ระดมกำลังทหาร 5 กองร้อยพร้อมจนท.ชลประทาน/ปภ.-เครื่องมือรับน้ำท่วมขังจังหวัดเชียงใหม่เตือน919หมู่บ้านเสี่ยงดินถล่ม

ระดมกำลังทหาร 5 กองร้อยพร้อมจนท.ชลประทาน/ปภ.-เครื่องมือรับน้ำท่วมขังจังหวัดเชียงใหม่เตือน919หมู่บ้านเสี่ยงดินถล่ม

- in headline, จับกระแสสังคม

เชียงใหม่บูรณาการกำลังพล เครื่องมือพร้อมรับสถานการณ์น้ำท่วม ระดมเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้วประจำจุดที่เกิดน้ำท่วมขังขนาดใหญ่ เพื่อบรรเทาและแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด พร้อมระดมกำลังพลทหาร-พนง.ชลประทานขุดลอกเปิดทางน้ำก่อนมรสุมกระหน่ำปลายเดือนนี้ ด้านรองผวจ.เชียงใหม่รับส่งสัญญาณเตือนภัย 919 หมู่บ้านเสี่ยงดินถล่ม สั่งทุกอำเภอจัดหาที่อพยพให้พร้อม

เมื่อเวลา 10.00 น.(25พ.ค.) ที่สนามหน้ากองร้อยมณฑลทหารบกที่ 33 พล.ต. เกษมสุข ตาคำ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 เป็นประธานในพิธีตรวจสภาพความพร้อมของกองร้อยบรรเทาสาธารณภัย ของหน่วยทหารในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยงานอื่นในพื้นที่ประกอบด้วย ชุดบรรเทาสาธารณภัยจาก ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 10 ลำปาง สำนักชลประทานที่ 1 สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ และจากเทศบาลนครเชียงใหม่

ผบ.มทบ.33 กล่าวว่า มทบ.33 ได้จัดตั้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัย มณฑลทหารบกที่ 33 เพื่ออำนวยการ ประสานงาน ควบคุมการปฏิบัติงานต่อหน่วยทหารในพื้นที่ เพื่อให้การสนับสนุนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  และการให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติในพื้นที่รับผิดชอบเมื่อได้รับการร้องขอหรือเมื่อเกิดภัยพิบัติฉุกเฉิน ด้วยการใช้กำลังพลและยุทโธปกรณ์ที่มีอยู่ เข้าดำเนินการอย่างเต็มความสามารถ โดยมีพื้นที่รับผิดชอบคือพื้นที่ทั้งจังหวัดเชียงใหม่

สำหรับขั้นตอนในการปฏิบัติ แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย ขั้นเตรียมการได้มีการเตรียมกำลังพล ยานพาหนะ และเครื่องมือเครื่องใช้ให้พร้อมปฏิบัติงานได้ทันที มีการซักซ้อมการปฏิบัติตามแผนบรรเทาสาธารณภัยร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ขั้นการปฏิบัติ มีการประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ดำเนินการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยในพื้นที่เมื่อได้รับการร้องขอจากประชาชนหรือส่วนราชการของจังหวัด รวมทั้งการอพยพประชาชนไปยังพื้นที่ปลอดภัย การขนส่งเครื่องอุปโภคบริโภคไปแจกจ่ายให้กับผู้ประสบสาธารณภัย การให้การรักษาพยาบาล และแจกจ่ายยารักษาโรค และขั้นตอนที่ 3 เป็นขั้นตอนการฟื้นฟูบูรณะ โดยจะให้การสนับสนุนส่วนราชการของจังหวัด ในการดำเนินการฟื้นฟูบูรณะความเสียหายให้กลับคืนสู่สภาพปกติโดยเร็ว รวมทั้งฟื้นฟูยานพาหนะ เครื่องมือเครื่องใช้ของหน่วยให้กลับคืนสู่สภาพที่สามารถใช้การได้ต่อไป ทั้งในการการจัดกำลังพล ประกอบด้วย มณฑลทหารบกที่ 33 กองพันพัฒนาที่ 3 กองพันสัตว์ต่างกรมการสัตว์ทหารบก กรมรบพิเศษที่ 5 และกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 7 รวม 5 หน่วย

พล.ต.เกษมสุข กล่าวอีกว่า จากประสบการณ์ที่ฝนตกหนักเมื่อวันที่ 19-20 พ.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นการซ้อมใหญ่ในการรับมือน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ เนื่องจากการระบายน้ำของเมืองไม่ทัน เกิดน้ำท่วมขังเป็นจุดๆ เป็นบริเวณกว้าง และทราบจากศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือว่าในช่วงปลายเดือนนี้ คาดว่าจะเกิดฝนตกหนักในพื้นที่จ.เชียงใหม่ได้อีกครั้ง วันนี้จึงได้มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมด้วยกองร้อยบรรเทาสาธารณภัยของหน่วยทหารรวม 5 กองร้อย เพื่อเตรียมการรับมือหากเกิดอุทกภัยในเขตเมืองอีกในช่วงปลายเดือน

“จากการตรวจความพร้อมของแต่ละหน่วยงาน จะมีแผนงานที่รับผิดชอบซึ่งต้องดำเนินการตามกรอบหน้าที่อยู่แล้ว ในส่วนที่ยังติดขัดหรือพื้นที่ตื้นเขินก็ต้องดำเนินการขุดลอกอย่างเช่นที่ มทบ.33 กับ ชลประทานร่วมกันดำเนินการในวันนี้ หลังจากนี้ก็จะมีการระดมดำเนินการแก้ไขในจุดต่างๆ ที่มีปัญหา โดยมีเป้าหมายที่จะเร่งระบายน้ำหรือผลักดันน้ำให้ลงแม่น้ำปิงโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้” ผบ.มทบ.33 กล่าว

ทางด้านนายนายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 1 พร้อมด้วยนายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผอ.โครงการชลประทานเชียงใหม่ได้นำคณะลงตรวจพื้นที่ในการเตรียมรับมือน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ บริเวณให้สะพานป่าแดด ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำที่รับน้ำมาจากบริเวณป่าพร้าวนอก ช้างคลาน โดยสำนักชลประทานที่ 1 ได้นำเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว จำนวน 8 เครื่องไปติดตั้งเพื่อรอรับน้ำที่อาจหลากมาจากพื้นที่เป้าหมาย ต่อจากนั้นได้เดินทางไปตรวจคลองแม่ข่าบริเวณสะพานลอดถนนมหิดลช่วงร้านชาวทุ่งเดิม ซึ่งมีสภาพตื้นเขิน พร้อมกับได้นำเจ้าหน้าที่ทหาร พนักงานจ้างชลประทาน ร่วมกันทำการลอกตะกอนดินออกจากใต้สะพาน เพื่อจะนำเครื่องผลักดันน้ำติดตั้งบริเวณดังกล่าวเพื่อช่วยเร่งผลัดดันน้ำที่หลากมาจากบริเวณกาดก้อมและศรีปิงเมืองออกจากตัวเมืองให้เร็วที่สุด

และเมื่อเวลา 13.30 น.ที่ห้องติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ สำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผวจ.เชียงใหม่พร้อมด้วยนายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผอ.สำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ ,นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผอ.โครงการชลประทานเชียงใหม่,พ.อ.เศรษฐพล เกตุเต็ม รองผบ.มทบ.33 และนายไพรินทร์ ลิ่มเจริญ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมกันแถลงข่าวการใช้แผนที่บูรณาการแสดงจุดติดตั้งรถนาคสูบน้ำและเครื่องสูบน้ำเพื่อบรรเทาอุทกภัยในเขตเมืองเชียงใหม่หรือ ONE MAP ซึ่งได้มีการแบ่งโซนพื้นที่รับผิดชอบออกเป็น 6 โซนในการเฝ้าระวังระดับน้ำและประตูน้ำ

นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผอ.โครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า ผลสรุปประชุมร่วมกันทุกฝ่ายที่มีนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผวจ.เชียงใหม่เป็นประธานสรุปถึงแผนในการบริหารจัดการเพื่อป้องกันน้ำท่วมโดยจะแยกเป็น 3 กรณี คือ กรณีน้ำปิงล้นฝั่ง กรณีน้ำท่วมขังและกรณีน้ำที่ไหลมาจากเทือกเขาสุเทพ-ปุย ซึ่งแต่ละกรณีได้จัดทำแผนรองรับชัดเจนตลอดจนผู้รับผิดชอบในแต่ละจุดด้วย

ด้านนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วมขังเมื่อวันที่ 19-20 พ.ค.ที่ผ่านมาจุดสำคัญของปัญหาก็เฉกเช่นกับที่กรุงเทพฯขณะนี้คือการที่ประชาชนทิ้งขยะและสิ่งของไปกีดขวางทางน้ำ ดังนั้นก็ขอความร่วมมือประชาชนด้วย และที่ทางจังหวัดเป็นห่วงอีกด้านหนึ่งคือเรื่อ่งของน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม ซึ่งฝนที่ตกต่อเนื่องมาทำให้ดินอุ้มน้ำมากขณะนี้จากข้อมูลเตือนภัยและทางจังหวัดได้แจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงภัยไป 919 หมู่บ้านครอบคลุม 25 อำเภอให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์และให้ทางอำเภอจัดหาจุดอพยพประชาชนไปยังที่ปลอดภัยไว้แล้ว รวมทั้งหมู่บ้านที่มีเครื่องมือสัญญาณเตือนภัยของส่วนอุทกวิทยาอีก 187 แห่งด้วย ซึ่งหากปริมาณฝนที่ตกลงมามากกว่า 100 มิลลิเมตร-130 มิลลิเมตรต่อวันติดต่อกันให้เตือนประชาชนเกี่ยวกับดินถล่มด้วย.

You may also like

SUN และ EXE มอบอาหารช่วยผู้ลี้ภัยชายแดนเมียนมา

จำนวนผู้