“พิการ”มิใช่ไร้ความสามารถ พัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยสิทธิและฝีมือ

“พิการ”มิใช่ไร้ความสามารถ พัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยสิทธิและฝีมือ

3 ธันวาคม ของทุกปี ถือเป็นวันคนพิการสากล ตามประกาศขององค์การสหประชาชาติ เพื่อรำลึกถึงวันครบรอบที่สมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติมีมติรับแผนปฏิบัติการโลก ว่าด้วยเรื่องคนพิการ และได้ให้ประเทศสมาชิกร่วมกันจัดกิจกรรม เพื่อส่งเสริมความเข้าใจของสังคมต่อคนพิการ และยอมรับให้เข้าร่วมกิจกรรมในด้านต่างๆแต่ถ้าเลือกเกิดได้คงไม่มีใครอยากเป็นคนพิการ ไม่ว่าจะเป็นความพิการประเภทไหน พิการตั้งแต่กำเนิดหรือเป็นความพิการที่เกิดขึ้นในภายหลัง หากเมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ กำลังใจ ความเข้าใจ รวมถึงการใส่ใจจากคนรอบข้าง ความเอื้ออาทรจากสังคม จึงมีความหมาย เพื่อให้คนพิการยอมรับตัวเอง และปรับตัวให้สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข

ทว่าสิ่งหนึ่งที่พบในคนพิการส่วนใหญ่ คือการไม่รู้สิทธิของตนเอง ทำให้ไม่ได้รับสิทธิ หรือเข้าไม่ถึงสิทธินั้น กลายเป็นคนขาดโอกาสไปโดยปริยาย และนับเป็นแรงผลักดันให้พวกเขารวมตัวกัน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตในทุกๆ ด้าน ดังจะเห็นได้จากภาพสะท้อนในหลายพื้นที่สมบูรณ์ อิ่มนวน ประธานกลุ่มยิ้มสู้ เล่าว่า คนพิการทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นทางการมองเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว จิตใจ สติปัญญา การเรียนรู้ หรือออทิสติก ในพื้นที่ อบต.สันติสุข อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ มีมากถึง 200 กว่าคน แต่ที่ผ่านมามักประสบปัญหาด้านการประกอบอาชีพ ขาดรายได้ จึงได้ร่วมกับเพื่อนคนพิการอีก 5 คน เข้ารับการอบรมที่ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ และกลับมาก็เริ่มเลี้ยงจิ้งหรีด ปลูกผัก และเพาะเห็ด ปรากฏว่าได้ผลตอบรับดีมาก ผลผลิตแทบไม่พอขาย สร้างความตื่นตัวและสนใจให้กับคนพิการรายอื่นๆ ในท้องถิ่น และเขตอำเภอใกล้เคียงเป็นอย่างมาก จึงเกิดแนวคิดขยายผลใช้บ้านเป็นแหล่งเรียนรู้ และสถานที่ฝึกอบรมอาชีพ โดยจัดตั้งศูนย์บริการอาชีพอิสระคนพิการและครอบครัว ระดับพื้นที่ จ.เชียงใหม่ สายใต้ ขึ้นในปี 2560 ดูแลคนพิการในเขต อ.สันป่าตอง แม่วาง ดอยหล่อ จอมทอง ฮอด ดอยเต่า ซึ่งมีทั้งหมดมากกว่า 4,000 คนแต่ศูนย์สามารถให้บริการฝึกอาชีพได้แค่รุ่นละ 10 คน ตามงบประมาณที่สนับสนุนจากบริษัทเอกชน ที่เข้าใจเรื่องกฎหมายคนพิการ ซึ่งกำหนดให้คนงาน 100 คน ต้องมีคนพิการ 1 คน หากไม่ได้จ้างคนพิการ ต้องโอนเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเป็นรายปี ประมาณ 1.1 แสนบาท/คน และเงินส่วนนี้เอง ที่ถูกแบ่งมาใช้ในกิจกรรมนี้ ขณะที่เทศบาลก็ช่วยหนุนเสริมด้านอุปกรณ์ เครื่องมือ รถ และงบประมาณบางส่วน เช่นเดียวกับศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน และพัฒนาชุมชน ที่หนุนทั้งงบประมาณ และวิทยากรในการอบรม จะเน้นเป็นอาชีพอิสระมั่นคง ทำได้จริงด้วยตนเอง และใช้พื้นที่น้อย ลงทุนต่ำ รายได้ดี อาทิ การเลี้ยงจิ้งหรีด เพาะเห็นนางฟ้าภูฐาน ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ เลี้ยงไส้เดือน แปรรูปผลิตภัณฑ์ เพราะบางครั้งผลผลิตออกมามาก ก็ต้องแปรรูปเป็นแหนมเห็ด หรือไส้อั่ว 3 สหาย ประกอบด้วย เห็ด หมู และจิ้งหรีด เป็นส่วนผสม สร้างมูลค่าเพิ่ม และเป็นอาชีพได้ ที่สำคัญเมื่อทำแล้วต้องขายได้ ดังนั้นจึงมีการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ของคนพิการภายใต้แบรนด์ “ยิ้มสู้” แล้วนำขึ้นห้างแม็คโครในเขตจังหวัดภาคเหนือ เพื่อสร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับคนพิการ เปลี่ยนภาระ ให้เป็นพลัง ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้พิการให้ดีกว่าเดิมเซนต์ วงค์สวัสดิ์ ประธานชมรมคนพิการอำเภอปัว จ.น่าน บอกว่าเมื่อก่อนคนพิการคือผู้ด้อยโอกาส มีแค่เบี้ยยังชีพจากเทศบาล ไม่มีใครหยิบยื่นโอกาส หรือช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ถูกมองเป็นภาระของคนในครอบครัว และสังคม แต่เมื่อตนมีโอกาสเข้าร่วมอบรมส่งเสริมการให้ความรู้ ฟื้นฟูสมรรถภาพ ร่วมกับทาง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล, โรงพยาบาลปัว ก็ทำให้ฉุกคิดว่าคนพิการในพื้นที่ยังไม่รู้สิทธิของตนเอง จึงรวมกลุ่มคนพิการใน ต.เจดีย์ชัย แล้วเชิญวิทยากรจากหน่วยงานต่างๆ เข้ามาช่วยฝึกอบรม เช่น โรงพยาบาล อำเภอ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.น่าน ให้ความรู้ทั้งการส่งเสริมอาชีพ เลี้ยงปลาดุก ปลาหมอเทศในบ่อซีเมนต์ เลี้ยงปลาในกระชังบก การเข้าถึงสิทธิของคนพิการ การฟื้นฟูสมรรถภาพ รวมถึงจัดหากายอุปกรณ์ให้ในรายที่ขาดแคลนเช่น คุณยายรายหนึ่ง พิการทางการเคลื่อนไหว เดินไม่ได้ อายุเกือบ 70 ปีแล้ว ก่อนหน้านี้อยู่บ้านคนเดียว พอเราเข้าไปดูแลด้านกายอุปกรณ์ ประสานกับทางโรงพยาบาลจัดหารถเข็นให้ หาเก้าอี้เสริมให้นั่งห้องน้ำได้ จนสภาพร่างกายเริ่มฟื้นฟู เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น ก็ส่งเสริมอาชีพ หาบ่อซีเมนต์ ปลา และอาหารปลามาให้ ช่วยให้เขามีกิจกรรมทำในชีวิตประจำวัน ทั้งยังนำมากิน และขายได้ ตอนนี้นอกจากจะมีสุขภาพกายที่แข็งแรงกว่าเดิม คุณยายยังมีสุขภาพจิตที่ดี สดชื่นแจ่มใส ยิ้มง่ายขึ้นเมื่อเห็นว่าคนพิการที่ได้รับการเอาใจใส่ หยิบยื่นโอกาส อาชีพ และความรู้ ความเข้าใจในสิทธิของตนเอง มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตดีขึ้นค่อนข้างชัดเจน ก็มีการขยายผลสู่ระดับอำเภอ ตั้งเป็นชมรมคนพิการอำเภอปัว เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2558 พร้อมกับของบประมาณและวิทยากรจาก พมจ. และ กศน. เริ่มฝึกอบรมคนพิการตำบลละ 10 คน ภายหลังขยายเป็นตำบลละ 20 คนเช่นเดียวกับ กิตติ  สืบสันติพงษ์  เลขานุการชมรมคนพิการตำบลแม่ปะ ที่เล่าถึงสถานการณ์ของคนพิการในพื้นที่ ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก ก่อนตั้งชมรมว่า คนพิการส่วนใหญ่ไม่รู้สิทธิของตนเอง ได้รับเพียงเบี้ยยังชีพคนพิการจาก อบต.ในแต่ละเดือน แล้วถูกปล่อยปละละเลยจากองค์กรและหน่วยงานต่างๆ ในสังคม ชุมชน จนคุณภาพชีวิตย่ำแย่ ขาดการพัฒนา จึงรวมกลุ่มประมาณ 30 คน จากที่ขึ้นทะเบียนไว้ทั้งหมด 200 กว่าคน ก่อตั้งชมรมคนพิการตำบลแม่ปะ ในปี 2555 โดยมีเป้าหมายให้คนพิการอยู่ดีกินดี เข้าถึงสิทธิและสวัสดิการช่วงแรกของการดำเนินงานในชมรมถือว่าหลงทาง เน้นลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน ทำโครงการต่างๆ รวมถึงอบรมอาชีพ เช่น การเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ปรากฏว่าไม่ได้ผล ขาดความยั่งยืน ซ้ำคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพ และสังคมไม่มีความก้าวหน้า กระทั่งได้ร่วมมือกับบริษัทเอกชน กรมป่าไม้ ธนาคาร ฯ ให้เข้ามาสนับสนุนการจ้างงาน เช่น จ้างเหมาบริการปลูกป่าฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ก็พบว่าคนพิการทำได้ดี ที่สำคัญคือทุกคนกระตือรือร้นที่จะทำงาน มีการแข่งขัน มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในกลุ่มคนพิการระหว่างทำงาน เรียกได้ว่าการจ้างงาน เป็นตัวนำของการพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกๆ ด้าน ทำให้คนพิการมีความสุขมากขึ้นและเมื่อมีการรวมตัวกัน ก็ก่อให้เกิดความเข้มแข็ง อบต.แม่ปะ ก็สามารถจัดสรรงบประมาณช่วย ภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตำบลแม่ปะ เช่น การอบรมทำยาหม่องสมุนไพร โดยมีคนพิการเข้าร่วมอบรม 60 คน ถือเป็นการเพิ่มทักษะอาชีพให้คนพิการที่ว่างงานให้มีรายได้ และพึ่งตนเองได้

ปัจจุบัน ชมรมคนพิการตำบลแม่ปะ มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 500 กว่าคน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว แต่ช่วงแรกไม่ได้ขึ้นทะเบียน เพราะไม่รู้สิทธิของตนเอง และจากชมรมเล็กๆ ได้ขยายเครือข่ายสู่ระดับอำเภอ / จังหวัด ทำให้เกิดสมาคมคนพิการทางกายและการเคลื่อนไหวตาก ที่มีเครือข่ายชมรมคนพิการระดับตำบลถึง 36 ชมรม และในการดำเนินกิจกรรม นอกจากการปลูกป่า ยังมีการรวมกลุ่มทำร้านค้าชุมชน โรงงานน้ำดื่ม กลุ่มแปรรูปผ้าทอสิ่งเหล่านี้ แสดงให้เห็นศักยภาพของคนพิการ ว่ายังเปี่ยมด้วยความสามารถ และทำงานเพื่อขับเคลื่อนชีวิตของตนเองและครอบครัวให้เดินไปข้างหน้าได้อย่างมีความสุข เป็นแบบอย่างที่คนพิการทั่วไปไม่ควรมองข้าม เขาลุกขึ้นมาต่อสู้อย่างไร จึงยืนหยัดได้ในสังคม โดยสิ่งที่ได้รับจากสังคมภายนอกไม่ใช่การเวทนา แต่ได้รับด้วยสิทธิและความสามารถจริงๆ.

You may also like

“ส.ว.ก๊อง”ลั่นลงสมัครป้องกันแชมป์สมัยหน้าในนามพรรคเพื่อไทย แย้มครั้งนี้ “ทักษิณ” ขอเป็นผู้ช่วยหาเสียง พร้อมลงพื้นที่ 25 อำเภอ

จำนวนผู้