จี้อบจ.เชียงใหม่เร่งสร้างโรงไฟฟ้าขยะ ชาวบ้านหวั่นเกิดปัญหาพบบ่อฝังกลบใกล้เต็ม

จี้อบจ.เชียงใหม่เร่งสร้างโรงไฟฟ้าขยะ ชาวบ้านหวั่นเกิดปัญหาพบบ่อฝังกลบใกล้เต็ม

รองผู้ว่าฯ พร้อมนายกอบจ.เชียงใหม่และนายอำเภอดอยสะเก็ดร่วมประชุมรับฟังข้อเรียกร้อง หลังชาวบ้านรอบโครงการศูนย์จัดการขยะครบวงจร อบจ.เชียงใหม่ เรียกร้องให้เร่งดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ หวั่นปัญหาผลกระทบเหตุบ่อฝังกลบคาดไม่เกิน 3 เดือนเต็มจนล้น

เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.64 ที่ศูนย์จัดการขยะครบวงจร องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ บ้านป่าตึงหมู่ 1 ต.ป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ นายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยนายพิชัย เลิศพงษ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และนายกิตติพัฒน์ กะวัง นายอำเภอดอยสะเก็ด นายสมชาติ วัฒนากล้า ผอ.สำนักการช่าง อบจ.เชียงใหม่ได้เข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังข้อร้องเรียนของชาวบ้านรอบโครงการศูนย์จัดการขยะฯ โดยมีผู้นำชุมชน สมาชิกอบจ.เชียงใหม่เขตอ.ดอยสะเก็ดและตัวแทนชาวบ้านร่วมแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะด้วย

นายไกรศักดิ์ จันทรสุกรี ผู้จัดการศูนย์จัดการขยะแบบครบวงจร อบจ.เชียงใหม่ บริษัท วีพีเอ็น คอลเล็กชั่นส์ จำกัด ได้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับศูนย์จัดการขยะฯ แห่งนี้ว่า ทางบริษัทวีพีเอ็น คอลเล็คชั่นส์ จำกัดได้เข้ามาบริหารจัดการขยะฯเมื่อปี 2548 โดยใช้ระบบคัดแยกและฝังกลบ โดยปริมาณขยะที่เข้าสู่โรงงานเฉลี่ยวันละประมาณ 100 ตันขณะที่กำลังการผลิตสามารถรองรับได้ถึง 300 ตันโดยรองรับขยะจากพื้นที่โซนกลาง 4 อำเภอคืออ.ดอยสะเก็ด สันทราย สันกำแพงและแม่ออน อย่างไรก็ตามเนื่องจากขณะนี้บ่อฝังกลบขยะที่มีเนื้อที่กว่า 40 ไร่ใกล้จะเต็มแล้วโดยคาดว่าจะสามารถรองรับขยะได้ถึงเดือนพ.ย.-ธ.ค.64 นี้เท่านั้นแม้จะมีการต่อคันดินขึ้นมาสูงถึง 5 เมตรแล้วก็ตาม

นายรัฐพล นราดิศร รองผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ทางจังหวัดเชียงใหม่ได้รับร้องเรียนจากชาวบ้านถึงข้อกังวลเกี่ยวกับการจัดการขยะเพราะเกรงว่าหากศูนย์จัดการขยะฯแห่งนี้เต็ม ทางจังหวัดเชียงใหม่และอบจ.เชียงใหม่ได้มีแผนการรองรับหรือไม่อย่างไรซึ่งทางนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผวจ.เชียงใหม่ได้มอบหมายให้ตนลงพื้นที่พร้อมนายกิตติพัฒน์ กะวัง นายอำเภอดอยสะเก็ด เพื่อร่วมประชุมและรับฟังความเห็นพร้อมกับนายพิชัย เลิศพงษ์อดิศร นายกอบจ.เชียงใหม่และคณะ ซึ่งทางราชการไม่ได้นิ่งนอนใจกับข้อกังวลของประชาชน จึงต้องลงพื้นที่มาเพื่อดูสถานที่จริงและรับฟังความเห็นต่าง ๆ

“จังหวัดเชียงใหม่ได้แบ่งโซนในการบริหารจัดการขยะออกเป็น 3 โซน และบ่อขยะที่ฝังกลบถูกวิธีและถูกต้องมี 3 แห่งคือที่ฝาง ซึ่งรับผิดชอบโซนเหนือ โซนกลางมีอบจ.เชียงใหม่เป็นหลักและโซนใต้มีที่บ้านตาล ซึ่งข้อเสนอหรือความเห็นจากการประชุมครั้งนี้ทางส่วนราชการจะนำไปพิจารณาเพื่อเร่งแก้ไขปัญหา ข้อห่วงใยต่างๆ เพื่อป้องกันแก้ไขไม่ให้เกิดขึ้นโดยเร่งด่วน”รองผวจ.เชียงใหม่ กล่าว

จากนั้นตัวแทนชาวบ้านและผู้นำชุมชนได้นำเสนอปัญหา ข้อกังวลของชาวบ้านในพื้นที่ โดยส่วนใหญ่เรียกร้องขอความชัดเจนเกี่ยวกับแผนบริหารจัดการขยะของศูนย์จัดการขยะของอบจ.เชียงใหม่ ซึ่งมีแผนที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ เพราะเกรงว่าหากยืดเยื้อจะยิ่งส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบ เนื่องจากศูนย์จัดการขยะฯแห่งนี้เปิดดำเนินการมานานและบ่อฝังกลบขยะใกล้จะเต็ม อีกทั้งปัจจุบันเกิดภาวะโรคโควิด-19 มีการใช้หน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งปะปนมากับขยะทั่วไปเป็นจำนวนมาก จึงเกรงว่าจะเกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคอย่างร้ายแรงและมีปัญหาในอนาคตอันใกล้ ซึ่งชาวบ้านอยากให้อบจ.เชียงใหม่เร่งดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะโดยเร็ว

ทางด้านนายพิชัย เลิศพงษ์อดิศร นายกอบจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ทางอบจ.เชียงใหม่ไม่ได้นิ่งนอนใจหลังจากที่เข้ามารับตำแหน่งได้เรียกผู้เกี่ยวข้องมาประชุมหารือ ซึ่งการมาครั้งนี้เพื่อฟังความเห็นจากประชาชนว่ามีข้อเสนอแนะอย่างไรและก่อนที่จะมาก็ได้เข้าไปปรึกษาหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่มาแล้ว โดยอบจ.เชียงใหม่มีโครงการที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ ซึ่งได้มีการเปิดประมูลหาผู้ลงทุนแล้ว โดยโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะแห่งนี้จะเป็นการก่อสร้างที่เอกชนเป็นผู้ลงทุน 100%  ประมาณมูลค่าโครงการไว้ไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท และได้ตั้งราคากลางไว้ 1,800 ล้านบาท ซึ่งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการทีโออาร์ทำการร่างเงื่อนไข กฎเกณฑ์ที่เป็นประโยชน์กับประชาชน โดยเฉพาะคุณสมบัติของบริษัทที่จะเข้ามาลงทุน และได้เผยแพร่เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการโดยทั่วไป ถึง 3 ครั้ง ก่อนที่จะประกาศคัดเลือกเอกชนด้วยการประกวดราคา

“โครงการนี้ก่อนการดำเนินการขออนุมัติโครงการจากกระทรวงมหาดไทยได้มีการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียโดยรอบโครงการแล้ว ซึ่งประชาชนก็เห็นด้วย หลังจากได้รับการอนุมัติโครงการจึงได้เปิดให้มีการยื่นซองประกวดราคา และมีบริษัทที่ผ่านการพิจารณา 1 ราย ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่คณะกรรมการพิจารณาผลการคัดเลือกขอใช้เวลาในการพิจารณาคุณสมบัติอย่างละเอียด รอบคอบโดยคณะกรรมการ 7 คนประกอบด้วยข้าราชการอบจ. 4 คนและนักวิชาการอีก 3 คน กำลังพิจารณากันอยู่ จึงขอให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนว่าถ้าหากคุณสมบัติของบริษัทที่ยื่นซองมาถูกต้องครบถ้วนทุกประการก็จะไม่ดึงเรื่องไว้ แต่เพื่อให้เกิดความมั่นใจและถูกต้องร่วมกันขอให้พี่น้องประชาชนทำหนังสือสนับสนุนให้ทางอบจ.เชียงใหม่ดำเนินการอีกทางหนึ่งงด้วย ซึ่งหากทุกอย่างถูกต้องครบถ้วนและเกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนทางอบจ.เชียงใหม่จะดำเนินการทันที”นายกอบจ.เชียงใหม่ กล่าวชี้แจง.

You may also like

builds มช. ขนทัพสตาร์ทอัพนักศึกษาคับคั่ง พิสูจน์ความสำเร็จ ตั้งบริษัทจริงระหว่างเรียน

จำนวนผู้