รองผวจ.เชียงใหม่-ชลประทานตั้งโต๊ะแจงมวลน้ำก้อนใหญ่ผ่านพื้นที่กลางเมืองเชียงใหม่ ยอมรับถือเป็นบทเรียนใหม่ต้องเร่งสร้างการตระหนักรู้ให้แก่ประชาชน

รองผวจ.เชียงใหม่-ชลประทานตั้งโต๊ะแจงมวลน้ำก้อนใหญ่ผ่านพื้นที่กลางเมืองเชียงใหม่ ยอมรับถือเป็นบทเรียนใหม่ต้องเร่งสร้างการตระหนักรู้ให้แก่ประชาชน

รองผวจ.เชียงใหม่-ชลประทานตั้งโต๊ะแจงมวลน้ำก้อนใหญ่ผ่านพื้นที่กลางเมืองเชียงใหม่ ยอมรับถือเป็นบทเรียนใหม่ต้องเร่งสร้างการตระหนักรู้ให้แก่ประชาชน หลังเกิดข่าวลือจนประชาชนตระหนกอพยพย้ายสิ่งของทั้งๆ ที่ในประกาศไม่มีระบุ เผยคนส่วนใหญ่ไม่อ่านให้ละเอียด แต่ตีความกันเอง

เมื่อเวลา 12.00 น.วันที่ 19 ส.ค. 61 ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ สำนักงานชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยนายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 เชียงใหม่, นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ ได้ร่วมกันแถลงข่าวสรุปสถานการณ์น้ำเนื่องจากผลกระทบพายุเบบินคาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่

นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำของจังหวัดเชียงใหม่อยู่ในสถานะเฝ้าระวังเท่านั้น เพราะระดับน้ำที่จุดวัดน้ำ P.1 สะพานนวรัฐ อำเภอเมืองเชียงใหม่ อยู่ในสภาวะทรงตัวแล้ว แต่ก็ยังมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้จังหวัดเชียงใหม่ก็ยังคงมุ่งเน้นเรื่องข้อมูลข่าวสารที่ชัดเจน จะไม่มีการปิดบังข้อมูลกับประชาชนอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตามยอมรับว่า เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 61 ที่ผ่านมาทางชลประทานฯ และทางเทศบาลนครเชียงใหม่ ได้ออกเอกสารเพื่อเป็นการประกาศข่าวสารให้ข้อมูลแก่ประชาชน  แต่กลับทำให้ประชาชนตื่นตระหนกและเกิดข่าวลือ เนื่องจากมีการอ่านข้อมูลเพียงไม่กี่บรรทัด พอทราบว่าปริมาณน้ำจากด้านบนจากอ.แม่แตงจะไหลผ่านตรงกลางเมืองเชียงใหม่ในเวลาตีสามเท่านั้น ก็เกิดความตื่นตระหนกกันจนเป็นเหตุให้มีประชาชนจำนวนมากไปเฝ้ารอดูน้ำปิงที่จุด P.1 กันอย่างเนืองแน่น มีการขนย้ายสิ่งของ รวมทั้งยานพาหนะมาจอดบนผิวถนนทั้งๆ ที่ในหนังสือและประกาศของชลประทานหรือของเทศบาลนครเชียงใหม่ ไม่ได้แจ้งให้ประชาชนขนย้ายสิ่งของขึ้นไว้ที่สูง หรือระบุว่าน้ำปิงจะล้นฝั่งแต่อย่างใด

“สิ่งที่เรายอมรับจากการถอดบทเรียนในครั้งนี้คือ ต้องสร้างความตระหนักให้กับประชาชนและอย่าให้ประชาชนเกิดความตระหนกจากข้อมูลข่าวสารที่สื่อออกไป โดยต่อไปทางจังหวัดจะมีลำดับขั้นตอนในการทำงานคือ 1.การประกาศข่าวสาร ให้ประชาชนได้ทราบถึงสถานการณ์น้ำก่อน และถ้าระดับน้ำมีการยกระดับ ลำดับ 2. จะเป็นการแจ้งเตือนภัย และเมื่อเข้าสู่สภาวะหนักมาก ก็จะเข้าสู่ลำดับ 3.ประกาศภัยพิบัติ และมีการตั้งห้องวอร์รูม ที่สำนักงานชลประทานที่ 1 ถนนทุ่งโฮเต็ล และขอให้ประชาชนช่วยอ่านประกาศให้ครบถ้วน และอย่าพึ่งตื่นตระหนก และสุดท้าย 4.คือการอพยพ เพราะเราจะไม่ยอมให้เกิดความสูญเสีย ชีวิตของพี่น้องประชาชนสำคัญเป็นอันดับแรก”รองผวจ.เชียงใหม่ กล่าวและชี้แจงอีกว่า

ขณะนี้มีแผนที่วันแมพ ซึ่งเป็นแผนที่ดูแลบริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่เศรษฐกิจตัวเมืองเชียงใหม่ และในวันที่ 23 ส.ค. ก็จะทำแผนที่ลำดับที่ 2 โดยจะทำแผนที่ One Map ไปทางด้านทิศใต้ เชื่อมต่อกับ อ.หางดง, สันป่าตอง, สะเมิง และดอยหล่อ โดยคาดว่าในอนาคตจะทำให้ทั้งจังหวัดอยู่ในแผนที่ One Map ทั้งหมด ที่จะมีการกำหนดหน้าที่การทำงาน และบุคลากรที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน และจะมีการบูรณาการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนให้ได้มากที่สุด ยอมรับว่าเราขาดประสบการณ์ด้านการประชาสัมพันธ์ข่าวสารให้ประชาชนไปบ้าง ทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจที่คาดเคลื่อน ตอนนี้ได้มีการจัดการเส้นทางน้ำไว้แล้ว

ด้านนายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ กล่าวว่า สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการน้ำ SWOC1 ที่ดำเนินการเรื่องบริหารจัดการน้ำตั้งแต่สถานี P.67 บ้านแม่แต อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งระดับน้ำสูงสุดอยู่ที่ 394.68 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยได้มีการพร่องน้ำ 4 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้สถานการณ์ลดลง ต่อมาที่ฝายแม่แฝก-แม่งัด อ.แม่แตง ก็ได้มีการตัดยอดเพื่อพร่องน้ำลง 15 ลบ.ม.ต่อวินาที แล้วสองลำน้ำดังกล่าวได้เข้ามาที่ P.67 บ้านแม่แต ก่อนจะไหลมาสมทบกับน้ำแม่ริม อีก 40 ลบ.ม.ต่อวินาที 432 ลบ.ม.เศษต่อวินาที  ซึ่งเกณฑ์ที่วางไว้คือ 450 ลบ.ม.ต่อวินาที ถือว่าน้ำน้อยกว่าการคาดการณ์ไว้ และเมื่อประเมินว่าน้ำจะเข้าตัวเมืองเชียงใหม่ในเวลาตีสาม ทางศูนย์ปฏิบัติการน้ำฯ จึงได้มีประกาศสถานการณ์เรื่องน้ำให้ประชาชนได้รับทราบ

ผอ.สำนักชลประทานที่ 1 กล่าวอีกว่า ทางศูนย์ฯได้วิเคราะห์สถานการณ์ตลอดเวลา โดยบริหารจัดการน้ำเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่เศรษฐกิจ โดยตัดยอดน้ำหรือพร่องน้ำเข้าคลองแม่แตง ทำให้คลองมีปริมาณน้ำจำนวนมาก แต่น้ำจำนวนนี้ก็ไม่ได้ก่อผลกระทบอะไรกับลำน้ำแม่แตง และการพร่องน้ำในฝายแม่แฝก-แม่งัด ปริมาณ 15 ลบ.ม.ต่อวินาที ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำและลำคลองส่งน้ำ เพราะก่อนหน้านี้ได้เคลียร์ร่องน้ำไว้ก่อนแล้ว จึงไม่ได้รับผลกระทบ ต่อมาทางชลประทานได้ทำการตัดยอดน้ำที่จะไหลเข้ามายังพื้นที่ตัวเมืองเชียงใหม่ เพื่อให้เกิดพื้นที่ช่องว่าง รองรับน้ำ 4 ล้าน ลบ.ม. โดยเปิดประตูระบายน้ำท่าวังตาล และล่าสุดเมื่อเวลา 12.00 น.วันที่ 19 ส.ค. 61 ระดับน้ำแม่แตงเริ่มลดลงเข้าสู่ภาวะปกติ และน้ำแม่ริม เริ่มลดลงเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าในน้ำแม่ปิง มวลน้ำก้อนใหญ่ได้เคลื่อนผ่านตัวเมืองเชียงใหม่ไปเรียบร้อยแล้ว โดยการระบายผ่านประตูระบายน้ำ ที่มีส่วนช่วยในการป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมตัวเมืองเชียงใหม่ โดยเริ่มผันน้ำตั้งแต่เวลา 03.00 – 12.00 น.ของวันนี้(19 ส.ค.)

ขณะที่นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า อย่างไรก็ดีพายุเบบินคา ได้เพิ่มน้ำในเขื่อนให้กับจังหวัดเชียงใหม่ ถึง 9.6 ล้าน ลบ.ม. ถือว่าได้น้ำจำนวนมาก แม้ว่าหลายแห่งจะเกิดปัญหาน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก แต่น้ำก็เข้าเขื่อนจำนวนมากเช่นกัน นอกจากนี้ทางชลประทาน ได้ประสานทางเทศบาลนครเชียงใหม่ เรื่องของประตูระบายน้ำ ท่อระบายน้ำทุกจุดในพื้นที่ เพื่อจะนำข้อมูลดังกล่าวว่า ประตูน้ำมีจุดไหนบ้าง และท่อระบายน้ำมีขนาดเท่าไหร่ เพื่อจะได้ทราบว่าจะเตรียมความพร้อมป้องกันอย่างไร รวมถึงการขุดลอกท่อระบายน้ำในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่า น้ำที่เคยท่วมบนถนนท่าแพ ถนนราชดำเนิน และถนนที่เป็นเส้นทางเศรษฐกิจในตัวเมืองเชียงใหม่ ขณะนี้ได้ขุดลอกไปแล้ว ทำให้ฝนตกหนักในห้วงที่ผ่านมานั้นน้ำไม่ท่วมอีก

ผอ.โครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า ผลจากการพร่องน้ำออกจากประตูระบายน้ำ มีสิ่งหนึ่งที่ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเพิ่มความปลอดภัยมากขึ้น เนื่องจากพบว่ามีประชาชนที่ออกหาปลาริมแม่น้ำปิง บางคนได้เข้ามาที่ประตูระบายน้ำ เพราะเห็นว่าน้ำลด แล้วมุดเข้าไปที่ประตูระบายน้ำเพื่อจะหาปลา ทางเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบประตูระบายน้ำก่อนทำการเปิด จึงทำให้ไม่มีใครได้รับอันตราย ดังนั้นจึงขอเตือนประชาชนในเรื่องการหาปลาริมแม่น้ำให้ระวังอันตรายไว้ด้วย เพราะบางครั้งอาจจะเกิดอันตรายถึงชีวิตได้

“สิ่งที่เราได้จากการถอดบทเรียนจากผลกระทบพายุเบบินคาในครั้งนี้ แม้ว่าจะมีการเตรียมการมาอย่างดี แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน เพราะอย่างที่รองผู้ว่าฯบอกเมื่อตอนห้าทุ่มวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมามีประชาชนจำนวนมากไปมุงเต็มจุดวัดน้ำสะพานนวรัฐ ทางเราต้องรีบไปชี้แจงให้ทราบว่าทางศูนย์ปฏิบัติการฯเองมีเครื่องมือ มีการบริหารจัดการพร้อม เรามีข้อมูลที่ครบถ้วนแต่ไม่ได้สื่อสารออกไปให้ประชาชนรู้ จึงทำให้เกิดความตระหนกกันมาก และอีกอย่างคือเรื่องของน้ำนี้มันพลิกไวไปทุกชั่วโมง ทุกนาที อย่างไรก็ดีสิ่งที่ได้จากครั้งนี้เราก็จะถอดบทเรียนไว้แก้ไขในการรับมือกับสถานการณ์ในอนาคต และต่อไปจะใช้ที่ SWOP1 นี้เป็นที่แถลงข่าวชี้แจงต่อสื่อมวลชนด้วย เพื่อที่จะไม่ให้เกิดข่าวลือเหมือนครั้งนี้”นายเจนศักดิ์ กล่าว.

You may also like

SUN และ EXE มอบอาหารช่วยผู้ลี้ภัยชายแดนเมียนมา

จำนวนผู้