชนะยาเสพติดให้ได้

“ไทย-ลาวเราคือพี่น้องกัน มาครั้งนี้ไม่ได้มีวาระใดพิเศษแต่มาเพื่อให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เรามีพรหมแดนติดกันและที่ผ่านมาจะเห็นว่าทางการไทยสามารถจับกุมกลุ่มผู้ค้ารายใหญ่ได้ทีละมากๆ”พล.ต.ดร.สมหวัง กล่าว

ขณะที่นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า ในขณะนี้รัฐบาลได้อนุมัติแผนการทำงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเชิงรุกเพิ่มเติมจากแผนแม่น้ำโขงปลอดภัย โดยเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนครม.ได้อนุมัติแผนปฏิบัติการไทย-พม่าซึ่งจะเริ่มดำเนินการในเดือนตุลาคมนี้เป็นความร่วมมือตรงระหว่างประเทศ นอกจากนี้พล.อ.ประจิณ จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมยังได้ให้ยกร่างแผนนี้ให้ใช้กับทางสปป.ลาวด้วย

เลขาธิการป.ป.ส.กล่าวอีกว่า สำหรับการดำเนินงานของศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัยที่ผ่านมามีผลงานที่ดี โดยเฉพาะการสามารถจับกุมและยึดสารตั้งต้นจำนวนมากได้กว่า 1 ล้านตัน แต่ทั้งนี้ก็ยังพบว่ามีการลักลอบนำสารตั้งต้นผลิตยาเสพติดจากจีนและไต้หวันเข้ามาอีกเป็นสารตั้งต้นตัวใหม่ที่เพิ่มจาก 20 ชนิดเดิมที่มีข้อมูลอยู่ นอกจากนี้สิ่งที่จะต้องดำเนินงานเข้มข้นคือการสกัดกั้นในบริเวณรอยต่อพม่ากับลาว ซึ่งพบว่ามีการลำเลียงยาเสพติดผ่านจาก 3 เหลี่ยมทองคำเข้าไปทางพื้นที่ชั้นใน ไปทางอีสานและไปเข้าทางลาวทางฝั่งโน้นซึ่งได้คุยกับทางสปป.ลาวแล้วว่าจะได้มีการเสริมกำลังทหารลาวตามแนวชายแดนให้เข้มข้นขึ้น เพราะที่ผ่านมาทางลาวยังไม่ได้ใช้กำลังทหารเข้ามาดูแลในเรื่องนี้ แต่ทางไทยดำเนินการมาโดยตลอด

นายศิรินทร์ยา ยังกล่าวถึงกรณีที่พบว่ามียาบ้าตัวใหม่ระบาดมากขึ้นและราคาถูกลงว่า แหล่งผลิตยาบ้าหลักๆจะมีของกลุ่มมูเซอซึ่งมีฐานการผลิตติดกับชายแดนไทยและกลุ่มว้าใต้ ซึ่งพบว่าได้มีการผสมสารเสพติดโดยลดเมทแอมเฟตามีนลง ทำให้ราคายาบ้าถูกลงด้วย แล้วนำส่วนผสมอื่นเข้าไปและปั้มตราสัญญลักษณ์แบบใหม่ออกมา ที่พบมากตอนนี้คือของว้าใต้ที่ปั้ม 999 ด้วยเหตุนี้รองนายกรัฐมนตรีจึงได้เน้นย้ำในเรื่องของการสกัดกั้นให้มากยิ่งขึ้น

สำหรับศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัย เกิดขึ้นภายใต้โครงการแม่น้ำโขงปลอดภัย ประกอบด้วยประเทศสมาชิกในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรไทย ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ประเทศสมาชิกทั้ง 6 ประเทศ มีความตระหนักถึงภัยของยาเสพติด จึงได้เห็นพ้องในการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยได้ร่วมกันยกแผนปฏิบัติการแม่น้ำโขงปลอดภัย 6 ประเทศ เป็นกรอบและแนวทางในการดำเนินงาน มีเป้าหมายในการสกัดกั้นสารตั้งต้น เคมีภัณฑ์ และอุปกรณ์การผลิตยาเสพติดไม่ให้ไหลเข้าสู่แหล่งผลิตในสามเหลี่ยมทองคำ และขณะเดียวกันก็สกัดกั้นยาเสพติดที่ผลิตมาจากสามเหลี่ยมทองคำไม่ให้แพร่กระจายสู่ภูมิภาคและภูมิภาคอื่นๆ ของโลก ด้วยการรวมตัวเป็นหนึ่งเดียว ภายใต้คำขวัญ “ONE MISSION ONE GOAL ONE FAMILY”

ในส่วนของการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2559 ที่ผ่านมา ทั้ง 6 ประเทศได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการแม่น้ำโขงปลอดภัยสามารถยึดสารตั้งต้น เคมีภัณฑ์ และอุปกรณ์การผลิตยาเสพติดรวมทั้งยาเสพติดได้เป็นจำนวนมาก ได้แก่  ยึดสารตั้งต้น เคมีภัณฑ์ ได้สูงถึง 1,178 ตัน หากหลุดรอดเข้าไปสู่แหล่งผลิตจะสามารถผลิตเป็นยาบ้าได้ถึง 600 ล้านเม็ด หรือไอซ์ได้ถึง 9.6 ตัน หรือเฮโรอีนได้ถึง 6.5 ตัน ซึ่งนับว่าเป็นการตัดตอนการผลิตได้ส่วนหนึ่ง และสามารถยึดยาเสพติด ได้แก่ ยาบ้า จำนวน 454 ล้านเม็ด ไอซ์น้ำหนัก 17 ตันเฮโรอีนน้ำหนัก 6 ตัน กัญชาน้ำหนัก 34 ตัน รวมทั้งยาเสพติดชนิดใหม่ คีตามีนน้ำหนัก 456 กิโลกรัม

จากผลการดำเนินการดังกล่าวได้ประจักษ์ต่อประชาคมชาวโลก จนได้รับการยกย่อง ในการประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติดของสหประชาชาติ (Commission on Narcotic Drugs :CND) ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย และการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ(UNGASS) ที่กรุงนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมทั้งประเทศที่ได้รับผลกระทบจากยาเสพติดจากสามเหลี่ยมทองคำได้เข้ามาสนับสนุนโครงการแม่น้ำโขงปลอดภัย ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ ประเทศออสเตรเลีย และประเทศนิวซีแลนด์

และในวันที่ 25 สิงหาคม 2561 พล.ต.ดร.สมหวัง ทำมะสิด รองรัฐมนตรีกระทรวงป้องกันความสงบ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวจะเข้าพบปะหารือกับ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของไทย เพื่อหารือเกี่ยวกับการปฏิบัติการแม่น้ำโขงปลอดภัย และความร่วมมือแก้ไขปัญหายาเสพติดระหว่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และราชอาณาจักรไทย โดยเฉพาะการปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามแนวชายแดนของทั้งสองประเทศต่อไป.

You may also like

builds มช. ขนทัพสตาร์ทอัพนักศึกษาคับคั่ง พิสูจน์ความสำเร็จ ตั้งบริษัทจริงระหว่างเรียน

จำนวนผู้