ธ.ก.ส.เตรียมวงเงินสินเชื่อกว่า 1,000 ล้านบาทเสริมสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่การผลิตลำไย

ธ.ก.ส.เตรียมวงเงินสินเชื่อกว่า 1,000 ล้านบาทเสริมสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่การผลิตลำไย

          ธ.ก.ส.ฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือจัดกิจกรรมพัฒนาการตลาดเพิ่มมูลค่าลำไยตลอดห่วงโซ่ สนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกลำไย เผยเตรียมวงเงินสินเชื่อกว่า 1,000 ล้านบาทเพื่อเสริมสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่การผลิตลำไย ทั้งกลางน้ำ ปลายน้ำ

เมื่อวันที่ 9 ก.ค.64 ที่บริเวณศูนย์การเรียนรู้แปลงใหญ่ลำไย ต.ขัวมุง อ.สารภี นายมาโนช บัวองค์ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)พร้อมด้วยนายกลศาสตร์ เรืองแสง ผช.ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบน ธ.ก.ส.,นายสนอง ชัยชนะ ผู้อำนวยการธ.ก.ส.สำนักงานจังหวัดเชียงใหม่,นายดำริ ขวัญสุวรรณ ผจก.บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สำนักงานเชียงใหม่และนายเสน่ห์ ทะพิงค์แก ประธานกลุ่มลำไยแปลงใหญ่ขัวมุง ได้ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนประจำไตรมาส 2/2564 ฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบนและการจัดกิจกรรมพัฒนาการตลาดเพิ่มมูลค่าลำไยตลอดห่วงโซ่ โดยมีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมจำนวนมาก

นายมาโนช บัวองค์ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ลำไยปี 2564 นี้  คาดการณ์ผลผลิตลำไย (ในฤดู) จำนวน 683,435 ตัน และจะออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก  ในเดือนสิงหาคมโดยพื้นที่ปลูกหลักของภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา และน่าน

จากการรวบรวมข้อมูลผู้ประกอบการโดย ธ.ก.ส. เบื้องต้นมีความต้องการเงินทุนเพื่อรับซื้อลำไยสดทั้งลำไยสดรูดร่วงและลำไยสดช่อ แล้วนำไปแปรรูปเป็นลำไยอบแห้งทั้งเปลือก อบแห้งเนื้อสีทอง จำหน่ายในรูปแบบบริโภคสดและส่งออกต่างประเทศ คิดเป็นเม็ดเงินหมุนเวียนรับซื้อกว่า  400 ล้านบาท รองรับลำไยสด 20,000 ตัน ดังนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนการดูดซับปริมาณและกระจายผลผลิตลำไยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับการช่วยยกระดับหรือรักษาระดับราคาที่เกษตรกรควรได้รับ ธ.ก.ส.จึงได้เตรียมวงเงินสินเชื่อกว่า 1,000 ล้านบาท ไว้รองรับ

ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  (ธ.ก.ส.) กล่าวอีกว่า ธ.ก.ส.ได้เตรียมการที่จะอำนวยสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่การผลิตลำไย ทั้งกลางน้ำ ปลายน้ำ จำนวน 1,000 ล้านบาท ประกอบด้วยสินเชื่อ 4 โครงการ คือ (1) สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย คิดดอกเบี้ยจากผู้กู้ในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี ระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไป      คิดดอกเบี้ยตามเกณฑ์ปกติของธนาคาร วงเงินกู้สูงสุดกรณีสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ    นิติบุคคล ไม่เกิน 100 ล้านบาท กรณีเกษตรกรและกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ไม่เกิน 50 ล้านบาท ทั้งนี้ เงื่อนไขสำคัญต้องเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของคนในชุมชน มีการแบ่งปัน อย่างเกื้อกูล และเป็นธรรม อีกทั้งมีการบูรณาการร่วมมือกับส่วนงานภาครัฐ        และเอกชน

(2) สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) ของ ธปท. ให้วงเงินกู้ร้อยละ  30 ของวงเงินหมุนเวียนที่มีอยู่กับธนาคาร หรือไม่เกิน 20 ล้านบาทในกรณีเป็นลูกค้ารายใหม่  อัตราดอกเบี้ยตามโครงการ ปีที่ 1-2 อัตราร้อยละ 2 ต่อปี ปีที่ 3-5 อัตราดอกเบี้ย MRR หรือ MLR แล้วแต่ประเภทลูกค้า โดยรัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยแทนใน 6 เดือนแรก กำหนดให้ใช้ บสย. เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้

(3) สินเชื่อเสริมแกร่ง SME  วงเงินกู้ต่อรายสูงสุดไม่เกิน 100 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในปีที่ 1-2 ร้อยละ 4 ต่อปี                      ปีที่ 3-10 อัตราดอกเบี้ย MRR, MLR, MOR ตามแต่ประเภทลูกค้า  ในกรณีหลักทรัพย์ไม่เพียงพอสามารถขอใช้ บสย. ค้ำประกันได้เช่นเดียวกัน

(4) สินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ สำหรับเกษตรลูกค้าและบุคคลทั่วไป อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี วงเงินสูงสุด 100,000 บาทต่อราย ใช้หลักทรัพย์จำนองหรือบุคคลค้ำประกันได้

นายมาโนช กล่าวต่อไปอีกว่า นอกเหนือไปจากการสนับสนุนสินเชื่อแล้ว ธ.ก.ส.แต่ละจังหวัดได้เข้าร่วมในแผนการบริหารจัดการลำไย ในส่วนการกระจายผลผลิตภายในประเทศและการเชื่อมโยงผู้ผลิตกับตลาดแบบออนไลน์ร่วมกับเครือข่าย เช่น ร่วมกับไปรษณีย์ไทย จำหน่ายลำไยคุณภาพเกรดพรีเมี่ยมผ่านทาง Thailandpostmart โดยวางเป้าหมายไว้เบื้องต้นจำนวน 4,145 ตัน ในขณะที่การส่งเสริมการผลิตลำไยให้ได้ลำไยที่มีคุณภาพ ลดต้นทุนการผลิตลง ได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม มีความยั่งยืนในการประกอบอาชีพนั้น ก็ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อส่งเสริมการปลูกลำไย โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมอีกส่วนหนึ่ง

สำหรับผู้ประกอบการ หรือผู้สนใจขอรับการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องในการรวบรวม แปรรูป และจำหน่ายลำไย สามารถติดต่อได้ที่ ธ.ก.ส.สาขาใกล้บ้าน.

You may also like

ชลประทานยันน้ำพอสำหรับแล้วนี้ แม้นาปรังแม่ออนเสียหายยับเพราะเป็นพื้นที่นอกเขตฯ

จำนวนผู้