จี้แขวงทางหลวงเชียงใหม่ 2 ปรับแบบก่อสร้างตั้งแต่แยกรินคำ-วัดเจ็ดยอดใหม่ชี้แบบเดิมไม่สะดวกและไม่ปลอดภัยต่อผู้สัญจร

จี้แขวงทางหลวงเชียงใหม่ 2 ปรับแบบก่อสร้างตั้งแต่แยกรินคำ-วัดเจ็ดยอดใหม่ชี้แบบเดิมไม่สะดวกและไม่ปลอดภัยต่อผู้สัญจร

เครือข่ายภาคประชาชนทำหนังสือขอผอ.แขวงทางหลวงฯ 2 วอนแก้ไขปรับปรุงแบบก่อสร้างช่วงสี่แยกรินคำ-วัดเจ็ดยอดตามข้อตกลง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดต่อประชาชน ประหยัดงบฯและสอดคล้องกับความเป็นชุมชนหนาแน่น ชี้การออกแบบให้มีทางขนานคั่นแยกทางเท้ากับทางจักรยาน และพื้นที่สีเขียวทำให้สูญเสียศักยภาพการใช้ประโยชน์พื้นที่สำหรับประชาชน ไม่สะดวกและไม่ปลอดภัยอย่างยิ่งต่อผู้สัญจร

ผศ.ดร.วสันต์  จอมภักดี ผู้ประสานงาน คณะกรรมการประสานงานอนุรักษ์แม่ปิงและสิ่งแวดล้อม  (คอปส.) ได้ทำหนังสือถึง ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงเชียงใหม่ที่ 2 เพื่อขอให้มีการแก้ไขปรับปรุงแบบก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 11 ช่วงสี่แยกรินคำ – วัดเจ็ดยอด  โดยกล่าวว่า ตามที่สำนักงานทางหลวงที่ 1 และแขวงทางหลวงเชียงใหม่ที่ 2 ได้ทำการออกแบบก่อสร้างปรับปรุงถนนทางหลวงหมายเลข 11 ช่วงสี่แยกรินคำ – วัดเจ็ดยอด ระยะทางประมาณ 800 เมตร ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และแขวงทางหลวงเชียงใหม่ที่ 2 ได้นำเสนอรูปแบบต่อที่ประชุมซึ่งประกอบด้วย ผู้บริหารของเทศบาลตำบลช้างเผือก ชุมชน ภาคประชาชนและสื่อมวลชน ณ วัดเจ็ดยอด ไปเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561  แล้วนั้น

ภาคประชาชน ชุมชนและองค์กรภาคีทุกเครือข่าย (รวมทั้งเครือข่ายคนพิการ เครือข่ายจักรยาน เครือข่ายผู้สูงอายุ เครือข่ายวัฒนธรรมและเครือข่ายพุทธศิลป์) ได้มีการประชุมร่วมกันหลายครั้งเพื่อพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ รวมทั้งได้ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมทางหลวงและด้านภูมิสถาปัตยกรรม พิเคราะห์แล้วมีความเห็นและข้อเสนอควรให้มีการปรับปรุงแบบก่อสร้างบางส่วน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีความปลอดภัยสูงสุดต่อประชาชน ประหยัดงบประมาณ และสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ซึ่งเป็นชุมชนหนาแน่น มีทั้งคนท้องถิ่น และนักท่องเที่ยวนานาชาติ มีวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ คือ วัดเจ็ดยอดมหาโพธาราม โบราณสถาน โรงเรียน สถานพยาบาล ร้านค้า โรงแรม หอพัก อาคารบ้านเรือน ลำน้ำห้วยแก้ว ลำน้ำห้วยช่างเคี่ยน ทางน้ำธรรมชาติ ลำเหมือง ประตูระบายน้ำ พื้นที่สีเขียวและต้นไม้ใหญ่ของเดิม

ทั้งนี้ภาคประชาชน ชุมชนและองค์กรภาคีทุกเครือข่ายเห็นด้วยกับแนวคิดที่แขวงทางหลวงเชียงใหม่ที่ 2 เสนอต่อที่ประชุม ให้ถนนช่วงที่ 1 (จากชุมชนสนสวย – ประตูน้ำห้วยช่างเคี่ยน) และช่วงที่ 2 (จากประตูน้ำห้วยช่างเคี่ยน – วัดเจ็ดยอด) ประกอบด้วย (1) ทางเท้าขนาด 3.45 เมตรและ 2.00 เมตร (2) ทางขนาน ขนาด 3.25+3.25+2.50 เมตร (3) ทางจักรยาน ขนาด 3.00 เมตร (4) พื้นที่สีเขียวขนาด 7.00-8.00 เมตร (5) มีการรักษาสภาพร่องน้ำเปิดของเดิมและต้นไม้ไว้ตลอดแนวถนน

แต่อย่างไรก็ตาม การออกแบบให้มีถนน (ทางขนาน) มาคั่นแยกทางเท้าออกจากทางจักรยาน และพื้นที่สีเขียวนั้น จะทำให้สูญเสียศักยภาพการใช้ประโยชน์พื้นที่สำหรับประชาชน (place for people) เกิดความไม่สะดวกและความไม่ปลอดภัยอย่างยิ่งต่อผู้สัญจรทางเท้าซึ่งมีปริมาณมากทั้งคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว รวมทั้งผู้ใช้จักรยาน และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การที่ต้องย้ายต้นไม้ใหญ่ที่เป็นสัญลักษณ์ของท้องถิ่น และมีคุณค่าทางจิตวิญญาณของคนเมืองเชียงใหม่ นอกจากจะทำให้สูญเสียพื้นที่สีเขียวตามธรรมชาติ ยังเกิดกระแสคัดค้านและไม่สามารถเป็นที่ยอมรับได้ของประชาคมเชียงใหม่

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอให้มีการปรับจัดวางรูปแบบและตำแหน่งองค์ประกอบของถนนใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ และเกิดความปลอดภัยสูงสุดต่อประชาชนผู้สัญจรทางเท้า ซึ่งรวมถึงคนพิการ คนป่วย ผู้สูงอายุ เด็กนักเรียนนักศึกษา พระภิกษุสามเณร นักท่องเที่ยวและคนใช้จักรยาน และต้นโพธิ์ใหญ่สามารถอยู่ที่เดิมได้อย่างสง่างามและปลอดภัย รวมทั้งเป็นการสนองแนวนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมที่ได้ให้ไว้ ณ จังหวัดเชียงใหม่ คือ “จะให้มีการสร้างถนนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green) และความปลอดภัย (Safe)” ด้วย

โดยถนนช่วงที่ 1 ให้รวมทางเท้า (3.45 เมตร) ทางจักรยาน (3.00 เมตร) เข้าด้วยกันเป็น 6.45 เมตร มีทางขนาน (3.25+3.25+2.50 เมตร) และรักษาต้นไม้ตามแนวสองฝั่งของทางน้ำที่มีอยู่เดิมไว้ทั้งหมด สำหรับถนนช่วงที่ 2 ให้เบนทางขนาน (ขนาด 3.25+3.25+2.50 เมตร) สำหรับรถยนต์ออกไปอยู่ชิดกับทางหลัก และให้รวมทางเท้า ทางจักรยานและพื้นที่สีเขียวให้อยู่ติดต่อเป็นผืนเดียวกัน มีขนาดความกว้างรวมกันประมาณ 14-16 เมตร (ซึ่งมีขนาดความกว้างใกล้เคียงกับที่ภาคเอกชน/ห้างสรรพสินค้าเมญ่า ได้ขออนุญาตใช้พื้นที่เขตทางหลวง และใกล้เคียงกับขนาดของทางเท้าฝั่งตรงกันข้ามของถนนสายนี้ ช่วงตั้งแต่ซอยโรงแรมฟูรามา-แยกรินคำ) ทั้งนี้ให้แบ่งพื้นที่ใช้ประโยชน์ของทางเท้าออกเป็นสัดส่วน

โดยปรับใช้ตัวเลขขนาดตามที่แขวงทางหลวงเชียงใหม่ที่ 2 ได้เสนอต่อที่ประชุม คือ     ทางเท้าสำหรับคนทั่วไป 3.45 เมตร  ทางเท้าสำหรับคนพิการ (คนตาบอด คนใช้รถเข็น สามารถสัญจรสวนทางกันได้) 2.00 เมตร         ทางจักรยาน (สวนทางกันได้) 3.00 เมตร พื้นที่สีเขียว 7.00-8.00 เมตร และขอให้มีการจัดสร้างทางลาดสำหรับผู้ใช้ทางเท้าบริเวณเชื่อมต่อกับถนนให้ได้มาตรฐานเป็นสากลด้วย ขอให้มีการปลูกต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาทดแทนของเดิมที่ถูกตัดไปและปลูกเพิ่มใหม่บนพื้นที่สีเขียว ตั้งแต่ประตูระบายน้ำและจากต้นโพธิ์ขนานไปกับแนวถนนจนถึงวัดเจ็ดยอดและขอให้ติดไฟสัญญาณจราจรโดยเฉพาะสำหรับผู้เดินข้ามถนนและจักรยาน (pedestrian and cyclist crossing lights) ตรงบริเวณสี่แยกรินคำ เนื่องจากมีผู้ใช้ทางข้ามถนนเป็นจำนวนมาก และมักมีความสับสนระหว่างสัญญาณของคนกับรถ จนเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง.

ณัชชา  อุตตะมัง ข่าว.

You may also like

ผบ.นบ.ยส.35 ลงพื้นที่อำเภอไชยปราการ เพื่อตรวจเยี่ยมกำลังพลเพิ่มความเข้มก่อนหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์

จำนวนผู้