ธ.ก.ส.เตรียมสินเชื่อ 3 พันล้านให้ผู้ประกอบการเป็นทุนหมุนเวียนรับซื้อลำไยในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน

ธ.ก.ส.เตรียมสินเชื่อ 3 พันล้านให้ผู้ประกอบการเป็นทุนหมุนเวียนรับซื้อลำไยในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน

ธ.ก.ส. ภาคเหนือตอนบน เชิญผู้ประกอบการลำไยจับเข่าร่วมหาแนวทางจัดการผลผลิตลำไยก่อนออกสู่ตลาด เผยเตรียมวงเงินสินเชื่อ 3 พันล้านบาทให้เป็นทุนหมุนเวียน แจงปีการผลิต 2561 เฉพาะ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนผลผลิตลำไยมีเกือบ 7 แสนตัน

ที่โรงแรมเมอร์เคียว เชียงใหม่ ธ.ก.ส.ฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบน เชิญผู้ประกอบการภาคการเกษตรใน 4 จังหวัดภาคเหนือ ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน เชียงรายและพะเยา จำนวน 147 ราย หัวหน้าส่วนราชการอาทิ เกษตรจังหวัด พาณิชย์จังหวัดและผู้บริหาร ธ.ก.ส.ทั้งสำนักงานใหญ่และในพื้นที่ร่วมสัมมนาเพื่อระดมความคิดเห็นในการหาแนวทางจัดการผลผลิตลำไยที่จะออกสู่ตลาดในเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายนนี้

นายภานิต ภัทรสาริน ผู้อำนวยการ ธ.ก.ส.ฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบน เปิดเผยว่า              สถานการณ์ การผลิตลำไยปีการผลิต 2561 จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 ในส่วนภาคเหนือ 8 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน จังหวัดเชียงราย จังหวัดพะเยา จังหวัดน่าน จังหวัดลำปาง จังหวัดแพร่ และจังหวัดตาก เนื้อที่ให้ผลผลิตทั้งหมด 839,945 ไร่ผลผลิตคาดว่า 659,173 ตันเป็นการผลิตในฤดู 386,342 และผลิตนอกฤดู 272,831 ตัน ผลผลิตในฤดูจะออกสู่ท้องตลาดมากที่สุดช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม  ซึ่งทางภาครัฐมีการเตรียมแนวทางการบริหารจัดการลำไย ทั้งการป้องกันและสนับสนุนเช่น การพัฒนาคุณภาพลำไย การให้สินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมและเร่งกระจายออกนอกแหล่งผลิต การประชาสัมพันธ์การบริโภคสดในประเทศและเชื่อมโยงตลาด กระจายผลผลิตออกนอกแหล่งการผลิตเป็นต้น

ผอ.ธ.ก.ส.ฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบน กล่าวอีกว่า ในส่วน ธ.ก.ส. ฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบนซึ่งดูแลพื้นที่รับผิดชอบ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนมีลูกค้าจำนวน 755,709 คน ได้สนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกรเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายและค่าลงทุนการผลิตลำไยจำนวน 11,555 ล้านบาท โดยที่ผ่านๆ มาปัญหาราคาลำไยจะอยู่ที่ลำไยสด โดยเฉพาะการรับซื้อลำไยสดรูดร่วงเอามาอบแห้งทั้งเปลือก ครั้งนี้ก่อนที่จะถึงช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดจึงต้องมาพูดคุย วางแผนบริหารจัดการร่วมกันก่อน

“จากความร่วมมือกับลูกค้าผู้ประกอบการลำไย จำนวน 147 รายมีความสามารถในการรองรับผลผลิตลำไยประมาณ 180,000 ตัน  ธ.ก.ส.มีวงเงินให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ และกลุ่มวิสาหกิจ กลุ่มสหกรณ์เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับซื้อลำไยตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561 วงเงินรวม 3,000 ล้านบาท ซึ่งก็จะเป็นสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายการผลิตและรวบรวมผลผลิตลำไย เพื่อจำหน่ายทั้งลำไยสดและแปรรูปอบแห้งทั้งเปลือก แห้งเนื้อสีทอง รวมทั้งเพื่อเป็นค่าลงทุนปรับปรุงโรงเรือน เตาอบลำไย ระบบการผลิต สินเชื่อเอสเอ็มอีเกษตร เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเกษตรที่ดีให้มีความเข้มแข็งและเป็นตลาดรองรับผลผลิตทางเกษตร และโครงการสินเชื่อเพื่อปรับโครงสร้างการผลิตการเกษตรสู่ความยั่งยืน เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร และสร้างมูลราคาเพิ่ม (Value Added ) ให้แก่เกษตรกร”นายภานิต กล่าวและชี้แจงอีกว่า

สำหรับการยื่นขอสินเชื่อ จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 20 มิ.ย.นี้ ซึ่งได้แจ้งให้ทุกกลุ่มที่ประสงค์เงินทุนหมุนเวียนเพื่อรับซื้อลำไยมายื่นขอสินเชื่อได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนถึงสิ้นเดือนมิ.ย. ส่วนเงื่อนไขของสินเชื่อนี้เป็นโครงการสินเชื่อผ่อนปรนสำหรับผู้ประกอบการ ดอกเบี้ยร้อยละ 4 ซึ่งจะถูกกว่าลูกค้าทั่วไป เป็นสินเชื่อระยะสั้นชำระคืนภายใน 12 เดือน และสินเชื่อเพื่อการลงทุนกำหนดชำระคืนไม่เกิน 20 ปีสนับสนุนอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่ธ.ก.ส.ร่วมกับธ.ออมสินอีก ซึ่งปีนี้ในเรื่องแหล่งเงินทุนสำหรับการบริหารจัดการลำไย ถือว่าได้มีการเตรียมการไว้ก่อนที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาดและได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการธ.ก.ส.แต่ละจังหวัดนำแผนดังกล่าว นำเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนที่มีผลผลิตลำไยได้รับทราบถึงแนวทางการช่วยเหลือของธ.ก.ส.ซึ่งคิดว่าในปีนี้มีการเตรียมการก่อนล่วงหน้าจะทำให้เรื่องของราคาและการตลาดดีขึ้น.

You may also like

builds มช. ขนทัพสตาร์ทอัพนักศึกษาคับคั่ง พิสูจน์ความสำเร็จ ตั้งบริษัทจริงระหว่างเรียน

จำนวนผู้