ชีวิตเติมหวานด้วย”ชาไข่มุก”พึงระวัง ตรวจ 25 ยี่ห้อพบน้ำตาลถึง 18 ช้อนชา

ชีวิตเติมหวานด้วย”ชาไข่มุก”พึงระวัง ตรวจ 25 ยี่ห้อพบน้ำตาลถึง 18 ช้อนชา

ตะลึง พบปริมาณน้ำตาลจากเครื่องดื่มชาไข่มุกมีน้ำตาลสูงถึง 18 ช้อนชาเกินกว่าองค์การอนามัยโลกกำหนดไว้แค่ 6 ช้อนต่อวัน ขณะที่ผลทดสอบ 25 ยี่ห้อของมูลนิธิฉลาดซื้อ พบสารกันบูด 100% และโลหะหนักอีกเพียบทันตแพทย์หญิงมัณฑนา ฉวรรณกุล รองผู้จัดการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าตกใจมากเมื่อเห็นปริมาณน้ำตาลของชาไข่มุกเพราะมีปริมาณมากเกินกว่าที่ควรจะบริโภค  ปริมาณน้ำตาล องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกินวันละ 6 ช้อนชา (24 กรัม) โดยผลทดสอบชานมไข่มุก ยี่ห้อที่มีน้ำตาลน้อยสุด คือ 16 กรัม (4 ช้อนชา) และมากสุด คือ 74 กรัม (18.5 ช้อนชา) ซึ่งเกินกว่าปริมาณที่ควรได้รับถึง 3 เท่า และแม้เครื่องดื่มจะมีน้ำตาลน้อยกว่า 24 กรัม แต่ก็พบว่า ในหนึ่งแก้วมีปริมาณน้ำตาลต่อวันไปแล้ว 2 ใน 3 ซึ่งคาดได้ว่า ปริมาณการบริโภคจะเกินข้อแนะนำ

เครื่องดื่มเหล่านี้ จึงเป็นเครื่องดื่มที่ควรงดการดื่ม เพราะเป็นแหล่งอุดมน้ำตาล ซึ่งปริมาณน้ำตาลที่สูงหากได้รับในคราวเดียว จะรบกวนเมทาโบไลต์ (metabolite) ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นกลุ่มโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ ซึ่งมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต (NCDs ) เช่น เบาหวาน ความดัน โรคอ้วน

ผลทดสอบของศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างชานมไข่มุกทั้งหมด 25 ยี่ห้อ ขนาดแก้วปกติ แบบไม่ใส่น้ำแข็ง ในเดือนพฤษภาคม 2562 โดยชานมไข่มุกที่ซื้อมีราคาตั้งแต่แก้วละ 23 – 140 บาท ส่งตรวจวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ ได้แก่ ปริมาณพลังงาน, น้ำตาล และไขมัน และทดสอบหาโลหะหนักประเภทตะกั่ว และสารกันบูดในเม็ดไข่มุกจากผลทดสอบพบว่า ยี่ห้อที่มี ปริมาณน้ำตาลต่อแก้วน้อยที่สุด ได้แก่ ยี่ห้อ KOI The มีปริมาณน้ำตาลเท่ากับ 16 กรัม (4 ช้อนชา) และ ยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลต่อแก้วมากที่สุด ได้แก่ ยี่ห้อ CoCo Fresh Tea & Juice มีปริมาณน้ำตาล 74 กรัม (18.5 ช้อนชา) โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำปริมาณน้ำตาลที่ได้รับต่อวัน ไม่ควรเกิน 24 กรัม (6 ช้อนชา) ซึ่งพบว่ามีเพียง 2 ยี่ห้อเท่านั้นที่มีปริมาณน้ำตาลน้อยกว่า 24 กรัม

ส่วนผลการทดสอบสารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) และกรดซอร์บิก (Sorbic acid) ในเม็ดไข่มุก พบว่า ยี่ห้อที่มีปริมาณสารกันบูดน้อยที่สุด ได้แก่ ยี่ห้อ The ALLEY มีปริมาณกรดซอร์บิก เท่ากับ 58.39 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และยี่ห้อที่พบปริมาณสารกันบูดรวมมากที่สุด ได้แก่ ยี่ห้อ BRIX Desert Bar พบปริมาณกรดเบนโซอิก และกรดซอร์บิกรวมกัน เท่ากับ 551.09 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งไม่เกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหาร นิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า จากผลการทดสอบต้องการให้ผู้บริโภคได้รับทราบว่า ชานมไข่มุกบางยี่ห้อ มีน้ำตาลมากเกือบ 19 ช้อนชา หากลองนึกภาพตามว่าน้ำตาลปริมาณ 19 ช้อนชานั้นมากมายขนาดไหน ก็จะทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการบริโภคได้มากขึ้น และทุกยี่ห้อมีสารกันบูด แต่ไม่มียี่ห้อไหนที่ให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคเลยสำหรับข้อเสนอต่อผู้ประกอบการนั้น บรรณาธิการบริหาร นิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า อยากให้ปรับลดขนาดปริมาณต่อแก้ว (serving size) ลงให้เหมาะสม เพื่อควบคุมไม่ให้ผู้บริโภคได้รับปริมาณพลังงานและน้ำตาลต่อแก้วสูงจนเกินไป เพราะเมื่อผู้บริโภคซื้อชานมไข่มุก ก็อาจบริโภคจนหมดแก้วเพราะความเสียดาย ทำให้พลังงานและน้ำตาลที่ได้รับในหนึ่งมื้อนั้นมากจนเกินความจำเป็น นอกจากนี้ ชานมไข่มุกยังมีสารกันบูด ขอให้ผู้ประกอบการ ระบุในฉลากให้ถูกต้อง ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาด้วย และ อย. ควรเร่งผลักดันให้เกิดฉลากสัญญาณไฟจราจร เพื่อทำให้เกิดการปรับปรุงคุณภาพอาหารให้เป็นมิตรกับผู้บริโภคเพิ่มขึ้น.

You may also like

builds มช. ขนทัพสตาร์ทอัพนักศึกษาคับคั่ง พิสูจน์ความสำเร็จ ตั้งบริษัทจริงระหว่างเรียน

จำนวนผู้