“ช้างรักษ์โลก โลกดูแลเรา”พาคู่แม่-ลูกทำกิจกรรมสร้างสรรค์ “ช้างโลกเทิดไท้ องค์ราชินี”

“ช้างรักษ์โลก โลกดูแลเรา”พาคู่แม่-ลูกทำกิจกรรมสร้างสรรค์ “ช้างโลกเทิดไท้ องค์ราชินี”

- in Exclusive, นันทนาการ

วันที่ 12 สิงหาคม นอกจากจะเป็นวันสำคัญของปวงชนคนไทย เนื่องในวันแม่แห่งชาติแล้ว ในวันนี้ย้อนหลังไปเมื่อปี 2555 หรือ 2012 ได้ถูกจารึกไว้ให้เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งนั่นก็คือ วันช้างโลก (World Elephant Day)

ปางช้างแม่สา อาณาจักรช้างไทยได้ร่วมกับ ททท.สำนักงานเชียงใหม่จึงได้จัดกิจกรรม “ช้างโลกเทิดไท้ องค์ราชินี”ขึ้น เป็นกิจรรมแม่ลูกสุขสันต์วันช้างโลก ที่นำคู่แม่-ลูกจำนวน 10 คู่ไปทำกิจกรรมที่ปางช้างแม่สา ทำหน้าที่เหมือนครวญช้างฝึกหัดได้สัมผัสและเรียนรู้การอยู่และดูแลช้างในห้วงระยะเวลาสั้นๆ แต่ผูกผันและได้เรียนรู้ ได้ประสบการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน

ช้าง เป็นสัตว์สังคมที่มีความฉลาด ให้ความสำคัญกับครอบครัว มีความจำที่ดี มีความรู้สึกที่หลากหลายทั้งด้านเศร้าและร่าเริง รวมไปถึงสามารถรับรู้ถึงความรู้สึกได้ และมีการระมัดระวังตัวเป็นพิเศษ นอกจากนี้ ช้างยังเป็นสัตว์ที่เป็นที่รัก เป็นที่เคารพนับถือตามความเชื่อของผู้คนและวัฒนธรรมในหลาย ๆ แห่งทั่วโลก

หลังคู่แม่ลูกได้เปลี่ยนเครื่องแต่งกายในชุดหม้อฮ่อมครวญช้าง ซึ่งที่ปางช้างแม่สาแห่งนี้จะเปิดให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศที่สนใจได้มาเรียนรู้และใช้ชีวิตอยู่กับช้าง นับตั้งแต่พาช้างกิน นอน เดิน เล่นและอาบน้ำ กิจกรรมแรกคู่แม่ลูกได้ร่วมพิธีถวายพระพรชัยมงคลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 จากนั้นบรรดาลูกคนและลูกช้างได้นำพวงมาลัยดอกมะลิมามอบให้กับแม่ แต่ดูเหมือนคู่แม่ลูกช้างจะเรียกความสนใจจากนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมปางช้างแม่สาวันนั้นได้มากกว่า เพราะลูกช้างทั้งออดอ้อน คลอเคลียและส่งเสียงทักทายได้อย่างน่ารัก

จากนั้นคู่แม่ลูกก็ไปนั่งร่วมวงฟังเสวนา”ช้างรักโลก โลกดูแลเรา” อ.นสพ.ดร.เฉลิมชาติ สมเกิด จากคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า  ในอดีตกาลช้างมีกว่า 100 ชนิด  แต่เมื่อ 30 ล้านปีก่อนช้างได้สูญพันธุ์ไปตามวัฏจักรโลกจนเมื่อ 5 ล้านปีก่อนจึงเหลือช้างยุคใหม่เพียงไม่กี่ชนิดหรือสายพันธุ์ จนแทบจะเรียกได้ว่าเหลือเพียงสายพันธุ์ช้างแอฟริกากับเอเชียเท่านั้น

อย่างไรก็ตามบรรพบุรุษช้างยังมีอายุยาวนานกว่ามนุษย์ที่ไม่ถึงหนึ่งล้านปี เพราะฉะนั้นอายุขัยของตระกูลช้างจึงเก่าแก่กว่ามนุษย์ และเรียกได้ว่าช้างถือเป็นร่มโพธิ์ ร่มไทรให้กับสัตว์อื่นๆ เนื่องจากขนาดของตัวช้างที่ใหญ่เวลาเดินไปไหนก็ทำให้สัตว์อื่นได้ประโยชน์จากเส้นทางที่ช้างเดิน หรือที่เรียกกันว่า “ด่านช้าง” นอกจากนี้ช้างยังใช้งวงดึงพืชอาหารที่อยู่สูงๆ ลงมาให้สัตว์ชนิดอื่นได้กิน นอกจากนี้มูลช้างก็ยังเป็นอาหารให้กับสัตว์บางชนิดด้วย ช้างจึงถือว่าเป็น(Umbrella. Species) ช้างยังเปรียบเป็นเหมือนสลักศิลาหรือหินสามเหลี่ยมบนสะพานโค้งที่เมื่อใดถูกดึงออกมาก็จะทำให้เกิดการล่มสลายได้ ดังนั้นช้างจึงถือว่ามีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์อย่างยิ่ง

ด้านผศ.นสพ.ดร.ฉัตรโชติ ทิตาราม ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการศึกษาและวิจัยช้าง คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เหตุที่มาของวันช้างโลกซึ่งตรงกับวันที่ 12 สิงหาคมและเป็นวันแม่แห่งชาตินั้น มีจุดเริ่มต้นมาจาก แพตทริเซีย ซิมส์ (Patricia Sims) ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวแคนาดา ร่วมกับ มูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติแห่งประเทศไทย โดยมีกำหนดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2555

สำหรับมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อดำเนินโครงการคืนช้างสู่ธรรมชาติเพื่อสนองพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ ดำเนินการติดตามและดูแลช้างที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตต์ พระบรมราชินีนาถได้ทรงปล่อยคืนสู่ป่า เนื่องจากพบว่าปัจจุบันประชากรช้างป่ากำลังลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว จากปัญหาการถูกล่าและผืนป่าซึ่งเป็นถิ่นอาศัยถูกทำลายลง ช้างเลี้ยงจำนวนมากต้องประสบปัญหาตกงานกลายเป็นช้างเร่ร่อนและช้างขอทานในเมืองใหญ่ หรือถูกใช้งานลักลอบลากไม้ผิดกฎหมาย

ด้วยทรงห่วงใยถึงวิถีชีวิตที่ผิดธรรมชาติของสัตว์ป่า อันเป็นเหตุแห่งการสูญพันธุ์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถจึงทรงพระราชทานพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาช้างไทย โดยเฉพาะปัญหาช้างลักลอบลากไม้ผิดกฎหมายและปัญหาช้างเร่ร่อน โครงการคืนช้างสู่ธรรมชาติในพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถจึงถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2540 เพื่อสนองพระราชปณิธานในการอนุรักษ์สัตว์ป่าหายากและใกล้สูญพันธุ์ของโลก รวมทั้งเป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาให้ช้างเลี้ยงและช่วยฟื้นฟูประชากรช้างไทยภายใต้แนวความคิด “ช้างเลี้ยงก็คือช้างป่า” เพราะช้างเป็นสัตว์เพียงชนิดเดียวที่มนุษย์ไม่สามารถเข้าไปคัดเลือกและปรับปรุงสายพันธุ์ได้เหมือนสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นๆ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้ทรงพระราชทานพระราชานุญาตให้ดำเนินการจัดตั้งมูลนิธิขึ้นโดยมุ่งหมายให้เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่สนับสนุนและดูแลโครงการคืนช้างสู่ธรรมชาติต่อไปในระยะยาว และได้พระราชทานชื่อว่า “มูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ” เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2545 โดยใช้ตราสัญลักษณ์เป็นรูปช้างในป่าต้นโพธิ์ รูปแบบลายรดน้ำสีฟ้า ซึ่งเป็นสีประจำพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ และสีเขียวซึ่งแทนสีป่าธรรมชาติ และทรงพระราชทานพระนามาภิไธยย่อ “สก” ไขว้ไว้ใต้พระมหามงกุฎ อัญเชิญสถิตไว้เบื้องบน อันมีความหมายว่า ”สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นเสมือนร่มโพธิ์แห่งการอนุรักษ์ช้างไทย พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณในการคืนชีวิตช้างสู่ธรรมชาติ เพื่อช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศน์ป่าไม้ที่เสื่อมโทรมให้กลับมาสมบูรณ์เหมือนดังเดิม”

ทางมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติได้มีการประกาศและทำหนังเกี่ยวกับช้างออกฉายไปทั่วโลก ซึ่งถือว่าประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่มและจนเป็นที่ยอมรับขณะนี้มีกว่า 15 องค์กรทั่วโลกได้จัดกิจกรรมวันช้างโลกนี้ขึ้นมา

นางปิ่นนาถ เจริญผล ผอ.ททท.สำนักงานเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการนำช้างมาทำกิจกรรมพร้อมๆ กับส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งจริงๆ ก็เพื่อให้ช้างอยู่ได้ และธุรกิจอยู่ได้เพียงแต่มีการจัดการที่ถูกวิธี การจัดสภาพแวดล้อมให้ช้างได้อยู่กับธรรมชาติและเกื้อหนุนคนเลี้ยงช้างไปพร้อมๆ กัน และเพื่อให้คนได้เข้าใจมากขึ้น จะเห็นได้ว่าปัจจุบันมีการส่งเสริมกิจกรรมที่ให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสและเรียนรู้วิธีการเลี้ยงช้างในปางช้าง ทั้งการนั่งช้างเข้าป่าเพื่อให้ช้างได้หาอาหารตามธรรมชาติ อาบน้ำช้าง ป้อนอาหารช้าง และการที่ให้ช้างได้เตะฟุตบอลบ้าง วาดรูปบ้างก็ล้วนเป็นกิจกรรมที่ช้างได้รับการฝึกฝนแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่เป็นการทรมานสัตว์แต่อย่างใด ซึ่งมุมมองในปัจจุบันเกี่ยวกับการนำช้างมาทำกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวก็ดีขึ้นและได้รับการยอมรับมากขึ้น

นายธีรภัทร ตรังปราการ ประธานชมรมปางช้างเชียงใหม่ กล่าวว่า เมื่อหมดยุคการนำช้างมาลากจูงไม้ ก็ต้องมีที่ให้ช้างอยู่ การที่ช้างอยู่ในปางช้างก็ต้องหาจุดที่พอดีที่ทำให้อยู่ร่วมกันได้เพราะช้างไม่เหมือนสัตว์อื่นที่ต้องกินแล้วนอน เนื่องจากน้ำหนักตัวที่มาก ตัวขนาดใหญ่ก็ต้องให้ช้างได้เดินเพื่อขยับตัวเพื่อช่วยในการย่อยและไหลเวียนของโลหิต ดังนั้นจึงมีการนำช้างได้มาเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้เห็นและสัมผัสกับการอยู่ร่วมกันของคนและช้าง และการจัดเส้นทางนั่งช้างชมธรรมชาติก็จะไม่ให้เกิดผลกระทบกับช้าง ซึ่งปางช้างแต่ละแห่งก็จะมีสัตวแพทย์คอยดูแล และมีการจัดอบรมให้ความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดูแลช้างอยู่สม่ำเสมอ

ได้ความรู้จากวงเสวนาแล้ว คู่แม่ลูกยังได้เรียนรู้วิธีการทำอาหารเสริมให้ช้างแม่ลูกอ่อน ซึ่งอาหารเสริมที่ว่าประกอบไปด้วยข้าวเหนียว เกลือ น้ำตาลทรายแดงและสมุนไพรที่มีส่วนผสมของมหาหิงค์ และไพรซึ่งก็เอามาคลุกเคล้ากันปั้นให้เป็นก้อนขนาดพอดีแล้วนำไปป้อนให้กับช้างแม่ลูกอ่อน นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้วิธีการทำอาหารและสมุนไพรให้กับช้างชรา ซึ่งช้างก็เหมือนกับคนที่พออายุมากขึ้นแม้จะอยู่ในปางช้างเค้าก็ให้หยุดพักผ่อน ด้วยพละกำลังที่อ่อนล้าโดยส่วนใหญ่ก็จะอายุเกือบจะหกสิบปีขึ้นไป ที่ปางช้างแม่สาแห่งนี้ก็จะมีศูนย์อภิบาลช้างไทย ซึ่งจะให้การดูแลช้างที่เกษียณโดยมีครวญช้างประกบดูแลอย่างใกล้ชิด

สำหรับอาหารช้างชรา ก็จะมีทั้งหญ้าเนเปียที่บดย่อยมาผสมคลุกเคล้ากับอาหารบดเม็ดที่มีส่วนผสมของสารอาหารเพื่อบำรุงและที่ขาดไม่ได้คือเกลือ เมื่อให้อาหารช้างชราแล้วก็ตามด้วยสมุนไพรเพื่อช่วยในการย่อยและระบาย เพราะช้างชราการย่อยอาหารก็คงยากเหมือนคนเรานี่แหละ ส่วนผสมของสมุนไพรสำหรับช้างชราก็มีมะขามเปียก บอระเพ็ดบดและเกลือนำมาคลุกเคล้าปั้นเป็นก้อน ไปป้อนให้ช้างกิน ให้อาหารช้างแล้วคณะก็ขยับไปที่สุสานช้างที่อยู่ใกล้ๆ กัน

ช้างก็เหมือนกับคนมีเกิด แก่ เจ็บและตายเป็นวัฎจักรที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หลายคนคุ้นชินกับวันช้างไทย เพราะช้างถือเป็นสัตว์คู่บ้าน คู่เมืองมาแต่โบราณกาล มาวันนี้กับอีกความสำคัญหนึ่งคือ วันช้างโลก วันที่อยากให้คนทั้งโลกได้เรียนรู้และเห็นถึงความสำคัญของช้าง ที่อยากให้ผู้คนได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของช้าง พร้อมทั้งช่วยเป็นกระบอกเสียงในการรณรงค์อนุรักษ์และปกป้องช้าง จากการถูกคุกคามโดยมนุษย์.

 

 

You may also like

“ส.ว.ก๊อง”ลั่นลงสมัครป้องกันแชมป์สมัยหน้าในนามพรรคเพื่อไทย แย้มครั้งนี้ “ทักษิณ” ขอเป็นผู้ช่วยหาเสียง พร้อมลงพื้นที่ 25 อำเภอ

จำนวนผู้