ผู้ว่าฯนำทีมแถลงแผนป้องกันไฟป่าฯฝุ่นpm2.5 เผยเน้นลดการเผา บรรเทาปัญหา

ผู้ว่าฯนำทีมแถลงแผนป้องกันไฟป่าฯฝุ่นpm2.5 เผยเน้นลดการเผา บรรเทาปัญหา

จังหวัดเชียงใหม่เปิดโต๊ะแถลงแผนและการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นpm2.5  ผู้ว่าฯเผยจะทำให้ปัญหาเบาบางและเกิดความยั่งยืนในอนาคต ขณะที่หน่วยงานดูแลพื้นที่ป่าแจงลดHot Spot และพื้นที่เผาไหม้ได้มากกว่าปีที่ผ่านมากว่า 50% ส่วนพื้นที่เกษตรเผาไม่เกินร้อยละ 15 ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่นาและสวนลำไย

เมื่อวันที่ 26 ม.ค.64 ที่บ้านสวนสันผีเสื้อ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผวจ.เชียงใหม่พร้อมด้วยนายรัฐพล นราดิศร รองผวจ.เชียงใหม่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับการบริหารจัดการไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่ โดยผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ได้มีการเตรียมการและดำเนินงานตามแผนตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา โดยเอาสิ่งที่ทุกภาคส่วนได้ทำงานและหารือร่วมกันมาดำเนินงาน ซึ่งปีนี้ไม่กล้าตั้งเป้าหมายว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนปีที่ผ่านมา แต่ก็จะพยายามทำให้ปัญหาลดลงไปจากเดิมและทำให้เกิดความยั่งยืนได้ในอนาคต

“การพบปะกับสื่อมวลชนในครั้งนี้ ก็ถือเป็นส่วนสำคัญเนื่องจากสื่อมวลชนจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำงานร่วมกับทางจังหวัดและองค์กร หน่วยงานที่ร่วมกันดำเนินงานเพื่อสื่อสาร ถ่ายทอดไปถึงพี่น้องประชาชน นอกจากนี้ยังนำสิ่งที่ประชาชนต้องการและสะท้อนมาถึงภาคราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นpm2.5 ของจังหวัดเชียงใหม่บรรลุถึงเป้าหมายนั่นคือทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและ มีสุขภาพที่ดีด้วย”นายเจริญฤทธิ์ กล่าว

ด้านนายรัฐพล กล่าวว่า ในห้วงปี 63 ที่ผ่านมาได้มีการแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ส่วนคือนอกเมือง เป็นพื้นที่เกษตรและพื้นที่ป่าและพื้นที่ในเมืองซึ่งมีแหล่งมลพิษอีกแบบหนึ่ง โดยยอมรับว่าปีที่ผ่านมาปัญหาฝุ่นควันและไฟป่าสูงมากโดยเฉพาะดอยสุเทพเป็นสี เพราะเกิดไฟสูงมาก ซึ่งการดำเนินงานจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนเป็นผู้จัดทำแผนและทางจังหวัดและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องจะเป็นผู้สนับสนุนซึ่งมีอยู่ 400 กว่าหมู่บ้าน และที่ผ่านมาได้ไปตรวจดูการจัดทำแผนในระดับอำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน ซึ่งมีเครือข่ายที่ลงทะเบียนไว้สองหมื่นกว่าคนที่จะเป็นผู้ปฏิบัติในพื้นที่ การประสานงานระดับพื้นที่ชุมชน จะมีศูนย์ระดับตำบล อำเภอและจังหวัดเป็นตัวเชื่อม

“ในแนวทางที่ผ่านมามีการประเมินอยู่ต่อเนื่อง ห้วงที่อากาศไม่ดีคณะกรรมการศูนย์ฯได้ประสานศูนย์อำเภอฯให้งดการบริหารจัดการเชื้อเพลิงเพื่อไม่ให้ปัญหาฝุ่นควันมีค่าสูงที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน นอกจากนี้ผู้ว่าฯยังสั่งการให้อปท.จัดทำงบฯสนับสนุนการแก้ปัญหาหมอกควันและไฟป่าซึ่งก็ได้ดำเนินการแล้ว โดยงบฯดังกล่าวจะถึงคนในพื้นที่ที่ทำหน้าที่ลาดตระเวน ทำแนวกันไฟและจัดเก็บเชื้อเพลิง นอกจากนี้จังหวัดยังสนับสนุนงบฯให้หน่วยงานฟังก์ชั่น จัดซื้ออุปกรณ์วัสดุที่ขาดแคลนและงบฯสำหรับเป็นขวัญและกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงาน”

ทางมูลนิธิสภาลมหายใจจะเป็นหน่วยงานกลางที่จะรับบริจาค สำหรับผู้ที่ประสานจะร่วมบริจาค ตลอดจนกระจายสิ่งของเพื่อให้กระจายและทั่วถึง และรวบรวมว่ามีพื้นที่ไหนที่มีผู้บริจาคโดยตรงด้วย  อีกส่วนหนึ่ง สำหรับอาสาสมัครดับไฟจะได้รับการทำประกันภัยจากคปภ.ซึ่งจะให้ความคุ้มครองในกรณีที่ได้รับบาดเจ็บและเสียรายได้ในช่วงระหว่างประสบเหตุ ซึ่งเป็นหลักประกันที่แก้ไขปัญหาที่เคยเกิดขึ้น ส่วนพื้นที่ในเมืองได้ขอความร่วมมืออปท.รณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ของประชาชนลดการเผาและลดมลพิษจากแหล่งต่างๆ ซึ่งก็จะทำไปเรื่อยๆ

ในการบูรณาการทางกองทัพภาคที่ 3มีกองบัญชาการส่วนหน้าที่เชียงใหม่และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีการจัดตั้งศูนย์ฯซึ่งให้ผู้ตรวจกระทรวงฯเป็นผอ.ศูนย์ฯซึ่งก็จะมีการเชื่อมประสานทำงานขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นpm2.5 ด้วยกัน

นายสมบูรณ์ ธีรบัณฑิตกุล ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า ในปี 63 จังหวัดเชียงใหม่เกิดจุดความร้อน 21,658 จุดพื้นที่เผาไหม้ 1,389,078 ไร่และในปี 64 มีเป้าหมายให้จุดความร้อนเกิดขึ้น 17,326 จุดพื้นที่เผาไหม้ต้องไม่เกิน 1.038,059 ไร่

ส่วนกิจกรรมป้องกันไฟป่าฯ ปีที่แล้วจุดความร้อนเกิดขึ้นห้วงเดียวกันกว่า 1 พันจุดแต่ปีนี้สามารถลดได้ถึงร้อยละ50 ส่วนการบริหารจัดการเชื้อเพลิงปีที่แล้วห้ามเผาเด็ดขาดแต่กลับพบว่ามีการลักลอบเผาจำนวนมาก ปีนี้ตั้งเป้า 5 แสนไร่ในช่วง 4 เดือนที่จะต้องบริหารจัดการเชื้อเพลิง ซึ่งตั้งแต่ม.ค.มาถึงขณะนี้สามารถบริหารจัดการเชื้อเพลิงได้ 119,126 ไร่ ส่วนการชิงเก็บ ลดเผา สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ตั้งเป้าไว้ 100 ตัน การแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยหน่วยงานเดียว

ขณะที่นายเกรียงศักดิ์ ถนอมพันธ์ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 กล่าวว่า สบ.16 ดูแลพื้นที่ป่าอนุรักษ์  โดยจะดำเนินการแผนเชิงรุกมากกว่าเชิงรับซึ่งจะมีการบริหารทั้งคนและทรัพยากร โดยได้บริหารจัดการเชื้อเพลิงที่อภ.โซนใต้ในหลายอำเภอตั้งแต่ต้นปีมา และอธิบดีกรมอุทยานฯได้มาติดตามและเน้นย้ำให้บูรณากลดารทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน

พื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงได้มีการวางแผนให้มีการเฝ้าระวัง ติดตามพื้นที่นั้นอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังได้มีการตั้งศูนย์เฝ้าระวังไฟป่าที่ สบอ.และตามสถานีในพื้นที่เพื่อติดตามประเมินผลด้วย ช่วงวันที่ 25ม.ค.กรมฯได้ส่งเจ้าหน้าที่เหยี่ยวไฟจากทั่วประเทศมาฝึกอบรมที่เชียงใหม่ ซึ่งพร้อมที่จะช่วยเข้าปฏิบัติการในพื้นที่ลำบากและพื้นที่ล่อแหลมต่างๆ ซึ่งจะมีการติดตามช่วยเหลืออย่างเข้มข้น

นายกมล นวลใย ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 เชียงใหม่ กล่าวว่า กรมป่าไม้มีพื้นที่ป่าในเชียงใหม่ที่ต้องดูแล 25 ป่าเนื้อที่ 7.9 ล้านไร่ เป็นป่าสมบูรณ์ 6.3 ล้านไร่และอีก 1.7 ล้านไร่ที่เป็นป่าเสื่อมโทรมและเป็นพื้นที่ที่ประชาชนเข้าไปทำกินและอยู่อาศัย ซึ่งมีการตั้งเครือข่ายป้องกันไฟป่าฯ 200 กว่าเครือข่าย โดยให้มีการเก็บเชื้อเพลิงลดเผาซึ่งนำออกนอกพื้นที่ไปแล้ว 60 ตันและอีกส่วนมีการจัดเก็บใส่เสวียนไว้ร่วม7 พันแห่งสามารถลดเชื้อเพลิงได้ 350 ตันซึ่งปีที่ผ่านมาเชื้อเพลิงเหล่านี้จะถูกเผาไหม้ แต่ปีนี้มีการจัดเก็บเพื่อลดการเผา และที่สำคัญคือการสร้างการรับรู้ให้ประชาชนในพื้นที่ เป็นการสร้างวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยจัดทำเป็นปุ๋ยและเพาะเลี้ยงเห็ดซึ่งจะมีการนำเชื้อเห็ดไปเพาะในเสวียนทำให้ประชาชนมีรายได้และเป็นมิติใหม่ในการป้องกันปัญหาไฟป่าด้วย

นอกจากนี้ได้จัดทำแนวกันไฟที่เครือข่ายและจนท.เป้าหมาย1.1 แสนไร่โดยเฉพาะพื้นที่วิกฤตปีที่ผ่านมา และได้เพิ่มพื้นที่ใหม่อีก 1.4 หมื่นไร่ดังนั้นปี64 จึงมีพื้นที่ครอบคลุมกว่า 1.2  แสนไร่ที่ดำเนินการจาก 170 เครือข่ายที่จะเป็นผู้ดำเนินการซึ่งมีการอุดหนุนงบประมาณลงไปให้เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาไฟป่าอย่างมีส่วนร่วม

นายวิษณุ วิทยวรารัตน์ ท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ได้สั่งการให้อปท.จัดทำแผนงานและงบประมาณในการแก้ไขปัญหาไฟป่าฯ ซึ่งได้ดำเนินการแล้ว รวมทั้งให้จัดทำพื้นที่ปลอดฝุ่น ในกรณีที่ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรการและมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนให้กลุ่มเสี่ยงมีพื้นที่ปลอดภัย และให้อปท.จัดรถฉีดพ่นน้ำในพื้นที่ของตัวเองในช่วงที่อากาศวิกฤต นอกจากนี้ในส่วนของเงินโบนัส ทางกทจ.,กทบ.,และก.อบต.จะได้รับเพิ่มหากมีการบริหารจัดการปัญหาไฟป่าฯได้ดีเพิ่มจากหลักเกณฑ์เดิมที่เคยกำหนดด้วย

ว่าที่ร.ต.ณัฐพงค์ ฐิติวิกรานต์ หน.สนง.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการฯและพร้อมป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นฯตามแผนเผชิญเหตุ รวมทั้งปฏิบัติตามมาตรการ “4 พื้นที่ 5 มาตรการบริหารจัดการ”เพื่อขับเคลื่อนการปฏิบัติโดยใช้กลไกของคณะทำงานศูนย์บัญชาการป้องกันแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองpm2.5 จังหวัดเชียงใหม่

นางพรทิพย์ มธุรวาทิน หัวหน้ากลุ่มงานอนามัยสิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัย สนง.สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ได้ให้จนท.เก็บบันทึกข้อมูลใน13 กลุ่มโรคเฝ้าระวังที่เข้ารับการรักษาที่รพ.และสถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นpm2.5 ตั้งแต่เดือนธ.ค.ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจจำนวน 1,297  ราย ผู้ป่วยกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง 155 ราย ผู้ป่วยกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบจากภาวะpm2.5 จำนวน 1,297 รายและกลุ่มโรคตาอักเสบ 1,094  ราย

ทั้งนี้สสจ.ได้ดำเนินมาตรการเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนโดยมีการแจ้งเตือนความเสี่ยงต่อสุขภาพและการเฝ้าระวังกลุมบุคคลเสี่ยง เฝ้าระวังคุณภาพอากาศเพื่อเตือนภัยและสร้างความร่วมมือในการจัดหาเครื่องวัดคุณภาพอากาศเพื่อให้ประชาชได้รับทราบถึงสถานการณ์ นอกจากนี้ยังมีการเฝ้าระวังกรณีหากพบความผิดปกติของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เพิ่มขึ้นผิดปกติมากกว่า 3 น มีการยกระดับความรอบรู้และตอบโต้ความเสี่ยงต่อสุขภาพโดยประชาสัมพันธ์ทุกช่องทาง

นางวราภรณ์ วรพงศธร ขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ได้ดำเนินการตรวจวัดควันดำมาต่อเนื่อง โดยสนง.ขนส่งฯได้ตรวจพบ 321 คันซึ่งให้ไปแก้ไขใหม่แล้วมาตรวจสภาพรถซ้ำจนกว่าจะผ่านถึงจะสามารถนำออกมาใช้งานได้ ในส่วนของตรอ.ในพื้นที่ 135 แห่ง ตรวจรถพบกว่า 2,000 คัน ซึ่งรถที่ไม่ผ่านก็ให้มีการปรับแก้ไขให้ถูกต้องไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถต่อภาษีได้

ขณะที่นางเขมวรรณ ดวงจันทร์ เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้รณรงค์หยุดเผาในพื้นที่เกษตรมากว่า 5 ปีซึ่งปีนี้มีวัสดุเหลือใช้กว่า7  แสนตัน  จากพื้นที่กว่า 1 ล้านไร่ซึ่งจะไม่มีการเผา โดยมีการบริหารจัดการแยกเป็นเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้ 583,780 ตัน บริหารจัดการเผา 115,458 ตันและปล่อยให้ย่อยสลายตามธรรมชาติ ซึ่งแยกเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มี 405,000 ไร่ โดยจะมีการเผาเพียง 73,500 ตันโดยร้อยละ 56 จะนำไปเพิ่มมูลค่าและร้อยละ 21 ที่ปล่อยให้ย่อยสลายเอง ส่วนพื้นที่นาที่ปลูกข้าวมีพื้นที่ 489,000 ไร่ โดยส่วนใหญ่จะนำวัสดุไปเพิ่มมูลค่าถึงร้อยละ89 ซึ่งจะมีการเผาเพียงร้อยละ 8 และอีกร้อยละ 3 หรือ 9,530 ตันจะปล่อยให้ย่อยสลายตามธรรมชาติสำหรับพื้นที่ปลูกลำไย 200,854 ไร่นั้นร้อยละ 91หรือ14,598 ตันจะนำไปเพิ่มมูลค่าจะมีการเผาเพียง 16,508  ตันและปล่อยให้ย่อยสลายตามธรรมชาติ 3,730 ตัน

“ปี 64 ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมหยุดเผาในพื้นที่เกษตรเป้าหมาย 540 รายในพื้นที่9  ตำบล/ชุมชนใน  8 อำเภอได้แก่ อมก๋อย ดอยเต่า สันทราย เชียงดาว สะเมิง ฮอด  ดอยสะเก็ดและแม่แตง ชุมชนละ60  ราย ซึ่งมีการสร้างชุมชนปลอดการเผา ถ่ายทอดความรู้และพัฒนาศักยภาพเกษตรกร มีการสาธิตการใช้เทคโนโลยีการเกษตรจัดการเศษวัสดุการเกษตรทดแทนการเผาและรณรงค์ลดเผา ซึ่งให้ทุกอำเภอดำเนินการ”เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ กล่าว

You may also like

ผบ.นบ.ยส.35 ลงพื้นที่อำเภอไชยปราการ เพื่อตรวจเยี่ยมกำลังพลเพิ่มความเข้มก่อนหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์

จำนวนผู้