ชลประทานประชุมแผนจัดการน้ำช่วงฤดูแล้ง แม่กวงฯเห็นพ้องร่วมเคารพกฎ กติกาส่งน้้ำตามรอบเวร เริ่มนาปี 15 มิ.ย.

ชลประทานประชุมแผนจัดการน้ำช่วงฤดูแล้ง แม่กวงฯเห็นพ้องร่วมเคารพกฎ กติกาส่งน้้ำตามรอบเวร เริ่มนาปี 15 มิ.ย.

ชลประทานประชุมชี้แจงแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 62 เน้นทุกฝ่ายมีส่วนร่วม จัด 25 รอบเวรในการส่งน้ำครอบคลุมพื้นที่เชียงใหม่-ลำพูน ขณะที่เขื่อนแม่กวงฯประชุมกลุ่มผู้ใช้น้ำเห็นพ้องแผนบริหารฯยันทุกฝ่ายต้องเคารพกติกา เริ่มส่งน้ำ 4 ม.ค.62 พร้อมสำรองน้ำสำหรับตกกล้าก่อนทำนาปี 15 มิ.ย.เป็นต้นไป

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่  26 ธ.ค.61 อาคารเอนกประสงค์เขื่อนแม่กวงอุดมธารา นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมวางแผนการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้ง ปี 2561/62  โดยมีนายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 1 พร้อมด้วยนายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผอ.โครงการส่งน้ำฯแม่กวง, นายอรรถชา กัมปนาทแสนยากร นายอำเภอดอยสะเก็ด ผู้แทนอำเภอสันทราย สันกำแพง จ.เชียงใหม่ และผู้แทนจากต.บ้านธิ และเมือง จ.ลำพูน พร้อมผู้แทนส่วนราชการและกลุ่มผู้ใช้น้ำจำนวน 160 คน ร่วมประชุมเพื่อกำหนดแผนการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน

นายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 1 กล่าวว่า สำนักชลประทานที่ 1 ซึ่งดูแลพื้นที่ชลประทานใน 3 จังหวัดคือ เชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน ได้จัดประชุมชี้แจงแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562 ของพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบน  โดยเรียนเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน พร้อมกับนายอำเภอพื้นที่ที่แม่น้ำปิงไหลผ่าน 15 อำเภอของทั้ง 2 จังหวัด รวมทั้งผู้นำท้องถิ่นและกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับทราบถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562 ที่กำลังจะมาถึงไปเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ภาพรวมความต้องการน้ำในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และลำพูน มีความต้องการน้ำสำหรับการอุปโภคทั้งสิ้น 1.47 ลบ.ม.ต่อสัปดาห์ โดยต้องการน้ำดิบจากคลองแม่แตง 200,000 ลบ.ม.ต่อสัปดาห์ น้ำดิบจากเขื่อนแม่กวงฯ 250,000 ลบ.ม.ต่อสัปดาห์ น้ำดิบจากแม่น้ำปิง ซึ่งมี 8 สถานีสูบน้ำ 1.02 ล้าน ลบ.ม.ต่อสัปดาห์ นำสำหรับรักษาระบบนิเวศท้ายน้ำ 17 ล้าน ลบ.ม. ส่วนภาคการเกษตรมีแผนการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้ง 418,282 ไร่ แยกเป็นพื้นทีการเกษตรซึ่งรับน้ำจากคลองแม่แตง 46,000 ไร่ ต้องการใช้น้ำ 3 ล้าน ลบ.ม.ต่อสัปดาห์ จากเขื่อนแม่กวงฯ 68,853 ไร่ ต้องการใช้น้ำ 2 ล้าน ลบ.ม.ต่อสัปดาห์ จากแม่แฝก-แม่งัด 69,685 ไร่ ต้องการใช้น้ำ 4 ล้าน ลบ.ม.ต่อสัปดาห์ พื้นที่รับน้ำจากอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 16 แห่ง และฝายอีก 7 แห่ง มีแผนเพาะปลูก 71,843 ไร่ ต้องการใช้น้ำ 2 ล้าน ลบ.ม.ต่อสัปดาห์ และพื้นที่เพาะปลูกลุ่มน้ำปิงตอนบน 161,901 ไร่ ต้องการใช้น้ำ 2-8 ล้าน ลบ.ม.ต่อสัปดาห์

สำหรับปริมาณน้ำต้นทุนโดยภาพรวมปริมาณน้ำกักเก็บที่เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลปัจจุบันมีปริมาณน้ำอยู่ราว 100.70 เปอร์เซ็นต์ มากกว่าปีที่แล้ว 2 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนแม่กวงอุดมธารามีปริมาณน้ำกักเก็บราว 55.25 เปอร์เซ็นต์ มากกว่าปีที่แล้ว 6.6 เปอร์เซ็นต์ อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มีน้ำที่ความจุรวม 79 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 65 เปอร์เซ็นต์ของความจุด น้อยกว่าปีทีแล้ว 14 เปอร์เซ็นต์ อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก มีน้ำที่ความจุรวม 58 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 65 เปอร์เซ็นต์ของความจุด น้อยกว่าปีที่แล้ว 6 เปอร์เซ็นต์ และที่ฝ่ายแม่แตงมีปริมาณน้ำไหลผ่านฝ่ายดีกว่าปีที่แล้ว 11 เปอร์เซ็นต์

ส่วนการส่งน้ำให้พื้นที่ใช้น้ำในปีนี้จะจัดเป็นรอบเวรตลอดฤดูแล้ง โดยตรวจสอบปริมาณน้ำต้นทุนที่มีกับปริมาณความต้องการใช้น้ำ ซึ่งภาพรวมน้ำต้นทุนที่เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลมีน้ำกักเก็บเต็มความจุด 100 เปอร์เซ็นต์ เพียงพอกับความต้องการใช้น้ำ โดย ณ วันที่ 21 ธ.ค. 61 ปริมาณน้ำเก็บกัก 266.857 ล้าน ลบ.ม. ราว 100.70 เปอร์เซ็นต์ของความจุอ่าง โดยแผนการปลูกพืชฤดูแล้งที่จะถึงในพื้นที่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำปิงที่ใช้น้ำจากเขื่อนแม่งัดฯ ราว 161,901 ไร่ แยกเป็น พื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 29,008 ไร่ พืชไร่ 9,320 ไร่ พืชผัก 4732 ไร่ ไม้ผล 118,189 ไร่ และบ่อปลา 652 ไร่

การจัดสรรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบนยังจัดสรรแบบรอบเวร ในช่วงแล้งปี 2562 มีแผนจัดสรรน้ำไว้รวม 25 สัปดาห์ รอบแรกคือสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคม 2562 ส่งน้ำให้พื้นที่ 1.94 ล้าน ลบ.ม. และไปสิ้นสุดในรอบที่ 25 สัปดาห์สุดท้ายของเดือนมิถุนายน 2562 ทั้งนี้ในเดือนกุมภาพันธ์จะจ่ายน้ำให้รอบเวรละ 3 ล้านกว่า ลบ.ม. เดือนมีนาคม รอบเวรละ 4-8 ล้าน ลบ.ม. เดือนเมษายนในสัปดาห์แรก 8.47 ล้าน ลบ.ม. แล้วปรับลดลงตามลำดับ เดือนพฤษภาคมจ่ายน้ำที่รอบเวรละ 3-6 ล้าน ลบ.ม. และเดือนสุดท้ายเดือนมิถุนายน จัดสรน้ำให้รอบเวรละ 1.94 ล้าน ลบ.ม.สำหรับการจัดสรรอาศัยหลักการที่ว่า ในวันเสาร์-อาทิตย์ ตลอดทั้งลุ่มน้ำจะงดการใช้น้ำ เพื่อให้น้ำจากเขื่อนแม่งัดฯ สามารถส่งไปถึงพื้นที่ด้านได้น้ำได้ ยกเว้นน้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภค ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ในทุกรอบเวรตลอดทั้งลุ่มน้ำปิงตอนบนจะเปิดใช้น้ำพร้อมกัน โดยที่การส่งน้ำจะเป็นแบบมวล ส่งเป็นก้อนในปริมาณที่กำหนดในแต่ละรอบเวร

ทางด้านนายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผอ.โครงการส่งน้ำฯแม่กวง กล่าวว่า สำหรับเขื่อนแม่กวงฯปีนี้ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนมีจำนวนใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย อย่างไรก็ตามความจุของน้ำในปีนี้ดีกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งนี้กลุ่มผู้ใช้น้ำเขื่อนแม่กวงฯจะมีคณะกรรมการบริหารฯอยู่ ซึ่งครั้งนี้เป็นการประชุมร่วมกันเพื่อบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้ใช้น้ำและทางฝ่ายรัฐ ซึ่งได้ข้อสรุปสำคัญร่วมกัน โดยขณะนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนแม่กวงฯมีน้ำทั้งสิ้น 145 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งจะจัดสรรน้ำแบ่งออกเป็น น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค 9 ล้าน ลบ.ม. น้ำเพื่อการเกษตร 83 ล้าน ลบ.ม. และน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ ระเหย 6 ล้าน ลบ.ม. และเก็บกักเป็นน้ำสำรองและตกกล้าสำหรับนาปีจำนวน 53 ล้าน ลบ.ม.

ที่ประชุมได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำร่วมกันว่า การจัดการทุกพื้นที่ต้องเคารพกฏ กติกา  และปฏิบัติตามกฏ กติกา และทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกๆ ฝ่ายอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ทางเขื่อนฯจะเริ่มส่งน้ำรอบแรกในวันที่ 4 ม.ค.62 จนถึงวันที่ 4 พ.ค.62 และจะเริ่มนาปีประมาณวันที่ 15 มิ.ย.62 เป็นต้นไป

ผอ.โครงการส่งน้ำฯแม่กวง กล่าวอีกว่า สำหรับในพื้นที่รับน้ำเขื่อนแม่กวงฯ มีการปลูกพืช รวม 68,853 ไร่ แยกเป็น ข้าวนาปรัง 39,279 ไร่ พืชไร่ 2,674 ไร่ พืชสวน 23,815 ไร่ บ่อปลา 3,85 ไร่ ซึ่งการประชุมครั้งนี้   ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ดำเนินการตามแผนการบริการจัดการที่วางไว้ได้.

You may also like

“ส.ว.ก๊อง”ลั่นลงสมัครป้องกันแชมป์สมัยหน้าในนามพรรคเพื่อไทย แย้มครั้งนี้ “ทักษิณ” ขอเป็นผู้ช่วยหาเสียง พร้อมลงพื้นที่ 25 อำเภอ

จำนวนผู้