รองนายกฯชื่นชมเชียงใหม่รับมือและเตรียมพร้อมรพ.สนามรองรับสถานการณ์โควิดฯได้ดี

รองนายกฯชื่นชมเชียงใหม่รับมือและเตรียมพร้อมรพ.สนามรองรับสถานการณ์โควิดฯได้ดี

รองนายกรัฐมนตรีฯเยี่ยมและให้กำลังใจรพ.รักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ชื่นชมการเตรียมพร้อมโรงพยาบาลสนามและมาตรการควบคุมของจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่แม้เป็นจังหวัดใหญ่ที่คนเข้า-ออกตลอดเวลา เชื่อหากมีการแพร่ระบาดรอบ 2 จะสามารถรับมือสถานการณ์ได้ดี

เมื่อวันที่ 13 พ.ค.63  เวลา 09.00 น.ที่โรงพยาบาลสันกำแพง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วย  นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา  และคณะได้เดินทางเพื่อรับฟังผลการดำเนินงานการปรับภารกิจเป็นโรงพยาบาลรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  (COVID-19)  และให้กำลังใจแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์  โดยมีนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และนายแพทย์ ณรงค์เดช พิพัฒน์ธนวงศ์  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสันกำแพง ให้การต้อนรับ

สำหรับโรงพยาบาลสันกำแพง  เริ่มรับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 เข้ารักษาตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม  มีผู้ป่วยเข้ารักษาจำนวน 13 ราย  รักษาหายและทยอยกลับบ้าน  จนผู้ป่วยรายสุดท้ายที่รักษาหายส่งตัวกลับบ้านไปเมื่อวันที่ 1  พฤษภาคมที่ผ่านมา  ล่าสุดไม่มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รักษาตัวอยู่แล้ว หลังจากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้รับมอบเครื่องวัดอุณหภูมิอัตโนมัติจากผู้มีจิตศรัทธา และมอบเวชภัณฑ์ทางการแพทย์แก่ทางโรงพยาบาลสันกำแพง พร้อมพูดคุยกับผู้ป่วยโควิด เป็นชายรายสุดท้ายของโรงพยาบาลสันกำแพงที่รักษาตัวหายแล้ว

จากนั้นรองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุขและคณะได้เดินทางไปเยี่ยมชมการทำงานบูรณาการระหว่างโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่และโรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ในการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จากนั้นได้เดินทางมายังศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ 7 รอบพระชนมพรรษา ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลสนาม ซึ่งคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ได้เลือกใช้สถานที่ดังกล่าว

โรงพยาบาลสนาม จังหวัดเชียงใหม่ จะเปิดดำเนินการในระยะแรกจำนวน 280 เตียง โดยได้รับการ สนับสนุนงบประมาณจากเงินทดรองในเชิงป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินฯ ในการปรับปรุงสถานที่ จำนวน 450,000 บาท และได้รับความร่วมแรงร่วมใจอย่างดียิ่งจากหน่วยงาน ในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ เตียงผู้ป่วย  ที่พักบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข อาหารสำหรับผู้ป่วยและบุคลากรประจำโรงพยาบาล  การกำจัดขยะติดเชื้อ/การขนขยะ การทำความสะอาดเสื้อผ้า อุปกรณ์เทคโนโลยีและสัญญาณเครือข่าย อินเตอร์เน็ต ห้องอาบน้ำ/ห้องน้ำ รวมถึงบุคลาการรักษาความปลอดภัย

ในส่วนการบริหารงานโรงพยาบาลสนาม คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่  ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นจำนวน 3 ชุด ประกอบด้วย คณะกรรมการที่ปรึกษา โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เชียงใหม่ เป็นที่ปรึกษา คณะกรรมการอำนวยการโรงพยาบาลสนาม มีรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายรัฐพล  นราดิศร เป็นประธาน และคณะกรรมการบริหารงานโรงพยาบาลสนาม มีนายแพทย์อำพร  เอี่ยมศรี ประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขจากโรงพยาบาลนครพิงค์ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียใหม่ โรงพยาบาลสวนปรุง  ร่วมดำเนินการ โดยคาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ภายในปลายเดือนพฤษภาคม 2563  และคาดว่าในอนาคต หากเกิดเหตุการณ์วิกฤต และมีผู้ป่วยจำนวนมากมารับการรักษาใน โรงพยาบาล หากสามารถแยกแยะคนไข้ที่มีอาการไม่หนักออก มารับการรักษาในสถานที่เฉพาะ โรงพยาบาลสนามจะตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี

ภายหลังเยี่ยมชมและรับฟังการบรรยายสรุปแล้ว นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ขอชื่นชมจังหวัดเชียงใหม่ที่กว่า 40 วันแล้วไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ทั้งๆ ที่เชียงใหม่เป็นจังหวัดใหญ่เป็นเมืองท่องเที่ยวหลักซึ่งมีผู้คนเดินทางเข้า-ออกจำนวนมาก จึงถือเป็นเรื่องที่น่าชมเชยและเมื่อมีความพร้อมแบบนี้จึงทำให้มั่นใจว่าหากมีการแพร่ระบาดรอบ 2 ก็ไม่น่ากลัวแต่ก็ไม่อยากพูดออกไปเพราะจะถูกกล่าวหาและตำหนิได้ว่าประมาท การ์ดตก แต่ขอบอกว่าพวกเราพร้อมที่จะต่อสู้กับโรคนี้

“หลักวิทยาศาสตร์ง่ายๆ เมื่อระบาดรอบแรกเรายังไม่มีความรู้ ไม่มีประสบการณ์เพราะเป็นโรคอุบัติใหม่ แต่หากมีการระบาดรอบ 2 เราหมายถึงบุคลากรทางการแพทย์และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีความรู้ และประสบการณ์แล้ว โรคนี้มันแพร่กระจายจากการเดินทาง เพราะฉะนั้นจะหยุดมันก็ต้องหยุดการแพร่ สำหรับโรงพยาบาลสนามเองแม้ไม่อยากให้มีผู้มาใช้บริการ แต่เราก็ประมาทไม่ได้ การเตรียมความพร้อมไว้จึงเป็นสิ่งสำคัญ เหมือนกับที่สะเดา จ.สงขลาที่มีผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองและตรวจพบว่าใน 42 จากทั้งหมด 48 รายติดเชื้อโควิดฯ”รองนายกฯ กล่าวและชี้แจงอีกว่า

องค์ความรู้ที่ได้จากการทำงานร่วมกัน จากไลน์กลุ่มแพทย์ด้วยกัน จึงสั่งให้มีการตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อไม่นำผู้ติดเชื้อทั้งหมดไปรักษาร่วมกับโรงพยาบาลในพื้นที่ ไม่ให้มีการเคลื่อนย้าย และก็ไม่คิดว่าภายใน 48 ชั่วโมงก็สามารถตั้งโรงพยาบาลสนามดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อทั้งหมดนี้ได้ ซึ่งก็ทำให้ความตื่นตระหนกและเชื้อไม่แพร่กระจาย เป็นการควบคุมพื้นที่การระบาดได้ด้วย ซึ่งก็ไม่อยากจะคิดเลยว่าหากไม่สามารถตรวจเจอผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองมาได้ก่อนเชื้อจะแพร่กระจายไประดับไหนบ้าง และพวกเราก็จะต้องเหนื่อยอีกมาก ด้วยเหตุนี้โรงพยาบาลสนามสำหรับสถานการณ์โควิดฯจึงสำคัญอย่างมากยิ่งจัดตั้งเร็ว ยิ่งควบคุมได้เร็ว

รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวด้วยว่า สำหรับโรงพยาบาลสนามของจังหวัดเชียงใหม่ มีการจำแนกภารกิจที่ชัดเจน เป็นความพร้อมที่ดีมาก และเชื่อว่าหากสถานการณ์ทุกอย่างคลี่คลาย เชียงใหม่จะบูมอย่างแน่นอน ทุกคนอยากมาเมืองที่สะอาด เมืองที่มีสุขอนามัยสูง และมีสถานที่บริการนักท่องเที่ยวมากมาย แต่สิ่งที่ทุกคนประสบและสูญเสียไปในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา จะกลับมาในช่วงที่ทุกอย่างปกติ แต่สิ่งหนึ่งที่ได้จากโควิดฯคือรากฐานที่แข็งแกร่งของระบบสาธารณสุขของประเทศเรา

“ผมขอชื่นชมความตั้งใจ ความเสียสละและทุ่มเท ของทุกๆ คน และมั่นใจว่าทุกคนจะร่วมกันทำภารกิจนี้ให้สำเร็จและเป็นหน้าตา รากฐานที่ดีของประเทศต่อไป”นายอนุทิน กล่าว.

You may also like

builds มช. ขนทัพสตาร์ทอัพนักศึกษาคับคั่ง พิสูจน์ความสำเร็จ ตั้งบริษัทจริงระหว่างเรียน

จำนวนผู้