จี้รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนจัดการปัญหาแหล่งก่อมลพิษทางอากาศแนะจัดเก็บภาษีนำเข้าอัตราสูง

จี้รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนจัดการปัญหาแหล่งก่อมลพิษทางอากาศแนะจัดเก็บภาษีนำเข้าอัตราสูง

สภาลมหายใจเชียงใหม่ชี้การแก้ปัญหาฝุ่นpm2.5 รัฐบาลต้องมีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการจัดการพืชเกษตรทั้งในและต่างประเทศ แนะเก็บภาษีนำเข้าในอัตราสูงกดดันแหล่งที่ปล่อยมลพิษสู่อากาศ ขณะที่ตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนชี้การเปลี่ยนพืชที่สร้างไฟมากไปสู่พืชที่สร้างไฟน้อย นโยบายต้องชัดเจนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ

นายปัณรส บัวคลี่  ตัวแทนจากสภาลมหายใจ กล่าวว่า จากข้อมูลของอ.สมพรทำให้รู้ว่า ในระยะ 70 กม.หากมีไฟใกล้เกิดขึ้นทำให้ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กสูงขึ้น ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาได้ติดตามค่าฝุ่นฯในหลายพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง และพบว่าพืชเกษตรไม่ใช่แค่ทำร้ายเฉพาะภาคเหนือ แต่ทำร้ายประชาชนครึ่งประเทศ และมีข่าวต่อเนื่องเสมอว่ามีการเผาซากพืชวัสดุทางการเกษตรและปล่อยให้ลุกลามโดยไม่มีการดับ

สำหรับภาคเหนือ หลายคนตั้งคำถามว่าปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก สิ่งที่เป็นปัจจัยหลักคือนิเวศป่า ซึ่งสัดส่วนป่าในพื้นที่ภาคเหนือ 65% แม่ฮ่องสอนมีพื้นที่ 84% แต่มีประชากรถึง 86% อาศัยอยู่ในป่า เชียงใหม่ 79% รวมทั้งลำปาง ตาก แต่ก็มีสถิติการเกิดไฟสูงเช่นเดียวกัน สำหรับการจัดการไฟในป่าก็พบว่าอยู่ในเขตป่าสงวน ป่าอนุรักษ์ด้วย  แม้หลายฝ่ายโดยเฉพาะภาควิชาการมาช่วยกันกระตุ้นแต่ยังไม่กระเทือนถึงรัฐบาลที่จะใส่ใจแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

ข้อเสนอต่อรัฐบาลโดยเฉพาะนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับพืชเกษตรทั้งในประเทศและนอกประเทศ เช่น ไร่อ้อย ที่ยังปล่อยให้มีการเผาและปล่อยลุกลามตลอดทั้งคืน พืชเกษตรในไร่นา ซึ่งที่ผ่านมาก.เกษตรฯปล่อยและหากยังไม่ดำเนินการสภาลมหายใจจะยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯให้มีการควบคุมการเผา สำหรับพืชเกษตรนอกประเทศนั้น กลไกที่ประเทศสิงคโปร์ใช้ในอาเซียนไม่ประสบสำเร็จ สิงคโปร์จึงใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมในประเทศ โดยเรียกเอกชนที่ไปลงทุนในอินโดนีเซียมาพูดคุย

น่าจะใช้กลไกภาษีหรือที่ไม่ใช่ภาษีของ AFTA ถ้าหากพบว่ามีการปล่อยมลพิษสู่อากาศให้เสียภาษีนำเข้าสูงขึ้น โดยใช้กลไกภาษีบังคับ และเสนอให้ตั้งเวทีเจรจาโดยรัฐบาลไทยต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องนี้ออกมา อีกประเด็นคือเรื่องของการใช้หลักบริหารจัดการ  ต้องมีการโซนนิ่งเกษตรพื้นที่สูง นอกจากนี้ข้อมูลทางวิชาการยังไม่เพียงพอเพราะแต่ละพื้นที่ก็มีโจทย์ไม่เหมือนกัน

ทางด้านนายเดโช  ไชยทัต ผอ.มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน(ภาคเหนือ)กล่าวว่า ภาพรวมการถ่ายโอนภารกิจทำมาตั้งแต่ปี 45 ซึ่งกรมป่าไม้ได้ถ่ายโอนภารกิจไปแล้วเกือบเกินครึ่ง แต่ปัญหาคือถ่ายโอนภารกิจแล้วแต่ไม่มีงบประมาณ แม้จะมีงบฯอุดหนุนตามภารกิจเมื่อปี 49 แต่ก็มีแค่ปีเดียว ซึ่งการถ่ายโอนภารกิจทำให้อปท.ไม่สามารถตั้งคำของบประมาณได้เพราะเจ้าของพื้นที่ยังเป็นป่า ไม้ 2,485 ตำบลจึงยังมีปัญหาคาราคาซัง ในแง่ของกรมป่าไม้ก็มีข้อจำกัดเรื่องคนและงบประมาณ เชียงใหม่มีพื้นที่ถ่ายโอนภารกิจทั้งป่าสงวนและป่าอนุรักษ์แต่มีเจ้าหน้าที่ 510 คนเจ้าหน้าที่ 1 คนปฏิบัติงานถึง 7,500 ไร่

ในส่วนของป่าสงวนได้ถ่ายโอนภารกิจแล้วแต่ก็มีคนไม่มาก แต่ละสำนักฯมีคนจ้างเพียง 15 คนทำให้ศักยภาพการดูแลเป็นไปอย่างยากลำบาก ดังนั้นการถ่ายโอนภารกิจจึงต้องขับเคลื่อนการต่อไปเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ เพราะทุกวันนี้ยังคงวนเวียนอยู่เรื่องจึงไม่ไปถึงไหน จึงทำให้คุณภาพอากาศวนอยู่ในระบบราชการนั่นเอง แต่หากเมื่อใดที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีกลไกในการจัดการที่แท้จริงจะสามารถจัดการปัญหาได้ดีขึ้น

“เรื่องป่าชุมชนก็ต้องเร่งรัดให้เกิดเป็นรูปธรรม เพราะปัจจุบันมีทั้งนโยบายและกฎหมายแล้ว แต่ก็ยังมีจำนวนหมู่บ้านที่จัดตั้งป่าชุมชนและทำแผนได้ไม่ถึง 20% นอกจากนี้องค์ความรู้ในการจัดการไฟป่าถูกแช่แข็งมานาน และมีการหวาดกลัวว่าการชิงเผาจะทำให้คุณภาพอากาศแย่ซึ่งในต่างประเทศมีพัฒนาการองค์ความรู้ มีการพัฒนาโดยลดผลกระทบนิเวศน์และฝุ่นควัน แต่ในไทยยังไม่ได้เริ่มต้นอย่างจริงจัง และในประเทศไทยมีเพียงแพทเทริน์เดียวผ่านระบบการสั่งการซึ่งเป็นการเพิ่มปัญหามากกว่า”

ส่วนการเปลี่ยนพืชที่สร้างไฟมากไปสู่พืชที่สร้างไฟน้อย นโยบายต้องชัดเจนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นกัญชง กัญชาซึ่งส่วนตัวคิดว่าช่วยได้ดี แต่ตอนนี้นโยบายยังไม่ชัดเจนและทำไปสู่ความเป็นจริงได้อย่างไร ส่วนปัญหาหมอกควันข้ามพรหมแดนนั้น จากประสบการณ์พบว่าพี่น้องที่อาศัยชายแดนสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนบอกต่อกันได้โดยใช้ P2P คือการแลกเปลี่ยนของคนชายแดนด้วยกัน นอกเหนือจากรัฐใช้ G2G และประเด็นสุดท้ายคือเมื่อใดที่สังคมเปล่งเสียงไม่ดังพอให้รัฐบาลเห็นความสำคัญ กลไกการจัดการไม่ชัดเจนปัญหาก็ไม่จบ

You may also like

SUN และ EXE มอบอาหารช่วยผู้ลี้ภัยชายแดนเมียนมา

จำนวนผู้