ตัวแทนชุมชนรอบศูนย์จัดการขยะแบบครบวงจร อบจ.เชียงใหม่ รับมอบเงินกองทุนเพื่อพัฒนาฯที่ได้จากการบริหารจัดการขยะในพื้นที่

ตัวแทนชุมชนรอบศูนย์จัดการขยะแบบครบวงจร อบจ.เชียงใหม่ รับมอบเงินกองทุนเพื่อพัฒนาฯที่ได้จากการบริหารจัดการขยะในพื้นที่

นายอำเภอดอยสะเก็ดเป็นสักขีพยานมอบเงินกองทุนพัฒนาชุมชนโดยรอบ ศูนย์จัดการขยะแบบครบวงจรอบจ.เชียงใหม่ ให้กับตัวแทน 7 ชุมชน   

ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอดอยสะเก็ด นายอรรถชา กัมปนาทแสนยากร นายอำเภอดอยสะเก็ด เป็นประธานในการมอบเงินกองทุนพัฒนาชุมชนโดยรอบโรงงาน ศูนย์จัดการขยะครบวงจรองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ อ.ดอยสะเก็ดจำนวน 66,198.37 บาท ซึ่งบริษัทวีพีเอ็น คอลเลคชั่นส์และบริษัทแอคคอม จำกัดได้นำเงินจากการจัดเก็บค่าดำเนินการจัดการขยะมาจัดสรรให้กับชุมชน ตามเงื่อนไขข้อตกลงที่ให้ไว้กับชุมชนโดยรอบ

นายอรรถชา  กัมปนาทแสนยากร นายอำเภอดอยสะเก็ด กล่าวว่า เรื่องขยะเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีนโยบายและข้อสั่งการในการจัดการขยะในแต่ละพื้นที่ ซึ่งต้องมีที่ทิ้งและกำจัดที่ถูกสุขลักษณะ โดยให้แต่ละท้องถิ่นดำเนินการตามสัญญาและข้อตกลงซึ่งได้มีการสำรวจไปแล้ว

“ตอนนี้มีความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายในการจัดการขยะของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งอบจ.เชียงใหม่เองก็มีการลงนามบันทึกข้อตกลงกับท้องถิ่นในการบริหารจัดการขยะในอีก 9 เดือนข้างหน้า ซึ่งในรายละเอียดก็คงจะมีการชี้แจงกับทางท้องถิ่นต่อไป”นายอำเภอดอยสะเก็ด กล่าวและชี้แจงอีกว่า

สำหรับศูนย์จัดการขยะแบบครบวงจรอ.ดอยสะเก็ด ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินการก่อสร้างมานานและได้มีข้อตกลงกับชุมชนโดยรอบ ในการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งนำรายได้ส่วนหนึ่งมอบให้กับชุมชนไปบริหารจัดการเอง ซึ่งแต่เดิมจะมี5 หมู่บ้านโดยรอบ และต่อมาได้เพิ่มอีก 2 หมู่บ้านรวมปัจจุบันมีหมู่บ้านรอบโครงการที่ได้รับเงินจากกองทุนนี้รวม 7 ชุมชน

“เงินสิทธิประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับมีการจ่ายตามที่ได้ตกลงกันไว้ แม้ว่าตั้งแต่ที่ได้ดำเนินการมา ปริมาณขยะที่เข้าสู่โรงงานยังต่ำกว่าศักยภาพที่จะดำเนินการได้ คือโรงงานแห่งนี้สามารถรองรับปริมาณขยะได้ถึงวันละ 100 ตัน แต่ตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อเดือนตุลาคม 2560 มีปริมาณขยะเข้าสู่โรงงาน 600 ตันต่อเดือน เดือนพ.ย.ลดลงเหลือ 412 ตัน และเดือนธันวาคม 425 ตันต่อเดือน ขณะที่เดือนมกราคม 2561 มีปริมาณขยะเข้าสู่โรงงาน 516 ตัน ซึ่งจากเดิมที่รองรับได้ถึงวันละ 100 ตัน แต่ขยะที่เข้าสู่โรงงานจริงยังไม่ถึง และปริมาณขยะที่จะทำให้คุ้มทุนจริงๆ อยู่ที่ 70 ตันต่อวัน แต่ตั้งแต่ปี 2559 มาแล้ว จะพบว่ามีปริมาณขยะจากอ.ดอยสะเก็ด ซึ่งก็ไม่ครอบคลุมทุกตำบล มีไม่กี่แห่งที่นำมากำจัดที่นี่เพียง 35 ตันต่อวัน และปัจจุบันปริมาณขยะที่เข้ามากำจัดก็ลดลงไปอีกเหลือเพียง 17 ตันต่อวันเท่านั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าทางผู้รับเหมาเองก็ขาดทุนมาโดยตลอด แต่สำหรับเงินกองทุนฯนี้ก็มีการจ่ายให้ตามข้อตกลงอย่างต่อเนื่อง”นายอรรถชา กล่าวและชี้แจงอีกว่า

ในอนาคตทางอบจ.เชียงใหม่จะมีการปรับปรุงเทคโนโลยีใหม่ เพื่อรองรับปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งศักยภาพในการดำเนินการที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาของอบจ.อยู่ ขณะเดียวกันในส่วนของชุมชนโดยรอบ ก็มุ่งหวังที่จะได้รับการพัฒนาในเรื่องคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอาชีพเสริมและรายได้ ซึ่งก็ขอฝากให้ทางผู้รับจ้างของอบจ.ไปปรึกษากับทางอบจ.เชียงใหม่ในการที่อาจจะส่งเสริมการปลูกพืชที่สร้างเงิน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนในเขตพื้นที่ของโรงงาน เพื่อที่จะได้นำรายได้มาปันผลให้กับชุมชนโดยรอบ เพื่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนด้วย.

You may also like

SUN และ EXE มอบอาหารช่วยผู้ลี้ภัยชายแดนเมียนมา

จำนวนผู้