มท.3มั่นใจรับมือและควบคุมสถานการณ์ไฟป่าฯได้

มท.3มั่นใจรับมือและควบคุมสถานการณ์ไฟป่าฯได้

แม่ทัพภาคที่ 3 มั่นใจห้วง 90 วันก่อนฝนมาสามารถรับมือและควบคุมสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นpm2.5 ได้ ด้านอธิบดีกรมควบคุมมลพิษเผย”บิ๊กป้อม”สั่งให้ปชส.ให้ประชาชนรับรู้แนวทางและการแก้ปัญหาของรัฐบาล แจงพลิกสถานการณ์ปีแรกใช้วิธีชิงเก็บ ลดเผา หว่านงบ 33 ล้านให้ทุกจังหวัดดำเนินการและจัดสรรเงินให้ทสม.ในพื้นที่ภาคเหนือประชาสัมพันธ์ในระดับพื้นที่ ขณะที่มช.เสนอนำระบบพยากรณ์คุณภาพอากาศให้ 17 จังหวัดนำไปใช้ตัดสินใจบริหารจัดการเชื้อเพลิงหลังเชียงใหม่นำร่องไปแล้ว

เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564   ที่ห้องประชุมระวังเมือง 1 กองบัญชาการกองพลทหารราบที่ 7 อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ พลโท อภิเชษฐ์   ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3 ในฐานะผู้บัญชาการกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3  เป็นประธานการประชุมบูรณาการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ ( VTC )ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 17  จังหวัดภาคเหนือ

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวรายงานผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์มายังที่ประชุมและรายงานต่อแม่ทัพภาคที่ 3 ว่ารัฐบาลได้กำหนดแนวทางแก้ปัญหา PM 2.5  ยกระดับขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ โดยเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ“การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” (พ.ศ. 2563)  ทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และบริบท ป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) เช่น ยานพาหนะ อุตสาหกรรม การเผาในที่โล่ง การก่อสร้างและผังเมืองและภาคครัวเรือน  และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ รวมทั้งแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ซึ่งมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและมีการแจ้งเตือนผ่านทาง“ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) โดยเฉพาะวันที่ 21-13 ม.ค.นี้ให้ทุกจังหวัดทั่วทุกภาคยกเว้นภาคใต้งดเผาทุกชนิด

“ปีนี้พลิกสถานการณ์เรื่องการจัดการเชื้อเผลิง โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีโครงการชิงเก็บลดเผา โดยอนุมัติเงินจากกองทุนสิ่งแวดล้อม 33 ล้านบาทให้แต่ละพื้นที่ดำเนินการและยังอนุมัติงบประมาณให้ ทสม.ในพื้นที่ภาคเหนือประชาสัมพันธ์อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งปัญหาเรื่องการจัดการเชื้อเพลิงเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้ว่าราชการจังหวัดภาคเหนือต้องใช้ดุลพินิจในการบริหารจัดการพื้นที่โล่ง ซึ่งไม่สามารถห้ามการเผาได้ 100% แต่ขอให้จัดระเบียบการเผาโดยเฉพาะเมื่อกรมอุตุนิยมวิทยารายงานเรื่องสภาวะอากาศให้แล้ว โดยรองนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยราชการทุกพื้นที่ชี้แจง และทำความเข้าใจ สื่อสารไปถึงประชาชนให้ได้รับรู้ว่ารัฐบาลหรือหน่วยราชการได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง เพราะตอนนี้ประชาชนยังไม่รู้ ซึ่งศกพ.ได้จัดทำสื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ซึ่งจะนำไปเผยแพร่ที่กรมประชาสัมพันธ์”อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวและชี้แจงอีกว่า

นอกจากนี้นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เน้นย้ำเรื่องการบูรณาการการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละออง โดยปีนี้กระทรวงอุตสาหกรรมก็ให้ความร่วมมือเพื่อลดการเผาไร่อ้อยจึงกำหนดเงื่อนไขไม่รับซื้ออ้อยในพื้นที่ที่มีการเผาทำให้ลดปัญหาได้ถึงร้อยละ 80 ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการก็มีหนังสือแจ้งและให้อำนาจผู้อำนวยการสถานศึกษาประกาศปิดหรือหยุดเรียนในช่วงที่ค่าpm2.5 เกิน 90 ไมโครกรัมต่อลบ.ม.ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของกรมควบคุมมลพิษเป็นหลัก

จากนั้นผศ.ดร.ชาคริต โชติอมรศักดิ์ นักวิชาการจากมช.ได้นำเสนอเกี่ยวกับการใช้แอพพลิเคชั่นซึ่งเป็นระบบที่สนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวลไฟดี  AC Air@ CMU ซึ่งเป็นระบบพยากรณ์คุณภาพอากาศที่สามารถคำนวณได้ล่วงหน้า 3 วันและสามารถแสดงให้เห็นถึงการระบายอากาศและนำมาใช้ประกอบการพิจารณาว่าจะห้ามให้เกิดไฟในที่โล่งได้ โดยระบบดังกล่าวจะมีการลงทะเบียนเพื่อขออนุญาตทางจังหวัดรับทราบล่วงหน้า ซึ่งคณะกรรมการศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาไฟป่าฯที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานจะได้ประชุมพิจารณาร่วมกับคณะกรรมการ โดยปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่ได้ใช้ระบบดังกล่าวนี้ โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้รวบรวมพื้นที่ที่ต้องใช้ไฟจำเป็น(บริหารจัดการเชื้อเพลิง)ส่งข้อมูลประกอบมาให้กับวอร์รูมจังหวัด และระบบนี้สามารถรองรับให้กับวอร์รูมทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับจังหวัดที่จะตัดสินใจเองว่าจะให้เผาหรือไม่ในช่วงเวลาดังกล่าว

ด้านพลโท อภิเชษฐ์   ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวว่า ปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละออง เป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศ  ซึ่งรัฐบาลให้ความสนใจกับปัญหานี้เป็นอย่างยิ่ง  เราในฐานะส่วนราชการที่ทำงานตอบสนองนโยบายของรัฐบาล  จะต้องร่วมมือกันปฏิบัติภารกิจให้ประสบผลสำเร็จ  เพื่อไม่เกิดผลกระทบต่อประชาชน  ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาในระดับศูนย์บัญชาการควบคุมไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองของทุกจังหวัด จะทราบพื้นที่เสี่ยงเกิดไฟป่าอยู่แล้ว ขอให้ช่วยกันขับเคลื่อนส่วนราชการเข้าปฏิบัติต่อพื้นที่ถูกเผาป่าโดยเร็ว  และหากเกินกำลัง กองทัพภาคที่ 3  พร้อมสนับสนุนเครื่องมือ  กำลังพล เข้าไปสนับสนุนในทุกพื้นที่

“กองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ได้เริ่มปฏิบัติการตั้งแต่เดือนธันวาคมซึ่งสรุปมาถึงวันที่ 19 ม.ค.64 สถานการณ์โดยรวมโดยเฉพาะฝุ่นpm2.5 ยังไม่เกินเกณฑ์มีเพียง 2 จังหวัดที่อยู่ในขั้นเฝ้าระวังเพียงไม่กี่วัน สภาพอากาศยังอยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมาก จุดความร้อนหรือ Hot Spot เทียบกับปีที่แล้วลดลงร้อยละ 50 มีบางจังหวัดที่มากกว่า แต่อย่างไรก็ตามยังเหลือห้วงเดือนเม.ย.ที่กรมอุตุฯรายงานว่าจะมีฝนในช่วงนั้น แต่ก็ยังต้องเฝ้าระวังในช่วง 90 วันจากนี้ไป ซึ่งก็คิดว่ามาตรการและแผนงานที่เตรียมมาจะสามารถรับมือและรับแนวทางที่นายกรัฐมนตรีให้นโยบายไว้เมื่อเดือนก.ย.63ที่จังหวัดเชียงรายได้”แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวและชี้แจงอีกว่า

นอกเหนือจากปัจจัยในประเทศที่ต้องควบคุม บริหารจัดการแล้ว ยังมีปัจจัยภายนอกด้วย ซึ่งขณะนี้ได้ให้ระดับพื้นที่ประสานกับทางเมียนมาไว้แล้ว ส่วนประกาศควบคุมห้ามเผาเด็ดขาดก็ยังจำเป็นต้องให้มี โดยแต่ละจังหวัดจะประกาศไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่และห้วงเวลาซึ่งแต่ละจังหวัดจะเป็นผู้กำหนดเอง บางจังหวัดก็ไม่ถึง 60 วัน

จากนั้น แม่ทัพภาคที่ 3 ร่วมกับ นายเจริญฤทธิ์  สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่เปิดกิจกรรม “ราษฎร์ รัฐ ร่วมใจ ป้องกันไฟป่า ” ( kick off ) ประจำปี 2564  ที่ลานพื้นแข็งหน้ากองบัญชาการกองพลทหารราบที่ 7 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองในพื้นที่ ให้เกิดความยั่งยืนและเป็นรูปธรรมตามนโยบายของกองทัพภาคที่ 3 และกองทัพบก

ทั้งนี้จากสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองในเขตพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ  เปรียบเทียบจำนวนวันที่ค่าอากาศเกินค่ามาตรฐาน ในห้วงวันที่ 1 ธ.ค. – 19 ม.ค. ของปี 63 – 64 โดยในปี 63 มีค่าอากาศเกินค่ามาตรฐาน จำนวน 25 วัน และค่าสูงสุดอยู่ที่ 97 ไมโครกรัม และปี 64 มีค่าอากาศเกินค่ามาตรฐาน จำนวน 15 วัน และค่าสูงสุดอยู่ที่ 92 ไมโครกรัม ค่าอากาศเกินค่ามาตรฐาน ลดลงขึ้นมี จำนวน 10 วัน  

สำหรับค่าจุดความร้อนเปรียบเทียบ (ดาวเทียมระบบ VIIRS) ในห้วงวันที่ 1 – 19 ม.ค. ในปีงบประมาณ 63 – 64  ในห้วงวันที่ 1 – 19 ม.ค. 64  ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ  เกิดจุดความร้อน จำนวน 3,981 จุด เมื่อเปรียบเทียบกับห้วงเวลาเดียวกัน ในปี 63 ซึ่งเกิดจุดความร้อนจำนวน 8,804 จุด ในปี 64 เกิดจุดความร้อนลดลง จำนวน 4,823 จุด นอกจากนี้กองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ  กองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า กำหนดพื้นที่เป้าหมายหลักในปี 2564  เนื่องจากเกิดจุดความร้อนสะสมในปริมาณสูงและเกิดจุดไหม้ซ้ำซากอย่างต่อเนื่อง  จำนวน 6 ดอย เพื่อแบ่งมอบให้หน่วยต่าง ๆ รับผิดชอบ.

You may also like

SUN และ EXE มอบอาหารช่วยผู้ลี้ภัยชายแดนเมียนมา

จำนวนผู้