มช.เปิด “สถานีชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้า”จากโซลาร์เซลล์แห่งแรกในเชียงใหม่ก้าวสู่มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ พลังงานสะอาด

มช.เปิด “สถานีชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้า”จากโซลาร์เซลล์แห่งแรกในเชียงใหม่ก้าวสู่มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ พลังงานสะอาด

มช.เปิด “สถานีชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้า”จากโซลาร์เซลล์แห่งแรกในเชียงใหม่ ตั้งเป้า 2 ปีใช้รถตู้ไฟฟ้าบริการ เผยมีการนำพลังงานจากแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าพลังงานขยะและระบบพลังงานอื่นๆ มาใช้ ช่วยลดการใช้พลังงานได้ร้อยละ 30-40 จากที่มีต้นทุนค่าไฟปีละกว่า 70 ล้านบาท ยันเดินหน้าเพื่อก้าวสู่ CMU Smart City-Clean Energy มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ พลังงานสะอาด

วันที่ 2 ส.ค.61 ที่สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เป็นประธานเปิดสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีรองศาสตราจารย์ประเสริฐ ฤกษ์เกรียงไกร   รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกายภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,ดร.ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย,บริษัท สากล เอนเนอยี่ จำกัด กองทัพอากาศและคณะผู้บริหารเข้าร่วมในพิธีเปิดครั้งนี้ด้วย

สำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) จากพลังงานโซลาร์เซลล์ สนองยุทธศาสตร์ Green and Clean ; Sustainability University มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ พลังงานสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลักดันนำร่องการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สู่การใช้งานสาธารณะอย่างเป็นรูปธรรม  โดยรถยนต์ 1 คัน สามารถชาร์จไฟฟ้าวิ่งได้ระยะทางมากกว่า 150 กิโลเมตรต่อครั้ง  ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดภาวะโลกร้อนได้มากถึงร้อยละ 20 ในการดำเนินงานโครงการได้รับการสนับสนุนงบประมาณหลักจาก กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย  และได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจาก บริษัท สากล เอนเนอยี่ จำกัด และบริษัท บาร์เซโลน่า ออโต้ จำกัด  โดยภายในงานมีผู้ทรงคุณวุฒิจากกองทัพอากาศ เข้าร่วมสังเกตการณ์ในฐานะ Partner โครงการ CMU Smart City / RTAF Smart Wing และจัดให้มีพิธีบันทึกความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ระหว่างกองทัพอากาศและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

รองศาสตราจารย์ประเสริฐ ฤกษ์เกรียงไกร   รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกายภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตระหนักถึงความสำคัญ ด้านการบริหารจัดการระบบกายภาพและสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในระบบที่ให้ความสำคัญในการดำเนินงานคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการจราจรและขนส่งมวลชน ด้วยการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในมหาวิทยาลัย ครอบคลุมถึงระบบรถไฟฟ้าและการพัฒนาสถานีรถไฟฟ้า โดยมีนโยบายในการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่ง ด้วยการลดใช้รถยนต์และจักรยานยนต์ภายในมหาวิทยาลัย จึงได้จัดบริการรถไฟฟ้าขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ จำนวน 60 คัน คันละ 12 ที่นั่ง ออกวิ่งรับผู้โดยสาร วนรอบมหาวิทยาลัยทั้งหมด 5 สาย ทุกวันไม่เว้นวันหยุด คิดเป็นระยะทาง 6,660 กิโลเมตรต่อวัน หรือ 2,023,400 กิโลเมตรต่อปี รองรับผู้โดยสารได้จำนวนสูงสุด 16,700 ต่อวัน หรือ 5,097,024 คนต่อปี จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศได้มากถึง 3,034 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อวัน หรือ 601,500 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ทำให้เห็นถึงความสำคัญในการลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงในรถยนต์ และหันมาให้ความสำคัญการเลือกใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้น โดยการจัดสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ยานยนต์ไฟฟ้า และส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์แบบเดิมที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลง ซึ่งจะนำไปสู่การบริหารจัดการที่ดีและพัฒนาสู่ความเป็นสากลตามยุทธศาสตร์ Green and Clean; Sustainability University มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ พลังงานสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม CMU Smart City-Clean Energy

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้ดำเนินงาน “โครงการจัดสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า  (Charging Station) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” ขึ้น โดยมีสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินงานศึกษาวิจัย ออกแบบและจัดสร้างสถานีชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้า (Charging Station) จากพลังงานโซลาร์เซลล์ ติดตั้งไว้ ณ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ โดยสถานีชาร์จประจุไฟฟ้าจากพลังงานโซลาร์เซลล์แห่งนี้ จะเป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงานทดแทน ที่จะช่วยส่งเสริมและต่อยอดความเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว ด้วยการใช้พลังงานทดแทน พลังงานสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ หรือ Low Carbon Society ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานทดแทนจากการวิจัยมาใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปประธรรม ผลักดันให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลายเป็นมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ (SMART CITY)  เป็นต้นแบบที่สำคัญให้กับนักศึกษา บุคลากร หน่วยงานต่างๆ และสังคม หันมาช่วยกันให้ความตระหนัก และให้ความสำคัญถึงประโยชน์ของการใช้พลังงานทดแทนภาคการขนส่งมากขึ้น  เพื่อรองรับการเติบโตยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต  และนำไปสู่การใช้พลังงานของประเทศได้อย่างยั่งยืน

ด้านผศ.ดร.พฤกษ์ อักกะรังสี ผู้อำนวยการ  สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า  ปัจจุบันประเทศไทย เริ่มตื่นตัวและมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยมียานยนต์ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในประเทศไทย 103,702 คัน แบ่งเป็น ยานยนต์ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าทั้งแบบไฮบริดและปลั๊กอินไฮบริด(Plug-in Hybrid Electric Vehicle) 102,308 คัน   และยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle) 1,394 คัน

โดยสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) จากพลังงานโซลาร์เซลล์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ถูกออกแบบและติดตั้งให้สามารถรองรับรองรับยานยนต์ได้ทั้งรถแบบ Hybrid ที่มีการใช้ไฟฟ้าร่วมกับเครื่องยนต์สันดาปภายใน Plugin Hybrid (PHEV) และรถไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้า 100% (All Electric Car) เครื่องอัดประจุดไฟฟ้าเป็นแบบที่มีหลายหัวจ่ายไฟฟ้าในชุดเดียว โดยมีหัวอัดประจุดแบบ CHAdeMO, CCS Combo2 และ AC Type2 ซึ่งรองรับทั้งการอัดประจุดแบบปกติ (Normal Charge และ Quick Charge) เป็นไปตามมาตรฐานนานาชาติ รองรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ติดตั้งหัวจ่ายกระแสไฟฟ้าตามมาตรฐานยุโรปและญี่ปุ่น ใช้เวลาในการชาร์จแต่ละครั้งประมาณ 30-40 นาที 

สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 5 ที่นั่ง  วิ่งได้ระยะทางมากกว่า 150 กิโลเมตรต่อครั้ง  ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึงร้อยละ 20  นับเป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานสีเขียวที่สำคัญ   ที่จะช่วยผลักดันให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต่อยอดความเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว โดยการหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มทางเลือกการใช้พลังงาน ลดการพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิงและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ก้าวสู่ CMU Smart City-Clean Energy มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ พลังงานสะอาด เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

“สถานีอัดประจุไฟฟ้าแห่งนี้ถือเป็นแห่งแรกในจังหวัดเชียงใหม่ ที่เปิดให้ผู้ที่ใช้รถแบบ Hybrid ที่มีการใช้ไฟฟ้าร่วมกับเครื่องยนต์สันดาปภายใน Plugin Hybrid (PHEV) และรถไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้า 100% (All Electric Car) มาชาร์ตไฟได้ฟรีใน 1 ปีแรก ซึ่งรถคันหนึ่งจะใช้เวลาในการชาร์ตประมาณ 30 นาทีโดยให้บริการครั้งละ 2 คัน และภายใน 2 ปีนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะมีรถตู้ที่ใช้ไฟฟ้าสำหรับบริการบุคลากรในมหาวิทยาลัยด้วย สำหรับต้นทุนในการจัดสร้างสถานีชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้านี้ใช้งบประมาณ 1.2 ล้านบาทโดยได้รับการสนับสนุนจากสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าจำนวน 1 ล้านบาทและจากบ.สากล เอนเนอยี่อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ปัจจุบันสามารถนำพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากโซลาเซลล์ จากโรงไฟฟ้าพลังงานขยะและจากระบบพลังงานไฟฟฟ้าอื่นๆ ซึ่งปีหนึ่งใช้ไฟมูลค่ากว่า 70 ล้านบาท การนำพลังงานทดแทนจากส่วนอื่นๆ มาใช้ก็จะสามารถช่วยลดต้นทุนจากค่าไฟได้ประมาณ 30-40%”ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวชี้แจง.

 

You may also like

 รมช.คมนาคมเปิดการทดลองเดินรถโดยสารHOP&GO เชื่อมโยงโครงข่ายสาธารณะไปยัง 7 แหล่งท่องเที่ยวในเชียงใหม่

จำนวนผู้