บจธ.เปิดเวทีรับฟังความเห็นตั้งธนาคารที่ดิน ภาคประชาชนติงชื่อไม่ขลัง บอร์ดมีตัวแทนภาครัฐหวั่นประชาชนเสียสิทธิ์

บจธ.เปิดเวทีรับฟังความเห็นตั้งธนาคารที่ดิน ภาคประชาชนติงชื่อไม่ขลัง บอร์ดมีตัวแทนภาครัฐหวั่นประชาชนเสียสิทธิ์

“เฉลิมเกียรติ”เป็นประธานเปิดเวทีรับฟังความเห็นภาคประชาชน เกี่ยวกับการจัดตั้งธนาคารที่ดิน เพื่อให้มีหน่วยงานถาวรในการช่วยเหลือเกษตรกรด้านที่ดิน กระจายการถือครองอย่างเป็นธรรม หวังลดความเหลือมล้ำ มุ่งเป้า 8 มิ.ย.63เสนอต่อครม.ได้ แจงตลอด 3 ปีบจธ.ช่วยเกษตรกรไปแล้ว 2,631 รายมีที่ดินที่ดำเนินการกว่า 3,151 ไร่ ขณะที่แกนนำภาคประชาชนติงบอร์ดมีสัดส่วนภาคประชาชนแค่ 1 ใน 8 หวั่นชาวบ้านเสียสิทธิ์

เมื่อวันที่ 10 ม.ค.63 ที่ห้องลีลาวดี ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน คณะทำงานด้านกฎหมายการสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชน พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชน เกี่ยวกับร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการเพื่อกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม(องค์การมหาชน)พ.ศ….ซึ่งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินจัดขึ้น โดยมีแกนนำสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.)ที่เคลื่อนไหวเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยอย่างนายประยงค์ ดอกลำไย,นายสุริยัน ทองหนูเอียด,นายดิเรก กองเงินและนายสุแก้ว ฟงฟู รวมทั้งชาวบ้านในพื้นที่ภาคเหนือเข้าร่วมรับฟังกว่า 200 คน

นายกุลพัชร ภูมิใจอวด รองผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชน เกี่ยวกับร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการเพื่อกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม(องค์การมหาชน)พ.ศ….ว่าสถาบันบริหารจัดการเพื่อกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม(องค์การมหาชน)หรือบจธ.จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาเป็นหน่วยงานรัฐประเภทองค์การมหาชนมีภารกิจกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นกลไกลดความเหลื่อมล้ำ  โดยกระจายการถือครองที่ดิน การป้องกันการสูญเสียสิทธิ ตลอดจนส่งเสริมการใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนโดยมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินกิจการของบจธ.

ในการดำเนินการบจธ.ได้ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อกระจายการถือครองที่ดินให้แก่เกษตรกรและผู้ยากจนหลายโครงการ อาทิ โครงการต้นแบบการบริหารจัดการที่ดินแบบครบวงจร มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินการจัดซื้อ จัดสรรที่ดินและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชน โครงการแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดินของเกษตรกรและผู้ยากจน มีวัตถุประสงค์ในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนที่มีปัญหาจะสูญเสียสิทธิในที่ดินหรือสูญเสียสิทธิในที่ดินไปแล้วจากการจำนอง การขายฝากและการถูกบังคับคดี

“ตลอดระยะเวลาดำการประมาณ 3 ปีที่ผ่านมา บจธ.ได้ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรไปแล้ว 2,631 ราย 877 ครัวเรือน จำนวนที่ดินที่บจธ.ดำเนินการกว่า 3,151 ไร่ ทั้งนี้บจธ.เป็นหน่วยงานชั่วคราวในการดำเนินการกระจายการถือครองที่ดิน เนื่องจากมีระยะเวลาสิ้นสุดการดำเนินการจึงมีภารกิจสำคัญคือการจัดตั้งธนาคารที่ดินหรือองค์การอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับธนาคารที่ดินเพื่อให้มีหน่วยงานถาวรในการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรด้านที่ดิน โดยการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์ในที่ดิน”รองผอ.บจธ.กล่าวและชี้แจงอีกว่า

ในการนี้โดยที่พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งบจธ.กำหนดให้กระทรวงการคลังและผู้มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการเสนอร่างพระราชบัญญัตัดตั้งธนาคารที่ดินหรือองค์การอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในลักษณะทำนองเดียวกับธนาคารที่ดินต่อครม.ภายในวันที่ 8 มิ.ย.63 กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้ยกร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการเพื่อกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม(องค์การมหาชน)พ.ศ…ขึ้นและได้มอบหมายให้บจธ.ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นตามบทบัญญัติมาตรา ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งบจธ.ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ เว็บไซต์ บจธ. แต่เพื่อให้การรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นไปอย่างทั่วถึง ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการแสดงความคิดเห็น บจธ.จึงได้จัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นใน 6 ภาคโดยในส่วนภาคเหนือจัดขึ้นที่จ.เชียงใหม่ นอกจากนี้จะมีการรับฟังความคิดเห็นโดยการจัดประชุมเกษตรกรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 6 ภาค ๆ ละ 200 คน  โดยจะมีการขอความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่  นอกจากนี้ จะมีการส่งหนังสือสอบถามความคิดเห็นไปยังหน่วยงานภาครัฐอีกด้วย

นายกุลพัชร กล่าวต่อไปอีกว่า กระบวนการรับฟังความคิดเห็นทั้งหมด บจธ. จะดำเนินการให้เสร็จสิ้นในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563  หลังจากนั้นภายในเดือนกุมภาพันธ์จะรวบรวมสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นเพื่อเสนอเรื่องไปยัง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูและงานของ บจธ. และนำเสนอไปยังสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เพื่อนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาเห็นชอบต่อไป  และจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบได้ภายในเดือนมีนาคม  คาดว่าพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ได้ภายในไม่เกินเดือนมิถุนายน 2562  โดยมีเงินทุนประเดิมจากรัฐบาลประมาณ 6,000 ล้านบาท

สำหรับอำนาจหน้าที่ของ สถาบันบริหารจัดการเพื่อการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม (องค์การมหาชน)  จะมีความใกล้เคียงกับบทบาทของธนาคารที่ดิน เช่น

(1) ดำเนินการให้ได้มาซึ่งที่ดินเพื่อจัดสรรให้แก่เกษตรกรหรือองค์กรชุมชน ได้ใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมตามวัตถุประสงค์ของสถาบัน

(2) ส่งเสริม สนับสนุน ประสานงาน และร่วมมือกับองค์กรชุมชน เครือข่ายองค์กร ชุมชน กองทุนหมู่บ้าน สถาบันการเงินประชาชน และสหกรณ์ในการบริหารจัดการที่ดิน

(3) ก่อตั้งสิทธิ หรือทำนิติกรรมทุกประเภทกับหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน

(4) ถือกรรมสิทธิ์ หรือมีสิทธิครอบครอง หรือเป็นผู้ทรงทรัพยสิทธิต่าง ๆ ในสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์

(5) โอนหรือรับโอนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิต่าง ๆ

(6) ซื้อ จัดหา จำหน่าย ยืม ให้ยืม เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ แลกเปลี่ยนหรือดำเนินการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิต่าง ๆ

(7) ไถ่ถอนจำนองหรือไถ่ถอนขายฝากที่ดิน

(8) ให้สินเชื่อ เพื่อประโยชน์ในการจัดหาและพัฒนาที่ดิน ที่ดินเฉพาะองค์กรชุมชน ถ้ามิใช่องค์กรชุมชน ให้คณะกรรมการมีอำนาจพิจารณาอนุมัติเป็นรายกรณี

(9) บริหารจัดการหรือพัฒนาที่ดินที่ผู้มีกรรมสิทธิ์มอบหมายให้ดำเนินการ หรือที่ดินที่สถาบันได้มาด้วยวิธีการอย่างใด ๆ เพื่อนำไปดำเนินการจัดสรรให้แก่เกษตรกร

พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน คณะทำงานรองนายกรัฐมนตรี ประธานที่ประชุมฯ กล่าวว่า เป็นการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในการที่จะแนะนำหรือเสนอแนะแนวทางการปฏิบัติต่อสถาบันบริหารจัดการที่ดิน หรือเรียกง่ายๆ ว่าธนาคารที่ดินว่าจะใช้แนวทางการปฏิบัติอย่างไร หรือจะใช้ชื่ออย่างไรให้เหมาะสม ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาที่ต้องการให้ทุกคน รวมทั้งรองนายกมนตรี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งได้ขับเคลื่อนมาโดยตลอด และต้องการที่จะให้เกิดผลอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ประชาชนทุกคนต้องมีที่ดินทำกิน

“วันนี้ที่เราเชิญประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน มาให้ความคิดเห็น แสดงความเห็นว่าจะทำยังไงให้เกิดผลอย่างจริงจังในแนวทางการปฏิบัติ และจะไปอีก 5 แห่งคือที่ โคราช เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา รวมทั้งในกรุงเทพฯ ซึ่งตอนนี้บจธ.เราช่วยประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนแล้วก็ไม่มีที่ทำกิน เอาที่ไปจำนองและติดปัญหาหนี้ติดสิน  โดยเฉพาะในพื้นที่ของจังหวัดเชียงราย จังหวัดนครราชสีมาที่พิมาย ซึ่งดำเนินการไปได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว ก็จะมีการแบ่งที่ให้กับประชาชนที่มีความต้องการ  ก่อนหน้านี้ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้เข้าไป นิเทศติดตามการใช้ที่ดินเพื่อประโยชน์ในการทำกิน กว่า 300 ราย นอกจากนี้ยังมีที่นครราชสีมา ที่สุราษฎร์ธานี มหาสารคามรวมถึงเชียงใหม่และลำพูน ที่กำลังดำเนินการอยู่เนื่องจากประชาชนยังไม่ทราบว่า ตอนนี้มีหน่วยงานนี้ที่จะช่วยเหลือได้ จึงพยายามประชาสัมพันธ์ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนได้รับทราบเพื่อใช้ช่องทางให้เกิดประโยชน์”คณะทำงานด้านกฎหมายฯ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจง

ขณะที่นายสุแก้ว ฟูงฟู นายดิเรก กองเงิน และสมาชิกกลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน. ) กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ทางบจธ.มาเปิดเวทีให้วิจารณ์ถึงชื่อ ซึ่งเราก็เห็นว่าน่าจะเปลี่ยนชื่อเพราะชื่อสถาบันบริหารจัดการเพื่อการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมแบบนี้ดูแล้วไม่หนักแน่น แต่อย่างไรก็ตามในฐานะที่เคลื่อนไหวต่อสู้เรียกร้องมาโดยตลอดก็คาดหวังว่าเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันฯนี้ขึ้นมาแล้วน่าจะดีขึ้น แม้ว่าพื้นที่นำร่องของบจธ.จะยังไม่ครอบคลุมก็ตาม อย่างพื้นที่ภาคเหนือที่มีการผลักดันไปมีถึง 27 พื้นที่ แต่เมื่อเอาไปรวมกับทั้งประเทศและเสนอกฎหมายออกมา 4 ฉบับ จนได้บจธ.ขึ้นมาแต่พอจัดตั้งบอร์ดขึ้นมากับมีตัวแทนจากภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนมาโดยตลอดไม่มีส่วนร่วมด้วยเลยซึ่งถือว่าผิดวัตถุประสงค์

“ถ้าตั้งองค์การมหาชนขึ้นมาไม่ใช่ว่าจะอยู่เหนือกฎหมายไม่ใช่ แต่ก็ควรจะมีสัดส่วนของบอร์ดหรือคณะกรรมการที่มาจากภาคประชาชนด้วยอย่างน้อยครึ่งต่อครึ่ง  แต่นี่คณะกรรมการ 1 ใน 8 เป็นของหน่วยงานรัฐ และส่วนใหญ่เป็นทหาร ถ้าเป็นอย่างนี้ผลประโยชน์ชาวบ้านจะไม่ได้รับหรือรู้เรื่องเลย และอย่างของเชียงใหม่เองพื้นที่นำร่องจะใช้ที่บ้านปงพื้นที่กว่า 300 ไร่ ตอนนี้บจธ.ก็ยังซื้อได้ไม่หมด เพราะที่ดินไปอยู่ในกรมบังคับคดีก็มี ขายแพงด้วย และไม่ใช่ว่ารัฐซื้อแล้วเอามาจัดสรรให้เกษตรกรทำกินฟรี เกษตรกรก็ต้องผ่อนชำระคืนหากซื้อแพงชาวบ้านก็ต้องมาเฉลี่ยใช้คืนคนละเป็นล้านจะไหวหรือไม่ ตอนนี้ที่บ้านปงก็เหลืออีกประมาณ 30% ที่รัฐจะซื้อคืนที่ดินมาจัดสรรให้เกษตรกรและผู้ยากจนในโครงการ”นายดิเรก กองเงิน กล่าว.

You may also like

builds มช. ขนทัพสตาร์ทอัพนักศึกษาคับคั่ง พิสูจน์ความสำเร็จ ตั้งบริษัทจริงระหว่างเรียน

จำนวนผู้