นศ.มช.ยื่นหนังสือ ขอลดค่าเทอม 30% บรรเทาความเดือดร้อนจากโควิด-19

นศ.มช.ยื่นหนังสือ ขอลดค่าเทอม 30% บรรเทาความเดือดร้อนจากโควิด-19

เชียงใหม่ / ตัวแทนนักศึกษาบัณฑิตศึกษา ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มช. ยื่นหนังสือ-แถลงการณ์ ต่ออธิการบดี ขอมหาวิทยาลัยลดค่าธรรมเนียมการศึกษา 30% ถ้วนหน้า ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่อธิการบดี ย้ำเตรียมประชุมผู้บริหารเสนอสภามหาวิทยาลัยลด 10% หากสูงเกินกว่านี้จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพการเรียนการสอน เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 17 เม.ย.63 ตัวแทนกลุ่มนักศึกษาบัณฑิตศึกษา ระดับปริญญาโท-เอก ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ยื่นหนังสือ และแถลงการณ์ เรื่องการลดค่าธรรมเนียมการศึกษาในช่วงวิกฤติโรคไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ 2019 (โควิด-19) ต่ออธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี ผศ.อาคม ตันตระกูล ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์ เป็นผู้แทนรับมอบหนังสือ ก่อนนำเรื่องยื่นต่ออธิการบดี

โดยในแถลงการณ์ ได้ระบุถึงนโยบายบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ 2019 (โควิด-19) ของทางมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 31 มี.ค.63 ที่ได้จัดตั้งกองทุน 250 ล้านบาท ให้นักศึกษานำไปผ่อนชำระค่าธรรมเนียมการศึกษา และค่าหอพักในมหาวิทยาลัยได้  ตั้งแต่ภาคเรียนฤดูร้อน (2562) เป็นต้นไป รวมถึงมีมาตรการลดค่าธรรมเนียมการศึกษา 10% และค่าหอพักในมหาวิทยาลัยในปีการศึกษา 2563 แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนกลุ่มนักศึกษาบัณฑิตศึกษา ระดับปริญญาโท-เอก ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มช. เห็นว่า มาตรการนี้ไม่เพียงพอต่อการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่นักศึกษา เพราะไม่ครอบคลุมนักศึกษาทั้งหมด และเป็นมาตรการในลักษณะของการให้ยืมเงินเพื่อผ่อนชำระ ไม่ใช่การสนับสนุนด้านเงินทุนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน จึงเสนอให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดำเนินการลดค่าธรรมเนียมการศึกษาลง 30% จากค่าธรรมเนียมการศึกษาเดิม ตั้งแต่ภาคเรียนฤดูร้อน (2562) เป็นต้นไป ซึ่งจะเป็นมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนอย่างเท่าเทียม และถ้วนหน้าแก่นักศึกษาทุกคน ประกอบกับการเรียนในปัจจุบัน เข้าสู่ระบบออนไลน์ นักศึกษาไม่สามารถเข้าใช้บริการต่างๆ ที่จัดให้โดยมหาวิทยาลัย การลดค่าธรรมเนียมการศึกษาลงในอัตราดังกล่าว จึงถือว่าสมเหตุสมผล

ทั้งนี้ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ออกประกาศกระทรวง เรื่องมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อ 12 มี.ค.63 ขอความร่วมมือจากสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดให้พิจารณาลดค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เรียกเก็บจากนักศึกษาในภาคเรียนที่จะถึงนี้เป็นกรณีพิเศษ ด้วยเหตุนี้ มช.จึงสามารถดำเนินการลดค่าธรรมเนียมการศึกษาได้ โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ.2551 มาตรา 25(3) รวมถึงระเบียบมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าด้วยค่าธรรมเนียมการศึกษาระดับปริญญาตรี พ.ศ.2556 “ข้อ 9 ให้อธิการบดี รักษาการ ตามระเบียบนี้และอำนาจลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมการศึกษาสำหรับนักศึกษาที่เข้าศึกษาตามโครงการ หรือข้อตกลงความร่วมมือ หรือกรณีที่มีเหตุพิเศษอื่น และให้อำนาจออกประกาศเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติซึ่งไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้”นายรวิโรจน์ ไทรงาม นักศึกษาปริญญาโท เอกภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา กล่าวว่า ในภาคการศึกษาหน้า มหาวิทยาลัยจะใช้ระบบการศึกษาแบบออนไลน์มากขึ้น ซึ่งเป็นการผลักดันภาระให้นักศึกษา เพราะบางคนไม่มีโน๊ตบุ๊ค หรือคอมพิวเตอร์ส่วนตัว การร้องขอให้ลดค่าธรรมเนียมการศึกษา 30% จึงสมเหตุสมผลกับค่าใช้จ่ายที่นักศึกษาต้องแบกรับ เพราะถ้าลด 10% ก็แค่ประมาณ 1,500 บาท/ภาคเรียน เนื่องจากปริญญาตรี มีค่าธรรมเนียมการศึกษาประมาณภาคเรียนละ 15,000 บาท ย่อมไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น และไม่สามารถบรรเทาความเดือดร้อนได้ ส่วนกองทุนเยียวยา 250 ล้านบาท ก็อยู่ในรูปของการให้ยืม สร้างภาระให้นักศึกษาต้องแสวงหาเงินคืนในภายหลัง และนักศึกษาจะเข้าถึงความช่วยเหลือไม่ทั่วถึงด้วย

ต่อมา เวลา 11.30 น. ของวันเดียวกัน (17) ศาสตราจารย์คลินิก น.พ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เปิดแถลงข่าวต่อกรณีดังกล่าวว่า เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และบรรเทาความเดือดร้อนของนักศึกษา ในภาคเรียนฤดูร้อนนี้ ได้ใช้ระบบการเรียนออนไลน์ และน่าจะต่อไปถึงภาคเรียนที่ 1 และ 2 ด้วย ซึ่งในส่วนของนักศึกษาที่ไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือโน๊ตบุ๊คนั้น สามารถเข้าไปใช้บริการจากศูนย์ให้บริการสารสนเทศและแหล่งการเรียนรู้สำหรับนักศึกษาที่มีความทันสมัย ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์และเครือข่ายไร้สาย จำนวน 1,090 เครื่อง โดยมีศูนย์ ITSC Corner เป็นศูนย์หลักอยู่ด้านหน้าสำนักหอสมุด และมีศูนย์ย่อยกระจายอยู่ทั่วคณะ และหอพักนักศึกษา รวม 45 ศูนย์ส่วนกองทุนเยียวยา 250 ล้านบาทที่ตั้งขึ้น มาจากเงินบริจาค นำมาสมทบกับเงินของมหาวิทยาลัย เพื่อช่วยเหลือนักศึกษา และผู้ปกครองที่ได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบของโควิด-19 โดยให้นักศึกษายืมใช้ผ่อนผันค่าธรรมเนียมการศึกษา และใช้คืนภายหลัง รวมถึงค่าหอพักในมหาวิทยาลัย ประมาณ 2,400 บาท/เดือน และเป็นค่าใช้จ่ายอีกราว 3,000 บาท/เดือน ซึ่งนักศึกษาที่อยู่หอพักนอกมหาวิทยาลัยก็สามารถยืมได้

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย มีมติเบื้องต้นลดค่าธรรมเนียมการศึกษา 10% โดยในส่วนของ มช.จะการประชุมผู้บริหารมหาวิทยาลัย  ก่อนนำเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยในวันที่ 25 เม.ย.นี้ เพื่อให้ความเห็นชอบ ซึ่งปกติค่าธรรมเนียมการศึกษาของปริญญาตรีอยู่ที่ 15,000-16,000 บาท ไม่ได้สูงมาก ถ้าลดลงมากย่อมกระทบถึงคุณภาพการเรียนการสอน รวมถึงอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ดังนั้นทางมหาวิทยาลัยจะลดได้ 10% ในส่วนที่เหลือ แต่ละคณะ ต้องบริหารจัดการ พิจารณาลดค่าใช้จ่ายในคณะของตนเองขณะเดียวกัน ยังมีกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ที่จะช่วยเหลือนักศึกษาและผู้ปกครองได้อีกทางหนึ่ง เพราะมีการอลุ้มอล่วย และผ่อนคลายในสถานการณ์โควิด-19 เช่นเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันมีนักศึกษา มช. ใช้บริการประมาณ 5,000 คน หรือราว 20% ของนักศึกษาทั้งหมด.

You may also like

“ส.ว.ก๊อง”ลั่นลงสมัครป้องกันแชมป์สมัยหน้าในนามพรรคเพื่อไทย แย้มครั้งนี้ “ทักษิณ” ขอเป็นผู้ช่วยหาเสียง พร้อมลงพื้นที่ 25 อำเภอ

จำนวนผู้