ฟื้นเมล็ดพันธุ์พืชท้องถิ่น คืนวิถีชีวิตลัวะบ้านกอก

ฟื้นเมล็ดพันธุ์พืชท้องถิ่น คืนวิถีชีวิตลัวะบ้านกอก

“ลัวะ” หรือบางพื้นที่เรียก “ถิ่น” เป็นชนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือของไทย แต่เมื่อกลุ่มคนไท ไม่ว่าจะเป็นไทเขิน ไทยวน ไทลื้อ หรือไทยอง รุกเข้ามา ลัวะก็ถอยร่นไปเรื่อยๆ ตามวิสัยรักสงบ และดำเนินวิถีชีวิตอย่างเรียบง่าย ด้วยการทำไร่หมุนเวียน ตามภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ซึ่งสอดคล้องกับวิถีธรรมชาติ

รินลดา สุต๋า ผู้ใหญ่บ้านบ้านกอก หมู่ 8 ต.เชียงกลาง อ.เชียงกลาง จ.น่าน เล่าว่า บ้านกอกเป็นชุมชนของเผ่าพันธุ์ลัวะ มีประชากร 430 คน 115 ครัวเรือน 120 ครอบครัว อาศัยอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ผาแดง จึงถูกจำกัดในเรื่องที่ดินทำกิน และประกอบอาชีพทำไร่หมุนเวียนเป็นหลัก นั่นคือเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตในไร่เสร็จแล้ว จะปล่อยทิ้งไว้ให้คืนสภาพป่า หมุนเวียนไปทำในพื้นที่อื่นก่อน เมื่อครบ 5-7 ปีก็วนกลับมาทำในพื้นที่เดิมอีกครั้ง ส่งผลให้สภาพดินและป่ามีความอุดมสมบูรณ์ ปลูกข้าวหรือพืชไร่ได้ผลผลิตดี“บ้านกอกเคยมีไร่หมุนเวียน 3,000 กว่าไร่ แต่การประกาศเขตป่าทับที่ทำกิน ทำให้ปัจจุบันเหลือเพียง 1,850 ไร่ เป็นพื้นที่ทำสวนลิ้นจี่อีก 600 กว่าไร่ ปกติแต่ละครัวเรือนจะมีไร่หมุนเวียนไว้ปลูกข้าวและพืชไร่ปีละ 5-10 ไร่ เมื่อวนไปใช้พื้นที่ใดก็จะมีการถางต้นไม้เล็กๆ ออก ส่วนต้นใหญ่ตัดให้เหลือตอไว้ ให้แตกกิ่งก้านสาขาใหม่ได้ ไม่ใช่การตัดทำลายจนโล่งเตียน” ผู้ใหญ่บ้าน อธิบาย

หากระยะหลัง การจับพิกัดทางดาวเทียมของป่าไม้ กลับอ้างว่าชาวบ้านบุกรุกพื้นที่ใหม่ ทั้งที่เป็นที่เดิมที่เคยทำกินแบบหมุนเวียนมาหลายชั่วอายุคน ทำให้หลายคนกังวลว่าจะถูกจับกุมจากเจ้าหน้าที่รัฐ ถ้าวนเข้าไปทำกินในพื้นที่เดิมของตนเอง ระยะเว้นช่วงของการทำไร่หมุนเวียนหดสั้นลงอย่างน่าใจหาย บางรายทำ 1 ปี เว้น 1-2 ปี ก็วนกลับมาที่เดิมอีกครั้ง ขณะที่บางรายโชคร้าย ถูกประกาศเขตป่าทับเกือบทุกพื้นที่ เหลือที่ทำกินเพียงแห่งเดียว ไม่สามารถเว้นระยะทำกินได้ ดินจึงขาดความอุดมสมบูรณ์ลงเรื่อยๆขณะเดียวกันสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง การต้องใช้ชีวิตอย่างรีบเร่งและแข่งขัน ซ้ำมีพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวรุกเข้ามา ชาวบ้านต้องปรับตัวจากเคยปลูกพืชกินเองก็ซื้อกิน พึ่งพาพืชอาหารจากตลาดเป็นหลัก พันธุ์พืชดั้งเดิมที่ปลูกในไร่หมุนเวียน และสวนหลังบ้านจึงลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว จากเดิมมีประมาณ 119 ชนิด ล่าสุดสำรวจพบแค่ 50 ชนิด บางชนิดได้สูญหายไปจากชุมชน

สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้ชาวบ้านกังวลว่าหากไม่เร่งอนุรักษ์หรือฟื้นฟูพันธุ์พืชพื้นบ้านไว้ จะทำให้ชุมชนขาดความมั่นคงทางอาหาร ต้องพึ่งพาจากภายนอก เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้สูงขึ้น และยังเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บที่มาจากอาหาร เนื่องจากควบคุมการใช้สารเคมีไม่ได้ อันเป็นที่มาของ “โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูพันธุ์พืชพื้นบ้านเพื่อความมั่นคงทางอาหารในชุมชน“ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.สำนัก 6นพดล สุต๋า สมาชิก อบต.เชียงกลาง ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในบ้านกอก เล่าเสริมว่า การทำไร่หมุนเวียนจะไม่มีวันทำให้ภูเขาหัวโล้นเหมือนการทำไร่เลื่อนลอย ซึ่งแบบหลังจะถางป่าใหม่เรื่อยๆ เพื่อขยายพื้นที่ทำกินให้มากขึ้น แต่การทำไร่หมุนเวียน เป็นการทำเกษตรแบบผสมผสาน เน้นการปลูกข้าวไร่เป็นพืชหลัก และเคยมีพันธุ์ข้าวพื้นบ้านให้ชาวบ้านเลือกปลูกกว่า 40-50 สายพันธุ์ อาทิ ข้าวก่ำ ข้าวซิว ข้าวจ้าว ข้าวเหนียว ปลูกผสมกับพืชอาหารอื่นๆ เช่น พริก แตงกวา แตงไทย มะเขือ งาดำ ฟักเขียว ฟักทอง น้ำเต้า มะระ ถั่วเขียว ถั่วดำ ข้าวโพด ฯลฯ เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วก็ปล่อยพื้นที่เดิมพักตัว ความเขียวขจีของต้นไม้และป่าก็จะกลับคืนมา

ดังนั้นในการทำโครงการ นอกจากมุ่งฟื้นฟูพืชพันธุ์พื้นบ้านทั้งในระบบไร่หมุนเวียน และสวนหลังบ้านแล้ว ยังเป็นการสร้างพื้นที่เรียนรู้ระหว่างผู้รู้ กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนบ้านกอก รวมถึงเยาวชนในชุมชนบ้านกอก ให้ได้รับการถ่ายทอดความรู้และคุณค่าของพืชพื้นบ้านกับไร่หมุนเวียน จะได้สืบทอดวัฒนธรรมชุมชน เช่น พิธีกรรมในระบบไร่หมุนเวียน พิธีกรรมกินสโลด (ตีพิ) พิธีกรรมการสู่ขวัญ รวมถึงรักษาความมั่นคงทางอาหารด้วย“ในช่วงแรกเราเก็บตัวอย่างเมล็ดพันธุ์พืชพื้นบ้านของชุมชนได้ 30 ชนิด จาก 50 ชนิด เช่น ฟักทอง ถั่วแปบ บวบงู ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วลิสง มะละกอ ผักกาดกวางตุ้ง ส้มป่อย มันสีม่วง มันแกว งาขาว งาดำ เผือก มะเขือ ผักชี ข้าวก่ำ พริก ดอกดาวเรือง ฯลฯ จึงวางเป้าหมายจะเก็บเพิ่มอีก 50 ชนิด ให้ได้อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 80 ชนิด เมื่อได้เมล็ดพันธุ์แล้วก็จะแบ่งให้ชาวบ้านช่วยกันปลูกขยายพันธุ์ไปเรื่อยๆ จะได้ประหยัดรายจ่ายในการซื้อพืชผัก และในอนาคตหากมีเมล็ดพันธุ์ หรือได้ผลผลิตจำนวนมาก ก็อาจขายให้ชุมชนใกล้เคียงด้วย” นพดล อธิบาย

ด้าน น.พ.บัญชา พงษ์พานิช ผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อกลั่นกรองทางวิชาการ ของ สสส. ย้ำว่า วิธีการเก็บพันธุ์พืชท้องถิ่นที่เป็นพืชอาหาร ทั้งของคน สัตว์ และพืชสมุนไพรที่เป็นยา นำกลับมาปลูกหมุนเวียนในไร่ และชักชวนเพื่อนบ้านให้ร่วมกันปลูกขยายพันธุ์ออกไป คือกลวิธีในการสร้างความมั่นคงทางอาหารด้วยการพึ่งพาตนเอง และคนในชุมชน ลดการพึ่งพาภายนอกอันที่จริงแล้ว สังคมไทยต้องยอมรับว่าคนถิ่น หรือลัวะ คือเจ้าถิ่น ไม่ได้เพิ่งเข้ามาอาศัยในผืนแผ่นดินไทย แต่นโยบายรัฐกลับสร้างผลกระทบให้พวกเขา ทั้งในด้านวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ ดังนั้นจึงถึงเวลาที่ทุกฝ่ายต้องคิดใหม่ เพื่อให้ชนดั้งเดิมเหล่านี้อยู่ได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตบนพื้นฐานวัฒนธรรมเดิม โดยสิ่งแรกคือต้องเข้าใจพื้นฐานทางวัฒนธรรมของลัวะ แล้ววางระบบที่เอื้อเฟื้อให้เขามีพื้นที่เพียงพอต่อการดำรงอยู่ ไม่เช่นนั้นเขาย่อมทำไร่หมุนเวียนที่สอดคล้องกับการอนุรักษ์ป่าต่อไปไม่ได้.

You may also like

builds มช. ขนทัพสตาร์ทอัพนักศึกษาคับคั่ง พิสูจน์ความสำเร็จ ตั้งบริษัทจริงระหว่างเรียน

จำนวนผู้