นักวิชาการชี้ยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ส่งผลให้จีนรุกการค้า การลงทุนออกนอกประเทศ

นักวิชาการชี้ยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ส่งผลให้จีนรุกการค้า การลงทุนออกนอกประเทศ

- in headline, อาเซียน +3, เศรษฐกิจ

นักวิชาการ มช.ชี้จีนมีวิวัฒนาการความก้าวหน้าในการเปิดเสรีทางการค้า เผยได้ร่วมกับเอกชน จัดทำแผนงานสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ของจีน เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนไทยและประเทศ

อ.ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ นักวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึง ยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ของสาธารณรัฐประชาชนจีนในฐานะของนักวิจัยที่ทำการติดตามศึกษาถึงความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว ระหว่างประเทศไทย-จีนมามากกว่า 10 ปีว่า ได้เห็นถึงวิวัฒนาการความก้าวหน้าในมิติการเปิดเสรีทางการค้า ระหว่างทั้งสองประเทศ มองเห็นยุทธศาสตร์และวิสัยทัศน์ใหญ่ที่จีนได้นำเสนอ ตั้งแต่จีนเข้าเป็นสมาชิกขององค์กรการค้าโลก(WTO)ในปี ค.ศ. 2001 ซึ่งมุ่งหมายผลักดันธุรกิจเอกชนให้ “ก้าวออกไป” ขณะเดียวกันก็เชื้อเชิญให้บริษัทเอกชนจากต่างประเทศ “เชิญเข้ามา”ลงทุนและค้าขายในตลาดประเทศจีน

ความต่อเนื่องของวิสัยทัศน์ดังกล่าว สะท้อนภาพออกมาอย่างเป็นรูปธรรมที่สุดในวันนี้ กับยุทธศาตร์ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ซึ่งประเทศจีนให้ความสำคัญกับการเข้าไปร่วมพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานสำคัญ กับประเทศต่างๆ ตลอดจนการเปิดเขตทดลองเศรษฐกิจเสรีในหลายมณฑล ในหลายกลุ่มธุรกิจ ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาด่านการค้าชายแดน ทั้งทางบกและทางทะเล ตามเมืองท่า และเมืองการค้าชายแดนต่างๆ เพื่อทำให้ด่านการค้าชายแดนเหล่านั้นกลายเป็นประตูเชื่อมโยงการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างภูมิภาค

ในส่วนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็เล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการติดตามแนวนโยบายตามกรอบ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ที่รัฐบาลจีนนำมาใช้สนับสนุนส่งเสริมเศรษฐกิจการค้า การลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวนโยบายที่ส่งผลกระทบเชื่อมโยงต่อการค้า การลงทุนกับประเทศไทยและจังหวัดภาคเหนือ ไม่ว่าจะเป็น ยุทธศาสตร์พัฒนาอำเภอผิงเสียง จังหวัดฉงจั่ว ในเขตปกครองตนเองจ้วงกวางสี เป็นเขตทดลองเศรษฐกิจเสรีเพื่อมุ่งสู่การเป็นประตูผลไม้สดจากต่างประเทศสู่จีน ทำให้เส้นทางการขนส่งผลไม้สดจากไทยสู่จีนผ่านเส้นทาง R12 (นครพนม-ผิงเสียง) กลายเป็นเส้นทางสายหลักของผลไม้สดไทย

ยุทธศาสตร์พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทดลองเมืองล่า(勐腊) ซึ่งเป็นที่ตั้งของด่านการค้าสำคัญคือบ่อหาน(磨憨)และท่าเรือกวนเหล่ย (关累) ให้เป็นประตูสำหรับสินค้ากลุ่ม E-Commerce และสินค้ากลุ่มเนื้อสัตว์และอาหารทะเลแช่แข็ง ซึ่งทำให้เส้นทาง R3A (เชียงของ-บ่อหาน) และเส้นทางเดินเรือแม่น้ำโขง (เชียงแสน-กวนเหล่ย) กลายเป็นเส้นทางสำคัญ สำหรับการขนส่งสินค้าตามคำสั่งซื้อผ่านระบบ E-Commerce และสินค้ากลุ่มเนื้อสัตว์กับอาหารทะเลแช่แข็ง

รวมไปถึงการติดตามปรากฎการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวจีน เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น เป็นจำนวนมาก ในตลอดระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา ได้พบเห็นปรากฎการณ์นักท่องเที่ยวจีนกลุ่มอิสระที่มีพฤติกรรมแบบ SoLoMo ทั้งนี้การเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีนกลุ่มนี้ยังทำให้เชียงใหม่กลายเป็นหนึ่งในเมืองต้นแบบแห่ง “สังคมไร้เงินสด”ของจีนในต่างประเทศ เมื่ออิทธิพลของอาลีเพย์ (支付宝) วีแชทเพย์ (微信支付)เข้ามามีบทบาทต่อทุกๆกิจกรรมในห่วงโซ่กิจกรรมการท่องเที่ยว และต่อยอดไปสู่การสร้างธุรกิจใหม่ๆในรูปแบบของ “Startup Business” ของนักลงทุนจีนในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทย

ปรากฎการณ์เหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่นักวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ความสนใจ ติดตามการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิดและใช้ความพยายามเพื่อพัฒนาโครงการต่อยอด เพื่อร่วมไปกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที โดยปัจจุบันหลายโครงการ มช. โดย ICDI ร่วมมือกับหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่เพื่อดำเนินกิจกรรมตามแนวทาง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”ของจีน ไม่ว่าจะเป็นโครงการ “Cross Border E-commerce” เพื่อผลักดันสินค้าไทยคุณภาพสูงสู่ตลาดจีน โดยใช้ด่านบ่อหานเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการกระจายสินค้าไทย ผ่านโครงข่ายระบบขนส่งทางถนน รวมถึงเพื่อเชื่อมต่อเข้ากับโครงข่ายรถไฟจีนที่สามารถเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าถึงยุโรปและตะวันออกกลาง ซึ่งในปี ค.ศ. 2020 โครงข่ายรถไฟของจีนจะมาถึงบ่อหาน  240 กิโลเมตรจากเชียงของ

โครงการ “กลยุทธ์ Offline to Online (O2O) โดยใช้เชียงใหม่ เมืองท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวจีนมากกว่า 1 ล้านคนครั้งต่อปี เป็น Market Place ผลไม้ไทย ก่อนจะขายผ่านระบบ Online สู่ตลาดจีน โดยใช้ด่านผิงเสียงเป็นฐานกระจายสินค้าสำคัญ ทั้งนี้โครงการดังกล่าวได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของ “ยุทธศาสตร์ผลักดันผลไม้ไทยสู่ต่างประเทศ”ของกระทรวงพาณิชย์ โดยมีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่เป็นผู้ร่วมร่างแผนผลักดันและดำเนินการ

รวมถึงโครงการ “Smart Logistics เพื่อยกระดับการให้บริการขนส่งสินค้าบนเส้นทาง R3A” การพัฒนาและจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมการค้าบนแพลทฟอร์มออนไลน์จีนให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็น Taobao Tmall หรือแม้กระทั่งการขายสินค้าผ่านร้านค้าบน Wechat สังคมออนไลน์อันดับหนึ่งของจีน เป็นตัวอย่างโครงการต่อยอดจากงานวิจัยที่สถาบันอุดมศึกษาร่วมกับภาคเอกชนเพื่อเกาะเกี่ยวไปกับยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”

อ.ดร.ดนัยธัญ กล่าวอีกว่า ในฐานะนักวิชาการของสถาบันอุดมศึกษา การติดตามยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” จึงมิใช่เพียงการรอฟังถ้อยแถลงยุทธศาสตร์ระดับมหภาคที่ทางจีนนำเสนอผ่านสื่อสากล หากแต่ต้องเข้าไปเกาะติดเพื่อศึกษานโยบายในภาคปฏิบัติที่รัฐบาลจีนดำเนินการ แล้วนำมาวิเคราะห์ร่วมกับเอกชน จัดทำแผนงานที่สอดคล้อง ตรงกับยุทธศาสตร์ที่จีนดำเนินการ เพื่อให้ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”นี้ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทยและประชาชนไทย.

You may also like

ผบ.นบ.ยส.35 ลงพื้นที่อำเภอไชยปราการ เพื่อตรวจเยี่ยมกำลังพลเพิ่มความเข้มก่อนหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์

จำนวนผู้