ปศุสัตว์แจงเชียงใหม่ผลิตสุกรเดือนละ 71,000 ตัวแต่บริโภควันละ 200 ตันยันตรวจห้องเย็น 19 แห่งพบกักเก็บไว้เพียง 592 ตัน

ปศุสัตว์แจงเชียงใหม่ผลิตสุกรเดือนละ 71,000 ตัวแต่บริโภควันละ 200 ตันยันตรวจห้องเย็น 19 แห่งพบกักเก็บไว้เพียง 592 ตัน

ปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่เผยในเชียงใหม่บริโภคเนื้อสุกรวันละ 200 ตัน โดยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย กว่า 14,664 ราย มีสุกรที่เลี้ยงทั้งหมด 370,395 ตัว ขณะที่การผลิตสุกรทั้งในพื้นที่และนำเข้าจากตจว.71,000 ตัว แจงสำรวจห้องเย็น 19 แห่งพบมีสินค้ากักเก็บเพียง 592 ตันเท่านั้น ชี้การควบคุมราคาต้องถามพาณิชย์

นายอนุสรณ์ หอมขจร ปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยถึงสถานการณ์สุกรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ว่า จากการสำรวจเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีทั้งหมด 15,092 ราย โดยแยกเป็นผู้เลี้ยงรายย่อยซึ่งจะเลี้ยงสุกรไม่เกิน 51 ตัวมีจำนวน 14,664 ราย ผู้เลี้ยงสุกรรายเล็ก(มีสุกร 51-500 ตัว) จำนวน 289 ราย ,รายกลาง(501-5,000 ตัว) จำนวน 134 รายและรายใหญ่ซึ่งเลี้ยงสุกรมากกว่า 5 พันตัวขึ้นไปมีจำนวน 5 ราย

สำหรับประเภทสุกรที่เลี้ยงแยกเป็นสุกรพ่อพันธุ์จำนวน 2,254 ตัว แม่พันธุ์ 24,802 ตัว ลูกสุกรก่อนหย่านม 16,139 ตัว สุกรเล็ก 28,560 ตัว สุกรรุ่น 41,415 ตัว สุกรขุน 187,461 ตัวและสุกรพันธุ์พื้นเมือง 69,724 ตัว รวมสุกรทั้งหมด 370,395 ตัว ทั้งนี้จำนวนสุกรที่เลี้ยงในปี 2564 มีจำนวน 401,015 ตัว และในปี 2565 สุกรที่เลี้ยงมีจำนวนลดลง 30,620 ตัวหรือคิดเป็นร้อยละ 7.64 ของจำนวนสุกรที่เลี้ยงในช่วงเดียวกันกับปีก่อน ซึ่งเกษตรกรที่เลี้ยงสุกรในเชียงใหม่ส่วนใหญ่เป็นผู้เลี้ยงรายย่อย เป็นการเลี้ยงหลังบ้าน

ปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า จำนวนสุกรที่เข้าสู่โรงฆ่าสัตว์และออกจำหน่ายในแต่ละครั้งจะต้องมีการขอใบอนุญาตเคลื่อนย้ายจากปศุสัตว์เสมอ ซึ่งสุกรที่เข้าโรงฆ่าสัตว์ต่อเดือนมีประมาณ 22,000 ตัว และเป็นสุกรที่นำเข้ามาจากต่างจังหวัด(ลำพูน,เชียงรายและพิษณุโลก)จำนวน 49,000 ตัวต่อเดือน รวมสุกรที่เข้าสู่โรงฆ่าสัตว์ทั้งในและจากนอกพื้นที่เฉลี่ยเดือนละ 71,000 ตัว

“สุกรที่เลี้ยงในจังหวัดเชียงใหม่และนำเข้าสู่โรงฆ่าสัตว์มากที่สุดอันดับแรกอ.แม่แตง รองลงมาคือแม่อายและดอยหล่อ ส่วนการบริโภคเนื้อสุกรในจังหวัดเชียงใหม่รวมทั้งส่งออกประมาณ 6,000 ตันต่อเดือนหรือวันละประมาณ 200 ตัน ซึ่งจากการออกตรวจสอบห้องเย็นร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่วันที่ 20-24 ม.ค.จำนวน 19 แห่งพบว่ามีการกักเก็บเนื้อสุกรในห้องเย็นประมาณ 592 ตัน”นายอนุสรณ์ กล่าวและชี้แจงอีกว่า

ในช่วงที่ผ่านมายังไม่เคยมีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในพื้นที่ อย่างไรก็ตามยอมรับว่าที่ผ่านมามีโรคระบาดเกิดขึ้นในฟาร์มเลี้ยงสุกรของเกษตรกรรายย่อย ซึ่งได้แจ้งให้ทางปศุสัตว์เข้าไปตรวจสอบและส่งพิสูจน์และมีการทำลาย โดยรัฐจะจ่ายค่าชดเชยให้ร้อยละ 75 ของปริมาณน้ำหนักสุกร ซึ่งมีเกษตรกรที่ยื่นเรื่องเพื่อขอรับเงินชดเชยเป็นเงิน 113 ล้านบาทและได้มีการจ่ายชดเชยไปแล้วกว่า 92.7 ล้านบาท

นายอนุสรณ์ ยอมรับว่า ทางปศุสัตว์จะเป็นผู้ควบคุมและตรวจสอบการเคลื่อนย้ายสัตว์ผ่านระบบอิเลคทรอนิกส์ ซึ่งสุกรที่เข้าสู่โรงฆ่าสัตว์จะต้องมีใบแจ้งย้ายจากฟาร์มไปยังโรงฆ่า และจากโรงฆ่าก่อนออกไปจำหน่ายก็จะต้องขออนุญาตเช่นเดียวกัน ส่วนราคาจำหน่ายเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ในการควบคุมหรือกำหนดราคา ทางปศุสัตว์จะเน้นดูเรื่องความสะอาด และปลอดโรคเท่านั้น.

You may also like

SUN และ EXE มอบอาหารช่วยผู้ลี้ภัยชายแดนเมียนมา

จำนวนผู้