พ่อค้าจีนผวาขาดคนเก็บลำไย ผู้ว่าฯจี้จัดหางานเร่งปชส.กม.ใหม่ใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายโทษสูงปรับ4-8 แสนบาท

พ่อค้าจีนผวาขาดคนเก็บลำไย ผู้ว่าฯจี้จัดหางานเร่งปชส.กม.ใหม่ใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายโทษสูงปรับ4-8 แสนบาท

ผู้ว่าฯจี้จัดหางานเร่งประชาสัมพันธ์กฎหมายแรงงานต่างด้าวใหม่ หลังกงสุลใหญ่จีนขอคุย เหตุล้งผวาขาดแรงงานเก็บลำไยและกลัวถูกจับเพราะค่าปรับสูงถึง 4-8 แสนบาทต่อคน เผยหลายกิจการผวาถึงขั้นเลิกกิจการหากถูกจับ ขณะที่จัดหางานชี้รัฐบาลไม่มีนโยบายเปิดรับจดทะเบียนใหม่ เพื่อส่งเสริมการใช้ชนกลุ่มน้อยที่ไร้สถานะทางทะเบียนในไทยให้ทํางานได้ทุกประเภท

ในการประชุมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดเชียงใหม่ ประจำเดือนมิถุนายน นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ขอให้ทางจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ชี้แจง เกี่ยวกับพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 เนื่องจากขณะนี้ทราบว่าเป็นที่วิตกกังวลอย่างมากของผู้ประกอบการเอกชนและหลายกิจการที่ต้องใช้แรงงาน โดยเฉพาะทางนายเหริน ยี่เซิงกงสุลใหญ่จีน ประจำจังหวัดเชียงใหม่ ได้มาสอบถามเรื่อง พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว ฉบับใหม่ เนื่องจากเกรงจะกระทบกับล้งจีนที่รับซื้อลำไย และขณะนี้ก็ใกล้เก็บผลผลิตแล้วหากขาดแคลนแรงงานเก็บลำไยก็จะมีปัญหา

ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวอีกว่า ทางจัดหางานจะต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้กว้างขวางมากขึ้น เพราะทางกงสุลใหญ่จีนมีการรับฟังปัญหาจากเครือข่ายและเข้ามาถามผมโดยตรงว่าจะทำอย่างไรให้เข้าถึงข้อมูลนี้ได้มากขึ้น และก็ตกใจกันมากเนื่องจากโทษตามกฎหมายใหม่นี้แรงมาก เพราะถ้าหากถูกจับโทษปรับสูงขั้นต่ำ 4 แสนบาท สมมติร้านก๋วยเตี๋ยวจ้างต่างด้าวมาเสริฟและถูกจับเพราะไม่ได้ขึ้นทะเบียน เจ๊งเลย และเรื่องของแรงงานก็ถือเป็น 1 ใน 3 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การค้ามนุษย์ที่ตอนนี้ประเทศไทยถูกจัดอันดับเป็นประเทศในกลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง (เทียร์ ทู วอทช์ลิสต์) เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน โดยเมื่อปีที่แล้วสหรัฐฯ ได้ยกระดับไทยให้ดีขึ้นหลังจากที่อยู่ในกลุ่มที่แย่ที่สุดคือบัญชีประเภท 3 (เทียร์ 3) ซึ่งเรื่องของแรงงานก็เป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่ทำให้ไทยได้ยกระดับขึ้น

“นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก และเร็วๆ นี้ท่านจะไปเยือนสหรัฐอเมริกาด้วย ซึ่งการดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ก็จะมี 3 ด้านคือ เด็ก สตรีและแรงงาน โดยนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญทั้ง 3 เรื่องและได้ย้ำแล้วว่าห้ามเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย โดยจะมีหนังสือจากพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลเรื่องนี้แจ้งมายังทุกภาคส่วนจึงขอฝากหัวหน้าส่วนราชการในเรื่องนี้ไว้ด้วย”ผวจ.เชียงใหม่ กล่าว

ทางด้าน นางเยาวภา พิบูลย์ผล จัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายเปิดการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวใหม่ แต่ให้ใช้การนําเข้าแบบ MOU เท่านั้น และมีการบังคับใช้กฎหมายจริงจัง และเพิ่มโทษรุนแรง โดยจะส่งเสริมการใช้ชนกลุ่มน้อยที่ไร้สถานะทางทะเบียนในไทย (ทํางานได้ทุกประเภท/ออกใบอนุญาตได้ตลอด/ออกนอกพื้นที่ อําเภอได้โดยไม่ต้องขออนุญาต

สำหรับพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2560 โดยรวมกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 และพระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ.2559 ไว้เป็นฉบับเดียวเพื่อให้ความคุ้มครอง มีกลไกการร้องทุกข์สำหรับคนต่างด้าวที่ได้รับความเสียหายจากการที่นายจ้างหรือผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงาน ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ความรับผิดชอบที่กฎหมายกำหนด และได้แก้ไขเพิ่มเติม    

สำหรับบทกำหนดโทษผู้กระทำผิดให้มีอัตราโทษที่สูงขึ้น อาทิเช่น 1. ผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 – 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 600,000 – 1,000,000 บาท ต่อคนต่างด้าว 1 คน หรือทั้งจำทั้งปรับ 2. ผู้ใดสนับสนุนการกระทำความผิดตาม ข้อ 1 จะต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 – 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000 – 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

  1. ผู้ใดประกอบธุรกิจนำคนต่างด้าวมาทำงาน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมการจัดหางาน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 – 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000 – 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 4.นายจ้างผู้ใดนำคนต่างด้าวมาทำงานกับตนในประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมการจัดหางาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท ต่อการนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงาน 1 คน หรือทั้งจำทั้งปรับ

5.ผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานประกอบธุรกิจอื่นที่อธิบดีกรมการจัดหางานประกาศห้ามประกอบธุรกิจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ6. ผู้ใดรับคนต่างด้าวทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำหรือรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 400,000 – 800,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน  7. ผู้ใดรับคนต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงาน ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 400,000 – 800,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน

8.ผู้ใดให้คนต่างด้าวทำงานแตกต่างจากที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 400,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน 9.ผู้ใดยึดใบอนุญาตทำงานหรือเอกสารสำคัญประจำตัวของคนต่างด้าวไว้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ     10. นายจ้างไม่แจ้งนายทะเบียนกรณีที่คนต่างด้าวออกจากงาน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท 11. คนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน หรือทำงานที่ห้ามไม่ให้คนต่างด้าวทำ  มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 – 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

12.คนต่างด้าวซึ่งไม่แจ้งนายทะเบียนกรณีทำงานจำเป็นเร่งด่วน มีระวางโทษปรับตั้งแต่ 20,000 – 100,000 บาท           13. คนต่างด้าวทำงานแตกต่างจากที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท

จัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า พระราชกำหนดฉบับใหม่นี้มีโทษรุนแรงสำหรับนายจ้างที่กระทำผิดมากขึ้น จึงขอประชาสัมพันธ์ให้นายจ้าง/สถานประกอบการเพิ่มความระมัดระวังในการตรวจสอบแรงงานต่างด้าวที่จะเข้ามาทำงานกับตนให้เข้มงวดขึ้น หากพบว่าไม่ถูกต้องให้รีบดำเนินการ  ให้ถูกต้อง จะได้สบายใจทั้งนายจ้างและลูกจ้าง.

You may also like

ผบ.นบ.ยส.35 ลงพื้นที่อำเภอไชยปราการ เพื่อตรวจเยี่ยมกำลังพลเพิ่มความเข้มก่อนหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์

จำนวนผู้